‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ พายุ(ไม่)หมุน เข็น ‘เฟส3’ แจกวัยรุ่นฝ่าเสียงค้าน

“พายุหมุนทางเศรษฐกิจ” พายุที่รัฐบาลคาดหวังจาก “โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” หรือโครงการแจกเงินหมื่น ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยของ “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เริ่มต้นโครงการมาแล้วแรมปี แต่วันนี้ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจนในการเป็นพายุลูกใหญ่เหมือนที่โปรยยาหอมไว้ 

โดยจุดประสงค์ตั้งต้นของโครงการนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ สร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ

ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าจะก่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ จำนวน 4 ลูก ได้แก่ พายุหมุนลูกที่ 1 การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็ก ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังฐานราก กระจายไปพร้อมกันทุกอำเภอ

ทั่วประเทศ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน

พายุหมุนลูกที่ 2 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดเล็กกับร้านค้าขนาดใหญ่ พายุหมุนลูกที่ 3 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดการต่อยอดกำลังซื้อ การบริโภค หรือสร้างโอกาสในการลงทุนเพื่อประกอบอาชีพ และพายุหมุนลูกที่ 4 พลังการใช้จ่ายของประชาชนแต่ละคนจะเกิดผลต่อการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นทวีคูณ ช่วยฟื้นฟูภาคการผลิตของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

               โดยโครงการดิจิทัลเฟส 1 เปิดตัวในชื่อโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ถัดมาในเฟสที่ 2 โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ ในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 4 ล้านคน

และล่าสุดใน “เฟสที่ 3” ให้ กลุ่มวัยรุ่นอายุ 16-20 ปี ใช้จ่ายทางแอปพลิเคชันทางรัฐ เพื่อสแกนคิวอาร์โค้ด ณ ร้านค้าในพื้นที่เขตและอำเภอที่ประชาชนมีอยู่ตามทะเบียนบ้าน ซึ่งรัฐบาลให้เหตุผลที่เลือกแจกกลุ่มนี้ เพราะยังอยู่ในวัยเรียน สามารถนำเงินไปใช้ด้านการเรียนได้ ช่วยลดภาระผู้ปกครองได้ อีกทั้งกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยรัฐบาลมองว่ากลุ่มนี้มีความรู้ด้านดิจิทัล จะสามารถใช้กลไกของดิจิทัลวอลเล็ตได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ในการแจกเงินเฟสที่ 3 นี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ตั้งแต่การทุ่มเม็ดเงินลงไปให้กลุ่มดังกล่าวจะคุ้มค่าและตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการจริงๆ หรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องการใช้จ่าย ที่จากเดิมในเฟสแรกๆ มีการกำหนดประเภทสินค้าที่ไม่สามารถใช้จ่ายในโครงการได้ เช่น เครื่องดื่มแอลกอลฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฯลฯ

แต่ในเฟส 3 กลุ่มวัยรุ่นนี้กลับเปิดช่องให้สามารถซื้อสินค้าต้องห้ามได้ โดยรัฐบาลได้ตัดเงื่อนไขเดิมออก 2 ส่วน คือ 1.ตัดรายการสินค้าต้องห้ามออกทั้งหมด โดยสินค้าต้องห้ามตามรายชื่อเดิมที่ไม่สามารถซื้อได้ ตัวอย่างเช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมัน เชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ทั้งนี้ การตัดเงื่อนไขดังกล่าวออก รัฐบาลอ้างว่ามีการตรวจสอบร้านค้าที่ขึ้นทะเบียนแล้ว เพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถใช้จ่ายได้สะดวกขึ้น เช่น ซื้อของในร้านโชว์ห่วย หรือร้านที่มีสินค้าหลายประเภท ซึ่งแน่นอนว่าเงื่อนไขที่ถูกตัดออกนี้จะเอื้อให้กลุ่มวัยรุ่นสามารถซื้อทั้งเหล้าและบุหรี่ในร้านโชห่วยเหล่านี้ด้วย

และ 2.เปิดให้ร้านค้าทุกประเภทสามารถถอนเงินสดออกมาได้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับร้านค้า

ขณะเดียวกันจะเห็นว่าการทุ่มงบในโครงการแจกเงินหมื่นในแต่ละครั้งกว่า 20,000 ล้านบาท ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาถูกมองว่าไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ พายุลูกใหญ่ไม่เกิด ภาคเอกชนรายย่อย กลุ่มเอสเอ็มอี ยังโอดต้องปิดกิจการกันอยู่เรื่อยๆ ขณะที่เม็ดเงินที่รัฐบาลกันไว้ใช้ในเฟสต่อไปเหลือ 1.5 แสนล้านบาท คือเริ่มเหลือน้อยลงทุกที

จึงมีการวิเคราะห์ว่า ทำให้รัฐบาลมีการทยอยเลือกกลุ่มแจกเงิน ซึ่งในสุดท้ายแล้วยังไม่รู้ว่ากลุ่มประชาชนที่จะได้รับเงินในเฟสต่อๆ ไป จะค่อยๆ ลดจำนวนลงเหลือเท่าใด หรือไม่ก็อาจจะถูกเปลี่ยนไปทำโครงการอื่นๆ แทน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการแจกเงินหมื่นครั้งนี้จะต้องฝ่ากระแสแรงต้าน แต่รัฐบาลยังต้องผลักดันต่อไปด้วยเป็นนโยบายที่หาเสียงไว้ อย่างไรเสียต้องเข็นต่อจนสุดทาง แม้ล่าสุดจะถูกวิจารณ์จาก “ฝ่ายค้าน” ถึงขั้นมองว่าการเลือกให้กลุ่มอายุ 16-20 ปีก่อน เป็นการซื้อเสียงนิวโหวตเตอร์ล่วงหน้าหรือไม่ บวกกับกระสุนทางเศรษฐกิจที่ลดลงเรื่อยๆ อนาคตรัฐบาลจะแจกทั้งหมดหรือจะระบุเพียงว่าดูตามความเหมาะสม

แม้ “นายกฯ อิ๊งค์” แม่ทัพรัฐบาลจะออกมายืนยันกับประชาชนแล้วว่าไม่ต้องกังวล ทุกกลุ่มจะได้รับเงินหมื่นแน่นอน แต่ด้วยช่วงนี้เหมือนว่าความนิยมจะตก ก็อาจเป็นไปได้ที่จะงัดโครงการดิจิทัลวอลเล็ตขึ้นมาปลอบประโลมประชาชน เพื่อกระตุ้นความนิยมคืนมา

งานนี้ต้องดูกันต่อ “เงินหมื่นเฟส 3” จะออกดอกผลได้ตรงตามเป้าของรัฐบาลหรือไม่ และพายุหมุนทางเศรษฐกิจลูกใหญ่จะเกิดขึ้นได้ หรือเป็นแค่สายลมพัดผ่านเหมือนเฟสที่ผ่านๆ มา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

3ชนักติดหลัง'ทักษิณ' ชั้น14แพทยสภา-ป.ป.ช.ไต่สวน ขึ้นศาลคดี112ตัดสินปี69

ถึงตอนนี้ การแสดงบทบาททางการเมืองของ ทักษิณ ชินวัตร เห็นได้ชัดว่าต้องการสยายปีกไปถึงการสร้างพื้นที่การเมืองให้กับตัวเองในเวที

ผ่ายุทธศาสตร์‘กล้าธรรมนัส’ รักษาที่มั่น-ไม่ทับที่เพื่อไทย

‘พรรคกล้าธรรม’ ภายใต้แบรนด์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา ประธานที่ปรึกษาพรรค ซึ่งมี ‘อ.แหม่ม’ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่หัวหน้าพรรค เป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่เริ่มขยับเตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง แม้จะยังเหลือระยะเวลาอีกนานกว่าจะถึงปี 70 ในกรณีที่รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อยู่เต็มเทอม

ถอดรหัส'สามก๊ก' 'แดง-ส้ม-น้ำเงิน'

ในกระดานการเมืองไทยที่ตอนนี้กูรูการเมืองฟันธงตรงกันว่า เหลือแค่ “สามก๊ก” จากสามค่ายสี ส้ม แดง และน้ำเงิน ที่มีอุดมการณ์และแนวทางทำการเมืองที่แตกต่างกัน เพื่อเจาะฐานเสียงให้แก่ตัวเอง

บททดสอบเก้าอี้ ‘นายกฯหญิง’ 7เดือนฝ่าหลาย ‘วิกฤตประเทศ’

อีกบททดสอบผู้นำหญิงของไทย “อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ที่เข้ามานำทัพบริหารประเทศกว่า 7 เดือนแล้ว ภายใต้แรงกดดันและความคาดหวังจากประชาชน

จังหวะรุก‘ภูมิใจไทย’ 17ปี‘พรรคสีน้ำเงิน’

ในเวลานี้อาจกล่าวได้ว่า “พรรคภูมิใจไทย” พลังและอำนาจทางการเมือง สามารถขึ้นมาเบียดและถ่วงดุลกับแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทยได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ

ชิง2เก้าอี้ตุลาการศาลรธน. สว.สีน้ำเงินตัวปิดเกม

หลังที่ประชุมวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชาตรี อรรจนานันท์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เข้าไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคะแนนเสียงโหวตเห็นชอบไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียง สว.ที่ปฏิบัติหน้าที่เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา