'อาคม' ลุยถกแบงก์ชาติเกาะติดบาทอ่อนมั่นใจจีดีพีปีนี้โตปัง 3-3.5%

“อาคม”รับถกแบงก์ชาติติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ-บาทอ่อน ชี้เอื้อส่งออก มั่นใจจีดีพีปีนี้โตฉลุย 3-3.5% ท่องเที่ยวคึกคัก ต่างชาติเข้าไทยตามเป้า 8 ล้านคน

23 ก.ย. 2565 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2565 กระทรวงการคลังได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในทุกเรื่อง ทั้งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปัญหาความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และสถานการณ์การอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ เพราะเป็นหน้าที่ของ ธปท. โดย ธปท. เอง มีความเห็นว่าจะดูแลติดตามให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างปกติให้มากที่สุด

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงการคลังยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะโตได้ที่ 3-3.5% ถือว่าเป็นระดับที่ดีแล้ว และน่าจะทำได้ โดยเป็นผลมาจากการส่งออกที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่าลง และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ตั้งเป้าว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 ล้านคนก็น่าจะทำได้ตามเป้าหมาย จากเดิมที่อาจจะทำไม่ได้ โดยปัจจุบันได้แล้ว 5 ล้านคน ช่วงเวลาที่เหลือหากมีเข้ามาเดือนละ 1 ล้านคนก็จะได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ยอมรับว่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงจริง ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกได้ประโยชน์มาก ส่วนผลกระทบต่อราคาน้ำมัน จากการนำเข้าน้ำมัน ถือว่าไม่มาก เพราะราคาน้ำมันไม่ผันผวนมากนัก ค่ากลางอยู่ที่ 90-95 ดอลล่าร์ต่อบาเรล ต่ำกว่า 100 ดอลล่าร์ต่อบาเรล ถือว่าเป็นระดับที่ดี แต่ทุกเรื่องก็ต้องติดตาม เพราะว่าอีกไม่กี่เดือนจะเข้าสู่ฤดูหนาว ต้องดูว่าราคาน้ำมันจะผันผวนสูงอีกหรือไม่

“การที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% จะกระทบกับเศรษฐกิจไทยหรือไม่นั้น ยืนยันว่าคลังและ ธปท. ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเศรษฐกิจมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ทั้งผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ราคาพลังงานและเรื่องสงคราม ส่วนไทยจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามหรือไม่ เป็นการตัดสินใจของ ธปท.” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า หลักการของธนาคารกลางทุกแห่ง รวมถึงไทย เกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยจะต้องดูปัจจัยหลักสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1. การขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยลดเงินเฟ้อได้จริงหรือไม่ และจำเป็น ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อ 2. การขึ้นดอกเบี้ยต้องไม่กระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะว่าที่ผ่านมา ธปท. ก็ต้องการดูแลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติได้เร็วที่สุด และ 3. การขึ้นดอกเบี้ยจะต้องดูเรื่องเงินทุนไหลออก แต่ที่ผ่านมายังพบว่า มีเงินทุนไหลออกบ้าง แต่จำนวนไม่มาก ยังไม่มีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ทุกคนทราบอยู่แล้วว่าเป้าหมายเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ เพราะว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชัดเจนว่าจะมีการขยายตัวที่ร้อนแรง ดังนั้นจึงต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อทำให้เศรษฐกิจเย็นลง จึงมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย อัตรา 0.75% จำนวน 3 ครั้งติดต่อกัน ถือว่าเกินครึ่งหนึ่งของเป้าคหมายของเฟดที่ต้องการขึ้นดอกเบี้ยตีให้ถึงระดับ 4-4.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3-3.25%
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ได้มีการปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงค่อนข้างมาก ทำให้มีความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย สหรัฐฯ จึงต้องขึ้นดอกเบี้ย ยอมให้เศรษฐกิจโตช้าลง ดีกว่าปล่อยให้เศรษฐกิจถดถอย จึงมีการใช้นโยบายดอกเบี้ยอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทุกประเทศต้องติดตาม การดำเนินการของสหรัฐฯ และโลก รวมถึงไทยด้วย ส่วนธนาคารกลางของประเทศไหนจะปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ

เพิ่มเพื่อน