รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ไร้น้ำยา” ในการวางแผนรับมือปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทั้งที่รู้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นวัฏจักรรายปี ยิ่งในปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าเป็นรายสัปดาห์ จากการใช้ชุดข้อมูลเทคโนโลยีตรวจวัด สถิติต่างๆ มาประมวลเพื่อเตรียมการได้อยู่แล้ว
การส่งเสียงความเดือดร้อนของ “คนชั้นกลาง” ที่ดังกึกก้องและมีอิทธิพลต่อรัฐบาลก็คือพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เป็นหัวขบวนในการสั่งการบริหารสถานการณ์อยู่ด้วยนั้น มีผลให้กลไกระดับเมืองศูนย์กลาง “ขยับ” ตามทันที
เพราะนอกจากความเดือดร้อนของประชาชนแล้ว “ดิจิทัลฟุตปรินต์” ไม่ว่าจะเป็นคลิปเมื่อตอนหาเสียง คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ถูกขุดออกมาประจานกันรายวัน
ส่งผลให้มาตรการขึ้นรถเมล์ฟรี รถไฟฟ้าฟรี เพื่อลดปริมาณการเผาไหม้ของรถยนต์บนท้องถนนถูกงัดออกมาใช้ เพราะเป็นดุลยพินิจตามกฎหมายที่ผู้ว่าฯ กทม.สามารถประกาศได้เลย ส่วนงบประมาณในการชดเชย รัฐบาลจะเป็นคนอนุมัติงบฯ เพื่อให้การปฏิบัติสามารถทำได้ทันที
ขณะที่ ผู้นำรัฐบาลก็ถูกมองว่ามีปฏิกิริยาต่อวิกฤตฝุ่นล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งทิศทางในการมองภาพรวมของปัญหาขาดความถ่องแท้ อาศัยแต่กลไกปกติของหน่วยราชการจัดการแบบเดิมกับวัฏจักรของปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำทุกปี
จนเมื่อ “โลกโซเชียล” เดือดปุด เพราะปัญหาฝุ่นเมื่อต้นสัปดาห์หนักหนาสาหัส และยิ่งเข้าสู่โค้งสุดท้ายในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น พรรคร่วมรัฐบาล แกนนำพรรคการเมืองต่างก็กังวลว่าจะกระทบฐานเสียง คะแนนนิยม จึงต้องขยับตัวสั่งการแก้ปัญหาให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ด้วยการเรียกหน่วยงานต่างๆ มาสั่งการ “ตีปี๊บ” ถึงความเอาจริงเอาจังของรัฐบาล
กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานภายใต้สังกัดพรรคร่วมต่างก็นำแผนงานปฏิบัติมาขยายผล เพื่อให้เห็นการรับมือกับปัญหา พร้อมนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงที่สถานการณ์ “ฝุ่น” พักรบ และรอกลับมาโจมตีประเทศใหม่อีกครั้ง ส่งผลให้รัฐบาลต้องเตรียมรับมือแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ล่วงหน้า เพราะฝุ่นระลอกแรกสั่นคลอนคะแนนนิยมรัฐบาลพอสมควร
การประชุม ครม.เมื่อวันก่อนรับทราบแผนการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยแต่ละกระทรวงจะทำแยกกันไป ได้แก่
- กระทรวงมหาดไทย สั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศให้รับมือภัยพิบัติ ออกประกาศห้ามเผา ให้มีการบริหารจัดการซังข้าวโพด ต้นอ้อยแห้ง โดยใช้วิธีการฝังกลบแทนการเผา
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จับมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเตรียมรับมือดับไฟป่า ปฏิบัติการเชิงรุกที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้งบกลาง 680 ล้านบาท จัดสรรในการจัดจ้างบุคลากรเข้ามาดูแลพื้นที่ที่มีไฟป่า
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดูแลกลุ่มเปราะบางต่างๆ โดยการให้หน้ากากอนามัย N95 และห้องคลีนรูมหรือห้องปลอดเชื้อ เพื่อให้ผู้ป่วยและเด็กเล็กใช้บริการ
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องไม่ให้มีการเผาทุกพื้นที่การเกษตร หากพบเจอจะตัดการสนับสนุนเงินเยียวยาจากรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.68 ถึง 31 พ.ค.69 รวมถึงปฏิบัติการฝนหลวงในการลดฝุ่นละอองในอากาศ
- กระทรวงคมนาคม จากมาตรการรถเมล์และรถไฟฟ้าฟรี 7 วัน ซึ่งต้องใช้งบกลางในการชดเชย
- กระทรวงอุตสาหกรรม ขอความร่วมมือโรงงานและสมาคมชาวไร่อ้อยไม่ให้รับอ้อยที่มาจากการเผาเกิน 25% ต่อวัน เหลือเพียง 10% ต่อวัน และทุกโรงงานน้ำตาลให้ความร่วมมืออย่างดี
- กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกับอาเซียน ทำความร่วมมือกับลาว กัมพูชา เมียนมา และกรอบความร่วมมือในประเทศภูมิภาคเอเชียและร่วมมือกับกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง ตามยุทธศาสตร์ฟ้าใส (Clear Sky Strategy) แผนปฏิบัติการร่วม “ไทย-ลาว-เมียนมา” ที่วางไว้ยาวถึงปี 2573
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างการแก้ไขปัญหาทั้งหมดนั้นยึดโยงกับกลไกระดับชาติ ที่มีคณะกรรมการกำกับดูแล โดย “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ
ขณะที่ในภูมิภาคต่างๆ จะใช้กลไกระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาประกาศใช้มาตรการ โดยกระทรวงกลาโหม เหล่าทัพ สนับสนุนอากาศยาน อุปกรณ์ กำลังพลเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้น
เรียกว่า ทุกมาตรการล้วนมี “ต้นทุน” งบประมาณรายปี เลยไปถึงงบกลางในการแก้ไขอย่างมหาศาล แต่ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน
“ไฟ ควัน ฝุ่น” อันเกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปยังคงเกิดขึ้นทุกปี หากต้องถมงบฯ และต่อท่อให้กระทรวง ภายใต้การดูแลของพรรคร่วมรัฐบาล ก็คงไม่ต่างจากงบฯ ภัยพิบัติอื่นที่เกิดขึ้นตามห้วงเวลา ทั้งภัยร้อน ภัยแล้ง ภัยหนาว อุทกภัย ใช้เงินภาษีในการชดเชย บรรเทา เยียวยามหาศาล
การโฟกัสที่ต้นเหตุแห่งวิกฤตที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น การวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบแต่เนิ่นๆ โดยคำนึงถึงความเดือดร้อนและความเสียหายของประชาชนที่จะเกิดขึ้น อาจมีส่วนช่วยให้ผลกระทบเบาบางลงได้บ้าง
ถ้ารอการแก้ไขปัญหาตามกระแส หรือขึงขังในช่วงฤดูกาลหาเสียง ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำฯ ที่บริหารจัดการปัญหาด้วยการนั่งล้อมวงรายงานแผน ไร้ทิศทางในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ประชาชนคงต้องรอสำลักฝุ่นเป็นรายปีกันต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอาแล้ว ‘อิ๊งค์‘ ไม่ร้องไห้ก็ลาออก! พปชร.สุดคึกเปิด ‘หลักฐานเด็ด’
พลังประชารัฐพร้อมเต็มร้อย ‘บิ๊กป้อม’ นำทีมซักฟอก 18 นาที โฆษกโวมี ‘หลักฐานเด็ด’ เปิดกลางสภาฯ เชื่อพรรคร่วมลังเลไม่กล้าโหวตไว้วางใจนายกฯ ‘แพทองธาร’ มีอยู่สองทาง ‘ร้องไห้’ หรือไม่ก็ ‘ลาออก’
ปลุกใส่กางเกง สัญลักษณ์จว. เล่นสงกรานต์
“นายกฯ อิ๊งค์” หัวโต๊ะ คกก.ซอฟต์พาวเวอร์ ปลุกใส่กางเกงสัญลักษณ์ประจำจังหวัดเล่นน้ำสงกรานต์ พร้อมทุ่ม 150 ล้าน
การันตีจีนดูแลอุยกูร์ดี อ้วนฝากทูตไทยตามต่อ
นายกฯ ย้ำส่ง "อุยกูร์" กลับจีนไม่ต้องห่วง พร้อมตอบทุก ปท.ที่เห็นต่าง “ภูมิธรรม-ทวี” ถึงซินเจียงแล้ว
โหมโรงศึกซักฟอก “ดีลแลกประเทศ”
ภายหลังที่ประชุม ‘วิป 3 ฝ่าย’ ได้ข้อยุติกรอบเวลาใน ‘การอภิปรายไม่ไว้วางใจ’ ทั้งหมด 37 ชั่วโมง ซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 24 มี.ค. แบ่งเป็น ฝ่ายค้าน 17 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาลรวมกับคณะรัฐมนตรี 3.5 ชั่วโมง และประธานในที่ประชุม 1 ชั่วโมง รวมทั้งสิ้น 21.5 ชั่วโมง คาดว่าหากมีการเริ่มอภิปรายในเวลา 08.00 น. จะเลิกในเวลา 05.30 น. ของวันที่ 25 มี.ค.
ส่งกลับ“อุยกูร์”เกมเสี่ยงหวังผลสูง คว้ากระแสลมเปลี่ยนทิศ
เหตุผลสำคัญที่รัฐบาลพยายามอธิบายเรื่องการส่งชาวอุยกูร์กลับคืนให้ทางการจีน คือ “แรงบีบจากจีน”
นายกฯปัด‘พ่อ’ครอบงำ คลังสนองไอเดียซื้อหนี้
"อิ๊งค์" รีบแก้เกี้ยว "พ่อ" หวังดีกับประเทศผุดไอเดียซื้อหนี้ประชาชน ปัดครอบงำ