“ทะลุแก๊ส” รีเทิร์นสมรภูมิดินแดง ผลประโยชน์ทางการเมืองชักใย

เหมือนหนังเรื่องเดิมกลับมาวนฉายอีกครั้ง ภาพเหตุการณ์กลุ่มเยาวชนที่เรียกตัวเองว่ามวลชนอิสระ เรียกร้อง “ประชาธิปไตย ตั้งธงล้มรัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยื่นข้อเรียกร้อง “นายกฯ ต้องลาออก, แก้ไขรัฐธรรมนูญ, ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” ชี้บริหารประเทศล้มเหลวทุกด้าน โดยใช้พื้นที่แยกดินแดงเป็นฐาน จุดหมายคือบ้านพักนายกฯ ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษพระองค์ ถนนวิภาวดีรังสิต

เสียงพลุ ระเบิด เปลวไฟ แก๊สน้ำตา คละคลุ้งลากยาวเกือบ 4 เดือน ตั้งแต่เดือน ส.ค.-พ.ย.64 สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานถูกลิดรอน ตกเย็นกลุ่มเยาวชนหัวรุนแรงที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มทะลุแก๊ส” รวมตัวจุดพลุ ปาระเบิด วางเพลิง ทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ก่อความวุ่นวาย ผู้บังคับใช้กฎหมายคือ “ตำรวจ” ก็ต้องวางกำลังรักษาความสงบใช้ตู้คอนเทนเนอร์ปิดถนนการจราจรเป็นอัมพาต เหตุการณ์บานปลาย สรรพกำลังทั้งรถฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง ถูกนำมาระงับเหตุ เกิดการปะทะได้รับบาดเจ็บล้มตายกันทั้ง 2 ฝ่าย เหตุจลาจลขยายวงกว้าง ไล่ทุบไล่เผาป้อมตำรวจ ป้อมจราจร ทั่วกรุงเทพฯ เศษซากความเสียหายยังคงอยู่

 “สมรภูมิดินแดง” ครานั้นเป็นการผลิดอกออกผลจากม็อบ “กลุ่มราษฎร” ตั้งแต่กลางปี 63 ที่มีแกนนำ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ไมค์-ภาณุพงษ์ จาดนอก, ไบรท์-นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง, นายอานนท์ นำพา และแนวร่วม เสนอเรียกร้องพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน ก่อนจะปัดสวะออกจากตัวเทมวลชน อ้างเป็นการจัดตั้งกันเองโดยมวลชนอิสระ ไม่รับผิดชอบ ตรรกกะย้อนแย้งเมื่อมวลชนถูกจับ ใช้กฎหมู่เหนือกฎหมายกดดันกระบวนการยุติธรรมปิดศาลแหกปาก “ปล่อยเพื่อนเรา” ซึ่งยังคงทำกันอย่างต่อเนื่องทั้งที่อัยการ ศาลอาญา ศาลฎีกา หรือแม้กระทั่งที่เรือนจำ

การชุมนุมปี 63-64 เป็นเกมการเมืองที่มีประชาชนเป็นตัวประกัน แกนนำม็อบแต่ละคนเล่นคนละบทบาท เหมือนหมากที่ถูกวางไว้บนกระดาน แต่สุดท้ายคือ “ผลประโยชน์” ของอีแอบที่อยู่เบื้องหลัง

ผ่านไป 7 เดือน “แยกดินแดง” กลับมาระอุอีกครั้ง วันที่ 11 มิ.ย.65 ช่วงบ่ายกลุ่มมวลชนอิสระไร้แกนนำนัดรวมตัวทำกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเดินเท้าไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ลาออกจากตำแหน่ง จบลงด้วยกิจกรรมยืนหยุดขัง เรียกร้องปล่อยนักโทษการเมืองที่ถูกคุมตัวที่เรือนจำอีก 9 คน ก่อนจะประกาศยุติการชุมนุมให้ทุกคนแยกย้ายกลับบ้าน

 “หางแถว” อ้างเป็นกลุ่มอิสระไร้การควบคุมมุ่งหน้าบ้านนายกฯ ที่ราบ 1 ข่าวกรองด้านความมั่นคงพบกลุ่มไม่หวังดีเข้ามาสร้างสถานการณ์ก่อความวุ่นวาย กำลังตำรวจควบคุมฝูงชนพร้อมรถจีโน่ตั้งรับ เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่หลายชั่วโมงทั่วบริเวณใกล้แยกดินแดง จัดเต็มพลุ ระเบิด ประทัดยักษ์ สู้กันอย่างดุเดือด รถยนต์ตำรวจถูกเผาได้รับความเสียหาย 2 คัน ตำรวจบาดเจ็บอีก 2 นาย แก๊งทะลุแก๊สถูกจับ 1 คน พร้อมด้วยพลุ ประทัดยักษ์ ถูกนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ดำเนินคดีหลายข้อหา แต่ยังไม่มีทีท่าจะหยุด ยังคงนัดรวมตัวกันทุกวันอย่างต่อเนื่อง

นับตั้งแต่ ก.ค.63 การชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นทั่วประเทศเกือบ 4,000 ครั้ง ตำรวจดำเนินคดีไปแล้ว 1,300 คดี เฉพาะสมรภูมิดินแดงมีคดีเกิดขึ้นกว่า 255 คดี ฝ่ายผู้ชุมนุมเสียชีวิต 1 คน เป็นเยาวชนอายุ 15 ปี ตำรวจได้รับบาดเจ็บอีกนับร้อย ทรัพย์สินทางราชการเสียหายมูลค่ามหาศาล ซึ่งยังจะมีผู้ตกเป็นผู้ต้องหาตามมาอีกจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่าไม่ใช่การชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง แต่เป็นการก่อเหตุความไม่สงบเรียบร้อย

ถึงแม้เวลาของรัฐบาลจะหมดวาระต้นปี 66 เริ่มเข้าสู่การเตรียมการเลือกตั้ง เป้าล้มนายกฯ ทั้งในสภาและนอกสภายังคงเข้มข้น ตำรวจรับบท “หนังหน้าไฟ” เสี่ยงภัยค้ำเก้าอี้ ถูกกล่าวหาใช้ความรุนแรงกับคนเห็นต่าง นายกฯ เห็นใจผู้ปฏิบัติหน้าที่ต้องออกมาปกป้อง “ถ้ามันไม่ใช้ความรุนแรง มันก็คงไม่ต้องปฏิบัติอะไร เขาห้ามตรงไหน ก็ห้ามก็เตรียมการแค่นั้น แต่ถ้าหากถูกใช้ความรุนแรงก่อน เขาก็มีสิทธิ์ในการที่จะบังคับใช้กฎหมายในการป้องกันตัว เตือนเคารพกฎหมาย ไม่อยากให้มีคดีติดตัว วันข้างหน้าจะเสียอนาคต ไม่ได้ขู่ กฎหมายทำให้บ้านเมืองสงบ”

ชัดเจน “บิ๊กตู่” ไฟเขียว “บิ๊กปั๊ด” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ย้ำตำรวจจะพยายามใช้มาตรการเท่าที่จำเป็น เดินตามกรอบของกฎหมาย อะไรที่หลีกเลี่ยงได้ที่จะไม่ใช้กำลังก็จะไม่ใช้ เว้นแต่ว่าจำเป็นจริงๆ แยกแยะให้ชัด สิทธิ์การชุมนุมกับเรื่องการก่อเหตุมันคนละเรื่อง ตำรวจไม่เคยห้ามสิทธิ์ในการชุมนุมตามกฎหมาย แต่ที่เป็นการก่อเหตุความวุ่นวาย ชุมนุมไปตามกฎหมายไม่มีใครไปทำอะไร การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย เพราะที่ผ่านมาตำรวจได้รับบาดเจ็บพิการหลายคน ขณะที่รองโฆษก ตร.เผย “ท่อน้ำเลี้ยง” จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายเมื่อถึงเวลา

มองย้อนกลับไปถึงเหตุไม่สงบที่เกิดขึ้นจะมี “การเมือง” เป็นตัวชี้นำ อย่างม็อบทะลุแก๊สปลายปี 64 มันจะบังเอิญหรือไม่ ก่อนจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้าน สารพัดม็อบ ทะลุแก๊ส ทะลุฟ้า ปิดล้อมสภา คาร์ม็อบลงถนนป่วนทั่วกรุงเทพฯ เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง “ทะลุแก๊ส EP2” กลับมาดั่งโมเดล “ทะลุแก๊ส EP1” พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 15 มิ.ย.นี้ โดยใช้ชื่อ ‘ยุทธการ เด็ดหัว สอยนั่งร้าน’ ที่จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ไลฟ์สดจากสหรัฐเป็นห่วงสถานการณ์ชุมนุม สั่งให้รองผู้ว่าฯ กทม.ดูแลอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัย “ขอให้การแสดงออกเป็นไปอย่างสงบ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน กทม.ต้องดูแลอำนวยความสะดวกให้ ขอให้เจ้าหน้าที่อย่าใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม” แล้วข้อเสนอการแก้ปัญหาม็อบในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่จะจัดพื้นที่สำหรับการแสดงออกทั้งขนาดเล็ก-ขนาดใหญ่ ทั้งพื้นที่แบบอนาล็อกและพื้นที่แบบดิจิทัลจะยังคงใช้ได้ไหม เมื่อแก๊งทะลุแก๊สไม่ใช่มาเพื่อเรียกร้องสิทธิทางการเมือง แต่มาเพื่อก่อความวุ่นวาย

มาตรการรักษาความสงบกลุ่มผู้ชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพฯ ของรัฐบาล จะเดินควบคู่ไปกับนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติได้หรือไม่ ถึงแม้จะมองว่าไม่เลือกข้าง แต่ยังคงมีดีเอ็นเอพรรคเพื่อไทย ที่เคยเป็น รมว.คมนาคม สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แล้วเสถียรภาพรัฐบาลจะมั่นคงอีกต่อไปหรือไม่ การกระชากหน้ากากอีแอบหลังม็อบ หรือ “ท่อน้ำเลี้ยง” ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย

ถึงแม้จะพอทราบคือกลุ่มเดิมๆ ที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นเดิมพัน.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประธานสภาเตือนสติอย่าดันทุรังชงแก้ รธน.รอผลประชามติก่อน

'วันนอร์' ยันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังนำเข้าพิจารณาไม่ได้ เหตุต้องมีการทำประชามติก่อน เตือนหากดันทุรังแล้วถูกยื่นตีความเสียเวลาเปล่าๆ

ศึก“วางคน-วางเกม”รับมือ สะท้อนผ่านวอรูม“เมียนมา”

ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจาก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา

‘บิ๊กโจ๊ก’ดิ้นสู้หัวชนฝา ยื้อแผน‘ฆ่าให้ตาย’

ความเคลื่อนไหวของ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เที่ยวล่าสุด ถือเป็นการเขย่าวงการการเมือง ตำรวจ และองค์กรอิสระ

กองทัพโดดเดี่ยวในวงล้อม การเมืองไล่บี้ ผ่านปฏิรูป-แก้กม.

มีความเห็นและปฏิกิริยาทางการเมืองตามมา หลังมีการออกมาเปิดเผยจาก “จำนงค์ ไชยมงคล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกลาโหม (สุทิน คลังแสง) รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและประชาสัมพันธ์” ที่เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภากลาโหมเมื่อ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา รับทราบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ...

'ทักษิณ-โจ๊ก'ย่ามใจ! จุดจบเส้นทาง'สีเทา'

ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีความเคลื่อนไหวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการพักโทษ เดินทางมาร่วมเทศกาลสงกรานต์ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) และ สส.ของพรรค ร่วมรับประทานอาหารกับนายทักษิณอย่างคึกคัก