1 ปี 'หมิงตี้' ปมสารเคมีตกค้าง-ฝ่าฝืน กม.!!

นับเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันสำหรับกรณีไฟไหม้โรงงานหมิงตี้เคมิคอล ซอยกิ่งแก้ว 21 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทราปราการ  ช่วงเช้ามืดวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ทำให้มีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก  แรงระเบิดภายในโรงงานส่งผลให้บ้านเรือนได้รับความเสียหายวงกว้าง ถือเป็นเหตุการณ์อุบัติภัยสารเคมีครั้งประวัติศาสตร์ของบ้านเรา 

ถึงตอนนี้ผ่านมา 1 ปีเต็ม ในวันที่โรงงานผลิตและแปรรูปพลาสติกยังถูกปิด ชาวบ้านกลับมาอยู่อาศัยได้เหมือนเคย แต่หลายคนยังไม่ลืมเลือนความน่าสะพรึงกลัวของเหตุการณ์ครั้งนั้น จนถึงปัจจุบันยังคงเหลือสารเคมีตกค้างในพื้นที่ คดีความยังไม่จบ มีการเรียกร้องความรับผิดชอบและเงินเยียวยาจากผู้เกี่ยวข้องตามความจริง และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม  ซึ่งโจทย์ในกรณีนี้ก็คือ บริษัท หมิงตี้ พร้อมเกิดคำถามถึงประสิทธิภาพในการจัดการป้องกันมลพิษอุตสาหกรรม เกรงว่าจะเกิดซ้ำอีก อย่างที่ไทยต้องเผชิญมาเป็นระยะ

เพราะหากย้อนสถิติอุบัติภัยจากสารเคมีรั่วไหล เหตุระเบิด เพลิงไหม้จากสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตราย ซึ่งเก็บรวบรวมโดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ตั้งแต่ปี 2560-2565  เกิดเหตุมากถึง 203 ครั้ง  ส่วนใหญ่เป็นเพลิงไหม้โรงงานอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปพลาสติก  โกดังเก็บสารเคมี โรงงานรีไซเคิล ร้านรับซื้อของเก่าไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง

บทเรียนหมิงตี้ต้องจดจำและปิดจุดอ่อนในการจัดการมลพิษอุตสาหกรรม  เหตุนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.)  ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) มูลนิธิบูรณะนิเวศ และสมาคมนักผังเมืองไทย เปิดเวทีเสวนา “ครบรอบ 1 ปี หมิงตี้เคมิคอล : หลังเพลิงสงบ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน” แลกเปลี่ยนความคิดเห็นหาทางป้องกันวิกฤตสารเคมีรั่วไหล

ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่าสืบเนื่องจาก กสม. ได้ลงพื้นที่กรณีโรงงานหมิงตี้ฯ ระเบิดและเพลิงไหม้ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน นำมาสู่การตรวจสอบกรณีดังกล่าว ผ่านมาหนึ่งปี ข้อมูล ณ วันที่ 6 มิ.ย.65 ยังคงเหลือสารเคมีตกค้างอยู่ในพื้นที่ใต้ซากอาคาร และถังเก็บสารเคมีบางส่วน ยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนการรื้อถอน เคลื่อนย้าย เพื่อป้องกันเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลระหว่างดำเนินการ และการจัดหาบริษัทมากำจัดสารเคมี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับสิทธิชุมชน ได้รับรองสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดี และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งภาคเอกชนต้องทำตามแนวทางธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

“ จากการตรวจสอบกระบวนการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน พบว่า หมิงตี้ฯ ได้ขยายโรงงานครั้งที่ 1 ปี 2544 ครั้งที่ 2 ปี 2562 โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเคร่งครัด  เพิ่มกำลังแรงม้าเครื่องจักร  เพิ่มกำลังผลิตรวมเป็น 36,000 ตันต่อปี เพิ่มขึ้นจากครั้งแรกถึง 15 เท่า  เพิ่มวัตถุดิบ ขยายพื้นที่สร้างอาคารจัดเก็บสารเคมีอันตรายและติดไฟ เพิ่มอันตรายจากการทำโรงงาน เมื่อเกิดเหตุระเบิดจึงสร้างความเสียหายและกระทบสุขภาพเป็นวงกว้าง กสม.เห็นว่า กรณีนี้ฝ่าฝืนกฎหมายผังเมืองที่มีเจตนารมณ์คุ้มครองสุขลักษณะ ความปลอดภัยของประชาชน  เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งกรมโยธาและกรมโรงงานต้องตรวจสอบ  “ ศยามล กล่าว

ประเด็นการช่วยเหลือและเยียวยาจากเหตุการณ์หมิงตี้ฯ  ศยามล กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุ ปภ.จัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คพ.ทำแผนปฏิบัติบัติการฉุกเฉินจากสารเคมีและวัตถุอันตราย เพื่อสนับสนน แต่ตรวจสอบพบว่า มีการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่เก็บสารเคมี และฐานข้อมูลตาม พรบ.วัตถุอันตราย  แต่อปท. และสาธารณชนไม่รับทราบ  ทำให้การทำงานบรรเทาสาธารณภัยขาดข้อมูล ประเมินความเสี่ยง ส่งผลระงับเหตุล่าช้า

การตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้น วันที่ 6 ก.ค. 64 คพ.พบฟอร์มัลดีไฮด์สูงกว่าค่าปลอดภัยในพื้นที่โรงงาน  วันที่ 7-8 ก.ค.64 พบสไตรีนโมโนเมอร์เกินค่าความปลอดภัย มีการรวบรวมพยานหลักฐานและประเมินค่าใช้จ่ายในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ส่วนหน่วยงานสาธาณสุขเฝ้าระวังและคัดกรองสุขภาพประชาชน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ติดตามสุขภาพในระยะ 1 เดือน  6 เดือน และ 1 ปี หลังเกิดเหตุ

“ แม้โรงงานหมิงตี้ฯ จะได้ใช้ประโยชน์ที่ดินก่อนจะมีกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมือง  แต่ข้อเท็จจริงผังเมืองและการควบคุมอาคารในพื้นที่ยังไม่ได้พิจารณามาตรการป้องกันผลกระทบจากโรงงานเท่าที่ควร  ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ มีโรงงานที่เสี่ยงอันตรายจากการประกอบกิจการโรงงานหรือครอบครองวัตถุอันตรายถึง 203 แห่ง หน่วยงานระดับภูมิภาคและท้องถิ่นขาดข้อมูลเหล่านี้ ไม่มีเครื่องมือ อุปกรณ์ และคนในการตรวจสอบมลพิษฉุกเฉินจากอุบัติภัยสารเคมี  นอกจากนี้ จังหวัดสมุทรปราการเป็นเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี 2537  แต่แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ไม่ครอบคลุมกำจัดมลพิษสารเคมีหรือวัตถุอันตราย “ ศยามล กล่าว

เวทีนี้ กสม.เสนอมาตรการที่เหมาะสมป้องกันละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้จังหวัดสมุทรปราการ ติดตามผลการชดเชยและเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายให้ครบถ้วนครอบคลุม ทั้งความเสียหายต่อชีวิตและร่างกาย ทรัพย์สิน สุขภาพอนามัย ให้กรมโรงงานตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเรียกค่าใช้จ่ายที่รัฐเข้าช่วยเหลือ เคลื่อนย้าย บำบัด หรือขจัดความเสียหายที่เกิดจากวัตถุอันตรายตามกฎหมายสัตถุอันตราย  ให้ คพ. เรียกค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมทั้งติดตามตรวจสอบสารเคมีตกค้างในพื้นที่โรงงานและพื้นที่ใกล้เคียงจนกว่าจะแล้วเสร็จต่อไป

ส่วนข้อเสนอในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการ และ อบจ.สมุทรปราการ ทบทวนผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรปราการ หากพบว่าโรงงานใดใช้ประโยชน์ที่ดินผิดประเภทอาจกระทบต่อสุขลักษณะประชาชน สวัสดิภาพสังคม ให้พิจารณาระงับการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือกำหนดมาตรการการใช้ประโยชน์ที่ดินเข้มงวด

รวมถึงให้ตรวจสอบโรงงานทั่วประเทศที่ได้ขยายโรงงานในที่ดิน ซึ่งใช้ประโยชน์ก่อนมีการบังคับใช้กม.ผังเมืองรวม เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงเกิดอุบัติภัย หากเสี่ยงน้อยให้กำหนดมาตรการความปลอดภัยหรือแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสม หากมีการใช้ที่ดินผิดไปจากกม.ผังเมือง  ให้นำมาตรการตาม กม.ผังเมืองมาปรับใช้ตามหลักเกณฑ์ รวมถึงปรับปรุงระเบียบกฎหมายการขยายโรงงาน  รวมทั้งให้มีการจัดตั้งกองทุนโดยให้ผู้ประกอบการนำส่งเงินในสัดส่วนที่เหมาะสม อีกทั้งเสนอให้ปรับปรุงแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละท้องที่ เพิ่มมาตรการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากการประกอบกิจการ ส่วนกระทรวงทรัพย์ผลักดันให้มีกฎหมายเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยสารเคมี

ครบ 1 ปี หมิงตี้ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า บทเรียนจากหมิงตี้โมเดลต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย แต่ผ่านมา 1 ปี เรายังไม่เห็นการจัดทำผังเมืองและบังคับใช้กฎหมายผังเมืองที่คุ้มครองสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ยังไม่เห็นมาตรการรับมือภัยพิบัติจากอุตสาหกรรมสารเคมี  เราไม่เห็นการติดตามเฝ้าระวังด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพิษภัยแฝงเร้นและภัยเรื้อรัง กรณีหมิงตี้พบฟอร์มัลดีไฮด์ฟุ้งกระจาย ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง

“ การชดเชยเยียวยาผู้เสียหาย ประเทศไทยควรมีกฎหมายชัดเจน ถ้าต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อไป   รวมถึงออกกฎหมาย PRTR ว่าด้วยการรายงานและเปิดเผยข้อมูลปล่อยมลพิษและการเคลื่อนย้ายสารอันตราย เพราะจากการสำรวจประเภทโรงงานที่ใช้สารเคมีใกล้เคียงกับโรงงานหมิงตี้กระจายตัวใน กทม. มากถึง 969 โรง นครปฐมมี 389 โรง นนทบุรี 104 โรง ปทุมธานี 268 โรง สมุทรสาคร 1,000 กว่าโรง เรามีระเบิดเวลาใกล้ตัวตลอดเวลา  “เพ็ญโฉมย้ำต้องเร่งป้องกัน

ด้าน ธีรพร วิริวุฒิกร นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ คพ. เสนอแนะผ่านเวทีนี้ว่า การป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติภัยสารเคมีซ้ำอีก ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผู้ประกอบการโรงงานกำหนดวิธีปฏิบัติงานสำหรับกิจกรรมและพื้นที่ใช้สารเคมี แจ้งรายชื่อสารเคมี ปริมาณ แผนผังแสดงจุดเก็บ ครอบครอง และผลิต แจ้งรายชื่อสารเคมี ปริมาณและแผนผังจุดเก็บ  หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลให้ตรวจสอบโรงงานสม่ำเสมอ  บังคับใช้กฎหมายเข้มงวด สร้างความตระหนักรู้ชุมชนรอบโรงงานเรื่องอันตรายจากสารเคมีในโรงงาน หน่วยงานสนับสนุนจัดทำแผนปฏิบัติการตอบโต้ฉุกเฉินมลพิษสารเคมี ที่สำคัญประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบโรงงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ออมสุขภาพ” รับวัยเกษียณ เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย

สังคมไทยเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ขณะนี้มีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12 ล้านคน จากจำนวนคนไทย 66 ล้านคน และในอนาคตคืออีก 60 ปีข้างหน้า

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ

ไขคำตอบ..ออกกำลังกายเป็นนิจ ตัวช่วยอายุยืนยาวห่างไกล NCDs

อุบัติการณ์โรคในยุคนี้ปรากฏว่า "โรคไม่ติดต่อ (NCDs)" กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คิดเป็น 75% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด หรือเกือบ 4 แสนคนต่อปี

เปิดผลสำรวจวัยโจ๋ ขีดเส้นสนามกีฬาฟุตซอล ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน

เครือข่ายงดเหล้า และสสส. ส่งเสริมกีฬาเยาวชนจัดฟุตซอล No-L ชิงถ้วยพระราชทานฯ รร. ราชวินิต มัธยม คว้าแชมป์ไปครองสมัยที่ 2 ด้วยสกอร์ 6:0 ในขณะที่ผลสำรวจร้อยละ 90 ต้องการให้สนามแข่งไม่ดื่ม ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน และร้อยละ 84.8 คิดว่ากีฬาฟุตซอลทำให้เยาวชนเห็นคุณค่าของตัวเอง