'สุเทพ 'ชงตั้งสภาการศึกษาจังหวัด ทำแผนการศึกษาแต่ละจังหวัดตามบริบทพื้นที่

10 พ.ย. ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า สิ่งที่ตนจะเร่งขับเคลื่อนงานของ สกศ.ในขณะนี้มีหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่งานรูทีนที่เป็นงานประจำที่ต้องทำร่วมกันอยู่แล้ว อาทิ การขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษา 14 ฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ.การศึกษาชาติ พ.ศ… หากผ่านความเห็นชอบและมีการบังคับใช้จะต้องมีการจัดทำกฎหมายลูกอีกกว่า 10 ฉบับเพื่อรองรับ ขณะเดียวกันก็มีงานที่เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่สำนักต่าง ๆ ใน สกศ.ได้จัดทำเอาไว้ รวมถึงเดินหน้าการจัดการศึกษาปฐมวัย และกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องที่ตนกำหนดเป็นกรอบในการทำงานเชิงรุกในปีงบประมาณ 2566 มี 2 เรื่อง เรื่องแรก ตนเห็นว่าต่อไป สกศ.จะต้องไม่ตัดเสื้อโหลให้สถานศึกษาทุกแห่งสวมใส่เหมือนกันทั้งหมด เนื่องจากสถานศึกษาแต่ละแห่งแต่ละอำเภอและแต่ละจังหวัดต่างก็มีความหลากหลายและมีบริบทที่แตกต่างกัน ดังนั้นแผนการศึกษาจึงไม่ควรเหมารวมจัดทำแผนการศึกษาแผนใหญ่เพียงแผนเดียวแล้วใช้เหมือนกันหมด โดยตนเตรียมการที่จะผลักดันให้แต่ละจังหวัดมีสภาการศึกษาจังหวัดขึ้นเพื่อจัดทำแผนการจัดการศึกษาจังหวัดของตัวเอง ซึ่งสภาการศึกษาจังหวัดที่จะเกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่เป็นการตั้งหน่วยงานใหม่ แต่จะเป็นการบูรณาการการทำงานไว้ในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) โดยจะมีการเสนอเรื่องนี้ให้ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษาได้พิจารณาในวันที่ 14 พ.ย.นี้ หากผ่านความเห็นชอบก็จะเสนอ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคเพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)
โดยการเพิ่มคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาจังหวัดเพื่อทำหน้าที่ ในการจัดทำร่างแผนการศึกษาจังหวัดในทุกช่วงวัยตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา เบื้องต้นได้กำหนดโครงสร้างให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ มีหอการค้าจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ภายในจังหวัด เป็นต้น ร่วมเป็นกรรมการ และมี ศธจ.เป็นเลขานุการฯ เมื่อได้ร่างแผนฯแล้วก็เสนอให้ กศจ.ได้พิจารณากำหนดเป็นแผนการศึกษาจังหวัด และให้สถานศึกษาภายในจังหวัดได้กำหนดเป็นแผนผลิตกำลังคนที่สอดคล้องตามแผนดังกล่าวต่อไป

“ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีแผนการจัดการศึกษาของจังหวัดมาก่อน อาจจะเคยมีการจัดทำบ้างในรูปของสมัชชาการศึกษาในบางจังหวัดแต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ จึงทำให้การขับเคลื่อนไม่บังเกิดผลเป็นรูปธรรม แต่หลังจากนี้สภาการศึกษาจะผลักดันให้เห็นผล โดยแผนการจัดการศึกษาของแต่ละพื้นที่อาจจะมีความแตกต่างกันตามบริบท เช่น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อาจจะเป็นแผนการจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคง ขณะที่ภาคกลางและตะวันออก อาจจะกำหนดเป็นแผนการจัดการศึกษาเพื่อการแข่งขัน ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแผนการจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นต้น ในขณะที่ ศธจ.เองเมื่อถูกลดบทบาทในเรื่องการบริหารงานบุคคลลงก็จะได้เข้ามาดูแลงานด้านวิชาการได้มากขึ้น ทั้งนี้ผมได้รายงานเรื่องนี้ให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ทราบแล้ว ท่านเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี และให้เสนอเข้าบอร์ด ศธจ.ในวันที่ 14 พ.ย.นี้” ดร.สุเทพ กล่าว.

เพิ่มเพื่อน