ทึ่ง! ตามไปดู 'นักล่าจักจั่น' เข้าป่าสอยเมนูเด็ดหายาก เสิร์ฟขึ้นโต๊ะจานละ 300 บาท

เข้าป่าตามไปดู “นักล่าจักจั่น” ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน สอยลงมาเป็นเมนูเด็ดของแซบอีสาน สร้างรายได้วันละพัน นำเสริฟขึ้นโต๊ะตกจานละ 300 บาท

21 มี.ค.2566 - ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครพนมว่า ในช่วงนี้ถึงแม้หลายพื้นที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ไม่สามารถทำการเกษตรนอกฤดูกาล เพื่อสร้างรายเสริมได้ แต่สำหรับชาวบ้านที่มีอาชีพหาของป่าฤดูแล้ง ถือว่าเป็นโอกาสทองของพวกเขา เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลหาจับจักจั่น ที่อาศัยอยู่ตามป่าโคก ป่าโปร่ง หรือป่าเบญจพรรณ ชาวอีสานถือเป็นอาหารป่าหายาก เพราะหนึ่งปีมีเพียงครั้งเดียว ที่จะสามารถออกล่านำมาขายสร้างรายได้ ประกอบเมนูเด็ดอีสานรสแซบ ที่ส่งต่ออร่อยจากรุ่นสู่รุ่น

โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ ต.ปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม ถือเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่ง ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีอาชีพล่าจักจั่นในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงฤดูฝนมาเยือนของทุกปี โดยทุกเช้าชาวบ้านจะเดินทางเข้าป่าไปล่าจักจั่น ตามต้นไม้สูงที่มีต้นกุง พลวง และสะแบง เนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยของจักจั่นตามธรรมชาติ

ส่วนการล่าจักจั่นถือว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สืบสานกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยจะมีการนำยางไม้ คือ ยางต้นโพธิ์ผสมกับยางต้นมะเดื่อ ทำให้เกิดความเหนียว นำมาใส่กระบอกไม้ไผ่ ใช้ไม้พันกับยางที่เหนียวให้แน่นได้ที่ แล้วเสียบกับไม้ไผ่ยาวประมาณ 10 เมตร ซึ่งเป็นอุปกรณ์ล่าจักจั่นที่เกิดจากความชำนาญตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยสังเกตจากเสียงและใช้ความชำนาญจากสายตา เพราะจักจั่นชอบเกาะตามต้นไม้กิ่งไม้ต่างๆ เพื่อร้องหาคู่เสียงร้อง ” จั่น จั่น จั่น ฯ ” คือที่มาของชื่อมัน

เมื่อพบเห็นก็จะนำยางไม้ติดปีกจักจั่นทีละตัว แต่ต้องมีความพยายาม สายตาต้องดี และมีความชำนาญสูง ส่วนราคาซื้อขายตกตัวละประมาณ 1 -2 บาท บางรายมีความสามารถสูง สามารถสร้างรายได้วันละ 500 -1,000 บาท ทำให้ในช่วงนี้ พบว่าตามตลาดสด และตลาดของป่าในพื้นที่อำเภอต่างๆ คึกคักไปด้วย พ่อค้า แม่ค้า ที่รับซื้อจักจั่นมาวางจำหน่าย สร้างเงินหมุนเวียนสะพัดปีละครั้ง เนื่องจากเป็นเมนูหายากหนึ่งปีมีครั้งเดียว เพราะจักจั่นแต่ละตัวมีวัฏจักรวงจรชีวิต ตั้งแต่วางไข่อาศัยอยู่ใต้ดินที่ชุ่มชื้น กว่าจะขึ้นมาบนต้นไม้ ต้องใช้เวลาหลายปี

โดยชาวบ้านนิยมนำไปปรุงเป็นเมนูอาหารป่ารสเด็ด สามารถนำไปตำป่น ใส่เครื่องเคียง หัวหอม ต้นหอม มะม่วงรสเปรี้ยว รวมถึงนำไปคั่ว ทอด แกงใส่ผักหวาน ได้สารพัดเมนูตามความชอบ กินได้ทั้งสุกและดิบ ยิ่งหากขึ้นร้านอาหารอีสาน ตกราคาจานละ 200 -300 บาทเลยทีเดียว นับวันยิ่งหายาก เพราะบางรายไม่รอให้จักจั่นโผล่จากดินมาเอง ใช้วิธีขุดไข่จักจั่นและตัวอ่อนขึ้นมาขาย จึงทำให้จำนวนจักจั่นลดลง

ด้าน นายเกษา คำวัน อายุ 39 ปี ชาวบ้านหนองบัว ต.ปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม เปิดเผยว่า สำหรับอาชีพล่าจักจั่น ถือเป็นอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น สร้างรายได้เสริมในช่วงฤดูแล้ง จึงออกหาของป่า รวมถึงล่าจักจั่น ที่อาศัยอยู่ในป่าเต็งรัง ตามไร่นาและป่าชุมชน จะหาได้มากในปีที่มีความอุดมสมบูรณ์ไม่แห้งแล้ง เนื่องจากวัฏจักรของจักจั่น ในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนมีนาคมทุกปี โดยฟักตัวขึ้นมาจากใต้ดิน ขึ้นมาลอกคราบตามต้นไม้ เพื่อออกมาผสมพันธุ์ และวางไข่บนต้นไม้ ก่อนตกลงในพื้นดินตามธรรมชาติ และอาศัยอยู่ในดินในช่วงฤดูฝน

จากข้อมูลพบว่าจักจั่นแต่ละตัวใช้เวลาการฟักตัวจากไข่ ก่อนจะออกมาเป็นตัว ใช้เวลา 5-7 ปีหมุนเวียนเป็นวงจรชีวิต ทำให้นับวันยิ่งหายาก ส่วนการล่าต้องใช้ความชำนาญพอสมควรเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่นำยางไม้ต้นโพธิ์กับต้นมะเดื่อ และยางไม้ที่ปลอดสารพิษ มาเป็นอุปกรณ์ในการล่า ด้วยการนำมาพันกับปลายไม้ไผ่ยาวประมาณ 10 เมตร เพื่อนำไปติดกับปีกจักจั่น ที่อยู่บนต้นไม้ ต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษ และสายตาต้องดี ถึงจะมองเห็น เพราะตัวจักจั่น จะพรางตัวคล้ายกับเปลือกไม้ จะต้องออกไปล่าแต่เช้า เพราะจักจั่นจะอยู่ตามโคนต้นไม้ พอสายมาจะขึ้นที่สูง แต่ละวันหากใครชำนาญ จะสามารถหาได้วันละ 500 -1,000 ตัว มีราคาซื้อขายตัวละ 1 -2 บาท ถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ดีพอสมควร ถึงจะหายากแต่คุ้มดีกว่าไปทำงานรับจ้าง ส่วนใหญ่จะนำไปขาย และนำมาปรุงเป็นเมนูกินเองบางส่วน

สำหรับเมนูเด็ด ทำได้ทั้งดิบและสุก ก่อนประกอบอาหารจะนำมาเด็ดปีกออกก่อน นำมาตำป่น ใส่มะม่วงเปรี้ยว รวมถึงนำไปคั่ว ทอด แกง ตามความชอบ ถือเป็นเมนูหายากหนึ่งปีมีครั้งเดียว และเป็นของป่าที่สร้างรายได้ดีพอสมควร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผวาหนัก! คนหาปลาดันเจอ 'ระเบิดตอร์ปิโด' ริมฝั่งโขง

ชาวบ้านหาปลาริมฝั่งโขงนครพนม ผวาหนัก เจอระเบิดสงคราม อยู่ในสภาพใช้งานได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ระบุ คาดว่าระเบิดยุคสงครามอินโดจีน เตือนหนัก หากพบวัตถุต้องสงสัยอย่าเก็บไป ต้องรีบแจ้งทันที

สงกรานต์นครพนม แห่ขอพรพญานาค

นครพนมสุดคึกคัก สงกรานต์แห่ขอพรพญานาค ถนนข้าวปุ้นอุโมงค์น้ำคึกคัก อากาศร้อนแตะ 40 องศาฯ ในเมืองเล่นสงกรานต์เที่ยงคืน

ผู้ว่าฯโคราชป้ายแดง ลุยดูอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง หวั่นหน้าแล้งมีน้ำดิบไม่พอทำประปา

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายวิจิต กิจวิรัตน์ รองผู้ว่า และนายอำเภอโชคชัย นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลด่านเกวียน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด