‘เวิลด์แบงก์’ เคาะจีดีพีไทยปีนี้โต 3.6% ท่องเที่ยวหนุนด้านส่งออกอ่วมพิษศก.โลก

“เวิลด์แบงก์” เคาะจีดีพีไทยปีนี้โต 3.6% อานิสงส์บริโภคภายในประเทศ-ท่องเที่ยวหนุนเต็มสูบ ลุ้นต่างชาติทะยาน 27 ล้านคน ส่งออกโคม่าติดลบ 1.8% ซมพิษเศรษฐกิจโลก หนุนปฏิรูปเศรษฐกิจ ช่วยดันเติบโตระยะยาว

2 เมษายน  2566 – นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2566 ยังคงขยายตัวได้ที่ระดับ 3.6% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 2.6% โดยต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค ที่ส่วนใหญ่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ได้เร็วกว่าไทย โดยปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตดีขึ้นต่อเนื่อง มาจากภาคการท่องเที่ยว ที่ได้รับอานิสงส์จากการที่จีนเปิดประเทศ โดยคาดว่าปีนี้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเพิ่มขึ้นเป็น 27 ล้านคน คิดเป็น 68% ของช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และการบริโภคภายในประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการคลัง โดยเฉพาะการตรึงราคาพลังงาน ที่ช่วยพยุงให้การบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันเสถียรภาพทางการคลังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จากสัดส่วนหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยปัจจุบันอยู่ที่ราว 60% ต่อจีดีพี และคาดว่าจะลดลงเหลือราว 59% ต่อจีดีพี เนื่องจากอัตราการใช้จ่ายของภาครัฐที่ลดลง แต่ก็ยังสูงกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการตรึงราคาพลังงานเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกไทยในรูปเงินดอลล่าร์สหรัฐ ปีนี้คาดว่าจะหดตัวที่ 1.8% โดยได้รับผลกระทบชัดเจนจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/2565 ส่วนอัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 3.2%

ทั้งนี้ มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ 3.7% และปี 2568 ที่ระดับ 3.5% โดยประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่ได้สูงมากนัก นั่นเพราะในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยค่อนข้างช้า แต่มองว่ายังมีโอกาสที่ไทยจะเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจให้ดีขึ้นในหลาย ๆ ด้าน เนื่องจากยังมีศักยภาพและเสถียรภาพด้านการเงิน และการคลัง ที่จะสามารถนำสิ่งนี้มาใช้ในการปฏิรูปเศรษฐกิจได้อย่างจริงจัง

“ประเด็นสำคัญในการเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจของไทย เพื่อเพิ่มรายได้จากภาษี โดยเฉพาะภาคบริการ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง รายได้ดี และใช้แรงงานที่มีทักษะสูง แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยมีกฎเกณฑ์ กติกาในภาคบริการที่ค่อนข้างเยอะ ถือเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย ทำให้การลงทุนในส่วนนี้ยังมีข้อจำกัด ส่วนภาคการท่องเที่ยว ก็ต้องมีการเพิ่มมูลค่า เพิ่มการลงทุนด้านการท่องเที่ยวไม่ใช่เฉพาะในเมืองหลัก อย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือภูเก็ต เท่านั้น รวมทั้งต้องยกระดับมาตรการการให้บริการด้านการท่องเที่ยว เราคิดว่าภาคการท่องเที่ยวอาจจะยังไม่ใช่เครื่องมือหลักที่จะทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น แต่ก็ยังเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญรวมถึงต้องเร่งปฏิรูปการลงทุนของภาครัฐ ที่ต้องเน้นคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ตลอดจนประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นต้องมีการปฏิรูปเรื่องสวัสดิการที่พุ่งเป้า เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และคนจนให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเรื่องระบบการศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องมีการปฏิรูปในวงกว้าง เพื่อเสริมทักษะให้กับเยาวชน หรือคนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เรื่องนี้ที่ผ่านมาไทยไม่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

สำหรับเรื่องหนี้ครัวเรือนนั้น ต้องยอมรับว่าเมื่อเทียบอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ ยังถือว่าหนี้สินครัวเรือนค่อนข้างสูง เพราะส่วนใหญ่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ โดยหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ หลัก ๆ เป็นหนี้สำหรับที่อยู่อาศัย หนี้สำหรับการบริโภค หนี้บัตรเครดิต จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการในส่วนนี้

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ. 2566 ปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยมูลค่าการส่งออก -4.1% ขณะที่มีนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.1 ล้านคน ขยายตัว 1.1% จากเดือนก่อน โดยในครึ่งเดือนแรกของเดือน มี.ค.มีนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 7.6 หมื่นคนต่อวัน จากเดือนก่อนหน้าที่ 7.3 หมื่นคนต่อวัน

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.และแนวโน้มในระยะต่อไป ยังมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และ ปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐและยุโรป รวมทั้ง ผลของการเปิดประเทศและการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ตลอดจนการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'กุนซือนายกฯ' กระทุ้งอีก! 'ธปท.' ต้องเร่งลดดอกเบี้ย

'พิชัย' ห่วงเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ หลังเงินเฟ้อติดลบ 5 เดือนซ้อนสวนทางโลก จี้ ธปท. หั่นดอกเบี้ยนโยบาย ลดช่วงห่างเงินกู้เงินฝาก ตามสภาพัฒน์ฯ แนะนำ