ใกล้เคียงกับคำว่า สัปดาห์นรก สำหรับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับกับหลายๆ เรื่อง ทั้งนอกทั้งในรัฐบาล
ประเดิมตั้งแต่คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ ที่หลายฝ่ายโหมประโคมกันหนักว่า วันที่ 18 มิถุนายน จะเป็นวันโลกาวินาศ เพราะมีหลายคดีสำคัญทางการเมืองเดินมาสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ
โดยเฉพาะคดีถอดถอนผู้นำจากกรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี แต่สุดท้ายนอกจากไม่ได้บทสรุป แต่กลายเป็นว่าเพิ่งจะเริ่มต้นได้ไม่นาน ศาลรัฐธรรมนูญขอหลักฐานเพิ่ม
ส่อลากยาวคล้ายกับคดียุบพรรคก้าวไกลที่พิจารณามาแล้วหลายครั้ง แต่ศาลรัฐธรรมนูญยังเรียกข้อมูลเรื่อยๆ กินเวลากันมาหลายเดือน ยังไม่สามารถเดาได้ว่าอีกนานหรือไม่จะได้ชี้ชะตาพรรคสีส้ม
ดูแล้วคดีถอดถอนนายเศรษฐาไม่น่าจะได้บทสรุปใน 1-2 สัปดาห์นี้ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าคงจะหายใจหายคอได้โล่งมากขึ้น
แต่อีกทางหนึ่งก็น่าหวาดระแวง เพราะตราบใดที่คดียังไม่จบ นายเศรษฐาไม่มีวันนอนหลับสนิท เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีขบวนการที่ต้องการล้างกระดานการเมืองกันใหม่ดำรงอยู่
ฉะนั้น ตราบใดที่ยังอยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างมัน 50:50 เอาแน่เอานอนไม่ได้
ขณะที่คดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของนายใหญ่พรรคเพื่อไทย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สุดท้ายได้ประกันตัว ไปสู้กันต่อในศาล
ประเมินกันว่า คดีน่าจะลากยาวเหมือนกัน และน่าจะลากยาวกว่าของนายเศรษฐาในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหลายฝ่ายมองว่าเป็นคดีพันธนาการนายทักษิณไม่ให้กล้าอหังการ หรือแหกดีลลับ หักหลังกลุ่มอำนาจเก่าที่ต้องการใช้เป็นตัวละครในการสกัดพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ถ้าปล่อยนายทักษิณหลุดเร็ว เกรงกันว่า จะคอนโทรลไม่ได้ เพราะขนาดยังมีชนักปักหลัง ยังทำตัวยิ่งใหญ่ ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม เที่ยวแขวะคนอื่นไปทั่ว
ส่วนคดีการเลือก สว. ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรวดเร็วฉับไว ไม่ขัด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. การเลือก สว.ระดับประเทศเดินต่อไปได้
คดีนี้ไม่ค่อยมีผลทางการเมืองเท่าไหร่ ต่อจะให้ล้มหรือไม่ล้มการเลือก สว.ที่ผ่านมา นั่นเพราะอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรีของ สว.หมดไปแล้วตามบทเฉพาะกาลที่มีอายุแค่ 5 ปี
ต่อให้จะได้ สว.ชุดใหม่ช้าหรือเร็ว สว.ชุดรักษาการที่ทำหน้าที่อยู่ อาจจะมีอำนาจหน้าที่ทุกอย่างตามรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจโหวตนายกรัฐมนตรีไม่มีอีกแล้ว
การอยู่ของ สว.ชุดเก่า เต็มที่ก็สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้รัฐบาลบ้าง อย่างเช่น ที่มีการไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนนายเศรษฐา แต่พลานุภาพไม่ได้รุนแรงจนทำให้รัฐบาลทำงานลำบากอะไร
ที่สำคัญยังไม่มีสัญญาณชัดๆ ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำในเร็วๆ วันนี้
ขณะที่ศึกอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ที่ตบท้ายสัปดาห์นรก หลายฝ่ายค่อนแคะจืดชืดกว่าที่คิด มีแต่วาทกรรมเสียดสี แต่เนื้อหาที่จะขอหั่นงบฯ ยังไม่ถึงขั้นที่ทำให้สังคมหันมาช่วยจับตา
แต่เป็นธรรมดาของการอภิปรายกฎหมายงบประมาณ ที่ความดุเดือดเลือดพล่านไม่ได้สูงเท่ากับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่เป็นการตรวจสอบการทุจริต หรือการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้
แต่อย่างไรก็ดี การอภิปรายครั้งนี้ของฝ่ายค้านก็ชำแหละภาพการจัดงบประมาณของรัฐบาลได้ดีไม่น้อย โดยเฉพาะการพยายามตัดนู่น ผสมนี่ เพื่อให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เดินหน้าได้
ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ได้จัดงบประมาณเพื่อความเหมาะสม แต่กำลังจัดงบประมาณเพื่อสนองความต้องการของตัวเองเป็นหลัก
เหมือนที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ชำแหละตรงๆ ว่ารัฐบาลไม่สนอะไร เพียงเพราะจะทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้ได้
“รอบนี้เราไม่ได้เสี่ยงแค่คนเดียว เพราะรัฐบาลที่ใช้เงินมือเติบแบบนี้กำลังพาประเทศไปเสี่ยงด้วย การกู้จนเต็มเพดานแบบนี้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ที่เราไม่คาดฝัน จะไม่เหลือพื้นที่และงบประมาณที่จะไปรองรับสถานการณ์เช่นนั้นได้เลย สิ่งที่รัฐบาลทำคือ โนสนโนแคร์ว่าจะทำให้ประเทศอยู่ในภาวะเสี่ยง เพียงเพื่อทำให้มีเงินมากพอที่จะไปทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตโครงการเดียว”
หรือกรณีที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายกรณีที่จะเอาเงินจาก ธ.ก.ส.มาแจก วันนี้ยังไม่รู้ว่าที่สุดจะทำได้หรือไม่ แต่รัฐบาลประกาศว่าจะแจกในปลายปี
“วันหลังไปถามกฤษฎีกาแล้วเขาบอกว่าใช้ไม่ได้จะทำอย่างไร ที่สภาอนุมัติก็เป็นหมัน สุดท้ายกู้มาแจกไม่ได้ ตนจึงขอตำหนิรัฐบาลและบอกมาตลอดว่า สุดท้ายดิจิทัลวอลเล็ตอนาคตยังเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย”
โดยนอกจากอภิปรายการเรื่องการจัดทำงบประมาณที่ไม่เหมาะสม ยังชำแหละสไตล์การทำงานของนายเศรษฐาและรัฐบาลที่ค่อนข้างสะเปะสะด้วย
ซึ่งปัจจุบันนายเศรษฐากำลังเผชิญกับคำถามเรื่องเหล่านี้จากสังคมอยู่เหมือนกัน เพราะหลายๆ เรื่อง หลายๆ การตัดสินใจดูไร้ยุทธศาสตร์ และเป็นไปในลักษณะแก้ผ้าเอาหน้ารอด
โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเดินหน้าเต็มสูบ แต่วันนี้ยังไม่รู้ว่าตามกฎหมายสามารถทำได้หรือไม่ หรือแม้แต่กรณี 2 บิ๊กวงการสีกากี ที่ตอนแรกถึงขั้นลงนามในคำสั่งดึง "บิ๊กต่อ" พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. มาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน
หลายฝ่ายติดตามว่าบทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร แต่สุดท้ายทำคนผิดหวัง ส่ง "บิ๊กต่อ" กลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในขณะที่ "บิ๊กโจ๊ก" ก็ทำท่าจะได้กลับมาทำงานเหมือนกัน หลังผลสอบปรากฏว่าคำสั่งที่ให้ออกจากราชการไว้ก่อนไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่
คณะกรรมการที่นายกฯ ลงตั้งขึ้นมาสอบ ไม่สามารถสรุปได้ว่ามีความผิด โดยอ้างว่ามีหน่วยงานและองค์กรอิสระตรวจสอบอยู่แล้ว
กลายเป็นว่า ที่ทำกันมาหลายเดือนแทบจะเป็นศูนย์ เหมือนแค่ต้องการแอ็กชันว่าพยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ปัญหาในกรมปทุมวัน แต่สุดท้ายทำอะไรไม่ได้เลย
ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการลงพื้นที่ หรือการเดินทางไปต่างประเทศ ช่วงมาแรกๆ คนมองว่านายกฯ เป็นคนแอ็กทีฟ ขยันขันแข็ง แต่หลังๆ เริ่มถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีแต่ปริมาณ แต่ไม่มีคุณภาพ
เน้นจำนวนจุด แต่ไปแค่แตะๆ ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด ทำให้สุดท้ายปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขแบบถาวร หรือแก้ไขแบบจริงจัง
แถมระยะหลังเริ่มโดนแซว บริหารแบบนี้ ทำให้ลุงในอดีตดูดีขึ้นมาทันที
ถือเป็นปัญหาของนายเศรษฐาเหมือนกัน เพราะผลงานของรัฐบาลก็ยังไม่ออก นโยบายเรือธงดิจิทัลวอลเล็ตยังลูกผีลูกคน ขณะที่เรตติ้งส่วนตัวของนายกฯ ก็ยังไม่ดี โพลสำรวจมากี่ทียังไม่กระเตื้อง
ขนาดลงพื้นที่หนักและถี่ขนาดนี้ แต่ไม่มีคะแนน
พรรคเพื่อไทยเองก็ดูออก การเคลื่อนไหวของนายใหญ่เองก็พอจะสะท้อนปัญหานี้ได้ เพราะระยะหลังบรรดารัฐมนตรีเศรษฐกิจดอดไปพบที่ฐานบัญชาการใหญ่ จันทร์ส่องหล้า กันถี่ยิบ
หัวข้อสนทนาเป็นเรื่องเศรษฐกิจเพียวๆ ซึ่งนายทักษิณต้องขยับมาคุยกับรัฐมนตรีเอง มันพอมองออกเหมือนกันว่าสถานการณ์เรื่องนี้ไม่สู้ดี จนต้องขยับมาปั้น มาขันนอตเอง
แล้วตอนนี้ไม่มีข้ออ้างเรื่องเข้ามาใหม่ ไม่มีงบประมาณใช้ เพราะกฎหมายงบประมาณปี 67 ก็มีให้ขับเคลื่อนมาสักพักแล้ว
ตอนนี้คนโทษได้เต็มที่ ที่รัฐบาลเบ่งผลงานไม่ออก เพราะกึ๋นและฝีมือผู้นำล้วนๆ
ต้องบอกว่า ต่อจะให้มีตั๋วยาว แบ็กดี แต่ถ้าเข็นกันแล้ว แบกกันแล้ว ยังไม่กระเตื้อง คนที่น่าเป็นห่วงคือตัวนายเศรษฐาเอง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แถลงผลงาน3เดือน‘รัฐบาลอิ๊งค์’ โชว์อนาคตประเทศ รอดหรือร่วง?
ได้เวลาตีปี๊บผลงานรัฐบาล 90 วันของ “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วันนี้ 12 ธันวาคม 2567 ในหัวข้อ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” (2025 Empowering Thais : A Real Possibility) ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) พร้อมถ่ายทอดสดให้คนไทยได้รับชม
ศาลรับคำร้อง ให้สว.สมชาย หยุดทำหน้าที่
ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “สมชาย เล่งหลัก” หยุดปฏิบัติหน้าที่ สว.
'ทักษิณ' การันตีไม่มีรัฐประหารแล้ว เบ่งใส่ภูมิใจไทยหล่อช้าๆ ไม่ต้องรีบจะดีกว่านี้
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ว่า พรรคเพื่อไทยจะคุยกันพรุ่งนี้ (12 ธ.ค.)
'ทักษิณ' เชื่อ 'นายกฯอิ๊งค์' เข้มแข็ง เจอกระแสดราม่าเยอะกว่าที่คิด
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังขึ้นเวทีพบปะมวลชนและปราศรัยหาเสียงให้กับนายกานต์ กัลป์ตินันท์ ผู้สมัครเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี เบอร์ 1 พรรคเพื่อไทย(พท.) ว่า ตนมาอีสานทีไรก็คึกคักทุกที
'ทักษิณ' ขึ้นปราศรัย ช่วยหาเสียงนายก อบจ.อุบลฯ คุยลั่นชนะแน่
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงให้ นายกานต์ กัลป์ตินันท์ ผู้สมัครนายก อบจ.อุบลราชธานี ตามคำเชิญของ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ อดีตรมช.มหาดไทย
มติเอกฉันท์! ศาลรธน. ตีตก 7 คำร้อง ขอให้วินิจฉัยเลือก สว. ไม่ชอบ
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับ 7 คำร้องที่มีการร้องขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ประกอบด้วยคำร้องของนายสมบูรณ์ ทองบุราณ,นายวัฒนา ชมเชย ,ว่าที่ร.ต.วิชชุกร คำจันทร์ นายจิรัฎฐ์ แจ่มสว่าง,นายปรีชา เดชาเลิศ,นางฤติมา กันใจมา,