รวมมิตรร้องยุบพรรค เขย่าการเลือกตั้งปี 66

แม้ขณะนี้​ยังไม่มีการประกาศยุบสภา​ เพื่อนำไปสู่การเลือกที่จะมาถึงในเดือน พ.ค.นี้ แต่เรื่องความวุ่นวายทางการเมืองก็มีเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย​ โดยเฉพาะเรื่องร้องเรียนให้มีการยุบพรรคการเมือง ไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม​ หรือมาจากนักร้องเรียนเองก็ตาม​ โดยมีพรรคการเมืองขนาดใหญ่หลายพรรคในขณะนี้ที่ถูกร้องยุบพรรค

เริ่มจาก พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ถูกมองว่าเป็นพรรคเต็งหนึ่งที่จะคว้าชัยในสนามเลือกตั้ง​ ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคตระกูลชินวัตร​ก็มีแผลเก่ามาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการโดนยุบพรรคไทยรักไทย​ หรือพลังประชาชนเดิม​ ก่อนที่จะเป็นพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน​ก็ยังมีเรื่องร้องยุบพรรคให้พูดถึงมาโดยตลอด​

ครั้งล่าสุดที่โดนร้องยุบพรรคคือจาก นายสนธิญา​ สวัสดี​ นักร้องเรียนหน้าใหม่​ ที่เริ่มเป็นขาประจำในการยื่นยุบพรรคเพื่อไทย ได้ร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในกรณีที่ พท.แต่งตั้งให้ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ซึ่งถูกศาลฎีกาพิพากษา จำคุก 2 ปี 8 เดือน และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี ในคดีปิดล้อมบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เข้าดำเนินกิจกรรมต่างๆ ใน พท.ขึ้นปราศรัยในเวทีของพรรค สนับสนุนผู้สมัคร และเปิดเผยนโยบายของพรรค

จึงเป็นการกระทำที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 (2) ที่ระบุว่า การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองต้องมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและการคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม จริยธรรมเข้ามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ซึ่งเรื่องดังกล่าว นายจตุพร  พรหมพันธุ์ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน ได้ระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการยื่นและสอบสวนชี้มูลความผิดเบื้องต้นจนจบไปแล้ว โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตั้งอนุกรรมการตรวจสอบเพื่อส่งให้ กกต.ชุดใหญ่มีมติ โดยถ้าเป็นเรื่องจริงถือว่าเร็วมาก เพราะก่อนหน้านี้ได้ยื่นเรื่องดังกล่าวเมื่อเดือนที่แล้ว

นอกจากนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในวันที่ 4 มี.ค.66 ระหว่างการปราศรัยใหญ่ 3 จุดในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่ง นพ.ชลน่านกล่าวว่า "นี่คือปรากฏการณ์ใหม่ของการเมือง ที่มีอดีตรัฐมนตรี วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ตลอดจนกลุ่มองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา และพรรคเพื่อไทย เป็นแกนเดียวกันที่จะนำไปสู่ชัยชนะแบบแลนด์สไลด์"

โดยมองว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ที่ไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพรรคเพื่อไทย เพราะมาตรา 28 บัญญัติห้ามพรรคการเมืองให้บุคคลเข้าไปชักจูง ครอบงำ ชี้นำ ส่วนมาตรา 29 บัญญัติห้ามบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมืองเข้าไปครอบงำ ควบคุม ชี้นำ รวมถึงขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 72 และทั้ง 2 ข้อหาก็นำไปสู่มาตรา 92 (3) ที่สามารถดำเนินการไปถึงการยุบพรรคได้

ซึ่งเรื่องดังกล่าวฝั่งพรรคเพื่อไทยก็ออกมาโต้ทันทีว่า บุคคลตามที่กล่าวมาเป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อนำไปสู่การแลนด์สไลด์เท่านั้น ไม่ได้มีการกระทำใดที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้ามาควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรค พท. ในลักษณะที่จะทำให้พรรค พท.และสมาชิกพรรคขาดความเป็นอิสระในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแต่อย่างใด

และก่อนหน้านี้ นายสนธิญา เคยยื่นยุบพรรคเพื่อไทยเช่นกัน กรณี อุ๊งอิ๊ง-น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ลงภาพในอินสตาแกรมกับผู้เป็นพ่อ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นนักโทษและผู้ต้องหาหนีคดี อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้าม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 44, 45, 28, 29 ความผิดตามมาตรา 92 (3) (4) โดยมองว่าอุ๊งอิ๊งมีตำแหน่งใน พท. การเข้าพบนักโทษหนีคดี ถือว่าผิดกฎหมายพรรคการเมือง

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ อาทิ นายศรีสุวรรณ จรรยา  เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เคยร้องกรณีนายทักษิณไลฟ์สดพูดคุยในกลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทย ชี้แจงนโยบายขึ้นค่าแรง 600 บาท ของ พท. โดยเห็นว่ากรณีเช่นนี้อาจเข้าข่ายเป็นการชี้นำ ครอบงำกิจกรรมหรือนโยบายของพรรคการเมือง ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และพรรคการเมืองที่ปล่อยให้บุคคลอื่นที่มิใช่สมาชิกครอบงำ ชี้นำ อาจมีความผิดตามมาตรา 92 (3) ถึงขั้น กกต.เสนอศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคนั้นๆ ได้

ส่วน พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ก็มีร้องโดนยุบพรรคเช่นกัน และคงหนีไม่พ้นในประเด็นมาตรา 112 ผู้ที่ยื่นร้องมาจากพรรคไทยภักดี ซึ่งเป็นฝั่งอุดมการณ์ตรงกันข้ามกับพรรคก้าวไกล กรณีที่ ก.ก.นำเสนอนโยบายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข ป.อาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 ว่าขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่

โดยเฉพาะมาตรา 112 อีกทั้งยังมีประเด็นที่เสนอให้นำมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่อยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐออกไปอยู่ในหมวดที่ยอมความกันได้ ถือเป็นการลดระดับความสำคัญของกฎหมายลง นอกจากนี้ยังเสนอให้พระสงฆ์มีสิทธิ์เลือกตั้งได้ โดยขอให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามขั้นตอน ซึ่งความผิดอาจถึงขั้นยุบพรรคได้

ทางด้านฝั่งพรรคขั้วรัฐบาล   โดยเฉพาะ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ นายศรีสุวรรณ ร้อง กกต.กรณีพรรคพลังประชารัฐรับเงินบริจาค 3 ล้านบาท จากนักธุรกิจชาวจีน ว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 44 มาตรา 72 และมาตรา 74 โดยถ้าผิดต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค อย่างไรก็ตาม นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ออกมาเปิดเผยผลการตรวจสอบเบื้องต้น โดยดูจากตัวเลขตามบัตรประจำตัวประชาชน พบว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่สามารถบริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองได้ แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องรอผลการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง

ส่วน พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ขณะนี้โดน นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง กระตุกหนวดเสือ ในโครงการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในเรื่องที่อ้างว่ามีการทุจริตเกี่ยวกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม จากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ TOR ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินจากเดิมเพียง 7,000 ล้านบาท เป็น 70,000 ล้านบาท โดยนายชูวิทย์พบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและนอมินีบริจาคเงินให้พรรค ซึ่งจะต้องดูว่าการยื่นยุบพรรคของนายชูวิทย์จะมีรายละเอียดอย่างไร

ต้องจับตาการร้องเรียนยุบพรรคในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ จะมีความคืบหน้าถึงขั้นยุบพรรคการเมืองใดได้บ้าง. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยันไม่เคยมีพูดคุยเปลี่ยนตัวประธานสภาฯ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสเปลี่ยนตัวประธานสภาฯ ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ระบุให้มาถามหัวหน้าพรรคเพื่อไทยว่า

สสส.สานพลัง สธ เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย สร้างพื่นที่ปลอดภัยปัญหายาเสพติด

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ติดตามการดำเนินงานและให้กำลังใจผู้ป่วยยาเสพติด ที่รับการบำบัดที่มินิธัญญารักษ์ รพ.อุทัย และชุมชนล้อมรักษ์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบลลุมพลี อำเภอ