'นักไวรัสวิทยา' เผย 'ผู้ป่วยฝีดาษลิง' หลายคนอาจจะไม่รู้ความเสี่ยงของตัวเองที่จะแพร่เชื้อให้คนรอบข้างได้

'ดร.อนันต์'เผยผู้ป่วยฝีดาษลิง หลายคนอาจจะไม่รู้ความเสี่ยงของตัวเองที่จะแพร่เชื้อให้คนรอบข้างได้ เนื่องจากร่างกายไม่ได้เตือนอะไรให้ทราบล่วงหน้าก่อน

5ส.ค.2565-ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กว่า

ข้อมูลล่าสุดจากผู้ป่วยฝีดาษลิงในยุโรปที่รายงานไปที่ ECDC-WHO Regional Office ระบุว่า ในจำนวผู้ป่วยฝีดาษลิงทั้งสิ้น 9626 คน สามารถแบ่งตามกลุ่มอาการ แบบมีอาการนำ กับ อาการตุ่มบนผิวหนังได้ ดังนี้

1. 110 คน หรือ 1.1% เป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการอะไรเลย ทั้งอาการนำ และ อาการทางผิวหนัง แต่สามารถตรวจพบไวรัสได้ในตัวอย่างที่เก็บจากผู้ป่วย เรียกว่า Asymptomatic case ซึ่งจะแตกต่างจากกลุ่มที่อยู่ในระยะฟักตัว ซึ่งไม่มีอาการและยังตรวจไวรัสไม่พบ ซึ่งถ้าระยะฟักตัวเกิน 21 วัน ไม่แสดงอาการใดๆ แต่ตรวจผลออกมาเป็นบวก กลุ่มนี้ถึงจะจัดเป็น asymptomatic

2. 390 คน หรือ 4.1% เป็นกลุ่มที่มีอาการนำ เช่น ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย หนาวสั่น แต่ไม่มีอาการตุ่มขึ้นตามผิวหนัง หรือ ขึ้นน้อยมาก กลุ่มนี้จะสามารถแพร่เชื้อได้ผ่านช่องทางละอองฝอย หรือ น้ำลายได้มากกว่าการสัมผัส ยังไม่แน่ชัดว่า กลุ่มนี้จะมีไวรัสในร่างกายนานเท่าไหร่ จะหายไปพร้อมกับอาการหรือไม่

3. 3216 คน หรือ 33.4% เป็นกลุ่มที่มีผื่นและตุ่มหนองขึ้นแบบที่ไม่มีอาการนำที่ชัดเจน ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวมาก่อนว่าตัวเองเป็นฝีดาษลิงแล้วจนกว่าตุ่มหนองจะปรากฏชัด และ เนื่องจากอาการนำมีน้อย โอกาสที่กลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้จะมีกิจกรรมต่างๆที่เสี่ยงต่อการสัมผัสตุ่มแผล หรือ การแพร่กระจายจะมีสูง

4. 6910 คน หรือ 61.4% เป็นผู้ป่วยที่มีอาการตามตำรา คือ มีอาการนำมาก่อน และ ตามด้วยอาการทางผิวหนัง ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ป่วยส่วนใหญ่ แต่ก็ถือว่าค่อนข้างน้อย เมื่อมองว่าเกือบ 40% เป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการตามที่เคยทราบกันมา

ข้อมูลนี้ทำให้พอเห็นภาพว่า ผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงหลายคนอาจจะไม่รู้ความเสี่ยงของตัวเองที่จะแพร่เชื้อให้คนรอบข้างได้ เนื่องจากร่างกายไม่ได้เตือนอะไรให้ทราบล่วงหน้าก่อน การเข้าใจกลไกการเกิดโรคในบริบทปัจจุบันจะสำคัญมาก เพราะถ้าอิงตามตำราที่ไม่ update เราอาจตามการเปลี่ยนแปลงของโรคนี้ไม่ทัน
https://monkeypoxreport.ecdc.europa.eu/

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อึ้ง! นักไวรัสวิทยายกผลงานวิจัยไอร์แลนด์ชี้ 'อัลไซเมอร์' อาจเกิดจากจุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค)

งานวิจัยแดนปลาดิบชี้สารใน 'ชาเขียว-ดำ' ช่วยยับยั้งโอมิครอนได้ดี!

ข่าวดีเล็กๆ นักไวรัสวิทยาเผยมีการวิจัยสัญชาติปลาดิบเพิ่งตีพิมพ์ สารที่อยู่ในชาเขียวและชาดำช่วยยับยั้งไวรัสโอมิครอนได้ดี ลองผลิตเป็นลูกอมทดสอบแล้วแต่ใช้ได้แค่ 15 ปีเมื่อหมดก็สิ้นฤทธิ์