หลักทรัพย์บัวหลวงยังเชื่อปี 67 หุ้นไทยดีดกลับแตะ 1,600 จุด

หลักทรัพย์บัวหลวง ประเมินตลาดหุ้นไทยปี 67 มีโอกาสฟื้นตัวตามตลาดหุ้นทั่วโลก มองเป้าหมายดัชนีแตะ 1,600 จุด รับรัฐบาลเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ, ภาคท่องเที่ยวกลับมา พร้อมลุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนฟื้นตัว แนะกระจายน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ 43%, ทองคำ 12% และหุ้น 45% (หุ้นไทย 7% และหุ้นต่างประเทศ 38%) ตามลำดับ

13 ธ.ค. 2566 – นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงภาพรวมการลงทุนตลอดปี 2566 ที่ผ่านมาว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวแย่กว่าตลาดเอเชีย, ตลาดหุ้นสหรัฐ และตลาดหุ้นยุโรป จากหลายปัจจัยกดดัน เช่น การปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยลงจาก 1. ตัวเลขส่งออกขยายตัวต่ำกว่าคาด 2. จำนวนนักท่องเที่ยวต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากว่าคาด 3. การลงทุนภาครัฐหดตัวจากการเปลี่ยนถ่ายรัฐบาลบริหารประเทศ (ไม่รวมสงครามอิสราเอลและฮามาสที่ไม่คาดคิด) แต่ในช่วงเดือนธ.ค. คาดว่าตลาดทั่วโลกจะฟื้นตัวกลับมาบ้าง หลังเริ่มรับรู้ปัจจัยดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว และคาดหวังจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยในปี 2567 เรามองตลาดหุ้นไทยเดือนสุดท้ายของปีนี้จะขึ้นไม่ได้มากมองระดับ 1,430 จุด โดยเม็ดเงินจากกองทุนรวม TESG ที่จะเข้าซื้อหุ้นในเดือนธ.ค. อาจช่วยเพิ่มสภาพคล่องในตลาดแต่ไม่ได้มากจนมีนัยยะผลักดันดัชนีหุ้นไทย

สำหรับมุมมองตลาดหุ้นไทยปี 2567 ทีมวิจัยหลักทรัพย์บัวหลวง ประเมินว่าน่าจะเห็นการพื้นตัวตลอดทั้งปี
โดยประเมินเป้าหมายดัชนีระดับ 1,600 จุด โดยคาดว่างบประมาณน่าจะผ่านในช่วงต้นปี ฉะนั้นการเบิกจ่ายงบจะกลับเข้าสภาวะปกติ โดยในปี 2566 เป็นปีที่การลงทุนของภาครัฐไม่ต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2567 รัฐจะเริ่มลงทุนในโครงการต่าง ๆ ทำให้การลงทุนของรัฐกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เช่น เส้นทางหลวง และ High Speed Train ฉะนั้นมองตลาดหุ้นในช่วงครึ่งปีแรกจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวดีขึ้น จากความคาดหวังการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีความชัดเจนมากขึ้น, ความกังวลต่ออัตราดอกเบี้ยเริ่มน้อยลง, ความกังวลสถานะการตึงตัวของระบบการเงินที่น้อยลง และกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) อาจเติบโตประมาณ 15% ซึ่งจะใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยอัตราเติบโตกำไรของตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย ส่วนในแง่ Valuation ของตลาดหุ้นไทย ค่า P/E คาดว่าจะซื้อขายระดับ 16.50 เท่า ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย P/E ระยะยาวของไทย (ปัจจุบันคาดการณ์ค่า P/E ปี 2567 เท่ากับ 14 เท่า) เทียบกับปี 2566 ที่อยู่ 16.40 เท่า

ในส่วนการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาในไทย เรามองว่ายังต้องพึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจีนเป็นหัวเรือใหญ่ของเศรษฐกิจเอเชียและอาเซียน หากตัวเลขเศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ดีขึ้น จากมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขาดเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น และการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ต่อจีนน้อยลง ก็จะทำให้เงินไหลเข้าอาเซียนและไทยเพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน แต่หากแนวโน้มเศรษฐกิจจีนยังดูไม่ดีและแย่ลงไปอีก การคาดหวังเม็ดเงินเข้าตลาดหุ้นและตราสารหนี้ไทยเพิ่มมากขึ้นก็จะลำบาก

นายชัยพร กล่าวต่อว่า ตัวเลขเศรษฐกิจปี 2567 คาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 3.8% จากปีนี้ที่คาดไว้ 2.7%
หากโครงการ Digital Wallet เกิดขึ้น แต่ถ้าโครงการนี้ไม่เกิดเศรษฐกิจไทยก็ยังคงเติบโต 3.2% ส่วนตัวเลขส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 3.8% จากปีนี้ที่อาจติดลบ 1.3% ขณะที่การลงทุนภาครัฐและเอกชนทรงตัว หรือน่าจะติดลบเล็กน้อยที่ 0.6% ส่วนภาคท่องเที่ยวจำนวนนักท่องเที่ยวอาจกลับมาอยู่ระดับ 35 ล้านคนต่อปี แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ที่อยู่ 40-41 ล้านคนต่อปี เมื่อเทียบกับปีนี้ที่มีตัวเลขต่ำกว่าเป้าหมายที่ 30 ล้านคนต่อปี ซึ่งต้องรอดูนโยบายการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจากภาครัฐบาลและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลง จากระดับสูงสุดในช่วงกลางปี 2566 โดยคาดว่าปีหน้าอัตราเงินเฟ้อไทยจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากผลกระทบภัยแล้ง แต่คงไม่แรงและกลับไปสร้างปัญหากับนโยบายการเงิน สำหรับค่าเงินบาทในปีนี้มีความผันผวนอีกครั้ง จากต้นปี 34 บาทต่อดอลลาร์ คาดว่าในปี 2567 น่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น มองไว้ที่ 34.30 บาท จาก 2 ปีที่ผ่านมาที่ผันผวนผิดปกติตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย

ปัจจัยที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ทั้งกรณีรัสเซีย และยูเครน รวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งตอนนี้สถานการณ์สงครามใน 2 พื้นที่อยู่ในขอบเขตจำกัด ส่วนราคาน้ำมันตอนนี้
ดีมานด์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยังอ่อนแอเทียบกับกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC และนอก OPEC ที่ยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินที่สามารถรองรับการเติบโตของด้านการบริโภคไปได้ถึงปี 2570 ดังนั้นคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบจะแกว่งในกรอบ 75-85 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการกรอบที่สมดุลระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิต

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในปีหน้า แนะนำกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่าง ๆ อันดับ 1 คือ ตราสารหนี้
สัดส่วน 43% มองเป็นสินทรัพย์ที่ดีที่สุดในครึ่งปีแรก เพราะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยที่จะเห็นการปรับตัวลดลงทั่วโลก แต่ต้องเป็นตราสารหนี้คุณภาพ เพราะแม้จะเห็นแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยลดลง แต่ไม่ได้ลงเร็ว อันดับ 2 คือ ทองคำ สัดส่วน 12% ในขณะที่คนมองเศรษฐกิจกำลังชะลอตัว ดอกเบี้ยลดลงทั่วโลก ทองคำจะช่วยป้องกันความเสี่ยง อันดับ 3 คือ ตราสารทุน หรือหุ้น สัดส่วน 45% (หุ้นไทย 7% และหุ้นต่างประเทศ 38%) แต่ต้องรอดอกเบี้ยลดลงระดับหนึ่งก่อน นักลงทุนจึงจะมีความมั่นใจ ขณะที่หุ้นไทยยังดูดี เพราะปีนี้ลงไปมาก โครงสร้างหุ้นไทยเป็นกลุ่มธุรกิจวัฏจักร กำไรอาจดีดกลับได้หนุนให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นได้หลังตลาดหุ้นอื่นขึ้นไปแล้ว

“ปีหน้ากลุ่มโดดเด่น คือ กลุ่มธนาคาร, การบริโภคภายในประเทศ, ค้าปลีกส่งออกแปรรูป, การท่องเที่ยว,อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตไฟฟ้า ส่วนกลุ่มที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน คือ อสังหาริมทรัพย์, วัสดุก่อสร้าง เนื่องจากกำลังซื้อชะลอจากการคุมสินเชื่อ ”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การเมืองหนุน 'หุ้นไทย' ดีดตัวแรง 23 จุด

หุ้นไทยดีดตัวแรง 23 จุด ปัจจัยการเมืองหนุน ยันสัปดาห์หน้าต้องจับตาประเด็นการเมืองเป็นหลัก เผยข้อมูลตั้งแต่ต้นปีมูลค่าตลาดหายไปกว่า 2 ล้านล้านบาท

คลังมั่นใจดัชนีหุ้นไทยทยอยรีบาวน์ ย้ำรัฐบาลรักษาการพร้อมดูแลเต็มที่

“คลัง” มั่นใจดัชนีตลาดหุ้นไทยทยอยรีบาวน์ หลังวิกฤติปิด 2 แบงก์สหรัฐฯ ทำนักลงทุนตื่นตระหนก หวั่นกระทบตลาดการเงินโลก ย้ำรัฐบาลรักษาการพร้อมดูแลเต็มที่

ทิสโก้ฟันธง SET ทะลุ 1,700 จุดใน 4 เดือน ปัจจัยบวกหนุนเพียบ

บล.ทิสโก้คาดหุ้นไทยในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้าทะลุ 1,700 จุด  จาก 4 ปัจจัยหนุน คือ 1.เศรษฐกิจไทยโตดี ท่องเที่ยวฟื้นตัวแข็งแกร่ง 2.จีนเปิดประเทศเร็วกว่าคาด 3.เลือกตั้งในประเทศช่วงครึ่งปีแรก และ 4.ตลาดหุ้นไทยมักขึ้นช่วงไตรมาส 1 พร้อมเปิดชื่อหุ้นกำไรสวย ปันผลงามน่าช้อนซื้อ   

หุ้นไทยดิ่ง 23.76 จุด ซื้อขายสะพัดแสนลบ.กังวลยอดโควิด-19 พุ่ง

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการลงทุนตลาดหุ้นไทย เมื่อวันที่ 6 ม.ค.65 ค่อนข้างผันผวนในแดนลบ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายในประเทศ