
2 พ.ค. 2566 – เคแบงก์ เตือนภัยมิจฉาชีพหลอกเงินที่สร้างความเสียหายกับประชาชนกว่า 31,000 ล้านบาท เร่งให้ความรู้และวางมาตรการป้องกันภัยคุกคามทางการเงิน ผ่านแคมเปญ #อัปเดตสติป้องกันสตางค์ พร้อมเชิญชวนประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ร่วมเป็นแนวร่วมเผยแพร่ข้อมูล ช่วยสร้างสังคมรู้ทันภัยมิจฉาชีพหลอกเอาเงินที่ใช้วิธีแนบเนียนมากยิ่งขึ้น ออกคลิป เตือนภัย 3 กลโกงที่ยังมีเหยื่อโดนหลอกต่อเนื่อง พลาดท่าเสียทั้งเงิน และมีคดีติดตัว ได้แก่ (1) มิจฉาชีพหลอกให้โหลดแอปพลิเคชันดูดเงิน (2) มิจฉาชีพหลอกเป็นนายหน้าเงินกู้ (3) มิจฉาชีพหลอกให้เปิดบัญชีม้า พร้อมจัดทำสื่อ #สารานุโกง อัปเดตกลโกงใหม่ๆ ของมิจฉาชีพ บนเว็บไซต์ https://kbank.co/41NmBTW ให้หน่วยงานต่างๆ สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี!
นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า “จากสถานการณ์หลอกลวงเอาเงินจากผู้ตกเป็นเหยื่อด้วยวิธีของมิจฉาชีพที่แนบเนียนขึ้น และมีเทคนิคที่หลากหลาย ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้เสียหายจากการตกเป็นเหยื่อ ได้รับความเสียหายจากกลโกงของมิจฉาชีพที่กำลังระบาดหนักอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากสถิติการแจ้งความออนไลน์ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ถึง เดือนมีนาคม 2566 มีมูลค่าความเสียหายโดยรวมทั่วประเทศกว่า 31,000 ล้านบาท เช่น การหลอกทางโทรศัพท์และการหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันดูดเงิน มีความเสียหายสูงถึง 3,600 ล้านบาท การหลอกให้กู้เงิน เสียหายกว่า 1,100 ล้านบาท และมีจำนวนเงินที่ขออายัดจากบัญชีม้า กว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารกสิกรไทยเล็งเห็นว่าการป้องกันภัยคุกคามทางการเงินเป็นวาระสำคัญของชาติที่ต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือ “คน” มิจฉาชีพอาศัยจุดอ่อนของคนที่มีความกลัว ความอยากได้ และความไม่รู้ หลอกลวงประชาชนโดยใช้วิธีต่าง ๆ และมีมุกกลโกงใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน ธนาคารจึงได้จัดทำแคมเปญ #อัปเดตสติป้องกันสตางค์ เพื่อให้ความรู้กับลูกค้าและบุคคลทั่วไป และอยากเชิญชวนทุกคนมาให้ความรู้กับสังคมร่วมกัน เพื่อสร้างเกราะป้องกันภัยคุกคามทางการเงินให้กับประชาชน”
ทั้งนี้ แคมเปญ #อัปเดตสติป้องกันสตางค์ เป็นแคมเปญต่อเนื่องจากแคมเปญ #ใช้สติป้องกันสตางค์ ที่ธนาคารกสิกรไทย ริเริ่มตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา เพื่อรณรงค์ให้ข้อมูลและความรู้กับประชาชนถึงภัยกลโกงของมิจฉาชีพ ในปีนี้ธนาคารเดินหน้าต่อออกคลิปเตือนภัย 3 กลโกงที่มีเหยื่อโดนหลอกอย่างต่อเนื่อง พลาดท่าเสียทั้งเงิน และมีคดีติดตัว ได้แก่ (1) มิจฉาชีพหลอกให้โหลดแอปพลิเคชันดูดเงิน (2) มิจฉาชีพหลอกว่าเป็นนายหน้าเงินกู้ และ (3) มิจฉาชีพหลอกให้เปิดบัญชีม้า เห็นได้ว่ากรณีเหล่านี้ เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายมาก ซึ่งหลายคนอาจจะเคยประสบด้วยตัวเอง คนใกล้ตัว หรือได้ยินจากข่าว แต่ก็มีผู้ตกเป็นเหยื่ออยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะด้วยเทคนิคกลโกงของมิจฉาชีพมีวิธีพูดโน้มน้าวใจให้คนเชื่อ หากคนที่ไม่เคยได้ยินเรื่องราวมาก่อน อาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนจะช่วยกันเตือนคนใกล้ตัว พนักงาน ญาติพี่น้อง ให้รู้เท่าทันภัยเหล่านี้ และป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ธนาคารกสิกรไทย จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความรู้และเตือนภัยเหล่านี้ และธนาคารยินดีที่จะมอบสื่อต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นด้วยความปรารถนาดีให้กับหน่วยงาน บริษัท ห้างร้าน ที่สนใจ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อให้ความรู้กับพนักงานหรือประชาชนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสามารถดาวน์โหลดคลิป #อัปเดตสติป้องกันสตางค์ และสื่อ #สารานุโกง ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลกลโกงของมิจฉาชีพล่าสุดพร้อมวิธีป้องกันได้ที่ https://kbank.co/41NmBTW

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ค่าเงินบาทสัปดาห์หน้ายังอ่อนวิ่งในกรอบ 35.70-36.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.70-36.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม
KBank จับมือไปรษณีย์ไทย นำร่องโครงการแพลตฟอร์มเช่า EV Bike
KBank จับมือไปรษณีย์ไทย และ HSEM นำร่องโครงการ WATT’S UP แพลตฟอร์มเช่า EV Bike จอง-จ่าย-จบในแอปเดียว
‘กสิกร’ แยกธุรกิจ เคไอวี เป็นโฮลดิ้ง เน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อย
ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตธุรกิจในระยะยาว ประกาศแยก'บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด'หรือ เคไอวี
'เอลนีโญ' ส่งผลกระทบสินค้าเกษตรเสียหาย 48,000 ล้านบาท
ปรากฎการณ์เอลนีโญที่สร้างความร้อนและแห้งแล้งกว่าปกติได้เริ่มขึ้นแล้วในปี 2566 หลังจากที่ในช่วงราว 3 ปีก่อนหน้า ไทยเผชิญปรากฏการณ์ลานีญาที่มีสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ดี
ตร.ไซเบอร์ เตือนเพจที่พักปลอมระบาด แนะตรวจสอบก่อนโอน
ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย เพจที่พักปลอมระบาดต่อเนื่อง มิจฉาชีพยังคงใช้ 2 แผนประทุษกรรม แนะนำให้ตรวจสอบก่อนโอนเงิน หรือจองผ่านผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ