เป็นการลาพรรคพลังประชารัฐเป็นครั้งที่ 2 สำหรับ อดีต 2 กุมาร ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อย่าง ‘อุตตม สาวนายน’ อดีต รมว.คลัง และ ‘สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์’ อดีต รมว.พลังงาน
ครั้งแรกจบไม่สวย เพราะถูกแกนนำในพรรคพลังประชารัฐหลายก๊กรวมหัวกัน ใช้แท็กติกทางกฎหมาย เซ็นใบลาออกจากกรรมการบริหารพรรค เพื่อให้กรรมการบริหารพรรคชุดเก่าที่มี ‘อุตตม’ เป็นหัวหน้าพรรค และ ‘สนธิรัตน์’ เป็นเลขาธิการพรรค สิ้นสภาพโดยอัตโนมัติ
สาเหตุในตอนนั้น เป็นเรื่องของโควตารัฐมนตรีที่ไม่เพียงพอจัดสรรให้มุ้งต่างๆ ภายในพรรค ขณะที่กลุ่มของนายสมคิด ซึ่งมี 4 กุมาร ได้แก่ นายอุตตม, นายสนธิรัตน์, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ถูกมองว่ากินโควตามากเกินไปทั้งที่ไม่มี สส.ในมือ
โดยก่อนหน้านั้นมีความพยายามเขย่ากลุ่ม 4 กุมารกันสักพักแต่ไม่สำเร็จ ก๊วน 4 กุมารไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี รวมถึงตำแหน่งผู้บริหารพรรค สุดท้ายจึงต้องใช้วิธีดังกล่าว
หลังกรรมการบริหารพรรคชุดแรกสิ้นสภาพ 4 กุมารรู้ชะตากรรมดีว่า เมื่อพวกเขาขาลอย ย่อมส่งผลต่อเก้าอี้รัฐมนตรีที่ตัวเองนั่งดังที่มุ้งต่างๆ ต้องการ สุดท้ายจึงชิงยื่นใบลาออกจากรัฐมนตรีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ก่อนจะถูกปรับออก
หลังภารกิจเขี่ย 4 กุมารพ้นอำนาจในพรรค และพ้นเก้าอี้เสนาบดี มุ้งต่างๆ ได้ไปเชิญ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่อยู่หลังฉากมานานให้มาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ และเป็นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่กลุ่ม 4 กุมารของนายสมคิดหันไปสร้างอาณาจักรใหม่ในชื่อ ‘พรรคสร้างอนาคตไทย’ มีนายอุตตมเป็นหัวหน้าพรรค และนายสนธิรัตน์เป็นเลขาธิการพรรค พร้อมชูนายสมคิดเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
‘พรรคสร้างอนาคตไทย’ เปิดตัวยิ่งใหญ่ ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อเนื่อง กระทั่งใกล้เลือกตั้งใหญ่กลับปรากฏข่าวการเจรจากับ ‘พรรคไทยสร้างไทย’ ของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในการควบรวมพรรคเพื่อต่อสู้กับพรรคขนาดใหญ่ แต่สุดท้ายดีลล่ม เพราะเจรจาไม่ลงตัว
นอกจากไม่สามารถควบรวมพรรคได้สำเร็จ ‘พรรคสร้างอนาคตไทย’ ยังเริ่มสั่นคลอน เมื่อผู้บริหารพรรคบางคนเริ่มลังเลต่อศึกเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ก่อนจะตัดสินใจล้มโปรเจกต์ตัวเองทั้งที่การเลือกตั้งมาถึงแล้ว ปล่อยพรรคสร้างอนาคตไทยทิ้งร้าง แล้วขนสมาชิกพรรคกลับไปอยู่กับ ‘บิ๊กป้อม’ ที่พรรคพลังประชารัฐอีกครั้ง
การกลับมาครั้งนี้ต่างจากครั้งแรกที่พวกเขาเป็นผู้ก่อตั้งพรรค ผู้บริหารพรรค ครั้งนี้กลับมาเป็นเพียงผู้ตามเท่านั้น โดย นายอุตตม ได้เป็นผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 5 ส่วน นายสนธิรัตน์ ได้เป็นผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 10
บทบาท 2 กุมารไม่มากเหมือนพรรคพลังประชารัฐยุคแรก และเมื่อผลการเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐไม่ได้เป็นพรรคอันดับ 1 และ 2 โควตารัฐมนตรีที่ได้จากพรรคแกนนำรัฐบาลก็ไม่ได้มากเหมือนตอนตัวเองเป็นแกนนำ
2 กุมารไม่มีใครได้เป็นรัฐมนตรีในโควตาพรรค เพราะโควตาที่พรรคได้จำกัด ส่วนผู้สมัคร สส.ที่ตามมาจากพรรคสร้างอนาคตไทย เมื่อได้เป็น สส. ก็ไม่ได้ขึ้นตรงกับตัวเองอีกต่อไป แต่ไปอยู่กับมุ้งอื่นๆ ในพรรคแทน ขณะที่บทบาทพวกเขาน้อยลงเรื่อยๆ
กระทั่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา นำ 20 สส.ของพรรค แยกตัวออกไปตั้งอาณาจักรใหม่ที่ พรรคกล้าธรรม แต่ 2 กุมารยังเลือกอยู่กับ ‘บิ๊กป้อม’ ต่อ และเหมือนจะได้รับความสำคัญอีกครั้งในฐานะทีมเศรษฐกิจของพรรค โดยได้รับการแต่งตั้งจาก ‘บิ๊กป้อม’ ให้มีตำแหน่งต่างๆ ในพรรค คอยแสดงความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน
ขณะที่ การประชุมใหญ่ของพรรคครั้งล่าสุด ทั้ง 2 คนยังได้รับความไว้วางใจให้เป็น ‘รองหัวหน้าพรรค’ เช่นเดิม
แต่อย่างไรก็ดี ทิศทางของพรรคพลังประชารัฐดูจะไม่มีความแน่นอนว่าจะไปทางไหน และมีข่าวรายวันว่า สส.บางคนถูกดูดไปอยู่ฝ่ายรัฐบาล
ประกอบกับความไม่ชัดเจนว่า ครั้งหน้า ‘บิ๊กป้อม’ จะยังทำพรรค และนำพรรคเองอยู่หรือไม่ แม้เจ้าตัวจะย้ำหลายครั้งว่ายังทำอยู่ก็ตาม
นอกจากนี้ยังมีข่าวลือออกมาสารพัดว่าคนนั้นคนนี้จะมาเทกโอเวอร์พรรคต่อ หรือแกนนำในพรรคบางคนจะออกไปตั้งพรรคใหม่ เพื่อเป็นพรรคขนาดเล็กรอร่วมรัฐบาลในอนาคต
อีกจุดคือ การตั้งตัวเปิดฉากรบกับฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย และ ตระกูลชินวัตร แบบไม่มีกั๊ก ทำให้นักการเมือง และนักเลือกตั้งหลายคนที่ยังอยู่ในพรรคกังวลว่าจะเป็นข้อจำกัดตัวเองในอนาคต
ซึ่งเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักการเมืองหลายคนค่อยๆ หายหน้าไปจากพรรคพลังประชารัฐ
ขณะที่ ‘อุตตม-สนธิรัตน์’ 2 รายล่าสุดที่ลาออก แม้ทั้งสองฝ่ายจะยืนยันตรงกันว่า รอบนี้ไม่ซ้ำรอยรอบแรก เพราะจากกันด้วยดี และไม่ได้ทิ้ง ‘บิ๊กป้อม’ กลางทางในช่วงที่พรรคระส่ำ แต่ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า หนึ่งในเหตุผลของการโบกมือลาคือแนวทางของพรรคในปัจจุบันด้วย
เป็นการปลีกตัวออกไป ‘ตั้งหลัก’ มากกว่าจะวางมือทางการเมือง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เกมยาวเขตแดน"ไทย-กัมพูชา" ยุคผู้นำ"หลังไมค์"หลังพิงกองทัพ
พล.อ.ฮุน มาเน็ต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. พร้อมภาพที่ตนเองใส่เครื่องแบบชุดลายพรางสนาม นั่งแถลงข่าว เล่าถึงภารกิจของตนเองที่เดินทางลงพื้นที่ไปเยี่ยมทหารในพื้นที่ ณ จุดปะทะใกล้แนวต้นพญาสัตบรรณ พื้นที่ช่องบก จ.อุบลราชธานี พร้อมเปิดประเด็นเรื่องการนำประเด็น 3 ปราสาท 1 พื้นที่ช่องบกยื่นต่อศาลโลกให้ชี้ขาด
10-16-23-18 ถอดรหัสตัวเลข-กลุ่มการเมือง จากปชป.ถึง"รทสช.-เพื่อนเฮ้ง"
น่าสนใจไม่น้อยกับการเคลื่อนไหวของ กลุ่มเสี่ยเฮ้ง สุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ยังคงเคลื่อนไหวการเมืองต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนัดรวมพล-รวมตัว สส.และแกนนำ รทสช.หลายนัดติดต่อกัน
ภาพลักษณ์ติดลบสอบตกชายแดน 'พท.-ภท.'ขาสั่นปรับ ครม.
สงครามประสาทระหว่างทางการกัมพูชา นำโดย 2 พ่อลูก "ฮุน เซน-ฮุน มาเนต" ที่เปิดฉากใส่ประเทศไทย อันนำมาสู่สถานการณ์ตึงเครียดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาหลายวันเริ่มคลี่คลาย
ปิดดีล'มะขามหวาน' ภท.ทิ้งไพ่ ล็อก“มท.1”
สถานการณ์การเมืองกลับมาเร่งเล้าสู่โหมดปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างจริงจังแล้ว เมื่อ “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ยอมรับคิดเรื่องการปรับ ครม. อาจเพราะทนต่อกระแสข่าวกดดันจาก “พ่อนายกฯ” ทักษิณ ชินวัตร
วัดใจ"แพทยสภา" ไม่เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า สวน"สมศักดิ์"รักษาศักดิ์ศรีแพทย์
มติแพทยสภา 12 มิ.ย.จะออกมาอย่างไร ต้องติดตามกันว่าจะมีกรรมการคนใดไม่กล้าเข้าประชุม เพราะกลัวโดนแรงกดดันทางการเมืองหรือไม่ และผลการลงมติจะออกมาอย่างไร จะยืนยันมติเดิม หรือจะเอาด้วยกับการวีโตของสมศักดิ์ ซึ่งหากเป็นแบบหลัง คงไม่ต่างอะไรกับ การชักเข้าชักออก-เขียนด้วยมือ ลบด้วยตีน นั่นเอง
รทสช.แตกยับ-เสี่ยงปรับออก เสี่ยใหญ่เร่ง"เฮ้ง"ปิดเกม แตกหัก"กลุ่มพีระพันธุ์"
มันแสดงให้เห็นว่า กลุ่มสุชาตินับวันยิ่งยกระดับการแตกหักกับกลุ่มพีระพันธุ์แรงขึ้นเรื่อยๆ แบบไม่มีเกรงใจ เปิดหน้าชน แตกเป็นแตก ให้รู้กันไปเลย เหมือนต้องการท้าทาย แน่จริง ขับออกจากพรรคเลย