‘สศค.’โอดส่งออกแผ่วกดจีดีพีปีนี้เหลือ 3.6% ห่วงพรรคการเมืองปูดนโยบายใช้เงินมือเติบ

“คลัง” หั่นจีดีพีปี 66 เหลือ 3.6% ส่งออกสู่ขิตติดลบ 0.5% เซ่นพิษเศรษฐกิจโลก ฮึมพรรคการเมืองปูดนโยบายใช้เงินมือเติบหลายแสนล้าน หวั่นแหกคอกกู้กลายเป็นภาระลูกหลาน พร้อมกางแผนการคลังระยะปานกลางเข้าสู้ ชูทยอยลดขาดดุลต่อเนื่อง

25 เม.ย. 2566 - นายพรชัย ธีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2566 ลงเหลือ 3.6% โดยมีช่วงคาดการณ์ 3.1-4.1% จากเดิมที่ 3.8% เนื่องจากภาคการส่งออกที่คาดว่าจะติดลบ 0.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อยที่ 0.4% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ทำให้การค้าโลกมีข้อจำกัด รวมถึงทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดและปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก แต่ยังมีแรงสนับสนุนจากการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ที่ 29.5 ล้านคน

ทั้งนี้ ปัจจัยหนุนที่ยังต้องติดตาม ซึ่งมีโอกาสที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้มากกว่า 3.6% ได้แก่ 1.ภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น 2.สถานการณ์เงินเฟ้อที่ลดลงเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 2.6% ส่งผลบวกต่อการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของตลาดการเงินโลก และ 2.ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงระหว่างประเทศและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ

อย่างไรก็ดี นายพรชัย กล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ออกนโยบายหาเสียงและมีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ว่า มาตรการต่าง ๆ คงไม่สามารถดำเนินการภายใต้งบประมาณปี 2566 ได้ทัน และหากมีความต้องการใช้งบประมาณ ก็จะเหลือช่องว่างให้ใช้ได้อยู่อีกไม่มาก เช่น งบกลาง ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 มีอยู่ 9.24 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 9.3 หมื่นล้านบาท โดยในความเห็นของคลังยังสามารถนำมาใช้ แต่ที่ผ่านมาการใช้งบส่วนนี้จะใช้กับเหตุฉุกเฉิน กรณีภัยพิบัติ กรณีความเสียหายที่ไม่อาจคาดเดาได้เท่านั้น รวมถึงความจำเป็นของการใช้งบในอนาคตอีกส่วนหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ สิ่งแรกคือการทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จากการหารือกับสำนักงบประมาณ ตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบ66-70) มีการกำหนดงบรายจ่ายประจำปี 2567 ไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการกำหนดสัดส่วนการใช้จ่าย ทั้งงบรายจ่ายประจำ งบลงทุน ไว้หมดแล้ว เท่าที่ติดตามข่าวนโยบายพรรคการเมือง มีหลายโครงการซึ่งใช้งบประมาณอยู่หลายแสนล้านบาท ค่อนข้างจะเกินจากรายจ่ายที่กำหนดเอาไว้ ดังนั้นจะต้องดูว่ารัฐบาลที่เข้ามาใหม่เมื่อมีการแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร จะต้องดูว่าจะใช้งบประมาณจากแหล่งใด และอาจต้องมีการปรับแผนการคลังหรือไม่

สำหรับแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบ66-70) นั้น มีหลักการที่สำคัญคือ 1.ต้องการลดการขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพี ซึ่งปีงบประมาณ 2567 ตั้งกู้ชดเชยการขาดดุลที่ 3% เป็นตัวเลขที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ที่มีภาระด้านการคลังเหมือนไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 และหลังจากปีงบ 2567 ก็จะทยอยลดลงต่ำกว่า 3% เรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่คลังตั้งหลักไว้ ณ ปัจจุบัน เป็นกติกาที่ทำไว้ให้เกิดวินัยด้านการคลัง ควบคุมการใช้จ่าย ลดภาระรัฐบาล

2.เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการคลังในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย การจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงประสิทธิภาพในการจัดการหนี้สาธารณะเพื่อให้มีการบริหารพื้นที่ทางการคลังให้เหมาะสม และ 3. การมุ่งสู่ภาคการคลั่งที่ยั่งยืน มีศักยภาพในการรับความเสี่ยงของประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการมุ่งทำงบประมาณสมดุลในอนาคตตามแผนการคลังระยะปานกลาง

นอกจากนี้ ในส่วนของสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ซึ่งมีเพดานอยู่ที่ 70% จากปัจจุบันสัดส่วนหนี้อยู่ที่ราว 60% ซึ่งจำนวนเงินก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การจะกู้ได้ต้องมีเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ในช่วงโควิด-19มีการออก พ.ร.ก.กู้เงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อบรรเทา เยียวยาผลกระทบ เติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งงบที่ออกมาจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ซื้อวัคซีน ทำโครงการจ้างงาน เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ประทังในช่วงที่เกิดโควิด-19 ดังนั้น การกู้เงินต่าง ๆ จะต้องดูในเรื่องของผลกลับคืนมาให้กับประเทศ

“ในด้านวินัยการคลังมองว่าถ้ากู้มาแล้วก็ควรจะนำมาลงทุนเพื่อให้เกิดการจ้างงาน เกิดการหมุนเวียนกลับมาสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง รวมถึงสาธารณูปโภค พัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ถ้ากู้มาแล้วควรจะมีผลิตภาพที่มากขึ้น ดังนั้นวงเงินกู้ที่มีก็ไม่จำเป็นที่จะใช้เต็มวงเงินก็ได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นภาระของลูกหลานของเรา ที่ต้องมาหารายได้ชำระคืนเงินกู้รวมทั้งการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ จะมองว่าเรามีการใช้จ่ายที่ไม่สมเหตุสมผล ดังนั้นก็ต้องไปดูวิธีการและโครงการที่จะนำเงินมาใช้จริง ๆ” นายพรชัย กล่าว

อย่างไรก็ดี ในส่วนของสถานการณ์ค่าไฟฟ้านั้น ได้มีการศึกษาพบว่าเงินเฟ้อในส่วนของค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา มีสัดส่วนเพียง 5.5% ของตระกร้าเงินเฟ้อทั้งหมด โดยต้องยอมรับว่าในความรู้สึกของประชาชนมองว่าค่าไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ก็ต้องไปดูภาพรวมการใช้จ่ายในครัวเรือนด้วย แต่ในเรื่องนี้เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะมีแนวทางในการดูแลอยู่ ขณะที่ภาพใหญ่ของตระกร้าเงินเฟ้อคือราคาสินค้า โดยเฉพาะราคาพลังงานมีการปรับตัวลดลง จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าภาพรวมอัตราเงินเฟ้อในปี 2566 มีแนวโน้มลดลงเหลือ 2.6%

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหาก 'โดนัลด์ ทรัมป์' ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ด้วยวาทกรรม ‘นองเลือด’ ของเขา เวลานี้โดนัลด์ ทรัมป์กำลังยุยงให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นต่อผู้อพยพ รวมถึงโจ ไบเดนคู่แข่

วุฒิสภา นัดถกรายงานเสนอ กกต. แก้กฎหมายเลือกตั้ง-พรรค ใช้โซเชียลหาเสียง

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุมในวันที่ 9 เม.ย. โดยมีวาระพิจารณาที่น่าสนใจ คือ การพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.