ชาวลำปางค้านเหมืองแร่ หวั่นกระทบต้นน้ำชุมชน เอกชนยกเลิกเวทีรับฟังกะทันหัน

ชาวบ้านเสริมงามค้านเหมืองพลวง หวั่นกระทบแหล่งต้นน้ำชุมชน-สอจ.ลำปาง และบริษัทขอประทานบัตร แจ้งยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นกะทันหัน

24 ส.ค.2566 - เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ชาวบ้าน ต.เสริมขวา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ประมาณ 300 คน ร่วมชุมนุมแสดงพลังคัดค้านการสร้างเหมืองแร่บ้านแม่เลียง หมู่ 7 ต.เสริมขวา ณ ศาลาอเนกประสงค์บ้านแม่เลียง โดยก่อนหน้านี้เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ สำนักงานอุตสาหกรรม จังหวัดลำปาง (สอจ.) ได้ส่งหนังสือเชิญชาวบ้านร่วมรับฟังความคิดเห็นเรื่องการยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แต่กลับแจ้งยกเลิกล่วงหน้าเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง

นางเบญจวรรณ ลาดปะละ อายุ 52 ปี ชาวบ้านหมู่ 9 ต.เสริมขวา กล่าวว่า การที่คนในชุมชนออกมาคัดค้านเพราะบริเวณทำเหมือง 50 ไร่ นั้นอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำแม่เลียง เป็นทรัพยากรน้ำที่ชาว อ.เสริมงาม ใช้ดื่มกินทำไร่ทำสวน การทำเหมืองจะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำและสุขภาพของชาวบ้าน

“สมัยก่อนเคยมีการเข้ามาทำเหมืองแล้วน้ำในแม่น้ำเลียงเปลี่ยนเป็นสีแดง นำมากินไม่ได้ ถ้ามีรถขนแร่ก็จะทำให้ถนนเสียหาย ใครจะเอาเงินมาให้เท่าไรก็ไม่เอา ไม่เอาอะไรแล้วอยากให้ป่าไม้อยู่ไปแบบนี้” นางเบญจวรรณกล่าว

ชาวบ้านที่มาร่วมคัดค้านการสร้างเหมืองบ้านแม่เลียงรายหนึ่ง กล่าวว่า คนตำบลเสริมขวา 12 หมู่บ้าน และ ตำบลทุ่งงาม จะได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมมากที่สุดหากการทำเหมืองพลวงปล่อยน้ำจากการฉีดดินที่ขุดมาลงแม่น้ำเลียง แล้วแม่น้ำเลียงก็จะไหลผ่านชุมชนต่างๆ ลงไปรวมกับแม่น้ำวัง

“เรามีชาวบ้านหมู่ 4 ร่วมลงชื่อคัดค้านการสร้างเหมืองวันนี้แล้ว 137 คน คัดค้านเพราะบ้านเราต้องใช้น้ำมากินมาใช้ ทำไร่ทำนา กลัวทำให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมจนไม่สบายเจ็บป่วย ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ต้นปี 2517 เคยมีคนเข้ามาทำเหมืองแล้วฉีดน้ำเอาแร่ ตอนนั้นเก็บเกี่ยวข้าว 4 ไร่ ได้ผลผลิต 35 กระบุง แต่พอช่วงที่ไม่มีการทำเหมืองเก็บข้าวได้มากกว่า 100 กระสอบ ถ้าบริษัทเข้ามาทำเหมืองแล้วเราจะกินอะไร ไม่สบายขึ้นมาก็ไม่มีเงินหาหมอ” ชาวบ้านหมู่ 4 คนนี้กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านที่มาร่วมคัดค้านกล่าวด้วยว่า ได้ยินผู้ใหญ่บ้านประกาศเสียงตามสายเมื่อเย็นวาน (22 สิงหาคม) ว่าบริษัทโทรแจ้งการเลื่อนเวลาทำเวทีรับฟังความคิดเห็นออกไปก่อน โดยติดต่อทางผู้ใหญ่บ้านให้ประสานคนในชุมชน คิดว่าถ้ามีการสร้างเหมืองจริงๆ จะมีสารพิษจากการผลิตแร่พลวงหลายอย่าง เช่น สารตะกั่วที่ไหลลงน้ำ

นายสมหวัง อุดสร้อย หรือสหายทัพ อายุ 65 ปี ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า ทุกคนในชุมชนต้องร่วมกันคัดค้านการสร้างเหมืองวันนี้ไม่ให้ซ้ำรอยประวัติศาสตร์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งการต่อสู้ครั้งนั้นทำให้มีชาวบ้านต้องเสียสละชีวิตเพื่อรักษาทรัพยากร

“ในอดีตเรามีวีรชนเป็นแกนนำในหมู่บ้านให้เอาเป็นตัวอย่างที่ไม่เห็นแก่เงินแค่ 400-500 บาท รวมตัวกันแล้วเกิดกระแสคอมมิวนิสต์ขึ้นมา มี 20 กว่าคนต้องเข้าป่า ซึ่งช่วงนั้นผมอายุ 13 ปี ถ้าวันนี้จะตายเพื่อประชาชนผมยอมเสียสละ ผมไม่ใช่แกนนำคนเดียวแต่ชาวบ้านทุกคนต้องร่วมมือกัน สิ่งที่เขากลัวที่สุดคือความสามัคคี ถ้าคนในชุมชนแตกแยกใครจะกลัว ชาวบ้านต้องร่วมต่อสู้ ไม่เอาก็คือไม่เอา” สหายทัพกล่าว

ต่อมา เวลา 10.00 น. การรวมตัวคัดค้านการทำเหมืองของชาวบ้านบ้านแม่เลียงได้ย้ายจากศาลาอเนกประสงค์ ไปยังทางเข้าเหมืองที่บริษัทยื่นขอประทานบัตร และพาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ป่าตรวจดูแหล่งที่เคยถูกขุดหาแร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ และเป็นใจกลางต้นน้ำที่บริษัทเอกชนได้ยื่นขอประทานบัตรกับสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ลำปาง

ทั้งนี้ เมื่อปี 2557 บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งได้ยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่พลวง ในพื้นที่ ต.เสริมขวา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง จำนวน 297 ไร่ 2 งาน 70 ตารางวา ต่อทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง (สอจ.ลำปาง) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 และ สอจ.ลำปาง ติดประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่องการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ได้ยื่นคำร้องคัดค้านภายใน 20 วัน หากไม่มีผู้ยื่นคำร้อง สอจ.ลำปาง จะต้องดำเนินการทำเวทีประชาคม ภายใน 30 วัน ซึ่งชาวบ้านไม่รับทราบข้อมูลการยื่นขอประทานบัตร จึงได้ร่วมกันใช้สื่อโซเชียลมีเดียสร้างกระแสการคัดค้าน

ล่าสุด สอจ.ลำปาง ได้ทำหนังสือลงวันที่ 4 สิงหาคม 2566 เชิญชาวบ้านโดยประกาศผ่านเว็บไซต์องค์การบริหารส่วนตำบลเสริมขวา ให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ระบุว่า เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่จังหวัดลำปาง จะดำเนินการให้มีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ จำนวน 50 ไร่ 3 งาน 86 ตาราวา คำขอประทานบัตรที่ 1/2565 ทำเหมืองแร่พลวง ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 7 ต.เสริมขวา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ของบริษัทเอกชน ในวันพุธที่ 23 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.30-12.00 น. ณ ศาลาอเนกประสงค์บ้านแม่เลียง หมู่ 7 ต.เสริมขวา ลงชื่อนายสุภชัย ไวยาวัจมัย เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมาก ปริญ' สนับสนุนศักยภาพนักกีฬาไทย ผุดโครงการสานฝันปูทางแข่งนานาชาติ

ความฝันที่อยากเป็นนักกีฬายูโดทีมชาติ แต่จับพลัดจับผลูทำให้พระเอกสุดฮอต “หมาก-ปริญ สุภารัตน์” เข้าสู่วงการบันเทิง จนกลายเป็นพระเอกดัง และเพราะความฝันในตอนนั้นบวกกับความพร้อมและตั้งใจที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนน้องๆ นักกีฬาให้ได้เดินตามฝันให้ไปได้ไกล

2 ลุงนั่งกินเหล้าก่อนทะเลาะกันเรื่องสับหัวปลาชิ้นไม่เท่ากัน สุดท้ายใช้ท่อนไม้ตีหัวเพื่อนดับ

พ.ต.ต.ธีระ สุมา สว.(สอบสวน)สภ.สบปราบ อ.สบปราบ จ.ลำปาง รับแจ้งเหตุมีคนถูกทำร้ายร่างกายเสียชีวิตที่บ้านเลขที่ 100 หมู่ที่ 2 ต.สบปราบ อ.สบปราบ จ.ลำปางจึงรถไปที่เกิดเหตุพร้อมด้วย พล.ต.ต.ภมิปัญญ์ญา นวตระกูลพิสุทธิ์

อีกแล้ว! สาวก้มเก็บโทรศัพท์ในรถ พุ่งชนมอเตอร์ไซค์นักเรียน ม.6 ดับ 1 เจ็บอีก 1

เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ทุ่งฝาย จ.ลำปาง พร้อมกับเจ้าหน้าที่สมาคมกู้ภัยต้นธงชัยลำปาง และแพทย์เวรโรงพยาบาลลำปาง รับแจ้งเหตุรถยนต์เก๋งชนกับรถจักรยานยนต์ เป็นเหตุให้มีคนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต บริเวณถนน สายลำปาง – แจ้ห่ม ปากทางบ้านวังหม้อเจดีย์ซาว ซอย 3 ถนนขาขึ้นในเขตพื้นที่ตำบลต้นชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

ทส. เลื่อนเวทีรับฟังกำหนดเขตอุทยานถ้ำผาไท จ.ลำปาง อ้างข้อมูลไม่ชัดเจน

ปลัด ทส.สั่งเลื่อนเวทีรับฟังความเห็นกำหนดเขตพื้นที่ อท.ถ้ำผาไทออกไปไม่มีกำหนด หัวหน้า อท.อ้างข้อกังวลของพื้นที่ ชาวบ้านข้องใจไม่เรียบร้อยแต่ทำไมเร่งรีบเปิดเวทีรับฟัง เชื่อลักไก่แต่ถูกจับได้

สส.ลำปาง รับหน้าเสื่อจัดเวทีเสวนาปัญหาเหมืองแร่ ชี้ชาวบ้านต้องเข้าฟังได้ทุกคน

น.ส.รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 4 จ.ลำปาง พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก หลังจากได้รับจดหมายจากบริษัท ทรัพย์ธรณีลานนา จำกัด ขอให้ทาง ส.ส.เขต 4 ลำปาง ช่วยจัดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็นร่วมกับชาวบ้านในชุมชนพื้นที่ประทานบัตร

'ชาวแม่สะเรียง' ร่วมต้านเหมืองคึกคัก จี้เพิกถอนพื้นที่ป่าออกจากแหล่งหินแร่

ชาวบ้านในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง และอำเภอใกล้เคียง กว่า 600-700 คน ได้เข้าร่วมกิจกรรม “รวมพลคนแม่สะเรียงคัดค้านเหมืองแร่และโรงโม่หินแม่สะเรียง” บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักโดยมีการแจกเอกสารข้อมูลผลกระทบจากการสร้างเหมือง