18 วันโศกนาฏกรรม “ร.ล.สุโขทัย” ข้อมูลว่อนส่งสัญญาณเตือน

ย่างเข้าวันที่ 18 ของเหตุการณ์เรือหลวง (ร.ล.) สุโขทัยอับปางลง มีทหารเรือที่เสียชีวิตจากเหตุนี้แล้ว 24 ราย และยังค้นหาไม่พบอีก 5 ราย โดยที่กองทัพเรือ (ทร.) ได้พยายามระดมสรรพกำลังอย่างเต็มที่เพื่อค้นหาผู้สูญหายที่เหลือเพื่อนำพวกเขาเหล่านั้นกลับคืนสู่ครอบครัวครบทุกคน

ตลอด 18 วันที่ผ่านมา ทร.ภายใต้การนำของ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ตกอยู่ในสภาวะกดดันอยู่ไม่น้อย เนื่องจากต้องตอบคำถามในเรื่องประสิทธิภาพของเรือ การบังคับบัญชาช่วงประสบเหตุ การประสานงานช่วยเหลือเมื่อเรือใหญ่จม โดยเฉพาะเรื่องความพร้อมและมาตรฐานความปลอดภัย เมื่อมีการปล่อยเรือออกจากท่าเรือเพื่อไปปฏิบัติภารกิจ

ย้อนกลับไปในวันที่ พล.ร.อ.เชิงชาย เข้ารับหน้าที่ ได้ยืนยันว่า ทร.จะชี้แจง สื่อสารในเรื่องต่างๆ ให้ประชาชนได้รับทราบ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเครื่องยนต์เรือดำน้ำที่ยังคาราคาซัง หาจุดจบไม่ได้ และยืนยันว่าจะไม่มีการปกปิดข้อมูล และดำเนินการทุกอย่างให้โปร่งใส จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ ร.ล.สุโขทัย ก็สั่งการให้ ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาค 1 ส่วนหน้า (ศปก.ทรภ.1 สน.) ตั้งโต๊ะแถลงความคืบหน้า ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทุกวัน

ในขณะที่ส่วนกลางได้ให้ทีมงานโฆษกกองทัพเรือส่งข้อมูลความคืบหน้าให้สื่อไม่ได้ขาด อีกทั้ง ผบ.ทร. รวมถึง พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ มีการแถลงด้วยตนเองด้วย แม้บางครั้งการสื่อสารอาจทำให้สังคมเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บ้าง แต่ก็ไม่ได้งดการชี้แจง หรือลดระดับการแถลงแต่อย่างใด

ในเบื้องต้น ผบ.ทร.แสดงให้เห็นถึง “ภาวะผู้นำ” ที่กล้าจะตอบคำถาม โดยไม่ต้องกลัวว่าจะกระทบกระเทือนภาพลักษณ์ของตัวเอง สังคมจึงคาดหวังว่าในห้วงระยะเวลาอีก 9 เดือนที่จะเกษียณอายุราชการของ พล.ร.อ.เชิงชาย จะกล้าสะสางปัญหาขยะใต้พรมใน ทร.ให้ทุเลาเบาบางลงได้ พร้อมปรับแนวทาง วางแผนงาน ยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงอย่างที่ควรจะเป็น อย่างน้อยก็คือ การคลี่คลายปมสาเหตุการอับปางอย่างไร้ข้อกังขา

แม้จะมีการตั้งข้อสังเกตว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ตั้งขึ้นมาตามคำสั่งกองทัพเรือที่ 55/2565 ลงนามโดย ผบ.ทร. เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2565 เป็นแค่เพียงการซื้อเวลา เพราะกว่าจะกู้เรือ สอบสวนผู้เกี่ยวข้องจนครบ ก็น่าจะใช้เวลาเป็นปี ถึงเวลานั้นเรื่องดังกล่าวก็จะเงียบไปเหมือนข่าวอื่นๆ ขณะที่สังคมก็หันเหความสนใจไปติดตามเรื่องที่เป็นกระแสในขณะนั้น  

แต่ก็ต้องยอมรับว่า คำสั่งที่เขียนไว้ให้มีการสอบสวน ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ ย่อมต้องใช้เวลานาน พลิกดูคำสั่งมีการระบุถึงอำนาจหน้าที่ไว้อย่างครอบคลุมและกว้างขวาง กล่าวคือ

-ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาสาเหตุเรืออับปาง

-ตรวจสอบข้อเท็จจริงในการดำเนินการภายหลังประสบเหตุ เพื่อตรวจสอบการดำเนินการในขั้นตอนการสละเรือใหญ่

-การค้นหา ช่วยเหลือกำลังพลที่ประสบเหตุว่าเป็นไปตามหลักการและแนวทางปฏิบัติที่กำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร

-นำผลการสอบสวนมาเป็นบทเรียน และป้องกันอุบัติเหตุและความเสียหาย เพื่อมิให้เกิดเหตุในทำนองเดียวกันอีก

-เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง

-เรียกเอกสารที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานจากบุคคล หรือ หน่วยงาน ที่ครอบครองเอกสารดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการสอบสวน  เป็นต้น

 โดยมี พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ เป็นประธาน พล.ร.ท.อภิชัย สมพลกรัง รองเสนาธิการทหารเรือ สายงานข่าว เป็นรองประธาน ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย รองเสนาธิการทหารเรือสายงานที่เกี่ยวข้อง เสนาธิการกองเรือยุทธการ เจ้ากรมยุทธการ ทร. เจ้ากรมอู่ทหารเรือ เจ้ากรมจเร ทร. สำนักงานพระธรรมนูญ ทร. เป็นต้น

แยกเป็น 2 คณะทำงาน คือ คณะทำงานสอบสวนสาเหตุการอับปาง มี พล.ร.ท.สมบัติ นาราวิโรจน์ เสนาธิการกองเรือยุทธการเป็นหัวหน้าคณะทำงาน พล.ร.ท.สุทธิศักดิ์ บุตรนาค เจ้ากรมอู่ทหารเรือ เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน มีตัวแทนจากทั้งกรมอู่ราชนาวีมหิดล กองเรือฟริเกตที่ 1 ทัพเรือภาค 1 กองการช่าง ส่วนคณะทำงานที่ 2 เป็น คณะทำงานสอบสวนการดำเนินการภายหลังประสบเหตุ ไล่ตั้งแต่ขั้นตอนการสละเรือใหญ่ มี พล.ร.ท.อภิชัย รองเสธ.ทร.สายงานข่าว เป็นประธาน มีเจ้ากรมยุทธการทหารเรือ เป็นรองประธาน 

ในระหว่างนี้ปรากฏว่า “นักสืบโซเชียล” คงรอไม่ไหว เริ่มทำหน้าที่ “คณะกรรมการสอบสวนเงา“ ทยอยเปิดข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นระลอก โดยเฉพาะ 27 สาเหตุปมอับปางครั้งนี้ ที่เป็นข้อความส่งต่อ ปลิวว่อนไปทั่วทุกช่องทาง คาดเดากันว่ามาจาก “คนเรือ” ตัวจริงที่คงทนไม่ไหว ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเรือ ความไม่พร้อมต่างๆ ขั้นตอนการสื่อสาร การสั่งการ ระหว่างผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งในเบื้องต้นยังมีข้อมูลจากปากคำทั้งสองฝั่งไม่ตรงกัน

 ตามมาด้วย เอกสาร “ขุดบ่อล่อปลา” ชี้เป้าการซ่อมทำ ร.ล.สุโขทัย หลังจากปล่อยเอกสารราชการ รายงานปัญหาแผ่นเหล็กใต้แนวน้ำของเรือบางลง เพื่อขยายผลไปสู่ปมอื่นๆ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กองทัพเรือเจอปัญหา “ข้อมูล-เอกสาร” หลุด.....ก่อนหน้านี้มีการนำไปอภิปรายในสภาฯ ไม่ว่าจะเป็นโครงการจัดหาเรือดำน้ำ เรือผิวน้ำ อากาศยาน อากาศยานไร้คนขับ ตอกย้ำด้วยข้อมูลจากเพจอาวุธต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากล จุดอ่อนในการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ไม่สมดุล สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ

ยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ ร.ล.สุโขทัย ที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 1 ใน 4 ของผู้ที่อยู่บนเรือ ขณะที่เรือรบชั้นดีจมลงสู่ก้นทะเลอย่างเสียหายหนัก สร้างความสะเทือนใจให้กับครอบครัวผู้สูญเสีย ขวัญกำลังใจพี่น้องทหารเรือ รวมถึง “อดีตครู ทร.” ที่เป็นทหารเรือรุ่นเก่า จึงเกิดปฏิกิริยา “ทนไม่ได้” การส่งต่อข้อมูลต่างๆ จึงหลั่งไหลยิ่งกว่าสายน้ำ

แน่นอนว่า บางข้อมูลอาจจะเป็นเพียงการวิเคราะห์ คาดการณ์ ผสมปนเปเข้ากับอคติของผู้เสียประโยชน์ รวมไปถึงความขัดแย้งภายใน จากปัญหาการแต่งตั้งโยกย้าย แต่ก็มีข้อเท็จจริงบางส่วนที่ ทร.ก็คงตระหนักดีว่า มีปัญหาเกิดขึ้นจริง และต้องเร่งแก้ไข โดยสังคมก็คาดหวังว่า ผบ.ทร.จะสร้างความกระจ่างให้กับสังคมโดยเร็วก่อนที่ตนเองจะเกษียณอายุราชการ

อย่างน้อยก็เป็นการเรียกความศรัทธาคืนให้กับองค์กรที่เคยเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนคนไทยมาอย่างยาวนาน!!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปชป.เปิดศึกชิงปาร์ตี้ลิสต์ อันดับ 10 จับตาตัดสินที่ผลงาน-การเป็นเด็กเส้น

ฤดูกาลเลือกตั้งมาปัญหาเกิด ทุกพรรคการเมืองล้วนเป็นเหมือนกัน โดยเฉพาะความวุ่นวายในการจัดลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ! เพราะนักการเมืองโดยเฉพาะในส่วนของปาร์ตี้ลิสต์ล้วนวิเคราะห์ถึงความนิยมของพรรคที่ตนเองสังกัด เนื่องจากมีผลจะได้ไปต่อเดินเข้าสู่สภาฯ หรือไม่ จึงเห็นข่าวคราวแย่งชิงลำดับดีๆ กันเกิดขึ้น

เปิดเหตุผลสำคัญ ‘บิ๊กตู่’ ไม่ลง ‘ปาร์ตี้ลิสต์’ รทสช.

จัดโผเรียบร้อยสำหรับบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่ส่งไปทำไพรมารีโหวตทั่วประเทศ จำนวน 100 รายชื่อ

ทักษิณขอกลับไทย-ติดคุก พท.ได้หรือเสียในหมากนี้

เมื่อวันจันทร์ที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา ทักษิณ ชินวัตร รีบออกมา โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ @ThaksinLive แบบเร่งด่วน เพื่อกลบกระแสข่าว ดีลลับ ระหว่างเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ ในการจับมือกันตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง