เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ต้องบันทึกเอาไว้ การเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม ตามคำเชิญของ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ณ กรุงริยาด ทันทีที่เดินทางถึง นายกรัฐมนตรีของไทยได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการ ก่อนเข้าเฝ้าฯ หารือข้อราชการกับเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แห่งซาอุดีอาระเบีย ณ สำนักพระราชวังซาอุดีอาระเบีย พระราชวังอัล ยะมามะฮ์
ผลจากการเยือนครั้งนี้
-ฟื้นความสัมพันธ์และร่วมมือในมิติการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม เฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของไทย และวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ.2030 ผลักดันให้เป็นรูปธรรม
-ผลักดันการอนุญาตให้แรงงานไทยกลับเข้ามาทำงานในซาอุฯ
-การค้าและการลงทุนจะสามารถเสริมสร้างบทบาทไทยในฐานะครัวโลก สนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของซาอุฯ และในฐานะศูนย์กลางทางการแพทย์และการท่องเที่ยวของไทย คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากซาอุฯ เริ่มเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้ไทยไม่ต่ำกว่าปีละ 5 พันล้านบาท
-สายการบินซาอุดี อาราเบียน แอร์ไลน์ส หรือ Saudi Arabian Airlines ประกาศเปิดเที่ยวบินตรงจากซาอุฯ-ไทย เริ่มต้นเดือน พ.ค.2565
เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งจากการฟื้นสัมพันธ์ทั้ง 2 ประเทศเท่านั้น ที่มีแต่เรื่องดีๆ เกิดขึ้นให้ประเทศไทย คนไทย จะมีแค่เพียงคนส่วนน้อย กองแช่งนอกสนาม ยังคงหาเรื่อง ยังคอยปลุกปั่น ขัดขวางผลประโยชน์ประเทศชาติ จับผิด พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เนคไทสวมใส่ พรมที่ปูต้อนรับ บุคคลที่มาต้อนรับ สถานที่ที่ต้อนรับ
ไม่มองในภาพรวม ผลแห่งการร่วมมือกันทั้งสองประเทศในครั้งนี้จะส่งผลบวกอย่างมหาศาลในหลายๆ ด้าน ซึ่งคนที่ได้รับผลประโยชน์ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนคือ ประเทศชาติและประชาชนทั้งสองประเทศนั่นเอง
แม้ข่าวดี ไทย-ซาอุดีอาระเบีย สร้างความสัมพันธ์อันดี หันมามองสถานการณ์การเมืองในประเทศ ไตรมาสแรกของปี 2565 จะต้องเผชิญมรสุมการเมืองอย่างน้อย 2-3 เรื่อง
พรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคพลังปวงชนไทย พรรคไทยศรีวิไลย์ เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ที่น่าจะมีการอภิปรายในสัปดาห์ที่ 3 หรือ 4 ของเดือนกุมภาพันธ์ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จะอภิปรายรัฐบาลประยุทธ์ 4 ประเด็น
1.เรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ ข้าวของแพงทั้งแผ่นดิน ค่าแรงถูก 2.เรื่องโรคระบาดโควิดที่ระบาดในคน และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร 3.วิกฤตทางด้านการเมือง ในยุคการเมืองใช้เงินเป็นหลัก Money Politic 4.ความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน ก่อให้เกิดปัญหายาเสพติด การทุจริตคอร์รัปชัน ภาวะฝุ่นพิษ PM 2.5 การค้า การลงทุน และปัญหาเหมืองทองอัคราฯ
การอภิปรายในครั้งนี้เป็นเวทีลับฝีปากของฝ่ายค้าน วอร์มเครื่อง หลังจากอภิปรายไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น เพราะในสมัยประชุมนี้ยื่นอภิปรายได้เพียงแค่การอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติ เป็นเพียงเวทีที่เปิดช่องให้ฝ่ายค้านที่อึดอัดกับการทำงานของรัฐบาลประยุทธ์ได้มีรูระบาย แต่โฟกัสทางการเมือง เสถียรภาพความมั่นคงของฝ่ายพลังประชารัฐ ที่สนับสนุนรัฐบาลประยุทธ์เป็นประเด็นสำคัญ นับแต่กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค พร้อม ส.ส.ใกล้ชิด 20 คน ถูกขับออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐไป ทำให้น่าจับตาดูว่า 21 เสียงจะเขย่าบัลลังก์รัฐนาวาประยุทธ์ได้มากน้อยขนาดไหน
ผลจากความขัดแย้งในอดีตอย่างรุนแรงระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ ร.อ.ธรรมนัส ถึงขนาดเคยจะโค่นอำนาจกลางสภา ปมการแต่งตั้งรัฐมนตรี ปัญหาการโยกย้ายนายตำรวจ บิ๊กข้าราชการ ที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งกันอย่างรุนแรง "ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ"
21 เสียงจะบวกแต้มให้กับฝ่ายค้าน หรือยังคงหนุนรัฐบาลต่อ ยังเป็นเรื่องที่ต้องน่าติดตาม แต่จากสัญญาณที่ผ่านมา การทำงานในสภา ทันทีที่ประชุมสภามา เริ่มเห็นอาการง่อนแง่นอยู่หลายครั้ง ฝ่ายค้านอยู่เป็นองค์ประชุมให้ฝ่ายรัฐบาลเพื่อให้การประชุมเดินหน้าไปได้ พรรคฝ่ายรัฐบาลกลับมาขอนับองค์ประชุมเอง การจะลงมติในเรื่องสำคัญ ผู้ที่ทำหน้าที่ประธานสภาฯ ในซีกรัฐบาลเห็นท่าไม่ดี องค์ประชุมจะไม่ครบ ชิงปิดประชุมสภาเอาดื้อๆ อยู่บ่อยครั้ง
สภาเข้าสู่ภาวะความไม่แน่นอนในจำนวนเสียง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่กล้าดันกฎหมายการเงินเข้าสู่ที่ประชุมสภา ในสมัยประชุมที่จะสิ้นสุดวันที่ 28 ก.พ. เพราะกลัวจะถูกสั่งสอนจาก 21 ขบถ ถ้าหากกฎหมายการเงินไม่ผ่าน นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ ที่จะต้องประคองให้สมัยการประชุมนี้ผ่านกันไปก่อนแล้วค่อยแก้เกมกันใหม่
การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 9 หลักสี่-จตุจักร กทม. วันที่ 30 ม.ค. มี 8 ผู้สมัครที่ลงสนามชิงชัย เมื่อโฟกัสลงไป ว่ากันว่าจะเป็นการต่อสู้เพียงแค่ 2 ค่ายใหญ่เท่านั้น ระหว่างเพื่อไทยและพลังประชารัฐ โดยมีพรรคกล้า พรรคก้าวไกล เป็นตัวสอดแทรก งานนี้น่าจับตาพลังประชารัฐ หลังเปิดแคมเปญโค้งสุดท้าย "รักลุงตู่ ชอบลุงป้อม" จะรักษาฐานที่มั่นเดิมได้หรือไม่
ล่าสุดมีรายงานว่า กระทรวงมหาดไทย ส่งหนังสือเวียนเป็นการภายในสำหรับผู้บริหาร ความยาว 3 หน้ากระดาษเอสี่ จากที่ได้ทำโพลในช่วงโค้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 ม.ค. โดยเนื้อหาส่วนสำคัญระบุว่า
ประเมินผลการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 30 ม.ค. โดยเรียงตามลำดับคะแนนจากมากที่สุดไปหาคะแนนน้อยที่สุดจำนวน 5 ลำดับ คำนวณจากจำนวนผู้ที่คาดว่าจะออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 119,535 คน คิดเป็นร้อยละ 70 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด) ดังนี้ ลำดับที่ 1 นายสุรชาติ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย คาดว่าจะได้รับคะแนนประมาณ 33,500 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 28 ลำดับที่ 2 นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ พรรคพลังประชารัฐ คาดว่าจะได้รับคะแนนประมาณ 23,800 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 20 ลำดับที่ 3 นายกรุณพล เทียนสุวรรณ พรรคก้าวไกล คาดว่าจะได้รับคะแนนประมาณ 22,500 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 18 ลำดับที่ 4 นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคกล้า คาดว่าจะได้รับคะแนนประมาณ 14,500 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 12 ลำดับที่ 5 นายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ พรรคไทยภักดี คาดว่าจะได้รับคะแนนประมาณ 11,000 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 9
คาดว่าจะมีบัตรเสียจำนวนประมาณ 2,391 ใบ คิดเป็นร้อยละ 2 และมีบัตรไม่เลือกผู้สมัครรายใดจำนวนประมาณ 2,988 ใบ คิดเป็นร้อยละ 2.5 รวมบัตรเสียและบัตรไม่เลือกผู้สมัครรายใดจำนวน 5,379 ใบ คิดเป็นร้อยละ 4.5
ข้อพิจารณา คาดว่า นายสุรชาติ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย มีโอกาสเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ถึงแม้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2562 จะพ่ายแพ้นายสิระ นายสุรชาติมีฐานคะแนนจัดตั้งของตนเอง ได้รับกระแสการตอบรับที่ดีจากชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง จากการลงทำงานแบบเกาะติดพื้นที่มาเป็นเวลานาน ไม่มีภาพลักษณ์ในด้านลบ ไม่เคยทิ้งพื้นที่ มีความจริงใจในการเข้าหาชาวบ้าน จึงทำให้เป็นที่รักของคนในพื้นที่ และด้านกระแสความนิยมส่วนตัว นายสุรชาติได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมา โดยตลอด (ปี 2554 คะแนน 28,376 และปี 2562 คะแนน 32,115)
นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ผู้สมัครรับเลือกตั้งหมายเลข 7 พรรคพลังประชารัฐ กระแสการตอบรับในพื้นที่ค่อนข้างดีขึ้นจากการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเขตชุมชนแออัดซึ่งเป็นฐานคะแนนจัดตั้งของนายสิระ (สามี) แต่การเข้าถึงฐานคะแนนในเขตชุมชนเมืองและชุมชนจัดสรร (หมู่บ้าน คอนโดมิเนียม) เป็นไปได้ยาก เพราะฐานคะแนนของกลุ่มคนจำพวกนี้จะใช้การเสพข่าวผ่านสื่อ, สื่อออนไลน์ เป็นหลัก ซึ่งกระแสในทางลบของนายสิระ เจนจาคะ และการบริหารงานของรัฐบาล จะส่งผลต่อการตัดสินใจที่จะลงคะแนนให้นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ
นายกรุณพล เทียนสุวรรณ ผู้สมัครรับเลือกตั้งหมายเลข 6 พรรคก้าวไกล ไม่มีฐานคะแนนจัดตั้ง มีแต่ฐานคะแนนเฉพาะ คือจากกลุ่มที่ต้องการทางเลือกใหม่ กลุ่มที่ต้องการการปฏิรูป ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ด้านกระแสของพรรคและผู้ลงสมัคร จะมีกระแสตอบรับที่ดีในเขตชุมชนเมืองและชุมชนจัดสรร แต่ในเขตชุมชนแออัดยังไม่ได้การตอบรับเท่าที่ควร นายกรุณพล ผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่เคยลงทำงานในพื้นที่ และกระแสการต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่เรื่องของสถาบัน
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ผู้สมัครรับเลือกตั้งหมายเลข 2 พรรคกล้า ไม่มีฐานคะแนนจัดตั้ง ต้องยึดโยงกับฐานคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง นายอรรถวิชช์แม้จะเคยเป็นอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขตหลักสี่ (ปี 2550) แต่จากการห่างพื้นที่เป็นเวลานาน ทำให้ความนิยมส่วนตัวและฐานคะแนนเดิมที่เคยเป็นของตนมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่พรรคอื่น ถึงแม้ว่าจะมีนายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การสนับสนุน แต่ไม่สามารถช่วยได้เต็มที่ เนื่องจากยังอยู่ในข้อจำกัดเรื่องการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
นายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งหมายเลข 1 พรรคไทยภักดี ไม่มีฐานคะแนนจัดตั้ง ต้องยึดโยงกับฐานคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์เช่นเดียวกับพรรคกล้า เพราะหัวหน้าพรรคเคยเป็นสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ กระแสพรรคและตัวผู้สมัครยังไม่ค่อยได้รับการตอบรับจากชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากเป็นพรรคที่จัดตั้งใหม่ และเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ ไม่เคยทำงานในพื้นที่ จึงต้องอาศัยฐานคะแนนเสียงของ นพ.เหรียญทองเป็นหลัก และทางเลือกจากกลุ่มที่รักสถาบัน และกลุ่มสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นฐานคะแนน จะเป็นตัวแปรสำคัญซึ่งจะทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง คือจากฐานคะแนนเสียงจัดตั้ง และคะแนนที่คาดว่าจะถูกเทมามาจากพรรคก้าวไกล ซึ่งต่างจากผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคพรรคพลังประชารัฐที่อาจจะถูกตัดคะแนนจากพรรคกล้าและพรรคไทยภักดี
ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ฟื้นความสัมพันธ์ ส่งผลประโยชน์อย่างมหาศาลต่อทั้ง 2 ประเทศ แต่ขณะเดียวกัน เกมการเมืองในสภา จากเดิมฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล จำนวนเสียงเคยเหลื่อมล้ำกันครึ่งร้อย นับแต่เกิดการหักหลังจากคนกันเอง ทำให้ช่องว่างระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลเหลือเพียงหลักหน่วยหรือระดับสิบต้นๆ เท่านั้น
ยังไม่นับรวมผลการเลือกตั้งหลักสี่-จตุจักร ที่จะเป็นตัวสะท้อนปรากฏการณ์การเมือง กระแสความนิยมพลังประชารัฐ-ประยุทธ์ ได้เป็นอย่างดี การเมืองระหว่างประเทศสดใส โชติช่วง แต่การเมืองในประเทศที่ว่ากันด้วยจำนวนมือ-พวกพ้อง ในการรักษาบัลลังก์อำนาจ
ยังเป็นเกมที่ประยุทธ์ต้องขบคิด แก้เกมอย่างหนัก หากยังหวังที่จะได้จัดประชุมเอเปก 2022 และลากยาวจนอยู่ครบเทอม..จริงๆ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พท.ยึดอำนาจกองทัพ สกัดลากรถถังตรึงทำเนียบฯ
เรียกเสียงครางฮือไปทั่วแวดวงทหารและแวดวงการเมือง กับการขยับของ สส.เพื่อไทย ที่เข้าชื่อกันเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เข้าสภาฯ ที่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนผ่านเว็บไซต์ของสภาฯ
พิธาจี้อิ๊งค์แถลงผลงานในสภา
“นายกฯ อิ๊งค์” ตีปี๊บ 12 ธ.ค. แถลงผลงานรัฐบาล 3 เดือน “2568
เพื่อไทยแจกเงินรัฐถังแตก? แผนสะดุดอดปล้นแวต15%
แม้รัฐบาลเพื่อไทยจะมั่นอกมั่นใจว่าจะอยู่ครบวาระหลังมีภูมิคุ้มกันด้วยพลังแฝง จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องคดี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ครอบงำรัฐบาล
รัฐบาลพร้อมรับ 4 คนไทยกลับบ้าน เช็กสุขภาพ-เยียวยาจิตใจทันที
นายกฯ รับรายงานพร้อมรับ 4 คนไทยกลับบ้าน ด้าน สธ. เตรียมทีมดูแลสุขภาพกาย-จิตใจ ทันทีที่เหยียบแผ่นดินไทย
จับไต๋! ขึ้น VAT 15% ไอเดีย 'ทักษิณ' เย้ย 'นายกฯอิ๊งค์' อ้ำอึ้งตลอด
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ขึ้นภาษี VAT แนวคิดทักษิณ?
'ป่วยทิพย์' ชั้น 14 ในมือป.ป.ช. อีก 1 คดีจุดเปลี่ยนการเมือง
ไม่กี่วันก่อน นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาชี้แจงกรณีมีกระแสข่าวว่าคณะอนุกรรมการไต่สวนที่มี นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน