เพื่อไทยหลังปรับทัพ กับเป้าหมายชนะแลนด์สไลด์

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี (ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย)

การขยับของ พรรคเพื่อไทย ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาตกอยู่ในความสนใจของแวดวงการเมืองอย่างมาก ทั้งการปรับทัพใหญ่ เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคใหม่ หรือการที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง บุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  เปิดตัวเข้าสู่ถนนการเมืองด้วยการมีตำแหน่งเป็น ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรคเพื่อไทย รวมถึงท่าทีของพรรคต่อเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นต้น

ทิศทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป  นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือที่แวดวงการเมืองเรียกขานกันว่า หมอเลี้ยบ อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย เช่น อดีต รมว.การคลัง, อดีต รมว.ไอซีที, อดีต รมช.สาธารณสุข ที่วันนี้มีบทบาททางการเมืองในเพื่อไทยในฐานะ ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย จะมาบอกถึงทิศทางของเพื่อไทย หลังผ่านช่วง disrupt เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

เริ่มที่ นพ.สุรพงษ์ ได้บอกถึงบทบาทของ ผอ.พรรคเพื่อไทย ที่เข้าไปเริ่มทำงานอย่างเต็มตัวเมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาว่า บทบาท ผอ.พรรคการเมือง หากเปรียบเทียบกับองค์กรภาคธุรกิจจะเปรียบได้กับตำแหน่ง Chief Operation Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งในโครงสร้างของภาคธุรกิจ ผู้ที่รับผิดชอบในการตัดสินใจเรื่องวิสัยทัศน์และนโยบายก็คือ คณะกรรมการบริษัท ที่จะมีประธานคณะกรรมการและกรรมการบริษัท

...จากนั้นตามลำดับโครงสร้างคนต่อมาก็คือ Chief  Executive Officer หรือ CEO-ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งส่วนใหญ่ CEO จะเป็นกรรมการบริษัทด้วย จากนั้นลำดับชั้นต่อมาก็คือ Chief Operation Officer หรือ COO-ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ดังนั้นถ้าเปรียบเทียบในบริบทของพรรคการเมือง  ประธานคณะกรรมการบริษัทก็เหมือนกับหัวหน้าพรรคการเมือง ส่วนกรรมการบริษัทก็เปรียบเทียบได้กับคณะกรรมการบริหารพรรค ส่วน  CEO เปรียบเทียบได้กับเลขาธิการพรรค

พรรคเพื่อไทยตั้งยุทธศาสตร์การเลือกตั้งคือ ต้องแลนด์สไลด์  ได้เสียง ส.ส.เกิน 250 เสียงให้ได้ แล้วก็ไปรวมเสียงกับพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถ้ารวมเสียงได้สัก 300  เสียงก็น่าจะเหมาะสม

...ตำแหน่ง ผอ.พรรคการเมือง ก็เหมือนกับผู้รับผิดชอบในเรื่องของการนำนโยบาย วิสัยทัศน์ของกรรมการบริหารพรรค นำมาแปลงในทางปฏิบัติว่าจะผลักดันให้นโยบาย วิสัยทัศน์ต่างๆ ออกมาเป็นรูปธรรมในการทำงานอย่างไร หรือหากเปรียบเทียบกับโครงสร้างของหน่วยราชการ ฝ่ายที่รับผิดชอบบริหารประเทศคือคณะรัฐมนตรี มีนายกฯ เป็นประธานของที่ประชุม ครม. มี รมต.ประจำกระทรวง ส่วนคนที่รับนโยบายไปบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือ ปลัดกระทรวง ดังนั้นสถานะของ ผอ.พรรคการเมืองก็เหมือนกับปลัดกระทรวง

พรรคเพื่อไทย

ถ้าไม่ Disrupt ก็ตายแน่ๆ

เมื่อถามถึงว่า การที่พรรคเพื่อไทยมีการดิสรัปชัน มีการปรับโครงสร้างพรรค รีแบรนด์พรรค เปลี่ยนโลโก้พรรคในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน  เกิดจากเหตุผลใด นพ.สุรพงษ์-ผอ.พรรคเพื่อไทย ให้คำตอบว่า ที่จริงแล้ว การดิสรัปชันพรรคเพื่อไทย เป็นแนวคิดที่ผมเคยเขียนในเฟซบุ๊กของตัวเอง โดยอาศัยประสบการณ์จากสมัยพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน

...ตอนสมัยพรรคไทยรักไทย ผมเคยเป็นรอง ผอ.พรรคไทยรักไทย ส่วนสมัยพรรคพลังประชาชนเป็นเลขาธิการพรรค ได้ผ่านประสบการณ์ ได้เห็นการเติบโตของพรรคไทยรักไทยจนมาเป็นพรรคพลังประชาชน จนมาเป็นพรรคเพื่อไทย

ผมสังเกตว่าในเรื่องการเมืองมันเปลี่ยนไป ในช่วงระยะเวลา 7-8  ปีหลัง ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการรัฐประหาร 22 พ.ค.57 เท่านั้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงเรื่องการรับรู้ เรื่องของวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศ และขณะเดียวกันก็จะเป็นผู้ที่ลงคะแนนเสียงในบัตรเลือกตั้งด้วย ผมเลยมองว่าการที่พรรคการเมืองที่เคยเหมือนกับสามารถที่จะทำงานตอบสนองความต้องการของประเทศชาติและประชาชนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แล้วยังคิดว่าวิธีการทำงานแบบนั้นยังทำงานแล้วได้ผลเป็นประโยชน์ต่อประเทศและต่อประชาชน มันอาจไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว

...หากนำพรรคไทยรักไทยสมัยปี 2544 มาจับวางไว้ตอนปี  2564 ถามว่าสามารถที่จะตอบรับความต้องการในการเปลี่ยนแปลงของประเทศและของประชาชนไหม ตอบเลยว่า "ไม่" เพราะว่าบริบทตอนนั้นกับบริบทตอนนี้มันเปลี่ยนแปลงไปมาก

ผมได้เขียนทิ้งท้ายในการเขียนเฟซบุ๊กไว้ตอนนั้นว่า พรรคเพื่อไทย ต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่ใช่ทำงานแบบพรรคไทยรักไทยเดิมเท่านั้น แต่ต้องสามารถระคมความเห็นของทุกๆ คน ด้วยเทคโนโลยีที่เปิดกว้างอยู่แล้วในยุคโซเชียลมีเดียที่มีแพลตฟอร์มหลากหลาย ตลอดจนการบริหารจัดการภายในพรรคต้องมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ มีแพลตฟอร์มเพื่อการสื่อสารภายในเพื่อให้การทำงานสามารถสร้างการมีส่วนร่วม และการตัดสินใจได้อย่างฉับพลันและรวดเร็ว

"ถ้าไม่ Disrupt or Die คือถ้าไม่ Disrupt ก็ตายแน่ๆ ซึ่งผมเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2561 ก่อนการเลือกตั้งปี  2562 ร่วมหนึ่งปี"

โดยเป็นการเขียนในมุมของนักสังเกตการณ์ทางการเมือง ที่มองว่ามันควรมีทิศทางแบบนั้น แต่ตอนนั้นความชัดเจนเรื่องบทบาทของพรรคการเมืองต่อคนรุ่นใหม่อาจจะยังไม่ชัด จนกระทั่งการเลือกตั้งปี 2562  ที่เราได้เห็นชัดเจนว่า การเกิดขึ้นของ พรรคอนาคตใหม่ ที่สร้างความแตกต่างจากพรรคการเมืองเดิมมากพอสมควร และตรงนั้นคือจุดที่ทำให้หลายคนเริ่มหันกลับมามองว่า ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการรับรู้ของผู้ที่จะลงคะแนนเสียงมันเกิดขึ้นแล้ว

ผอ.พรรคเพื่อไทย กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามหลังจากการเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนมากนัก ก็มีการปรับปรุงบ้างเล็กน้อย จนกระทั่งเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ได้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรค ที่คุณสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคลาออก ทำให้มีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่มีแนวทางว่า ควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคครั้งใหญ่ จะใช้คำว่า Disrupt ก็ได้ ไม่อย่างนั้นพรรคเพื่อไทยก็ไม่สามารถที่จะก้าวทันกับความต้องการของยุคสมัยได้

ตอนนั้นก็มีการระดมความคิดเห็นกัน คุณภูมิธรรม เวชยชัย ที่เคยทำงานร่วมกันตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม  CARE ด้วย ก็เข้ามาช่วยและพยายามผลักดันหลายเรื่อง จนกระทั่งเมื่อประมาณสักสองเดือนที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ คุณภูมิธรรมก็ติดต่อมายังผมว่าขอให้เข้ามาช่วยให้ความเห็นว่าจะปรับเปลี่ยน Disrupt พรรคเพื่อไทยให้มากกว่านี้ได้อย่างไร ผมเห็นว่าเมื่อพรรคเพื่อไทยมีความต้องการที่จะ Disrupt จริงๆ ผมเห็นว่าถ้าความเห็นที่ผมเสนอไปมีประโยชน์และสามารถดำเนินการได้ ผมก็ยินดี

จนกระทั่งช่วงต้นเดือนตุลาคม คุณสมพงษ์หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตอนนั้นก็บอกว่า พรรคมีความต้องการและมีนโยบายที่อยากจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมต้องอาศัยคนที่เคยมีประสบการณ์จากไทยรักไทย พลังประชาชนมาช่วยผลักดัน  คุณสมพงษ์ถามผมว่าพอที่จะมาช่วยนำนโยบายที่กรรมการบริหารพรรคได้กำหนดไว้มาลงมือปฏิบัติได้หรือไม่ ผมก็บอกว่าถ้าความเห็นเรื่องนี้พอมีประโยชน์กับพรรค ผมก็ยินดี คุณสมพงษ์เลยตั้งให้ผมมาเป็น ผอ.พรรคเพื่อไทยตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา                

ผอ.พรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงการเข้ามาทำงานในพรรคว่า งานใหญ่งานแรกก็คือ การเข้าไปเตรียมจัดประชุมใหญ่พรรคที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ผมเห็นว่าหากเพื่อไทยจะประกาศในเชิงเป็นรูปธรรมว่าพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนแปลงแล้ว จะต้องทำให้การประชุมใหญ่ของพรรคต้องเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ออกมาว่า เพื่อไทยวันนี้วิสัยทัศน์พรรคเป็นอย่างไร ต้องมีการนำเสนอที่น่าสนใจ มีการนำ  soft power มาใช้ประกอบเพื่อทำให้เกิดความน่าสนใจมากขึ้น

อย่างเรื่อง soft power ถ้าพรรคพูดเฉยๆ มันไม่เท่ากับทำให้เห็น พรรคเพื่อไทยจึงต้องแสดงให้เห็นว่าเราเข้าใจเรื่อง soft  power จริงๆ จึงนำเรื่อง soft power มาประกอบการประชุมใหญ่พรรคด้วย เป็นที่มาของการประชุมดังกล่าว ที่มีทั้งการจัดเดินแฟชั่น ที่เรามีข้อมูลอยู่แล้วว่ามี ส.ส.เพื่อไทยช่วย OTOP ในพื้นที่ในการพัฒนาผ้าคราม จนส่งออกไปที่ประเทศญี่ปุ่น จึงมีการนำผ้าครามมาจัดแฟชั่นโชว์ ที่ให้ ส.ส.ของพรรคมาเดินแฟชั่นเพื่อทำให้การจัดประชุมน่าสนใจมากขึ้น มีการแสดงของวงดนตรีที่เป็นแนวอีสานฟิวชัน  รูปแบบของการประชุมพรรคเพื่อไทยเลยออกมาจนหลายคนบอกว่าแปลกตา ไม่เคยเห็นในการประชุมใหญ่พรรคการเมือง 

...สิ่งเหล่านี้คือการสร้างหมุดหมายแรกของการที่จะแสดงว่า พรรคเพื่อไทยกำลัง disrupt แล้ว แต่จะมีหมุดหมายอื่นต่อไป ที่กรรมการบริหารพรรคก็ส่งต่อจากชุดเดิมไปยังกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งผมจะมีหน้าที่ในการนำวิสัยทัศน์ต่างๆ ไปขับเคลื่อนและผลักดันให้เป็นรูปธรรมในเครือข่ายองคาพยพของพรรค เช่นทำเรื่องฝ่ายสื่อสารของพรรค การบริหารจัดการภายใน 

-เหมือนกับมองว่า ปัจจุบันระบบนิเวศการเมืองไทยเปลี่ยนไป  เพื่อไทยเลยพยายามขยายหรือให้น้ำหนักมากขึ้นกับคนรุ่นใหม่?

ระบบนิเวศการเมืองเปลี่ยนด้วยปัจจัยอย่างน้อยสามประการ โดยปัจจัยแรกเพราะระบบนิเวศของการเมืองมันเปลี่ยน ที่แตกต่างจากการเมืองโลกสมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เพราะขณะนั้นประเทศมหาอำนาจในปัจจุบันอย่างประเทศจีน ตอนนั้นก็ยังไม่ได้ผงาดขึ้นมา จนอาจกล่าวได้ว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกาเหมือนกับเป็นมหาอำนาจเดี่ยว แต่ปัจจุบันจีนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเทียบเคียงกับสหรัฐฯ การเมืองโลกก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนกำหนดระบบนิเวศการเมืองไทยด้วยว่า การเมืองไทยต่อจากนี้ไม่ง่ายเหมือนเดิม และมีผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจด้วย

ปัจจัยที่สองคือเรื่อง ช่วงอายุ ของคน ที่ต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จะเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งหากมองดูในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา อย่างช่วงปี 2562  ก็มีคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนับสิบล้านคน  และผ่านมาอีกสักสี่ปีก็อาจจะมีคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ตอนปี 2562 ตอนนั้นอาจอายุ 14 ปี แต่ตอนนี้เขามีโอกาสที่จะใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้แล้วอย่างน้อยก็ประมาณ 5-6 ล้านคน

"ดังนั้นจะเป็นกลุ่มใหญ่มาก ที่จะมีบทบาทสำคัญมากในการที่จะกำหนดว่าใคร พรรคการเมืองไหน จะมีโอกาสเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ"

แต่แน่นอนคนรุ่นเดิมที่เคยลงคะแนนเสียงกันมา ก็ต้องยอมรับว่าด้วยสุขภาพที่ดีขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ช่วงอายุคนก็ยาวนานขึ้น คนที่เป็นผู้สูงอายุก็มีอยู่พอสมควร ไม่ได้ลดน้อยลงไปมากสักเท่าไหร่ เราจะเห็นได้ว่า ช่วงของการมีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกตั้ง มีทั้งคนที่อายุน้อยมากๆ ก็เป็นส่วนสำคัญ คนที่มีอายุก็เป็นส่วนสำคัญ ทำให้ระบบนิเวศทางการเมืองในเรื่องของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจึงไม่เหมือนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

...ปัจจัยที่สามคือ ปัจจัยด้านเทคโนโลยี เพราะเมื่อ 20 ปีที่แล้ว สมาร์ทโฟนยังไม่มี เฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดียไม่มี การสื่อสารกันสมัยไทยรักไทย ถ้าจะสื่อเรื่องนโยบายพรรคเราต้องติดป้าย อย่างนโยบายหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค เราต้องไปติดป้ายแบบฟิวเจอร์บอร์ดเหมือนกับป้ายหาเสียงตอนเลือกตั้ง ไปติดทุกหมู่บ้าน 7 หมื่นหมู่บ้านเพื่อที่จะสื่อสารทางการเมือง แต่มาวันนี้มันเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เพราะเพียงแค่เราอยากจะสื่อสารเรื่องไหน เราก็โพสต์ลงเฟซบุ๊ก ภายในแค่หนึ่งชั่วโมงมีคนเห็นเป็นล้าน เทคโนโลยีจึงเปลี่ยนวิธีการรับรู้ของคน

-พรรคเพื่อไทยวางเป้าหมายการเลือกตั้งไว้อย่างไร ที่จะทำให้พรรคชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์?

เป็นเป้าหมายที่กรรมการบริหารพรรคอยากได้ คือชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ ซึ่งถามว่าความหมายของแลนด์สไลด์คืออะไร ก็คือ การชนะแบบถล่มทลาย ชนะมากกว่าพรรคที่ได้ที่สองเป็นเท่าตัว นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นมาแทบทุกครั้งตั้งแต่ปี 2544 และปี 2548 ซึ่งปีนั้นยิ่งกว่าแลนด์สไดล์ เพราะเลือกตั้งรอบนั้นไทยรักไทยได้ ส.ส.รวมทั้งหมด 377 เสียง แม้แต่การเลือกตั้งปี 2550 หลังรัฐประหาร คมช.ปี  2549 พรรคพลังประชาชนก็ยังได้ 230 เสียง ส่วนปี 2554 ก็ได้เกือบจะถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนที่นั่ง ส.ส.ในสภา จะเห็นได้ว่าทุกครั้งชนะแบบแลนด์สไลด์มาตลอด ยกเว้นปี 2562 ที่ได้เพียงแค่ 130 กว่าที่นั่ง

เป้าหมายการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น กรรมการบริหารพรรคอยากเห็นเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์อีกครั้ง

 ซึ่งถ้าวิเคราะห์ตอนนี้ ปัจจัยที่จะทำให้เพื่อไทยชนะแบบแลนด์สไลด์ก็ต้องมีองค์ประกอบที่ชัดเจนอย่างน้อยสี่เรื่อง คือ

1.รายชื่อบุคคลที่ถูกพรรคเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

จะต้องเป็นผู้ที่มีภาวะผู้นำ ซึ่งทำให้ทุกคนมีความมั่นใจได้ว่ารายชื่อที่มีสิทธิ์เสนอชื่อได้สามคน สามารถที่จะเป็นผู้นำพาประเทศผ่านวิกฤต ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงวิกฤตโรคระบาดไปได้

2.ปัจจัยเรื่องนโยบาย คือต้องมีนโยบายที่จะทำให้คนมีความรู้สึกว่า นี่คือนโยบายที่จะเปลี่ยนชีวิตของคน เปลี่ยนประเทศไปได้ ก็จะคล้ายกับนโยบายอย่างกองทุนหมู่บ้าน, 30 บาทรักษาทุกโรค, นโยบาย  OTOP เป็นต้น ซึ่งถามว่านโยบายเหล่านี้มีหรือไม่ ส่วนตัวเท่าที่ได้คุยกับกรรมการบริหารพรรค ก็ทราบว่ามีการพูดถึงนโยบายเหล่านี้ไว้บ้างแล้ว แต่จะเปิดเผยในช่วงเวลาที่ใกล้จะมีการเลือกตั้ง เพราะหากเปิดเผยตอนนี้ก็มีโอกาสจะถูกลอกเลียนได้ 

3.ปัจจัยในพื้นที่ คือหากผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่มีความใกล้ชิดประชาชน ประชาชนรักและอยากให้เป็นตัวแทน ก็มีโอกาสที่จะได้รับเลือกตั้งในระดับ ส.ส.เขต และอาจจะสนับสนุนพรรคที่สังกัดด้วย  โดยประชาชนก็อาจจะลงคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อด้วย

4.ปัจจัยเรื่องการสื่อสารที่ต้องเข้าถึงประชาชนในทุกกลุ่ม ซึ่งการสื่อสารถึงประชาชนแต่ละกลุ่มก็จะมีลักษณะการสื่อสารที่แตกต่างกันไป อย่างกลุ่มคนรุ่นใหม่ การสื่อสารหลักที่จะได้ผลก็คือการสื่อสารทางสื่อสังคมออนไลน์ ส่วนคนที่อายุสูงขึ้นมา ก็จะเป็นการสื่อสารผ่านโทรทัศน์  หนังสือพิมพ์

ทั้งสี่ปัจจัยดังกล่าวคือสิ่งที่ต้องมาคำนึงถึงว่า จะวางแผนอย่างไรในการจะนำวิสัยทัศน์ และนโยบายที่กรรมการบริหารพรรคทำไว้มาใช้อย่างมีศักยภาพให้เกิดประโยชน์ โดยทำให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธามากที่สุด  

-ที่มีการประเมินว่าอาจมีการยุบสภากลางปีหน้า จากสิ่งที่พรรคเพื่อไทยปรับทัพในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนระบบการเลือกตั้งที่จะกลับไปใช้บัตรสองใบอีกครั้ง มองว่าหลังเลือกตั้งพรรคน่าจะได้ ส.ส.ประมาณกี่เสียง?

หากมีการใช้ระบบบัตรสองใบ จะทำให้พรรคเพื่อไทยวางแผนการเลือกตั้งที่เราคุ้นเคยได้ เพราะจากการเลือกตั้งสี่ครั้งที่ผ่านมา คือปี  2544, 2548, 2550 และ 2554 ที่ใช้ระบบบัตรสองใบที่เราคุ้นเคย อีกทั้งประชาชนก็คุ้นเคยบัตรสองใบอยู่ด้วย กับการเลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ หากพรรคเลือกผู้สมัครที่ประชาชนรัก และสามารถนำเสนอแคนดิเดตนายกฯ และนโยบายที่ประชาชนชอบ ก็ทำให้โอกาสที่เพื่อไทยจะได้รับการเลือกตั้งก็มีสูง รวมถึงการวางแผนการเลือกตั้งแบบวิทยาศาสตร์ เช่น การทำกลุ่มย่อยรับฟังความคิดเห็นประชาชนในประเด็นต่างๆ ตลอดจนการสำรวจความเห็นประชาชน

ทั้งหมดก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้พรรครู้ว่ามีจุดแข็ง-จุดอ่อนอย่างไร  แต่ทั้งนี้พรรคยังไม่สามารถบอกได้ว่าเราจะชนะแลนด์สไลด์ได้จริงหรือไม่ จนกว่าจะรู้ว่าจะยุบสภาเมื่อใด

“ซึ่งการคาดการณ์จะแม่นยำก็จะประมาณสัก 60 วันก่อนวันเลือกตั้ง เพราะก่อนหน้านั้นยังอาจจะมีปัจจัยที่คาดไม่ถึงซึ่งอาจเกิดขึ้นได้”

...เช่นปัญหาเศรษฐกิจในช่วงก่อนการเลือกตั้งเป็นอย่างไร โดยถ้าปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงมาก จนประชาชนได้รับผลกระทบมาก ก็อาจทำให้เกิดความไม่พึงพอใจในการบริหารจัดการของรัฐบาล ก็ทำให้มีโอกาสที่ประชาชนอาจไม่เลือกพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำของฝ่ายรัฐบาล ดังนั้นตอนนี้จึงยังตอบไม่ได้ว่าจะแลนด์สไลด์หรือไม่ เพราะคงขึ้นอยู่กับปัจจัยในช่วงนั้น

หากจะบอกว่าใช่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ตัวคุณแพทองธารจะเป็นคนตัดสินใจเอง ขณะเดียวกันต้องดูด้วยว่า ความรู้ความสามารถของเขาต่อจากนี้ ได้ทำให้คนในพรรคเพื่อไทยประจักษ์ได้หรือไม่ว่าเหมาะสมที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ...ในวันนี้จึงเร็วเกินไปที่จะไปพูดอะไรทั้งสิ้น

-มีการมองกันว่าเพื่อไทยมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง ได้ ส.ส.มากที่สุด แต่อาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลเพราะอาจติดเงื่อนไขอื่นๆ เช่น ด่าน ส.ว. 250 คนร่วมโหวตนายกฯ?

นั่นคือสิ่งที่กรรมการบริหารพรรคบอกผมว่าถึงได้ชูนโยบายแลนด์สไลด์ เพราะหากพรรคเพื่อไทยได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนเกิน  250 เสียง ทำให้แม้จะมี ส.ว. 250 คน จะมาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทย แต่นายกฯ ที่ได้รับเลือกแบบนั้นก็จะบริหารประเทศไม่ได้ เพราะหากมีการนำกฎหมายเข้าสภา โดยที่รัฐบาลมีเสียง ส.ส.ในสภาไม่เกินกึ่งหนึ่ง แล้วจะบริหารประเทศต่อไปได้อย่างไร เช่นนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเข้าสู่การพิจารณาของสภา แต่เสียง ส.ส.รัฐบาลมีไม่ถึงกึ่งหนึ่ง แล้วจะไปต่ออย่างไร

สิ่งนี้คือตรรกะที่บิดเบี้ยวของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ให้ ส.ว. 250  เสียงมากำหนดคนที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล แต่ถ้าพรรคการเมืองรวมกันแล้วได้เสียงไม่เกิน 250 เสียง ก็บริหารประเทศไม่ได้เลย

"พรรคเพื่อไทยตั้งยุทธศาสตร์การเลือกตั้งคือ ต้องแลนด์สไลด์ ได้เสียง ส.ส.เกิน 250 เสียงให้ได้ แล้วก็ไปรวมเสียงกับพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถ้ารวมเสียงได้สัก 300 เสียงก็น่าจะเหมาะสม"

-คนที่เดินออกจากเพื่อไทยไป ที่ผ่านมามีการติดต่อกันหรือไม่ คนเหล่านี้มีโอกาสหวนกลับมาอีกครั้งหรือไม่?

หลังการประชุมใหญ่พรรคเมื่อ 28 ต.ค. มีเพื่อนมิตรหลายคนไถ่ถามกลับมาแล้ว บอกว่ายังสนใจจะร่วมงานกันหรือไม่ ซึ่งเราก็เปิดกว้าง  ถ้าพร้อมเมื่อไหร่ก็เข้ามาได้เมื่อนั้น.

อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร

แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย?

สำหรับ นพ.สุรพงษ์ แวดวงการเมืองต่างรู้กันดีว่า เป็นคนที่นายทักษิณ ชินวัตร ไว้วางใจและเชื่อมือในการทำงานอย่างมาก เพราะทำงานการเมืองกันมาตั้งแต่ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยยุคแรกๆ

เมื่อเราถามความเห็นต่อกรณีที่ แพทองธาร ชินวัตร เข้ามาทำงานการเมืองในพรรคเพื่อไทย โดยมีบทบาทเป็นประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้พรรคเพื่อไทยถูกมองและถูกวิจารณ์ว่าเป็นพรรคตระกูลชินวัตร คำถามดังกล่าว นพ.สุรพงษ์ ให้ความเห็นว่า อย่างที่คุณแพทองธารบอกไว้ตอนที่เปิดตัวเมื่อ  28 ต.ค.ว่า ความเป็นพ่อลูกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ตอนกำเนิด ดังนั้นคงบอกไม่ได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะเป็นพ่อลูกกัน แต่ผมคิดว่าไม่ได้หมายความว่าการเป็นครอบครัวเดียวกัน จะทำให้ระบบการบริหารจัดการของพรรคการเมืองนั้นๆ มีลักษณะแบบครอบครัว

ผมบอกได้เลยว่า ตั้งแต่ไทยรักไทยมาถึงพรรคพลังประชาชน จนมาถึงพรรคเพื่อไทย มีการจัดการที่ใช้ศาสตร์ของการจัดการมาใช้ ทั้งในการจัดระบบพรรคการเมือง การวางแผนการเลือกตั้ง ไม่ใช่ว่าบอกว่าเป็นพรรคครอบครัวแล้วก็จะต้องบริหารแบบครอบครัว มันก็เหมือนกับบริษัท อย่างบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เป็นบริษัทแบบครอบครัว แต่หากบริษัทดังกล่าวบริหารจัดการแบบมืออาชีพ โอกาสที่จะเติบโตและมีความเจริญก้าวหน้าก็มีอยู่

...ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าหากพรรคการเมืองนั้นมีคนในตระกูลเดียวกันเข้ามาร่วมในการผลักดัน แต่ถ้าการบริหารจัดการเป็นประเภทแบบครอบครัว พรรคการเมืองนั้นก็อยู่ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน แต่หากบริหารจัดการแบบลักษณะพยายามสร้างให้เป็นสถาบันทางการเมือง มีการระดมความเห็นจากทุกฝ่าย เอาคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน มีทักษะการจัดการที่มีประสิทธิภาพเข้ามาช่วยกัน ผมเชื่อว่าพรรคการเมืองเติบโตได้

"ประเด็นคุณแพทองธาร อย่าไปดูว่าเป็นลูกของคุณทักษิณ  ชินวัตร แต่ต้องดูว่าคุณแพทองธารมีความสามารถหรือไม่ ถ้ามีความสามารถอย่างที่จะเข้ามาสร้างการมีส่วนร่วมจากคนรุ่นใหม่ เพื่อจะมาสร้างนวัตกรรม ถ้ามีความสามารถตรงนั้นก็จะช่วยทำให้พรรคเพื่อไทยเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ได้เพิ่มขึ้นอีก"

...เพราะต้องยอมรับว่าภายใต้การนำของคนรุ่นอาวุโส การเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ใช้ภาษาแบบคนรุ่นใหม่มันไม่กลมกลืน แต่พอมีคนรุ่นใหม่จริงๆ อย่างหัวหน้าพรรค (นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว) ก็อายุน้อยลงมาจากเดิม 20 ปี ส่วนกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันก็อายุเฉลี่ยประมาณสัก 30-40 ปี ก็จะทำให้การเข้าถึงคนรุ่นใหม่จะมีมากขึ้น แล้วยิ่งคุณแพทองธารจะเข้ามาช่วยดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามาได้อีก ก็น่าจะเป็นประโยชน์ที่จะทำให้เราสามารถที่จะ disrupt ให้พรรคเพื่อไทยกลายเป็นพรรคแห่งอนาคตได้จริงๆ 

-ถึงตอนนี้ชื่อแพทองธาร ชินวัตร มีโอกาสที่เพื่อไทยจะวางตัวให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่?

ไม่หรอกครับ คือคุณแพทองธารได้แจ้งเข้ามาก่อนที่พรรคจะมีการประชุมใหญ่ที่ขอนแก่นประมาณ 3-4 วัน ว่าสนใจจะเข้ามาร่วมทำงานกับพรรคเพื่อไทย ผมทราบเหตุผลว่าเพราะเขาเห็นว่าพรรคกำลัง  disrupt แล้ว และข่าวที่ออกไปก็มีข่าวว่าพรรคจะจัดประชุมแบบที่ไม่เคยมีใครมาทำมาก่อน เช่นจะมีการแสดงวิสัยทัศน์เรื่องมหานคร, การศึกษา ทางคุณแพทองธารก็เห็นว่าคราวนี้เพื่อไทยเอาจริงเรื่อง  disruption แล้ว เขาก็เลยบอกว่าอยากเข้ามาช่วย โดยเขาบอกว่าอยากเข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษา แต่ยังไม่ได้อยากจะเข้ามาเป็น ส.ส.หรือเป็นนักการเมือง ขั้นตอนนี้จึงยังไม่ใช่เวลาที่จะมาตัดสินใจตรงนั้น

"หากจะบอกว่าจะใช่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ตัวคุณแพทองธารจะเป็นคนตัดสินใจเอง และขณะเดียวกันก็ต้องดูด้วยว่า ความรู้ความสามารถของเขาต่อจากนี้ ได้ทำให้คนในพรรคประจักษ์ได้หรือไม่ว่า เหมาะสมที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ดังนั้นในวันนี้จึงเร็วเกินไปที่จะไปพูดอะไรทั้งสิ้น"

-คาดการณ์ไว้ก่อนหรือไม่ว่า พอเปิดตัวแพทองธารแล้วจะมีกระสุนตก มีการนำเรื่องในอดีตขึ้นมากล่าวถึงอย่างเรื่องการสอบเอนทรานซ์?

จริงๆ ไม่ได้คาดเลย คือหลังคุณแพทองธารมาปรากฏตัวในการประชุมใหญ่ หลังจากนั้นประมาณหนึ่งวันก็มีข่าว โดยที่ทุกคนก็ลืมไปแล้ว ทั้งที่มันก็ตั้งนานแล้ว แล้วก็มีคนไปหาข้อมูลและมีการนำเสนอข้อมูลที่แสดงความชัดเจนว่า กรณีดังกล่าวมันเคยถูกทำให้เกิดความชัดเจนแล้วว่าไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคุณแพทองธาร และเขาก็บอกชัดเจนว่าเข้าไปเรียนหนังสือก็เรียนเต็มที่ สามปีครึ่งก็จบการศึกษาแล้วไปเรียนต่อ.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โปรดฟังอีกครั้ง! สายลมเปลี่ยนแปลงกำลังตั้งเค้าทะมึน

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล สาขาวิชาสถิติศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์

นายกฯ รับไม่มีสิทธิ์โกรธ ฝึกคุมอารมณ์ พร้อมหาวิธีปรับจูน สส.เพื่อไทย

นายกฯ รับต้องปรับจูนทำความเข้าใจ สส.เพื่อไทย หลังมีเสียงสะท้อนยังมีระยะห่าง ลั่นไม่น้อยใจ ไม่โกรธ ไม่งอน แจงต้องเข้มเรื่องงบ

'เศรษฐา' ย้ำแจกเงินดิจิทัลได้แน่ไตรมาส 4 ระหว่างรอจ่อผุดมาตรการอื่นกระตุ้น ศก.

นายกฯ มั่นใจแจกเงินดิจิทัลได้แน่ไตรมาส 4 ชี้ออกดอกผลไตรมาส 1-2 ปีหน้า ระหว่างรอเตรียมผุดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่แถลงต่อรัฐสภา ลั่นมาถูกทาง

ปชป. ขย่ม 'เศรษฐา' มีแค่อำนาจทิพย์ ทำไทยไม่ติดอันดับประเทศน่าลงทุน

ปชป. จี้รัฐบาลเร่งแก้ไข หลังผลจัดอันดับ EIU ไทยไม่ติดประเทศน่าลงทุน เหตุไร้เสถียรภาพการเมือง 'เศรษฐา' มีแค่อำนาจทิพย์ โดน 'อดีต-อนาคต' นายกฯ ประกบตลอด