
‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ชื่อนี้เข้าหูกันมาสักพักใหญ่ๆ เพราะมีข่าวว่า ‘แรมโบ้อีสาน’ - เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ดอดไปจดจัดตั้งไว้นานนม ตั้งแต่สมัยมีข่าวพรรคอะไหล่ผุดเป็นดอกเห็ด
ชื่อ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ โผล่มายุคใกล้เคียงกับ ‘พรรคเศรษฐกิจไทย’ เมื่อครั้ง ‘ปลัดฉิ่ง’ - ฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ถูกวางตัวเป็น เพลย์เมกเกอร์ ก่อนจะพับแผน กระทั่งต่อมาถูก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เทกโอเวอร์เอาไปรังใหม่
สำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติเห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรับจดทะเบียนจัดตั้งไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 และต่อมาวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
ทั้ง ‘รวมไทยสร้างชาติ’ และ ‘เศรษฐกิจไทย’ ในขณะนั้น เกิดจากแนวคิดการหานั่งร้านอันใหม่ให้ ‘บิ๊กตู่’ -พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เนื่องจากปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดี โดยเฉพาะเก้าอี้รัฐมนตรี จนภาพลักษณ์ของพรรคติดลบ
เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นก่อนจะเกิดเหตุการณ์ ‘กบฏ’ วางแผนล้ม ‘บิ๊กตู่’ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเสียอีก แต่ขณะนั้นได้รับความสนใจเพียงแป๊บเดียวก็เงียบหายไป
กระทั่งความขัดแย้งระหว่าง บิ๊กตู่ กับ ผู้กองธรรมนัส ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ ‘บิ๊กป้อม’ - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคกลับพยายามโอบอุ้ม ร.อ.ธรรมนัสเอาไว้
ข่าวคราวเรื่อง ‘2 ป.’ คือ ‘บิ๊กตู่’ และ ‘บิ๊กป๊อก’ - พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ออกไปตั้งพรรคใหม่จึงกลับมาอีกครั้ง เพราะไม่สามารถร่วมงานกับ ร.อ.ธรรมนัสได้อีก
เรื่องนี้เคยมีการนำไปพูดให้ พล.อ.ประวิตรฟังมาแล้ว ในเหตุการณ์ 6 รัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ผนึกกำลังกับ 2 ป. เพื่อเขี่ย ร.อ.ธรรมนัสออกจากพรรค ซึ่งตอนแรกเหมือนจะสำเร็จ แต่แค่เพียงข้ามคืนภารกิจกลับล้มเหลว เมื่อ ‘บิ๊กป้อม’ ยังเลือกที่จะกระเตงหอกข้างแคร่ของ ‘บิ๊กตู่’ อยู่
ตอนนั้น 1 ใน 6 รัฐมนตรี พยายามคะยั้นคะยอ พล.อ.ประวิตร ให้เอา ร.อ.ธรรมนัส ออกจากตำแหน่งแม่บ้านพรรค โดยอ้างเหตุการณ์กบฏ และการแทงข้างหลังรัฐมนตรีคนอื่นๆ ภายในพรรค แต่คำตอบที่ได้คือ เขาทำงานดี
1 ใน 6 รัฐมนตรีต้องถึงขั้นงัดไม้ตายกับ พล.อ.ประวิตร ว่า หากไม่เอาออก ‘บิ๊กตู่’ จะไปตั้งพรรคใหม่ “นายครับ หากเขายังอยู่ เดี๋ยวนายกฯ ก็ไปตั้งพรรคใหม่อีก” แต่คำตอบที่ได้คือ “นายกฯ ตั้งพรรคใหม่กูก็เลิก”
จังหวะนั้น ‘บิ๊กป้อม’ ยืนยันที่จะไม่ทำอะไรกับ ร.อ.ธรรมนัสทั้งสิ้น ทำให้เรื่องพรรคสำรองของ ‘บิ๊กตู่’ กลับมามีความเคลื่อนไหวแบบจริงจังอีกครั้ง
คีย์แมนสำคัญใกล้ ‘บิ๊กตู่’ บางคนถูกมอบหมายให้ไปสร้างเรือนชานรอเอาไว้แบบเงียบๆ นำโดยนายเสกสกล และ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการการเมือง
นอกจากนี้ยังมีตัวละครบิ๊กเนมบางคนเข้ามาช่วยกันทำ โดยเฉพาะในรายของ ‘บิ๊กแป๊ะ’ - พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่หันหลังให้สนามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
และยังว่ากันว่า พรรครวมไทยสร้างชาตินี้มีแบ็กอัพระดับสูงคอยค้ำให้อีกชั้น เป็นอดีตนายทหารชื่อดังอักษรย่อ ‘ด.’ ที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี ในฐานะน้องเลิฟ ‘บิ๊กตู่’
ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันก็ปรากฏชื่อ ‘พรรคไทยสร้างสรรค์’ โดยมี ‘เสี่ยตั้น’ - ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ ที่ร่วมมือกับอดีตแก๊ง กปปส. และทีมลุงตู่เป็นแม่งาน
‘พรรคไทยสร้างสรรค์’ ไม่ได้เป็นดำริของ ‘บิ๊กตู่’ หากแต่ทุกย่างก้าวของพรรคนี้ ‘เสี่ยตั้น’ รายงานให้ทราบทุกระยะว่ากำลังทำอะไร
2 พรรคนี้ถูกมองว่าจะเป็นนั่งร้านของ ‘บิ๊กตู่’ ในอนาคตแน่นอน และตอนนี้ดูเหมือน ‘รวมไทยสร้างชาติ’ จะเป็นเนื้อเป็นหนังมากกว่า หลังตัวละครลับค่อยๆ ถูกเปิดออกมา
‘บิ๊กตู่’ ไม่ได้ต้องการสร้างพรรคขึ้นมาแข่งกับ ‘บิ๊กป้อม’ หากแต่ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ มันผุพังเกินกว่าที่นายช่างที่ไหนจะซ่อมแซมและรีแบรนด์ได้ การสร้างบ้านหลังใหม่จึงง่ายกว่า
ขณะเดียวกัน ‘บิ๊กตู่’ ไม่ต้องการเผชิญปัญหาแบบเดิม ที่จะให้ ส.ส.นักการเมืองมานั่งต่อรอง จนไม่เป็นอันบริหารประเทศ การทำพรรคใหม่โดยถอดบทเรียนจากพรรคพลังประชารัฐจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ‘บิ๊กตู่’ เองไม่เคยออกมาปฏิเสธสักครั้งว่า กระแสพรรคสำรองไม่ใช่เรื่องจริง เช่นเดียวกับการจะมานั่งเป็นหัวหน้าพรรคเองก็ยังถูกกั๊กกันจนถึงวันนี้
เมื่อปล่อยให้คลุมเครือ ทุกอย่างจึงเป็นไปได้หมด เพียงแต่สุดท้ายแล้วจะไปอยู่พรรคไหน และบริบทใดเท่านั้น
จะ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ หรือ ‘ไทยสร้างสรรค์’ หรือจะพรรคอื่น แต่ที่แน่ๆ ไม่ใช่ ‘พลังประชารัฐ’ ที่เป็นไปได้สูงว่า จะไม่ได้อยู่ในกระดานการเมืองรอบหน้า.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ล้างคุก-ตั้งแท่นกม.” รอทักษิณ เช็กข้อมูลก่อนเหยียบไทย
ถึงวันนี้เส้นทางการเมืองของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ในการนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคงไม่สดใสเหมือนช่วงแรกๆ ทำให้ “ดีลรัก” กับ “เพื่อไทย” กับอีก 7 พรรค ต้องย้ำด้วยคำพูดผ่านสื่อบ่อยๆ แต่ดูเหมือนว่าเป็นเพียงการสร้างภาพยื้อกระแส “ด้อมส้ม” ไม่ให้ฟาดงวงฟาดงารายวัน
ขวากหนามผู้นำ ‘พิธา’ มีมากกว่าถือ ‘หุ้นสื่อ’
มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกี่ยวกับกรณีการถือครองหุ้นไอทีวีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล
"พิธา" หลังพิง 14 ล้านเสียง ดิ้นสู้คลายหุ้น ก่อนโหวตนายกฯ
ชัดเจนแล้วว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ได้คลายหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้น จากการครอบครองของตัวเองไปเรียบร้อย หลังมีกระแสข่าวดังกล่าวออกมาในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา
จับตา กกต.ยื้อฟันว่าที่ ส.ส. ผวาบทเรียนแพ้คดี 'สุรพล'
อีกไม่นานก็จะครบ 30 วัน นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า พรรคก้าวไกล (ก.ก.) มี ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 และเตรียมที่จะจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค ที่ประกอบไปด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย
ก้าวไกลมองข้ามช็อตเตรียม ช่วย"พิธา"สู้คดีชั้นศาลรธน.
เข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 หลังการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ตอนนี้เริ่มพบว่าเสียงเรียกร้องทางการเมืองให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เร่งประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อ เริ่มดังมากขึ้นเรื่อยๆ หลังผ่านมา 3 สัปดาห์ ยังไม่มีวี่แววว่า กกต.จะเริ่มรับรองผลการเลือกตั้งเมื่อใด
‘ดีลลับ-รัฐบาลแห่งชาติ’สกัด‘ก้าวไกล’ วิกฤตรอบใหม่รอปะทุ!
การจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคร่วม 312 เสียง นำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ดูหน้าฉากเหมือนจะมีความคืบหน้า ท่ามกลาง ดีลลับ การจัดตั้งรัฐบาลสลับขั้ว