พิสูจน์คุณภาพ 'สภาไขว้' การเมือง 'แม่สี' ขึงพืดสภา

เป็นจังหวะเวลาการเลือกตัวบุคคลในองค์กรอิสระที่เคยถูกกลุ่มลุงควบคุม เปลี่ยนมือไปสู่อำนาจของนักการเมืองอาชีพ ลดทอนการต่อรองเหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในอดีต"

การเมืองประเด็นร้อนที่จะทำให้สถานการณ์ระอุคงต้องพักยกในเดือนมหามงคลไปก่อน สอดคล้องกับที่ “นครินทร์ เมฆไตรรัตน์” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ คาดการณ์จะตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกล และคดีสถานะนายกรัฐมนตรีของ “นายกฯ นิด” เศรษฐา ทวีสิน ก่อนเดือน ก.ย.นี้

ส่วนประเด็นที่ไม่ได้มีผลในเชิงสร้างแรงเสียดทานมากนักก็คงเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะการรับรอง 200 ผู้ได้รับเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อไปทำหน้าที่หลังจาก สว.ชุดที่แล้วหมดวาระ

แม้จะเลื่อนประกาศผลการรับรองจากวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมาตามกำหนดเดิมไว้ เพราะยังมีคำร้อง 614 เรื่องที่ยื่นคัดค้านกระบวนการเลือก สว.ไม่โปร่งใส ทั้งร้องให้การเลือกเป็นโมฆะ การร้องเฉพาะรายกรณี หรือร้องให้รับรองก่อนแล้วไปสอยที่หลัง เพราะลำดับสำรองต่างรอเข้าคิวเข้ามาเป็นแทน

จากกติกาเลือก สว.ของ กกต. ที่ไม่รู้ว่าเสียรู้นักการเมืองอาชีพที่คำนวณสูตรคณิตศาสตร์ วางทีม วางคนมาอย่างดี จนเห็นร่องรอยผู้สมัครไม่ตรงปก และการจัดตั้งผู้สมัครไปเป็นโหวตเตอร์อย่างเดียว รวมถึงการจัดทัพในรอบไขว้ต่างๆ จนเป็นผลลัพธ์ที่ออกมาอย่างน่าอัศจรรย์

หรือจะเป็นเพราะเกมหลังม่านที่ร่วมกันยักคิ้ว หลิ่วตา ปล่อยให้การไขว้ถูกใช้มาเป็นกลไกไปสู่เป้าหมาย แต่ในที่สุดก็ต้องบอกว่า สภาชุดนี้แม้จะมีค่ายสีน้ำเงิน คุมได้ 120 เสียง ซึ่งถือเป็นเสียงข้างมาก แต่ที่เหลือก็มีความกระจัดกระจาย เกินจะจัดประเภทได้เป็น 2 กลุ่มเหมือนยุค 2 ลุง

กระนั้นยังไม่มีสัญญาณว่า กกต.จะ เตะถ่วง หรือ ล้างไพ่ ผลการเลือกที่ออกมา และคาดว่าจะเดินหน้ารับรอง สว.ในช่วงสัปดาห์หน้า

เพราะสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้จัดเตรียมสถานที่ไว้รองรับการเข้ารายงานตัวของ 200 สว.ชุดใหม่แล้ว ที่อาคารวุฒิสภา เพื่อพร้อมรับการรายงานตัวได้ในวันถัดไปจาก กกต.ประกาศรับรอง

โดยปกติแล้วสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะเปิดรับรายงานตัวประมาณ 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าที่ สว.จะเข้ารายงานตัวจนครบ 200 คน จากนั้นจะนัดประชุมวุฒิสภานัดแรก เพื่อให้ สว. 200 คนกล่าวคำปฏิญาณตนต่อที่ประชุมก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ และจะเป็นวาระการเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา

โดยมีกระแสข่าวการวางตัวประธานวุฒิสภาไว้คือ นายมงคล สุระสัจจะ ว่าที่ สว.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ซึ่งถูกมองว่าเป็น สว.สายสีน้ำเงิน ในก๊วนของ บุรีรัมย์ ที่จัดเป็นกลุ่มก้อนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดหลังประกาศผลการเลือกออกมา

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุไว้ว่า หน้าที่ สว.คือพิจารณาและกลั่นกรองกฎหมาย พิจารณาและกลั่นกรองพระราชบัญญัติ อนุมัติพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งกระทู้ถาม เปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาหรือที่ประชุมรัฐสภา การตั้งกรรมาธิการ ให้คำแนะนำหรือความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 ยังกำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดจำนวน 200 คน ดำรงตำแหน่งได้คราวละ 5 ปี เป็นได้วาระเดียว

อีกภารกิจสำคัญคือการให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในปี 2567 นี้มีกรรมการในหลายองค์กรที่จะครบวาระ

โดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) จะมีผู้ที่พ้นจากตำแหน่ง 1 คน ในเดือน เม.ย.67 ที่ผ่านมา คือ น.ส.จินดา มหัทธนวัฒน์ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ที่พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 24 เม.ย.2567 เหตุอายุครบ 70 ปี และในวันที่ 22 ก.ย.นี้จะมี พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ประธานและกรรมการตรวจเงินแผ่นดินอีก 4 คน ได้แก่ นางยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์, นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์, นายสรรเสริญ พลเจียก และนางอรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป ที่ครบวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี

นอกจากนี้ยังมีผู้ตรวจการแผ่นดินที่ลาออกจากตำแหน่ง 1 คน เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2567 นายอิสสรีย์  หรรษาจรูญโรจน์

ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยในวันที่ 9 ก.ย.นี้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. จะพ้นจากตำแหน่งเหตุอายุครบ 70 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด และยังมีอีก 2 คนที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 9 ปี ในวันที่ 30 ธ.ค.67 คือ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ และนางสุวณา สุวรรณจูฑะ

ขณะที่ในช่วงเดือน พ.ย.นี้ จะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งอีก 2 คน เหตุครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 16 พ.ย.67 กับนายปัญญา อุดชาชน ที่จะครบวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 26 พ.ย.67

เป็นจังหวะเลือก ตัวบุคคล ในองค์กรอิสระที่เคยถูกกลุ่มลุงควบคุม เปลี่ยนมือไปสู่อำนาจของนักการเมืองอาชีพ ลดทอนการต่อรองเหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในอดีต

อาจนับได้ว่าเป็นช่วงแห่งการหมดยุคของ 2 ลุงไปโดยปริยาย โดยลุงคนแรกส่งต่อให้ "ขั้วน้ำเงิน” สานต่อภารกิจที่ค้างอยู่ในการสกัดขั้วสีส้ม ส่วนอีกหนึ่งลุงที่ยังอยู่ในวังวนการเมือง ยังคงเดิมเกมต่อ ไม่ปล่อยอำนาจที่เคยมีให้หลุดมือไปได้ง่ายๆ 

ว่ากันว่ามีความเคลื่อนไหวของกลุ่มว่าที่ สว.ชุดใหม่ คอยทำหน้าที่ประสานติดต่อว่าที่ สว.อีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ชัดเจนว่าเป็น สว.สีน้ำเงินหรือ สว.สีส้ม ให้มาร่วมพบปะพูดคุยกัน โดยว่าที่ สว.บางส่วนได้รับการติดต่อว่ามีผู้ใหญ่ใน "บ้านป่าฯ" ต้องการพบปะว่าที่ สว.ชุดใหม่บางคน มีการนัดหมายว่าจะพากันเข้าไปกินข้าวที่บ้านป่าฯ ซึ่งฝ่ายประสานงานอ้างว่าได้ประสานนัดว่าที่ สว.ชุดใหม่ได้แล้วประมาณ 20 คน   

ยังไม่นับการนัดประชุมในวันที่ 8 ก.ค.นี้ เนื่องจากมองว่าขณะนี้ กกต.ยังไม่มีกำหนดการประกาศรับรอง สว.ชุดใหม่ จึงถือว่า สว.ปัจจุบันยังต้องปฏิบัติหน้าที่ โดยการหารือได้แจ้งถึงการกำหนดวาระการประชุมวุฒิสภา โดยมีรายละเอียดสำคัญคือ พิจารณาญัตติของนายสมชาย แสวงการ สว. ที่เสนอให้วุฒิสภาตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาถึงการเลือกกันเองของ สว.ชุดใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 107

"การศึกษาคือ เกิดอะไรกับการเลือก สว.ปี 2567 ที่พบปัญหามาก ขณะที่การเลือกกันเองของ สว.ปี 2562 นั้น ไม่มีการร้องและไม่มีปัญหา สิ่งสำคัญคือระเบียบของ กกต.อาจมีปัญหา โดยเฉพาะการรับรองคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการเลือก ที่ปี 2567 มีข้อแตกต่างจากปี 2562 ที่กำหนดให้องค์กรหรือหน่วยงานลงนามรับรอง แทนให้ประชาชนรับรองกันเอง ทั้งนี้ จะมีข้อเสนอที่เป็นแนวทางแก้ไขประเด็นที่ไม่ถูกต้องในอนาคตด้วย รวมถึงประเด็นการฮั้วหรือจัดตั้งด้วย" นายสมชาย แสวงการ ระบุ

คงต้องติดตามต่อไปว่าการขับเคลื่อนของ สว.ค่ายสีน้ำเงินจะมีทิศทางอย่างไรในวุฒิสภา หลังจาก “ดีล” ในการจัดตั้งรัฐบาลทำให้ “ค่ายสีแดง” เป็นฝ่ายกำหนดเกมภายใต้การรวบรวมเสียง สส.ที่เป็นขั้วเดียวกันไว้ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับความร่วมมือในเรื่องการผลักดันนโยบายเรือธง และตกม้าตายในหลายกรณี โดยเฉพาะประเด็นการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่ง

“สภาสูง” จึงเป็นสมการเขย่าอำนาจให้เกิดความสมดุลในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ภายใต้เป้าหมายในการสกัดพรรคสีส้มให้อยู่หมัด เรียกได้ว่าเครือข่าย “แม่สี” แบ่งพื้นที่กันยึดหัวหาด ไม่ให้ค่ายใดค่ายหนึ่งคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ หลังจากทำสงครามในสนามเสร็จสิ้นกันไปแล้วในการเลือกตั้ง

แต่อย่าลืมว่า สังคมยังจับตามองการทำงานของ สว.ชุดใหม่ต่อไปอย่างไม่ละสายตา จากที่ไม่เห็นด้วยเรื่องสภาฝักถั่ว-ท็อปบูตสามัคคี ช่วง สนช.หลังการรัฐประหาร จนมายุค 3 ป. ที่ล้วนถูกมองว่าเป็น สว.ของ 2 ลุง

จึงเป็นเรื่องของผู้ที่ได้รับเลือกจะทำงานอย่างไร ระหว่างเพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากประชาชน หรือแค่ตอบโจทย์คนที่จัดตั้งให้ลงสมัครเท่านั้น!!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กม.สกัดรัฐประหาร‘ส่อแท้ง’ พรรคร่วมไม่อิน-ไม่เอา

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ฉบับ ‘หัวเขียง’ ที่นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยเสนอ ส่อแวว ‘แท้ง’ ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้น

จับ“ไทย”ชน“เมียนมา” เด้งเชือกรับมือเกมมหาอำนาจ

หลังจากที่กองกำลัง “ว้าแดง” ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงข่าวลือความตึงเครียดระหว่างทหารไทยกับว้าแดงบริเวณชายแดน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ทำให้ “ข่าวลือ” ดังกล่าวเริ่มเบาเสียงลง

‘รองโฆษกปชป.’ จี้รบ.เร่งช่วย 4 ลูกเรือ แนะเจรจาพื้นที่ทับซ้อนเพื่อชาวประมงสองฝั่ง

รัฐบาลไทยควรจะ 1.เร่งรัดนำชาวประมงไทยและเรือประมงไทยกลับสู่ประเทศไทยโดยเร็ว และ 2. รัฐบาลไทยควรที่จะเจรจาร่วมกันในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่พิพาทอยู่

รัฐบาลชวนปักหมุดเที่ยวอุทยานฯ สัมผัสอากาศหนาว-เดินเส้นทางธรรมชาติ

รัฐบาลเชิญชวนนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวเส้นทางศึกษาธรรมชาติทั่วประเทศในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศเย็นสบาย

'ภูมิธรรม' แจงเหตุเมียนมายังไม่ปล่อยตัว 4 คนไทย ยันทำทุกวิถีทางแล้ว

'ภูมิธรรม' แจง 4 คนไทยยังกลับไม่ได้ เหตุรอรัฐบาลเมียนมาตัดสินใจ ยํ้าทำทุกวิถีทางแล้ว หากเกิดในประเทศไทยต้องทำเช่นกัน ปัดโยงการเมือง