ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"

แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้หารือกับเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย เพื่อ “รีเช็ก” ข้อมูลเดิมที่ ทร.ได้รวบรวมความคืบหน้า รวมไปถึงศึกษาและดูรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการเจรจาเรื่องเครื่องยนต์ที่จีนไม่สามารถหามาติดตั้งได้ตามสัญญา

ที่สำคัญคือปัจจัยแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ในการขยายอิทธิพลในย่านนี้ของจีน และการประกาศชัดของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ที่ตอกย้ำทุกเวทีว่าจะเดินหน้าในการแบ่งทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอ้างสิทธิ์ไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา มีความผกผันระหว่าง 2 เรื่องนี้อยู่ไม่น้อย และเอื้อให้รัฐบาลไทยอาจจะต้องเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” จนสุดทาง

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีกระแสข่าวในทำนองว่า รัฐบาลอาจจะดำเนินกรรมวิธีต่างๆ ไม่ทันปลายปีนี้ ส่งผลให้ ทร.ไม่สามารถตั้งคำของบฯ ผูกพันโครงการเรือดำน้ำต่อในปี 2569 ได้ทัน โดยอาจจะมีการยกข้อติดขัดอันเกิดจากขั้นตอนของฝ่ายจีนเองในการทำคำสั่งซื้อเครื่องยนต์ที่ผลิตในจีนเองมาติดตั้งใน S26T ไม่ทันเดือน ธ.ค. เพราะกว่าจะรอมติ ครม.ของรัฐบาล ในการอนุมัติให้ผู้บัญชาการทหารเรือไปลงนามแก้ไขสัญญาในการเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์จีน และต้องมีการจัดทำเอกสารในรายละเอียด ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร พร้อมกระแสข่าวที่ว่ารัฐบาลจะเจรจาในการให้จีนรับซื้อสินค้าเกษตรของเราบางรายการอีกด้วย ซึ่งจะมีกระทรวงอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

ซึ่งนั่นน่าจะไม่ทันในงบฯ ปี 2569 และต้องเลื่อนไปตั้งในงบฯ ปี 2570 แทน และหากเป็นไปตามกระแสข่าวดังกล่าว ก็ต้องใช้เวลาในการขั้นตอนการต่อเรือพอสมควร ทำให้การส่งมอบอาจจะเลื่อนไปถึงปี 2574 และการขยายสัญญาก็ต้องมากกว่า 1,200 วัน มากกว่าเดิมที่ตั้งเอาไว้

ที่สำคัญ ทร.ก็หวั่นใจอยู่ไม่น้อยว่า “ท่าที” ของ รมว.กลาโหม ที่บอกว่าจะตัดสินใจเด็ดขาดในการเดินหน้า หรือยกเลิก ในยุคที่ตัวเองนั่งในตำแหน่งนี้ เป็นความตั้งใจจริงหรือไม่

ถึงกับมีการวิเคราะห์ว่า โครงการนี้เป็นเรื่อง “การเมือง” ที่เกิดมาในยุค ลุงป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น รมว.กลาโหม ยิ่งในปัจจุบันมานั่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ส่งลูกพรรคมาซัดกับพรรคเพื่อไทย เดินหน้าตรวจสอบเรื่อง MOU44 ทุกวัน จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่ “ลุงอ้วน” จะมาต่อยอด ปิดงานให้

สอดรับกับสถานการณ์ในตอนนี้ ที่ยังไม่มีเค้าลางว่า “เรือดำน้ำ” จะเดินหน้า จนกว่าจะชัดเจนเมื่อกระทรวงกลาโหมดันเรื่องสู่การพิจารณาของ ครม.เป็นวาระอย่างเป็นรูปธรรม

 กระแสข่าวในช่วงนี้จึงถูกประเมินจากคนใน ทร.ว่า เป็นแค่การ “เคาะกะลา” ให้ ทร.มีความหวัง และท้ายที่สุดอาจจะเป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายการเมือง “ปิดฉากเรือดำน้ำ” ในที่สุด ด้วยเหตุผลเรื่องสภาวะแวดล้อมวันข้างหน้าไม่ได้เอื้ออำนวย โดยเฉพาะเรื่องข้อจำกัดของงบประมาณและ สภาพเศรษฐกิจ

แต่ข้อเท็จจริงนั้นก็อยู่ที่รัฐบาลและ รมว.กลาโหม จะเป็นผู้ชี้ชัดภายในปลายปีนี้ ว่าจะยกเลิก หรือไปต่อ

แต่ที่แน่นอนแล้วคือ แผนงบฯ ปี 2569 ทร.ได้จัดทำคำขออนุมัติหลักการจัดซื้อเรือฟริเกต 4 ลำ แบ่งเป็นงบประมาณในปี 2569 จำนวน 2 ลำ และในปี 2570 จำนวน 2 ลำ ซึ่งเป็นโครงการที่เลื่อนมาตั้งแต่การจัดทำงบฯ ปี 2568 และมีความจำเป็นต้องจัดหาเพื่อให้ทันกับแผนที่วางไว้

ทั้งนี้ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผบ.ทร.ย้ำว่า ทร.จะจัดหาเรือเป็นชุด เพื่อใช้ในการเตรียมความพร้อมของกำลังพลในการออกปฏิบัติการ และอีกลำเพื่อใช้ในเรื่องของการส่งกำลังบำรุง ซึ่งปัจจุบัน ทร.มีเรือฟริเกต และเรือที่มีสมรรถนะเทียบเท่ารวมกัน 4 ลำ ได้แก่ รล.ภูมิพล รล.ตากสิน รล.นเรศวร รล.รัตนโกสินทร์ (เป็นเรือควอเว็ต แต่มีขีดความสามารถเทียบเท่า)

โดยตั้งงบฯ ผูกพันจำนวน 2 ลำ วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท (ลำละ 1.75 หมื่นล้าน) โดยใช้หลักการในเรื่องของ 0ffset policy เหมือนที่กองทัพอากาศจัดทำในโครงการจัดหาเครื่องบินรบฝูงใหม่ทดแทนกับทางสวีเดน เข้ามาดำเนินการเช่นกัน

ทำให้บริษัทต่างชาติที่เข้ามาต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี และลงทุนในเรื่องของอู่ต่อเรือด้วย ระหว่างนี้ ทร.ยังมองหาการสนับสนุนจากรัฐบาลในการงดเว้นข้อกำหนด ระเบียบ ให้เอื้อต่อการส่งเสริมการลงทุน เพื่อดึงดูดให้บริษัทเอกชนสนใจจะได้เสนอตัวเข้ารับการคัดเลือก

ซึ่ง ทร.ก็มองบริษัทชั้นนำของโลกที่มีศักยภาพ เช่น จากเยอรมัน สเปน จีน และเกาหลีใต้ เป็นต้น โดยโจทย์สำคัญในการดึงดูดให้บริษัทเข้ามาประกวดราคาคือ "ความคุ้มค่า" ในการลงทุนเรื่องการพัฒนาอู่ต่อเรือ จึงต้องเสนอจัดหาพร้อมกัน 2 ลำ  

แต่สิ่งที่ไทยจะได้คือ การสร้างงานของแรงงานจำนวนมาก การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการต่อเรือให้กับเอกชนของไทย ที่จะเข้ามาเป็นซับคอนแทร็ก เช่น บริษัท เอเชี่ยนมารีน มาร์ซัน ซีเคส เป็นต้น โดยใช้อู่ราชนาวีมหิดลฯ ซึ่งเป็นอู่แห้งขนาดใหญ่ของ ทร. และเคยต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง หรือโอพีวี อย่าง รล.กระบี่มาแล้ว เพื่อมาใช้เป็นอู่ฐานในการสร้าง โดยเจ้าหน้าที่ ทร.จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านนี้อีกด้วย

นอกจากนั้น ทิศทางในการเดินหน้าเรือฟริเกตยังค่อนข้างสดใสมากกว่าเรือดำน้ำ เพราะเป็นเค้กก้อนใหม่ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ตัดริบบิ้น ไม่ใช่เค้กที่ค้างเติ่งมาตั้งแต่ยุคลุง

แต่ทั้งหมดจะมีความแน่นอนก็ต่อเมื่อ ครม.อนุมัติ และงบฯ ผ่านฉลุยแล้วเท่านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นโยบายที่“อิ๊งค์”ไม่กล้าพูด เรื่องสำคัญกว่าผลงาน90วัน

บรรดากองเชียร์รัฐบาลเพื่อไทยอาจจะชื่นชม หลัง “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เล่นใหญ่ เปิดสตูดิโอ 4 ของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ยืนเดี่ยวไมโครโฟน

'บิ๊กเล็ก' จับเข่าคุยเหล่าทัพ-ภูมิธรรม หาจุดตรงกลางแก้ไขกฎหมายกลาโหม

ที่สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จ.ลพบุรี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม กล่าวถึงข้อสรุปในการเสนอร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ...ว่า ในเรื่องของกฎหมายยังไม่ถึงขั้นตอนสุดท้าย ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

แถลงผลงาน3เดือน‘รัฐบาลอิ๊งค์’ โชว์อนาคตประเทศ รอดหรือร่วง?

ได้เวลาตีปี๊บผลงานรัฐบาล 90 วันของ “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วันนี้ 12 ธันวาคม 2567 ในหัวข้อ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” (2025 Empowering Thais : A Real Possibility) ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) พร้อมถ่ายทอดสดให้คนไทยได้รับชม

กม.สกัดรัฐประหาร‘ส่อแท้ง’ พรรคร่วมไม่อิน-ไม่เอา

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ฉบับ ‘หัวเขียง’ ที่นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยเสนอ ส่อแวว ‘แท้ง’ ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้น

จับ“ไทย”ชน“เมียนมา” เด้งเชือกรับมือเกมมหาอำนาจ

หลังจากที่กองกำลัง “ว้าแดง” ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงข่าวลือความตึงเครียดระหว่างทหารไทยกับว้าแดงบริเวณชายแดน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ทำให้ “ข่าวลือ” ดังกล่าวเริ่มเบาเสียงลง