นายกฯ เน้นย้ำความร่วมมือฟื้นตัวหลังโควิด ประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 13

26 พ.ย.2564 - เวลา 19.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการแถลงข่าวร่วมของการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 13 ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มอาเซียน ผ่านระบบการประชุมทางไกล ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวร่วมฯ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีกับกัมพูชาที่ประสบความสำเร็จในการจัดประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 13ท่ามกลางข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้โลกเห็นว่าทั้งเอเชียและยุโรปยังยึดมั่นต่อพหุภาคีนิยมเพื่อสร้างโลกในยุค Next Normal ที่มีความสมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน พร้อมเน้นย้ำถึงสิ่งที่สำคัญ คือการที่ผู้นำอาเซมต่างแสดงเจตนารมณ์ร่วมที่จะช่วยกันทำให้พหุภาคีนิยมแข็งแกร่งขึ้น ย้อนกลับไปเมื่อวันที่อาเซมถือกำเนิดขึ้นบริบท และความท้าทายที่เอเชียและยุโรปประสบเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่มีประเทศใดที่จะสามารถรับมือกับความท้าทายร่วมเหล่านี้ได้แต่เพียงลำพัง ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาดขนาดใหญ่ เช่น โควิด-19 หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องมาร่วมแรงร่วมใจกัน โดยพหุภาคีนิยมจะเปิดโอกาสให้ทุกประเทศมีส่วนร่วมสร้างความเข้าใจและเชื่อใจระหว่างกัน บนพื้นฐานของหุ้นส่วนอย่างเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วม

นายกรัฐมนตรีเห็นว่า แนวทางหนึ่งที่ทำให้พหุภาคีนิยมเข้มแข็งขึ้น คือ การมุ่งสร้างความสมดุลของสรรพสิ่งทั้งในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความท้าทายระดับโลก ซึ่งต้องถอดบทเรียนจากวิกฤตเหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอีก โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุปถึงประโยชน์ที่ประชาชนของอาเซมจะได้รับจากการประชุมฯ ได้ 3 ประเด็น ดังนี้

ประการแรก อาเซมช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของทุกประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 ให้ทั่วถึงและยั่งยืน เน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่สมดุลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มในสังคมมีส่วนร่วมในการสร้างโลกหลังโควิด-19 ที่ประชาชนมีความมั่นคง มั่งคั่ง และมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดวิกฤตจากความไม่สมดุลอีก และทั้งสองภูมิภาคจะมุ่งสร้างโลกยุค Next Normal ที่เติบโตบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนสนับสนุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs โอกาสนี้ ไทยยินดีที่ได้ร่วมกับผู้นำอาเซมในการรับรองแถลงการณ์พนมเปญว่าด้วยการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคมหลังโควิด-19

ประการที่สอง อาเซมเชื่อมโยงสองภูมิภาคให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยได้รับรองเอกสารเส้นทางสู่ความเชื่อมโยงระหว่างเอเชีย-ยุโรป ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของกลุ่มอาเซียน และกำหนดแนวทางเชื่อมโยงทั้งด้านกฎระเบียบ การค้าการลงทุน เศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนความเชื่อมโยงระดับประชาชน นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การเสริมสร้างความเชื่อมโยงนี้จะเป็นพื้นฐานไปสู่การจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างภูมิภาคที่จะสร้างงานสร้างอาชีพ รวมถึงจะช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวระหว่างเอเชียกับยุโรป

ประการสุดท้าย อาเซมสร้างความร่วมมือเพื่อใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในยุค Next Normal โดยรู้ถึงคุณและโทษ โดยเฉพาะสำหรับเยาวชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียน นายกรัฐมนตรีได้ยกตัวอย่างข้อริเริ่มของไทยในอาเซมในด้านการศึกษาที่สนับสนุนการแลกเปลี่ยนนักเรียนเสมือนจริงผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เยาวชนพบปะผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มแล้ว ยังได้ขยายโลกทัศน์ของเยาวชน เช่น การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า เยาวชนอาเซมจะขับเคลื่อนหลักของการเปลี่ยนแปลงในโลก ไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซมในเดือนธันวาคม 2564 พร้อมและยินดีที่จะผลักดันข้อริเริ่มนี้เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายกรัฐมนตรีร่วมรับรอง 3 เอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ ได้แก่
1. แถลงการณ์ประธานการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 13 (13th Asia-Europe Meeting Chair’s Statement)
2. แถลงการณ์พนมเปญว่าด้วยการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคมหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Phnom Penh Statement on the Post-COVID-19 Socio-Economic Recovery) และ 3. เอกสารเส้นทางสู่ความเชื่อมโยงระหว่างเอเชีย-ยุโรป (The Way Forward on ASEM Connectivity)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอชัย' โนคอมเมนต์ นายกฯ ทาบ 'จักรพล' นั่งโฆษกรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีทาบทามนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

นายกฯ ร่วมผู้นำ 17 ประเทศ แถลงเรียกร้องปล่อยตัวประกันในกาซา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "วันนี้ ผมร่วมกับผู้นำ 17 ประเทศที่มีตัวประกันที่ยังอยู่ในกาซา ออกถ้อยแถลงร่วมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันทั้งหมด

รัฐบาลตีปี๊บ ประกวด 'ข้าวหอมมะลิไทย' ช่วยยกคุณภาพชีวิตเกษตรกร

รัฐบาลหนุนเกษตรกรและโรงสี จัดประกวดข้าวหอมมะลิไทยปี 2566 เฟ้นหาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยคุณภาพชั้นเลิศ พร้อมขยายช่องทางการจำหน่าย