มหานครจมฝุ่นพิษ ฉุดรัฐบาลทรุด-ชัชชาติร่วง

สถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5  เกินค่ามาตรฐาน ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ตลอดจนการดำเนินชีวิตประจำวันถึงตอนนี้ สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงอยู่ โดยเฉพาะเมืองหลวงประเทศไทย กรุงเทพมหานคร ที่อยู่ในสภาพ มหานครจมฝุ่นพิษ มาหลายวัน

สิ่งที่เกิดขึ้นเวลานี้เห็นได้ชัดว่า ส่งผลต่อคะแนนนิยมรัฐบาลเพื่อไทย-แพทองธาร ชินวัตร อย่างเห็นได้ชัด เพราะเรื่องฝุ่นพิษไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันให้รัฐบาลตั้งตัว แต่เป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในวงรอบแต่ละช่วงอยู่แล้ว โดยเฉพาะที่เกิดหนักๆ ก็คือ ช่วงปลายปีจนถึงต้นปีที่เกิดขึ้นมาหลายปีติดต่อกัน โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงปี 2561 เป็นต้นมา ที่ทำให้คนไทยรู้จักฝุ่นพิษ PM2.5 

แต่เมื่อปัญหาฝุ่นพิษ ประชาชนรู้สึกว่า ไม่ได้รับการป้องกันและแก้ไขที่ดีพอจากรัฐบาลแพทองธาร ที่มีเวลาเตรียมตัวพอสมควร เพราะเป็นรัฐบาลเพื่อไทยที่บริหารประเทศมาต่อเนื่องเกือบ 2 ปี ประชาชนจึงมองว่า รัฐบาลต้องมีแนวทางและมาตรการในการป้องกันปัญหาที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่เมื่อยังเกิดปัญหาซ้ำซาก และดูเหมือนรอบนี้จะหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ จนหลายหน่วยงานภาครัฐต้องออกมาตรการเร่งด่วนรับมือปัญหา ที่บางมาตรการก็ส่งผลกระทบในวงกว้าง

มันจึงเป็นแรงเหวี่ยงทางการเมือง ที่ประชาชน โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่เจอปัญหาฝุ่นพิษมาหลายปีติดต่อกัน ต้องไม่พอใจรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร ในยุคชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่เป็นผู้ว่าฯ กทม.มาจะร่วม 3 ปี

ที่นอกจากจะเป็นผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม ปัญหาเรื่องฝุ่นพิษ PM2.5 คน กทม.ก็รู้สึกว่าชัชชาติน่าจะมีแนวทาง-นโยบายที่รับมือกับปัญหาได้ดีกว่าที่เป็นอยู่

 ดังนั้น เมื่อประชาชน-คนกรุงเทพฯ รู้สึกว่ รัฐบาลและชัชชาติสอบตกในการรับมือกับปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 มันจึงส่งผลในทางการเมือง ต่อรัฐบาล-พรรคเพื่อไทย-แพทองธาร นายกฯ และชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. ที่แม้ตอนเลือกตั้งปี 2565 จะลงอิสระ ไม่ได้ลงในนามพรรคเพื่อไทย แต่เป็นที่รู้กันตั้งแต่ตอนเลือกตั้งจนถึงปัจจุบันว่า เพื่อไทย-ทักษิณ-ชัชชาติ มีความสัมพันธ์ทางการเมืองที่แนบแน่นกันตั้งแต่ตอนเลือกตั้งจนถึงปัจจุบัน

 ยิ่งเมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล คนก็มองว่า การทำงานของรัฐบาลกลางกับผู้ว่าฯ กทม.ที่เป็นทีมเดียวกันในทางการเมือง จึงน่าจะมีการรับมือฝุ่นพิษได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่สิ่งที่เห็นกลับไม่เป็นเช่นนั้น

จนวันนี้ปัญหาฝุ่นพิษไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กับการดำเนินชีวิตของประชาชน แต่กระทบไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ ก็ยิ่งทำให้หลายคนเห็นตรงกันว่า รัฐบาลเพื่อไทย-กทม.ไม่มีความสามารถในการรับมือยามที่ต้องเจอกับปัญหาวิกฤตต่างๆ หรือ Crisis Management

อย่างเช่น การเปิดเผยข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ระบุว่า ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจในมิติของค่าเสียโอกาส โดยเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพของคนกรุงเทพฯ ในช่วง 1 เดือน จะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท เพราะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ทั้งในมิติของการรักษาอาการเจ็บป่วย รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในมิติของการดูแลป้องกันสุขภาพ เช่น หน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ ซึ่งแม้ว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะถูกส่งผ่านไปยังภาคธุรกิจ แต่เป็นค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้น เพราะผู้บริโภคไม่สามารถนำเงินนี้ไปใช้จ่ายเพื่อการอื่น

เมื่อประชาชนหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวกันถ้วนหน้า จึงทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาลและผู้รับผิดชอบในพื้นที่ ส่งผลให้ รัฐบาล-นายกฯ นั่งไม่ติด

โดย แพทองธาร-นายกรัฐมนตรี พยายามสื่อสารกับประชาชนว่า รัฐบาลมีการเตรียมการรับมือปัญหาฝุ่นพิษมาตลอด ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย.2567 เช่น การดูแลควบคุมปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร จนพบว่าการเผาลดน้อยลง และพยายามแก้ตัวว่า ปัญหาฝุ่นเป็นเรื่องของการสะสมมาเป็นระยะเวลานาน และปัญหานี้ไม่ใช่เป็นเรื่องวาระแห่งชาติธรรมดา แต่เป็นวาระแห่งอาเซียนที่ต้องมีการพูดคุยทำข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน

ที่ก็คืออาการนั่งไม่ติดของนายกฯ แพทองธาร หลังรับรู้ดีว่า ปัญหานี้คนไม่พอใจรัฐบาลสูง

 จึงต้องออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อทำให้ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลดีขึ้น โดยเฉพาะ "ขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้าฟรี" เป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่ 25-31 ม.ค. ที่ก็พบว่า ได้เสียงตอบรับจากประชาชนในระดับหนึ่ง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดและได้ผลหรือไม่?

อย่างเช่นความเห็นของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่ตั้งคำถามไว้หลายประเด็น เช่น จะมีคนจอดรถยนต์ส่วนบุคคลมาขึ้นรถไฟฟ้าหรือไม่? ตอบ - มี แต่น้อยมาก พูดได้ว่าไม่มีนัยสำคัญ พิสูจน์ได้โดยเปรียบเทียบปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลบนถนนที่มีรถไฟฟ้าวิ่ง เช่น ถนนสุขุมวิท ถนนสีลม ถนนพญาไท ถนนรัชดาภิเษก และถนนลาดพร้าว เป็นต้น ในช่วง 7 วัน ก่อนและหลังการใช้รถไฟฟ้าฟรี นั่นคือระหว่างวันที่ 18-24 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นช่วง 7 วัน ที่ไม่ให้ใช้รถไฟฟ้าฟรี กับวันที่ 25-31 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นช่วง 7 วัน ที่ให้ใช้รถไฟฟ้าฟรี คาดว่าปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลใน 2 ช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่ต่างกันมาก ส่วนปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าในช่วงให้ใช้รถไฟฟ้าฟรีอาจจะเพิ่มขึ้น แต่ที่เพิ่มขึ้นนั้นอาจไม่ได้มาจากผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพราะผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลส่วนใหญ่รักความสะดวกสบาย คงไม่ยอมเปลี่ยนใจมาขึ้นรถไฟฟ้า แต่เพิ่มขึ้นจากผู้โดยสารรถเมล์ หรือนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ หรือผู้ที่ไม่เคยใช้รถไฟฟ้า หรือไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้รถไฟฟ้า อาจถือโอกาสนี้นั่งรถไฟฟ้าไปทำกิจกรรมต่างๆ

"เงินชดเชยให้เอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าช่วง 7 วัน ประมาณ 140 ล้านบาท ก็จะไม่เกิดประโยชน์ตามความประสงค์ของรัฐบาล นำเงินดังกล่าวไปใช้ในการควบคุมไม่ให้มีการเผาไหม้จะได้ผลดีกว่าทั้งหมดนี้"

แน่นอนว่า ประชาชนอยากให้รัฐบาลคลี่คลายและรับมือปัญหาฝุ่นพิษให้สำเร็จ เพราะถ้าทำได้ ประชาชนจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่หากล้มเหลว แก้ปัญหาไม่ได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว มองได้ว่าย่อมมีผลต่อคะแนนนิยมที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล

รวมถึงอาจทำให้ชัชชาติ ถ้าจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ต่อในเดือน พ.ค. ปี 2569 ความล้มเหลวในการรับมือกับปัญหาฝุ่นพิษ จะเป็นเรื่องที่ฉุดคะแนนนิยมตอนหาเสียงแน่ อีกทั้งหากปัญหาฝุ่นพิษยังเรื้อรังไปเรื่อยๆ อีกหลายปี จนไปถึงช่วงตอนเลือกตั้ง สส.รอบหน้า ความล้มเหลวของรัฐบาลเพื่อไทยในการแก้ปัญหา ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชน เช่น คนกรุงเทพฯ ว่าจะเลือกเพื่อไทย ทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ หรือไม่ จุดนี้น่าจะมีผลไม่มากก็น้อย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอาแล้ว ‘อิ๊งค์‘ ไม่ร้องไห้ก็ลาออก! พปชร.สุดคึกเปิด ‘หลักฐานเด็ด’

พลังประชารัฐพร้อมเต็มร้อย ‘บิ๊กป้อม’ นำทีมซักฟอก 18 นาที โฆษกโวมี ‘หลักฐานเด็ด’ เปิดกลางสภาฯ เชื่อพรรคร่วมลังเลไม่กล้าโหวตไว้วางใจนายกฯ ‘แพทองธาร’ มีอยู่สองทาง ‘ร้องไห้’ หรือไม่ก็ ‘ลาออก’

โหมโรงศึกซักฟอก “ดีลแลกประเทศ”

ภายหลังที่ประชุม ‘วิป 3 ฝ่าย’ ได้ข้อยุติกรอบเวลาใน ‘การอภิปรายไม่ไว้วางใจ’ ทั้งหมด 37 ชั่วโมง ซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 24 มี.ค. แบ่งเป็น ฝ่ายค้าน 17 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาลรวมกับคณะรัฐมนตรี 3.5 ชั่วโมง และประธานในที่ประชุม 1 ชั่วโมง รวมทั้งสิ้น 21.5 ชั่วโมง คาดว่าหากมีการเริ่มอภิปรายในเวลา 08.00 น. จะเลิกในเวลา 05.30 น. ของวันที่ 25 มี.ค.