ททท. ปั้นคลองผดุงกรุงเกษม จัดงานลอยกระทงยิ่งใหญ่ ชี้ปีนี้ต่างชาติทะลักเที่ยวไทย

ททท. ชวนสืบสานวัฒนธรรมไทยกับเทศกาล “สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง” ณ คลองผดุงกรุงเกษม กรุงเทพมหานคร

26 พ.ย. 2566 – นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง” ณ คลองผดุงกรุงเกษม (ย่านหัวลำโพง) กรุงเทพมหานคร พร้อมกันนี้ นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นางวรนุช ภู่อิ่ม รองปลัดกระทรวงการคลังและคณะกรรมการ ททท. นายกิตติ พรศิวะกิจ ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมด้วยทูตานุทูตหลายประเทศให้เกียรติเข้าร่วมงาน โดย ททท. นำส่งประสบการณ์ใหม่ Amazing Experience สะท้อนคุณค่าของประเพณีลอยกระทงตามวิถีไทย ภายใต้คอนเซปต์ “Moonlight Reflection Loi Krathong Along the Canal” สร้างสีสันบนผืนน้ำด้วยไฮไลต์สายธารประทีป 5 พื้นที่อัตลักษณ์ ได้แก่ เชียงใหม่ สุโขทัย ตาก สมุทรสงคราม และร้อยเอ็ด และการแสดง Lighting Illumination Show ตลอดระยะเวลาจัดงาน หวังบูมรายได้พื้นที่กรุงเทพฯ 1,215 ล้านบาท

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายต่อเนื่องในการส่งเสริม Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยเฉพาะการตั้งเป้าหมายว่าประเทศไทยจะต้องเป็นผู้นำในด้านเฟสติวัลของโลก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ ททท. ขานรับนโยบายดังกล่าว และได้ Kick off กิจกรรมสำคัญ ภายใต้ Thailand Winter Festival “งานสีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง” ปี 2566 ในวันที่ 24-28 พฤศจิกายน 2566 ณ คลองผดุงกรุงเกษม ย่านหัวลำโพง กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเทศกาลแรกในฤดูกาลท่องเที่ยวและเป็นช่วงเวลาที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ คาดว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 299,730 คน-ครั้ง และรายได้ทางการท่องเที่ยว 1,215 ล้านบาท

ปีนี้ ททท. เนรมิตบรรยากาศแห่งความสุขรับประเพณีลอยกระทง เน้นย้ำความสุขและความงดงามของ “วิถีไทย” พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวเส้นทางคลองในเมืองหลวงให้กลับมามีชีวิตชีวา โดยแต่งแต้มสีสันคลองผดุงกรุงเกษมในคืนวันเพ็ญ ภายใต้แนวคิด “Moonlight Reflection Loi Krathong Along the Canal” จัดเต็มไฮไลต์การแสดงแสงเสียง “Lighting Illumination Show” ผ่านกระทงประดับไฟ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของงานประเพณี 5 พื้นที่เอกลักษณ์ ได้แก่ โคมล้านนา สัญลักษณ์ของประเพณียี่เป็ง จังหวัดเชียงใหม่, กระทงใบลาน สัญลักษณ์ของประเพณีเผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย, กระทงจากกะลามะพร้าว สัญลักษณ์ของประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป ๑,๐๐๐ ดวง จังหวัดตาก, กระทงกาบกล้วย สัญลักษณ์ของประเพณีลอยกระทงกาบกล้วย จังหวัดสมุทรสงคราม และกระทงรวงข้าว สัญลักษณ์ของประเพณีสมมาน้ำคืนเพ็ง เส็งประทีป จังหวัดร้อยเอ็ด และกิจกรรมต่าง ๆ ที่สร้างการรับรู้ถึงคุณค่าของประเพณีไทย เช่น การแสดงทางวัฒนธรรม กิจกรรมสาธิตอาหารชาววังและกระทงเอกลักษณ์ 5 พื้นที่ รวมทั้งตลาดย้อนยุครัตนโกสินทร์จัดจำหน่ายอาหารไทยให้ได้เลือกซื้ออย่างเพลิดเพลิน

ไม่เพียงเท่านั้น ภายในพิธีเปิดฯ พบกับพิธีเฉลิมฉลองประเพณีลอยกระทง ขบวนแห่ประเพณีลอยกระทง โดยนางสาวแอนนา เสืองามเอี่ยม Miss Universe Thailand 2022 แต่งกายชุดนางนพมาศ ร่วมขบวนด้วยเทศกาลลอยกระทงปีนี้ ททท. ตั้งใจส่งมอบประสบการณ์ Amazing Experience ที่มีคุณค่าและความหมายแก่นักท่องเที่ยว พร้อมส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเพณีลอยกระทงมิติใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบสู่ความยั่งยืน (Sustainable Tourism) จึงรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวเลือกใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติ 1 ครอบครัว 1 กระทง เพื่อลดปริมาณกระทงในช่วงเทศกาล รวมทั้งภายในพื้นที่จัดงานมีการบริหารจัดการขยะจากกระทง และให้นักท่องเที่ยวร่วมสืบสานประเพณีไทยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมผ่านกิจกรรม DIY ประดิษฐ์กระทงจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระทงกะลามะพร้าว กระทงใบลาน กระทงกาบกล้วย

นอกจากนี้ ททท. ยังได้สนับสนุนและประชาสัมพันธ์การจัดงานประเพณีลอยกระทง 5 พื้นที่อัตลักษณ์ทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ สุโขทัย ตาก สมุทรสงคราม และร้อยเอ็ด ทั้งได้ให้ความร่วมมือของภาคเอกชนร่วมจัดงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ICONSIAM CHAO PHRAYA RIVER OF ETERNAL PROSPERITY ลอยกระทงบนสายน้ำแห่งความเจริญรุ่งเรือง และงาน Bangkok River Festival 2023 สายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย ณ 10 พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหาร วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ท่ามหาราช ท่ายอดพิมาน ล้ง 1919 สุขสยาม และเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ และขอเชิญชวนสัมผัสประสบการณ์งานประเพณีลอยกระทงในพื้นที่อื่น ๆทั่วประเทศ อาทิ งานประเพณีลอยกระทงตาลปัตร 2566 จ.พระนครศรีอยุธยางานประเพณีลอยกระทงย้อนยุค จ.ลพบุรี ประเพณีล่องสะเปาจาวละกอน จ.ลำปาง เทศกาลโคมแสนดวง จ.ลำพูน เทศกาลลอยพระประทีปพระราชทานสิบสองเพ็งไทสกล กระทงดอกผึ้ง จ.สกลนคร ท่องเที่ยววิถีภูเก็ต ลอยกระทง ริมเลพานหิน จ.ภูเก็ต เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนผู้เยี่ยมชาวไทยในช่วงเทศกาลลอยกระทงปีนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมชาวไทยประมาณ 2.04 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีที่ผ่านมา และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวอยู่ที่ 6,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อันจะช่วยให้เกิดการเติบโตของท่องเที่ยว สร้างโอกาสทางธุรกิจ และส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เทศกาลสร้างสรรค์'3 ศิลป์ 3 ศาสน์ ย่านกะดีจีน'

งานเฟสติวัลในย่านเก่าเป็นอีกกิจกรรมสร้างสรรค์ สร้างแรงกระเพื่อมให้มหานครมีมิติร่วมสมัยควบคู่ไปกับการดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม สีสันความสนุกที่เคลือบด้วยสาระและคุณค่าของย่านกะดีจีนจะเกิดขึ้นในงานเทศกาล ” 3 ศิลป์ 3 ศาสน์ ย่านกะดีจีน”

สงกรานต์'รางน้ำ' พิกัดใหม่เล่นน้ำสุดฉ่ำ

สงกรานต์กรุงเทพฯ จุดเล่นน้ำสงกรานต์ยอดฮิตที่มีคนไทยและชาวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวอย่างคับคั่งเป็นประจำทุกปี คนจะนึกถึงถนนข้าวสาร เขตพระนคร หนึ่งในย่านท่องเที่ยวและจัดงานเล่นน้ำสงกรานต์ยอดนิยมเสมอมาของกรุงเทพฯ  รองลงมาสงกรานต์สีลมซึ่งปิดถนนให้เล่นน้ำสงกรานต์กันตลอดเส้นสีลม ยังมีพื้นที่ของคนกลุ่มความหลากหลายทางเพศ LGBTQ ที่จัดประกวดเทพีสงกรานต์ เดินขบวนพาเหรด การแสดงศิลป

รมว.ท่องเที่ยวนำเอกชนไทยบุกตลาดอินเดียหวังโกยรายได้ 80,000 ล้านในปี 67

รมว.ท่องเที่ยวนำผู้ประกอบการเอกชนไทยร่วมงาน SATTE 2024 เร่งบูสต์ตลาดอินเดีย พร้อมตั้งเป้ารายได้ตลาดอินเดียกว่า 80,000 ล้านบาทในปี 2567

'ตรุษจีนเยาวราช'เฉลิมฉลองปีมังกรทอง

เทศกาลตรุษจีนถือเป็นงานปีใหม่ของชาวจีนทั่วโลก รวมถึงชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทยด้วย ซึ่งได้มีการสืบสานประเพณีของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนจัดงานตรุษจีนเป็นประจำทุกปี ย่านเยาวราชถือเป็นพื้นที่สำคัญจัดงานตรุษจีน มาอย่างต่อเนื่อง เทศกาลตรุษจีนเยาวราชประจำปี 2567

เที่ยววัดมหาธาตุฯ จัดสมโภชใหญ่ข้ามปี

เริ่มแล้วสำหรับงานสมโภชพระอาราม 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ตามรอยประวัติศาสตร์พระอารามหลวงแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์แห่ง 3 ยุค ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องกรุงธนบุรีจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567