แรงกระเพื่อม คดีล้มล้างการปกครอง สังคมติดหล่มขัดแย้ง บั่นทอนประเทศ

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำคณะราษฎร 63 ที่ชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค.63 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

กลายเป็นหมุดหมายสำคัญอีกหน้าประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย และเป็นที่น่าจับตาว่า หลังจากนี้ความขัดแย้งทางความคิดในสังคมไทยที่เรื้อรังมานานจะพัฒนาไปในทิศทางใด และจะเกิดจุดเปลี่ยนทางการเมืองอย่างไร

ที่น่าสนใจคำวินิจฉัยได้ชี้ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2475 และช่วงหลัง 2475 ว่ามีบทบาทสำคัญต่อประเทศชาติอย่างไร

ก่อนจะสรุปว่า ข้อเรียกร้องที่ขอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นประมุขของรัฐ ที่ผู้ใดจะกล่าวหาหรือละเมิดมิได้นั้น จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดแจ้ง

การออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะ โดยอ้างการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิถีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และยังไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เห็นต่างได้ด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้คนอื่นทำตาม

การเคลื่อนเคลื่อนไหวของผู้ถูกร้องทั้ง 3 และกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมีลักษณะเป็นขบวนการเดียวกัน ลักษณะของการปลุกระดม ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ มีลักษณะก่อให้เกิดความวุ่นวายและความรุนแรงในสังคม

ผู้ถูกร้องทั้ง 3 ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากบุคคล รวมทั้งล่วงละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่นที่เห็นต่างด้วยการด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่น ด้วยข้อเท็จจริงที่บิดเบือนจากความเป็นจริง

การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 มีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะเป็นองค์กรเครือข่าย มีการใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง บางเหตุการณ์ผู้ถูกร้องทั้ง 3 มีส่วนในการจุดประกายในการอภิปรายปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ

นอกจากนี้ยังปรากฏว่าการชุมนุมหลายครั้งมีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยลบแถบสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีของพระมหากษัตริย์ออกจากธงไตรรงค์

ข้อเรียกร้อง 10 ข้อของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เช่น การยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ การยกเลิกการรับบริจาคโดยพระราชกุศล การยกเลิกพระราชอำนาจ และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ เป็นข้อเรียกร้องที่ทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของชาติไทยที่ยึดถือปฏิบัติกันตลอดมา

ทั้งพฤติการณ์และเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 แสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจว่าผู้ถูกร้องทั้ง 3 มีเจตนาซ่อนเร้น เพื่อล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมายมีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่หากยังคงให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง

เหตุดังกล่าวจึงวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 รวมทั้งองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยตามมาตรา 49 วรรคสอง

คำวินิจฉัยดังกล่าวมีทั้งผู้เห็นและไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่เห็นด้วยก็ชื่นชมคำวินิจฉัยว่าเขียนอย่างละเอียดครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ พฤติการณ์ของผู้ถูกร้อง ใช้หลักกฎหมายตัดสินอย่างถูกต้องแล้ว

และมองว่าการสั่งห้ามเลิกกระทำดังกลาวเป็นการป้องปราม จะช่วยเบรกไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมยกเพดานการเคลื่อนไหวที่อาจจะเกิดความรุนแรงยิ่งกว่าเดิม 

ส่วนฝ่ายผู้ชุมนุมและเครือข่าย ก็อ้างว่าพวกตนแค่เรียกร้องปฏิรูปสถาบัน  พร้อมยืนยันเจตนารมย์ว่า ปฏิรูป ไม่ได้แปลว่าล้มล้าง

ขณะที่ฝ่ายการเมืองโดยพรรคก้าวไกลออกมาแถลงต่อต้านคำวินิจฉัยทันที นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุว่า อนาคตประเทศไทยเดินไปตามเส้นทางที่สุ่มเสี่ยงและคับแคบ  และก่อนที่ศาลฯจะอ่านคำวินิจฉัย นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความเชิงข่มขู่ว่าจะเกิด สงครามกลางเมือง

สอดรับกับ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์หากมี “การปฏิรูป” ก็อยู่รอด แต่หากขัดขืนดำเนินไปแบบเดิม ๆ หรือ แบบทั้งรุนแรง ทั้งร้ายแรง ก็จะหลีกเลี่ยง “การปฏิวัติ” ที่นองเลือดไปไม่ได้

หลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยจบแล้ว แต่เหมือน ยังไม่จบ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เรียกร้องผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับจะต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดทุกกลุ่มทุกระดับทั้งในประเทศและต่างประเทศมาลงโทษให้ได้

โดยเฉพาะ นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้ร้องคดี ระบุว่า  คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคือ"สารตั้งต้น" มีผลผูกพันทุกองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องนำคำวินิจฉัยไปพิจารณาดำเนินการต่อไป เช่น การพิจารณาเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในข้อหากบฏ และความผิด ในเรื่องความผิดต่อความมั่นคง เช่น การเอาผิด มาตรา 112 มาตรา 116 มาตรา 215

ส่วนพรรคการเมือง หากพบชัดว่าเกี่ยวข้องก็ต้องเอาผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 45, มาตรา 92 ก่อนหน้านี้ตนได้เคยไปยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาไต่สวนพรรคก้าวไกล ตั้งแต่ปี 2563 แล้ว กกต.คงรอคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการในคดีล้มล้างมาประกอบ แล้วก็คงส่งศาลให้วินิจฉัยยุบพรรคต่อไป

ส่วนอาจารย์มหาวิทยาลัยคนใดที่เกี่ยวข้องในการให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จะถูกเอาผิดฐานละเว้น ตามมาตรา 157

เรียกได้ว่าบุคคลหรือองค์กรใดที่สนับสนุนการกระทำดังกล่าว จะต้องถูกเอาผิดเป็นหางว่าวเลยทีเดียว

สำหรับกลุ่มผู้ถูกร้องและเครือข่ายก็ยังมีการเคลื่อนไหว โดยนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันอาทิตย์นี้

เมื่อคำวินิจฉัยศาลสั่งให้เลิกกระทำการที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามมาตรา 49 วรรคสองแล้ว แต่หากผู้ชุมนุมยังเคลื่อนไหวภายใต้ข้อเรียกร้องเดิม 10 ข้อ ก็จะมีผู้ยื่นคำร้องให้เอาผิดอีกอย่างแน่นอน

ที่น่าเป็นห่วงคือ มีการนำคำวินิจฉัยไปขยายความและชี้นำในทางที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงมีผู้ยกข้อความสั้นที่ตัดออกจากบริบท อาจทำให้คนรับเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น จั่วหัวว่า “เห็นได้ว่าประวัติศาสตร์การปกครองของไทยนี้ อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด”

แต่ความจริงศาลรัฐธรรมนูญ แยกระหว่าง ก่อนและหลัง 2475 หลัง พ.ศ.2475 พระมหากษัตริย์ไทยจึงไม่มีอำนาจการปกครองเหมือนอย่างก่อนหน้า พ.ศ.2475

นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตือนว่า การหลอกลวงของกลุ่มปฏิเสธสถาบันกษัตริย์โดยการตัดทอนอย่างจงใจ สั้นๆ ต่อคำพิพากษาศาล รธน.และเผยแพร่ออกไป ด้วยการตั้งคำถามต่อท้ายจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดเหมือนที่ฝ่ายขวาทำในเหตุการณ์ 6 ตุลา. 19 จนเกิดการฆ่านักศึกษาประชาชนอย่างโหดเหี้ยม

ขณะเดียวกัน ที่อาคารอเนกประสงค์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานพิธีเปิดการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 64 มีผู้เข้ารับการศึกษา 288 คน โดยนักศึกษา วปอ.ได้ร่วมขับร้องเพลง "บ้านเกิดเมืองนอน" โดยระบุว่า เป็นเสมือนการตั้งปณิธานร่วมกันว่า "จะรัก สามัคคี และช่วยกันรักษาบ้านเมือง เพื่อเป็นกำลังใจนายกฯ"

คล้ายกับบรรยากาศช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา. 19 หวนกลับมาอีกครั้ง

โดยสรุปแล้ว คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยังไม่สามารถยับยั้งความขัดแย้งทางความคิด 2 ขั้ว ในสังคมไทยได้ แม้ฝ่ายผู้ชุมนุมจะอ้างว่าพวกตนต้องการปฏิรูปสถาบัน ไม่มีเจตนาล้มล้าง แต่พฤติกรรมก็ย้อนแย้งตัวเอง เช่น ฉากหลังที่ รุ้ง-ปนัสยา ปราศรัยเมื่อ 10 ส.ค.63 ก็โชว์หราว่า เราไม่ต้องการปฏิรูป แต่เราต้องการ "ปฏิวัติ" ยุทธศาสตร์ที่ดูเหมือนก้าวหน้า แต่ยุทธวิธีกลับล้าหลัง ไร้อารยะ การเคลื่อนไหวที่ เลยธง เช่นนี้ยิ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม องค์กรเครือข่ายและแนวร่วมทางความคิดเหล่านี้ก็มีจำนวนมากเสมือนคนที่ถูก ติดชิปทางความคิด ยากที่จะเปลี่ยนกลับไปคิดแบบอื่นได้

ส่วนฝ่ายปกป้องสถาบัน-ชนชั้นนำ ซึ่งมีเครือข่ายและโครงสร้างทางอำนาจที่เข้มแข็ง ก็ใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการฝ่ายปฏิรูปสถาบัน ไม่มีท่าทีจะหันหน้าลงมาพูดคุยเจรจาหาทางออกร่วมกัน ด้วยความสมานฉันท์ แต่ก็ไม่มีการเร่งรัดปฏิรูปประเทศทุกด้านตามคำมั่นสัญญา เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เชื่อมั่นว่าเขาจะมีอนาคตที่ดีกว่าเดิมได้ จึงไม่สามารถเปลี่ยนความคิดหลอมรวมให้ทุกภาคส่วนของสังคมเป็นปึกแผ่นได้

ความขัดแย้งแตกแยกทางความคิดในสังคมไทยที่เรื้อรังมานาน จึงยังวนเวียนอยู่ที่เดิมเป็นการ ติดหล่มความขัดแย้ง ที่ยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะคลี่คลายลงอย่างไร

ทั้งนี้ ความแตกแยกและการขาดความสมานฉันท์ในสังคมจะเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือกันของภาคส่วนต่างๆ ส่งผลต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในทุกมิติ

ในขณะที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่รู้จะจบลงเมื่อไหร่ สำหรับประเทศไทยนอกจากกำลังต่อสู้กับโควิด-19 อย่างเหน็ดเหนื่อยแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาความแตกแยกทางความคิด ซึ่งสถานการณ์ที่เปราะบางเช่นนี้ ยากที่ประเทศชาติจะพัฒนาให้ก้าวหน้าทันโลกได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

7 เดือน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เผชิญแรงบีบรอบด้าน!

แม้จะยังไม่ผ่านโค้งแรกในการบริหารประเทศของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เริ่มต้นทำงานได้เพียง 7 เดือน แต่ก็เหมือนถูกบีบจากสถานการณ์รอบด้าน ที่เข้ามาท้าทายความสามารถของผู้นำประเทศ อีกทั้งยังมีภาพนายกฯ ทับซ้อนที่ทำให้นายกฯ นิดดูดร็อปลงไป

'ทักษิณ' เอฟเฟกต์! ส่อทำการเมืองไทยวนลูปเดิม

ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีประเด็นข่าวร้อนแรงมากมายแค่ไหน แต่มีบุคคลหนึ่งที่ถ้าอยู่ในหน้าข่าวเมื่อไหร่ มักจะสร้างประเด็นดรามาที่ต้องพูดถึงไม่หยุดกับพ่อใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร

สว.2567 เสี่ยงได้ วุฒิสภา สายพรรคการเมือง เชื่อมโยงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

เข้าสู่ช่วงเตรียมนับถอยหลังใกล้โบกมือลา สิ้นสุดการทำหน้าที่ของ สมาชิกวุฒิสภา ชุดปัจจุบันจำนวน 250 คน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่

หาก ‘ไผ่’ วืด ‘เบนซ์’ เต็งหนึ่งรมต. เสียบแทน ‘โควตากลาง’ พปชร.

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มั่นใจว่าคุณสมบัติของ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ยังนั่งเป็นรัฐมนตรีได้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติไม่รับคำร้อง กรณีนายไผ่ขอร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ถูก 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ละเมิดจนไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ กรณีระบุว่า ขาดคุณสมบัติ

ครม.เศรษฐา 2 ทักษิณเคาะโผ ฉากทัศน์กองทัพยุค "บิ๊กนิด"

ชัดเจนแล้วว่า ครม.เศรษฐา 2 ที่จะเป็นการปรับ ครม.ครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะเกิดขึ้นแน่นอน โดยคาดว่า อาจจะเกิดขึ้นภายในปลายเมษายนนี้ หรือช้าสุดไม่เกินกลางเดือน พ.ค. เว้นแต่มีสถานการณ์แทรกซ้อนทำให้การปรับ ครม.อาจขยับออกไปได้

ลดความเสี่ยง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ปรับ ครม.เค้นผลงานรัฐบาล

เรือธง ล้มไม่ได้ เพราะมีผลต่อเครดิตของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรืออนาคต สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท