"ทวี" ชี้ ปมเสี่ยแป้ง หากพบพยานหลักฐานใหม่ สามารถขอรื้อฟื้นคดีได้-ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
25 พ.ย.2566 - พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายเชาวลิต ทองด้วง หรือ แป้ง นาโหนด ผู้ต้องขังหลบหนีจากการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ ได้มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอ ว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ไปสนับสนุนกำลังติดตามในพื้นที่ จ.พัทลุง ก็ยังอยู่ระหว่างติดตามจับกุมตัวนายเชาวลิตต่อเนื่อง ขณะนี้ ได้สั่งให้ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้ตรวจสอบไปยังบุคคลใกล้ชิดของนายเชาวลิต ซึ่งจะต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าคลิปวิดีโอดังกล่าวที่เผยแพร่ออกมาใช่เจ้าตัวหรือไม่ แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลที่ปฏิเสธได้ว่าไม่ใช่ หรือใช่ ซึ่งกำลังตรวจสอบ และจะให้ญาติพี่น้องของเขาช่วยดูด้วย อีกทั้งคลิปวิดีโอที่มีการเผยแพร่ออกมา มันได้แสดงให้เห็นว่าตัวเขายังอยู่ หวังว่าเจ้าตัวจะเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม และเราก็มีหน้าที่จะต้องติดตามจับกุม นอกจากนี้ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาตนได้มีการหารือกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ซึ่งท่านได้ให้ความสำคัญและมอบหมายในการดำเนินคดีติดตามจับกุมตัว
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ส่วนในประการที่สอง เรื่องของข้อมูลที่นายเชาวลิตได้ออกมาสื่อสารคล้ายลักษณะกล่าวว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยระบุว่าในคดีที่ถูกศาลตัดสินจำคุก ได้มีผู้ร่วมกระทำผิดหลายราย แต่เหตุใดผู้ร่วมกระทำความผิดด้วย จึงไม่ถูกฟ้องร้องหรือดำเนินคดีเช่นเดียวกัน ซึ่งในเรื่องนี้ในส่วนของกระทรวงยุติธรรม ตนได้มอบหมายให้นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม และรองปลัดกระทรวงยุติธรรม รวมถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และเลขาธิการ ป.ป.ส. ดำเนินการตรวจสอบ เพราะฐานคดีเดิมมันเป็นการที่นายเชาวลิต ไปชิงตัวบุคคลที่ถูกจับกุมเรื่องยาเสพติด ตนจึงให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวจะเป็นไปตามที่เจ้าตัวร้องหรือไม่นั้น
จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่า เป็นเหตุการณ์ชิงตัวผู้ต้องหาคนหนึ่งที่ถูกตำรวจจับเรื่องยาเสพติด และพอนายเชาวลิตและพวกสามารถชิงตัวบุคคลนั้นออกมาได้ ก็มีการทำร้ายตำรวจ จึงถูกดำเนินคดีร่วมกันปล้นทรัพย์กับพวกรวม 7 คน โดยในจำนวนนี้พบว่านายเชาวลิตกับพวกทั้ง 7 คนถูกตำรวจสั่งฟ้องทั้งหมด
ส่วนในชั้นอัยการ ตนยังไม่ได้รับสำนวนมาตรวจสอบ แต่พบว่าในคำพิพากษาจากกระบวนการที่เกี่ยวข้อง มีชื่อนายเชาวลิตเป็นจำเลยของศาลจังหวัดพัทลุง ซึ่งอัยการจั่วหัวว่าเหตุเกิดวันที่ 2 ก.ค. 2562 ในเวลาหลังเที่ยงคืน จำเลยกับพวกประมาน 20 คนที่หลบหนี ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนกล M16 เป็นต้น ไปชิงตัวบุคคลที่ถูกตำรวจจับกุมมา จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจนายเชาวลิตได้ว่า เนื่องจากมีผู้ร่วมกันตั้งเยอะแต่ทำไมไม่ถูกดำเนินคดีด้วย
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่าในส่วนของกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เราจึงจะตั้งคณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบว่าในคดีเดิม สามารถมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญต่อคดีเพื่อที่จะรื้อฟื้นคดีได้หรือไม่ โดยจะหารือใกล้ชิดกับ ผบ.ตร. ว่า ถ้ามันรื้อฟื้นคดีใหม่ จะให้เป็นคดีที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหากเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ จะให้เป็นคดีพิเศษ ซึ่งจะดำเนินการโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ก็ได้ เพราะว่าในคดีดังกล่าวทราบว่ามีการฟ้องไป 7 รายหรืออาจจะมากกว่านั้น แต่เท่าที่ไปตรวจสอบจากคำพิพากษาในคดีเกี่ยวเนื่องกับตัวบุคคล เช่น บุคคลที่อ้างชื่อว่า นายสิทธิเดช หรือจรวด ก็มีคดีที่ศาลตัดสินลงโทษเหมือนกัน ซึ่งศาลตัดสินในเดือน ธ.ค.65 ในคดีพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเหตุการณ์ก็เกิดวันที่ 2 ก.ค.62 เช่นเดียวกัน อัยการอาจจะแยกฟ้องก็ได้
พ.ต.อ. ทวี ระบุว่า ส่วนของนายเชาวลิต ทราบว่ามีคดีอื่นที่อาจจะเป็นคดีร่วมกันพยายามฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานที่เป็นข่าวดังๆที่ร้านเติมสุข จ.พัทลุง ได้ร่วมกับพวกจำนวนมาก ทราบว่ามีการฟ้องร้อง ซึ่งตนคิดว่าในเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องสะเทือนขวัญ เป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจ ตนก็ได้ให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมและคณะฯ ประสานกับ ผบ.ตร. อย่างใกล้ชิด เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ เพราะว่าในความรู้สึกของนายเชาวลิตที่เขาได้ระบายถึงกระบวนการยุติธรรมและความยุติธรรมนั้น เราก็ไม่ได้ต้องเชื่อเขาแต่จะต้องนำข้อมูลที่เขาระบุ รวมถึงคำพิพากษาของศาลว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องถึงประมาณ 20 รายดังกล่าว จะต้องไปสอบสวนเพิ่มเติมพร้อมกับหลักฐานต่างๆ อาจจะต้องมีการตรวจเส้นทางการเงิน เป็นต้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำให้เร็วในส่วนของกระทรวงยุติธรรม
รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า การจะรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่นั้น ตามหลักประมวลวิธีพิจารณาความอาญา คดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องจนถึงที่สุด จะต้องมีพยานหลักฐานใหม่ แต่คำพูดของนายเชาวลิตในคลิปวีดีโอยังไม่ใช่หลักฐานใหม่ แต่บุคคลที่นายเชาวลิตระบุถึงในจดหมายร้องเรียน หรือบุคคลที่ไม่ได้ถูกสอบปากคำเป็นพยาน รวมถึงเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ถ้าหากรวบรวมได้ เราถือว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ และตนทราบว่าอัยการสูงสุดท่านปัจจุบันเป็นคนตรงไปตรงมาก็คงจะต้องไปประสานกับท่านว่ามีบุคคลใดในวงการที่ไปเกี่ยวข้องบ้าง ยอมรับว่าสะเทือนไปหมดทั้งกระบวนการยุติธรรม
เขากล่าวทิ้งท้ายถึงนายเชาวลิต ว่า ตนอยากจะเรียนว่าในกระบวนการยุติธรรม เราไม่มีใครตั้งธงว่าจะต้องให้เขาเป็นศพ เพราะเราอยากได้ตัวเขากลับเข้ามา ส่วนในคดีที่เขาร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม อีกทั้งเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องที่ติดคุก แต่คนที่ควรจะติดคุกมากกว่าเขานั้นมีอยู่ เราก็รับว่าจะมาทำให้ นับว่าเป็นโอกาสที่ดีเมื่อมีเรื่องต่างๆ รัฐบาลประกาศว่าต้องมีหลักนิติธรรม โดยหลักนิติธรรมนั้น พยานหลักฐานและกฎหมายต้องเป็นใหญ่ไม่ใช่คนเป็นใหญ่กว่ากฎหมายในกระบวนการยุติธรรม ยืนยันว่าเราจะตรวจสอบความจริงให้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'รมว.ยธ.' แนะ 'รพ.ตำรวจ' โชว์โปร่งใส ส่งเวชระเบียน 'ทักษิณ' ให้ ป.ป.ช.
'รมว.ยธ.' แนะ รพ.ตำรวจ ส่งเวชระเบียนรักษา 'ทักษิณ' ให้ ป.ป.ช. สร้างความโปร่งใสมีธรรมาภิบาล อ้างกรมราชทัณฑ์ให้ความร่วมมือตลอด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
บันทึกไว้! 'ทวีไอพี' ยัน 'ยิ่งลักษณ์' ไม่เข้าเกณฑ์ขังนอกเรือนจำ
ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการจำคุกนอกเรือนจำ ที่กรมราชทัณฑ์เตรียมบังคับใช้ในเดือน ม.ค.นี้ ว่า ปั
‘ทวีไอพี’ปัดขังนอกคุกเอื้อปู
ยธ.ประเดิมใช้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ หลัง ม.ค.68 อัตราโทษไม่เกิน 4 ปี
'ทวี' แจง 'ดีเจแมน-ใบเตย' ได้รับค่าเยียวยา แต่ต้องรอให้คดีถึงที่สุด
'ทวี' แจง 'ดีเจแมน-ใบเตย' ได้รับค่าเยียวยา วันละ 500 บาท หลังศาลชั้นต้นยกฟ้อง แต่ต้องรอให้คดีถึงที่สุด บอกหากไม่ได้รับความยุติธรรม สามารถฟ้องรัฐได้ ชงแก้กม.ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้องจะเข้าไปเยียวยา
'หมอวรงค์' ฟันธงป่วยทิพย์พ่นพิษ 'ทักษิณ' เก็บทรงไม่อยู่
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี