สิ่งที่หายไปในนโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมือง

21 ก.พ. 2566 – ช่วงนี้เป็นช่วงนักการเมืองเตรียมตัวเลือกตั้ง คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม และปัญหาใหญ่ของประเทศขณะนี้ที่ทุกฝ่ายยอมรับคือเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง คือ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีรายได้พอที่จะใช้จ่าย เราจึงเห็นพรรคการเมืองประกาศนโยบายหาเสียงมุ่งไปที่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เท่าที่เห็นจากโปสเตอร์หาเสียง ไม่แน่ใจว่านโยบายที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ประกาศจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ และชี้ให้เห็นถึงช่องว่างที่มีมากระหว่างสิ่งที่นักการเมืองต้องการทําในแง่นโยบายเมื่อมีอำนาจ กับปัญหาเศรษฐกิจจริง ๆ ที่ประเทศมี ที่รอการแก้ไขและควรตัองทําโดยนักการเมืองเพื่อให้ประเทศดีขึ้น นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

เท่าที่ติดตามและเห็นจากโปสเตอร์หาเสียงของพรรคการเมืองที่กระจายอยู่ทั่วประเทศขณะนี้ นโยบายเศรษฐกิจที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ใช้หาเสียงส่วนใหญ่จะมีความเหมือนกันค่อนข้างมาก คืออยู่ในสไตล์ “พี่มีแต่ให้” เหมือนกันหมด เช่น

หนึ่ง มุ่งที่จะให้หรือแจกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยสัญญาว่าประชาชนจะมีรายได้มากขึ้นจากค่าจ้างขั้นต่ำที่จะสูงขึ้น หรือเงินเดือนที่จะได้รับเมื่อเข้าทำงานหลังเรียนจบจะสูงกว่าอัตราตลาดในปัจจุบัน หรือจะได้รับเงินโอนหรือสวัสดิการจากภาครัฐมากขึ้น เช่น เงินช่วยเหลือคนชรา เงินเลี้ยงดูเด็ก ถ้าพรรคตนได้เป็นรัฐบาล คือแข่งกันแจกแข่งกันให้เพื่อให้นโยบายของพรรคถูกใจประชาชนเพื่อหวังคะแนนเสียง แต่ที่ไม่ใครพูดถึงหรือพูดชัดเจนคือเงินที่จะให้หรือแจกจะมาจากที่ไหน จะหาเงินอย่างไร เป็นแบบนี้เหมือนกันหมดทุกพรรคก็ว่าได้ ในทางเศรษฐศาสตร์ เป็นที่รู้กันว่าของฟรีไม่มี ทุกอย่างมีต้นทุน สิ่งที่เราได้ฟรีจากภาครัฐก็จะมีต้นทุนคือมีผู้สูญเสีย แต่ประเด็นนี้ไม่มีใครพูดถึง

สอง ประกาศที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยใช้อำนาจรัฐแทรกแซงการทํางานของกลไกตลาด หรือ ทําลายวินัยในการทำธุรกิจเพื่อเอาใจและหวังคะเเนนเสียงจากประชาชนหรือบริษัทที่เดือดร้อน เช่น ประกาศที่จะพักหนี้หนึ่งหรือสองปีถ้าได้เป็นรัฐบาล คือประชาชนหรือบริษัทที่มีหนี้ไม่ต้องชำระหนี้ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะใช้อำนาจไหนมาบังคับสถาบันการเงินหรือกลไกธุรกิจที่ปล่อยกู้ให้ทำตามโดยเฉพาะสถาบันการเงินเอกชน หรือประกาศที่เอาชื่อลูกหนี้ที่มีประวัติไม่ชำระคืนหนี้ออกจากบัญชีไม่ปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นกลไกบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินเพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสีย การนําประเด็นเหล่านี้มาเป็นนโยบายพรรคการเมือง ไม่ว่าจะหวังดีขนาดไหน ชี้ว่าเป้าหมายหลักคือการหาเสียง แม้จะมีผลต่อฐานะของสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ และมีผลต่อวินัยทางการเงินที่ประเทศควรมี

สาม ประกาศจะผ่อนคลายกฏหมายหรือยกเลิกมาตรการควบคุมต่าง ๆ ที่กฏหมายได้เขียนห้ามไว้โดยใช้อํานาจของฝ่ายบริหาร เพื่อให้สิ่งที่ผิดกฎหมาย ที่ห้ามประชาชนทํา ให้สามารถทำได้ กลายเป็นสิ่งที่ถูกกฏหมายโดยอ้างเหตุผลร้อยแปดเพื่อเอาใจประชาชน นโยบายลักษณะนี้ยังไม่เห็นชัดเจนจากนโยบายพรรคการเมืองที่ประกาศขณะนี้ แต่ในอดีตเราก็เห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจน ถือเป็นผลงานทางการเมือง ที่ต้องตระหนักคือประเทศเราสิ่งที่ผิดกฎหมายผิดศิลธรรมมีมาก เป็นสิ่งที่ต้องมีกฎหมายควบคุมเพื่อประโยชน์ของสังคมและความปลอดภัยของประชาชน การทําลายกฏของบ้านเมืองให้สิ่งผิดกฎหมายเป็นถูกกฎหมายเป็นเรื่องที่ไม่ควรทําเพราะคนในประเทศไม่ได้ประโยชน์และประเทศจะกลายเป็นดินแดนของสิ่งผิดกฎหมาย ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีคุณภาพ

ผมคิดว่าคงไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนไหนกล้ายืนยันว่า การให้การแจก การบิดเบือนกลไกตลาดและวินัยในการทําธุรกิจ และการทำสิ่งที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฏหมาย คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศมีขณะนี้ เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศมีลึกซึ้งและแตกต่างกว่าสิ่งที่พรรคการเมืองกําลังให้ความสําคัญในแง่นโยบายเศรษฐกิจมาก ซึ่งอย่างน้อยในความเห็นของผม ประเทศเรามีสามเรื่องใหญ่ที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนด้วยนโยบายเศรษฐกิจเพราะเป็นความเป็นความตายของอนาคตเศรษฐกิจของประเทศ

เรื่องแรก คือปัญหาปากท้องของประชาชน ที่ต้องแก้โดยทําให้ประชาชนมีรายได้ ซึ่งต้องมาจากการทํางาน ไม่ใช่การแจกเงิน การมีงานทำจะทําคนในประเทศมีรายได้ มากหรือน้อยก็เป็นรายได้ที่จะมีเข้ากระเป๋าเป็นประจำ ทําให้ระบบเศรษฐกิจมีอํานาจซื้อ ประชาชนใช้จ่าย ธุรกิจผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการเหล่านี้ นำไปสู่การจ้างงานที่มากขึ้นที่จะสร้างรายได้ให้กับประชาชนสูงขึ้นไปอีก และนำไปสู่การลงทุนของภาคธุรกิจเพื่อรองรับการใช้จ่ายที่ขยายตัว นี่คือสิ่งที่ควรเกิดขึ้น ประเทศเรามีทรัพยากรมากในภาครัฐ มีความมั่งคั่งมหาศาลในภาคธุรกิจ โจทย์ที่ควรคิดคือเราจะระดมทรัพยากรและความมั่งคั่งที่ประเทศมีให้เกิดการจ้างงาน ให้คนในประเทศมีงานทําได้อย่างไร เพื่อแก้ปัญหาปากท้องและขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ

เรื่องที่สอง ปัญหาผลิตภาพตํ่า พูดง่าย ๆ คือประเทศเรามีความสามารถในการผลิตและหารายได้ตํ่าเทียบกับประเทศอื่น เพราะเรามีจุดอ่อนในแง่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ทักษะของแรงงาน คุณภาพการศึกษา ความสามารถของระบบราชการ การบังคับใช้กฎหมาย และปัญหาธรรมาภิบาล จุดอ่อนเหล่านี้ได้ผสมผสานทําให้ประเทศเราไม่สามารถแข่งขันได้ดีกับต่างประเทศเหมือนก่อน ภาคธุรกิจไม่ลงทุน ไม่มีนวัตกรรม ไม่มีสินค้าใหม่ ๆ ที่ประเทศผลิตได้ดีที่จะเป็นตัวสร้างรายได้ให้กับประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผลคือเศรษฐกิจขาดพลังและพลวัตที่จะเติบโต เราได้กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจตํ่าทั้ง ๆ ที่ประเทศมีทรัพยากร ความมั่งคั่ง และศักยภาพมาก นี่คือปัญหาสำคัญที่รอแก้ไข เพื่อปลดล็อกให้ประเทศเดินหน้าได้มากกว่าปัจจุบัน

เรื่องที่สาม คือ ประเทศเราขณะนี้เป็นสังคมสูงวัย มีอัตราส่วนผู้สูงอายุในประชากรมากกว่าเด็ก ทําให้ในอนาคตกําลังแรงงานของประเทศจะลดลงมากจาก 38 ล้านคนปัจจุบัน เหลือ 23.6 ล้านคนในอีก 37 ปีข้างหน้า คน23.6 ล้านคนนี้คือเด็กและคนหนุ่มสาวในปัจจุบันที่ในอนาคตจะมีภาระมาก ต้องทํางานเพื่อหารายได้ให้ประเทศ ต้องเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว และเลี้ยงดูคนสูงวัยในประเทศที่ไม่มีรายได้ ไม่ทํางาน คำถามคือเรามีนโยบายอะไรหรือไม่ตอนนี้ที่จะเตรียมคนรุ่นใหม่เหล่านี้สำหรับภารกิจและความรับผิดชอบในฐานะประชาชนในอนาคต ให้พวกเขามีความรู้ความสามารถที่แข่งขันได้กับประเทศอื่น ทําให้ประเทศมีรายได้ มีสมรรถนะที่จะนําประเทศไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน เพื่อรักษาความเป็นประเทศเอาไว้

นี่คือความท้าทายที่ประเทศมี ทั้งปัญหาของคนส่วนใหญ่ตอนนี้คือเรื่องปากท้อง และปัญหาที่เป็นความเป็นความตายของประเทศในอนาคต ยังไม่รวมเรื่องภาวะโลกร้อน จึงชัดเจนว่านโยบายเศรษฐกิจที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและใช้หาเสียงขณะนี้ค่อนข้างจะห่างกับสิ่งที่ควรต้องทําเพื่อแก้เศรษฐกิจ ชี้ให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างสิ่งที่นักการเมืองอยากทําเมื่อมีอำนาจกับสิ่งที่รัฐบาลควรต้องทําเพื่อแก้เศรษฐกิจให้ประเทศเติบโตและความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ที่สำคัญถ้าช่องว่างเหล่านี้ยังมีอยู่หลังการเลือกตั้ง ประเทศก็จะไม่ได้อะไร ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล ไม่มีการแก้ปัญหาที่ควรแก้ เหมือนคนที่หลงทาง

ผมคิดว่าสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่อยากเห็นจากพรรคการเมืองคือการประกาศเป้าหมายและเจตนารมณ์ที่จะดึงประเทศออกจากปัญหาและความอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ นําประเทศไปสู่ทางเดินใหม่ที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เติบโตได้เต็มตามศักยภาพเพื่อความกินดีอยู่ดีของคนในประเทศ ประกาศที่จะแก้ไขและปฏิรูปทุกส่วนของระบบเศรษฐกิจที่มีปัญหาเพื่อสร้างฐานที่เข็มแข็งให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต เหมือนที่เกาหลีใต้ทําหลังวิกฤติปี 40 และที่อินโดนีเซีย เวียดนาม กําลังทําอยู่ขณะนี้ เป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ที่ภาคธุรกิจและประชาชนรอคอยและพร้อมมีส่วนร่วมผลักดันให้ประเทศเราก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น

นี่คือความหวังที่คนทั้งประเทศมี เป็นความหวังที่ประชาชนมีต่อการทําหน้าที่ของนักการเมือง

เขียนให้คิด

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน