เปิดเส้นทางค้นพบครั้งสำคัญ‘ม่วงราชสิริน-ซ่อนแก้ว’

เป็นการค้นพบครั้งใหญ่ของไทยในปีนี้ ทีมนักพฤกษศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์ถั่วของไทยตีพิมพ์ผลการค้นพบ “ม่วงราชสิริน” (Millettia sirindhorniana Mattapha, Thanant., Kaewmuan & Suddee) และ “ซ่อนแก้ว” (Millettia tomentosa Mattapha & Tetsana) ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 50 พ.ศ. 2565 โดยระบุว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ซึ่งทั้ง 2 ชนิดอยู่ในสกุลเดียวกัน คือ สกุลกระพี้จั่น (Millettia) จากประเทศไทย

 ในประเทศไทยมีการค้นพบสปีชีส์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่หายาก เสี่ยงสูญพันธุ์ ตอกย้ำความสำคัญการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สำหรับ ”ม่วงราชสิริน” ค้นพบครั้งแรกระหว่างการสำรวจความหลากหลายของพรรณพืชบริเวณพื้นที่อุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี นำโดย นายสมราน สุดดี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอนุกรมวิธานพืช  นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง และนางสาวอนุสรา แก้วเหมือน นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ หน่วยงานกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ค้นพบ’ม่วงราชสิริน’ สปีชีส์ใหม่  

ขณะที่”ซ่อนแก้ว” ค้นพบซ่อนตัวอยู่บริเวณวัดผาซ่อนแก้ว จ.เพชรบูรณ์  และบริเวณน้ำตกขุนกรณ์และอุทยานแห่งชาติขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ทีมผู้วิจัยยืนยันว่า 2 ชนิดเป็นสปีชีส์ใหม่ หลังเปรียบเทียบตรวจสอบชนิดที่มีการรายงานในภูมิภาคเอเชียและตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งยังไม่มีการให้ชื่อพฤกษศาสตร์ นอกจากนี้ ทีมผู้วิจัยยังเก็บตัวอย่างที่สมบูรณ์ ได้ โดยเฉพาะ”ซ่อนแก้ว” ใช้เวลาติดตามวงจรชีวิตของพวกมันเป็นเวลานานถึง 8 ปี   

นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง นักพฤกษศาสตร์ป่าไม้ บอกว่า ม่วงราชสิริน พืชชนิดใหม่นี้ถูกค้นพบบริเวณอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ จ.ราชบุรี ซึ่งได้พบไม้เถาเนื้อแข็งไม่ทราบชนิด มีเฉพาะผลจึงได้ติดตามเก็บตัวอย่างและปีต่อมาได้ตัวอย่างดอก ได้ตรวจสอบตัวอย่าง พบเพิ่มเติมบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จากการศึกษาอย่างละเอียดพบว่า เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลกระพี้จั่น วงศ์ถั่ว (Fabaceae)  จึงได้ร่วมเขียนตีพิมพ์  พืชชนิดใหม่นี้มีชื่อไทยซึ่งเป็นนามพระราชทานว่า “ม่วงราชสิริน” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

บรรยากาศการสำรวจและเก็บตัวอย่างพรรณไม้ในพื้นที่

นายธีรวัฒน์ เล่าว่า ทรงติดตามการดำเนินงานของโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาฯ  สวนผึ้ง ต้นปี 2562  และได้มีพระกระแสรับสั่งต่อนายสมราน สุดดี  ให้ดำเนินการสำรวจชนิดพรรณไม้ในโครงการเพิ่มเติมอีก 3 ลุ่มน้ำ  จากเดิมที่สำรวจไปแล้ว 1 ลุ่มน้ำ  นำมาสู่การศึกษาพรรณไม้ที่กระจายในพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไทย

ก่อนหน้านี้ มีการสำรวจลุ่มน้ำแรก “ห้วยน้ำใส” หรือเขากระโจม ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับกรมอุทยานฯ สำรวจพบพืชชนิดใหม่ของโลกในอุทยานดังกล่าว ภายหลังชื่อว่า “ชมพูราชสิริน” ตามลักษณะสีของดอก

“ การสำรวจยังมีต่อเนื่องปี 64 โฟกัสพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยคอกหมู เช้าวันหนึ่งค้นพบดอกของพืชที่ติดตามมากว่า 1 ปี จึงเก็บตัวอย่างต้นแบบไปตรวจสอบอย่างละเอียด พร้อมทั้งส่งภาพดอกไปให้ ผศ. ดร.สไว มัฐผา ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เปรียบเทียบตรวจสอบ ผลปรากฎว่า เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ช่วงบ่ายฝนตกหนักช่อดอกร่วงหมด โชคดีได้เก็บตัวอย่างไปแล้ว  ไม่อย่างนั้นต้องหาประชากรใหม่ ส่วนนามพระราชทาน “ม่วงราชสิริน” ล้อตามลุ่มน้ำแรกที่พบ”ชมพูราชสิริน” “  นักพฤกศาสตร์เผยถึงความสำเร็จ

ทีมนักพฤกษศาสตร์ป่าไม้ อช.สำรวจอุทยานธรรมชาติวิทยาฯ  อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี 

การสำรวจพรรณไม้ในพื้นที่อุทยานธรรมชาติวิทยาฯ ตามพระราชปณิธานของกรมสมเด็จพระเทพฯ ยังเดินหน้าต่อไป นายธีรวัฒน์ อธิบายอีก 2 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วยลุ่มน้ำห้วยผากบริเวณน้ำตกเก้าโจน และลุ่มน้ำตะโกปิดทอง ซึ่งปี 2565 นี้ จะเร่งสำรวจลุ่มน้ำตะโกปิดทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนบนของอุทยานธรรมชาติฯ  แต่ละพื้นที่มีความพิเศษเฉพาะตัว ต้องเดินสำรวจและศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ทิ้งลุ่มน้ำอื่นๆ จะสำรวจพื้นที่ตกหล่นด้วย ซึ่งผลการสำรวจทุกลุ่มน้ำจะรวบรวมจัดทำหนังสือบัญชีรายพืชพันธุ์ต่อไป ขณะนี้นอกจากสปีชีส์ใหม่ พบพรรณไม้กว่า 700 ชนิดในพื้นที่นี้

“ เป้าหมายทีมทำงานสำรวจความหลากหลายของพันธุ์พืชในระบบนิเวศของพื้นที่  พืชมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ นำชนิดที่ค้นพบมาสื่อความหมายให้คุณค่าและสามารถใช้ประโยชน์อย่างไร ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพนี้สามารถนำมาต่อยอดเพื่อวางแผนอนุรักษ์พันธุกรรม หรือนำชนิดพันธุ์ลงมาปลูกด้านล่างเพื่อรักษาพันธุ์พืชไม่ให้เสี่ยงสูญพันธุ์ ตลอดจนต่อยอดส่งเสริมเป็นไม้ประดับเศรษฐกิจ  สำหรับ”ม่วงราชสิริน” ในพื้นที่อุทยานธรรมชาติฯ ซึ่งมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ สามารถใช้สปีชีส์ใหม่ที่ค้นพบเป็นแรงจูงใจในการเรียนรู้พรรณไม้มีคุณค่า สร้างความหวงแหนนำมาสู่ความร่วมมือในการอนุรักษ์ต่อไป “ นายธีรวัฒน์ กล่าว

พรรณไม้ชนิดใหม่โลกขึ้นตามธรรมชาติ มีปัจจัยเสี่ยง นักฤกษศาสตร์กล่าวด้วยว่า สวนผึ้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของราชบุรี มีทั้งกิจกรรมแอดเวนเจอร์ เดินป่า ปีนเขา แคมปิ้ง จนกระทั่งออฟโรด  ทรัพยากรในพื้นที่นำมาใช้รองรับกิจกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อยากให้ท้องถิ่น ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยวตระหนักถึงการมีอยู่และดำรงอยู่ของพืชหนึ่งเดียวในโลก พืชหายาก เพราะม่วงราชสิรินเป็นพันธุ์ไม้อัตลักษณ์ของภาคตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนข้อเสียกลุ่มผู้ไม่หวังดีอาจลักลอบค้าพืชป่า ดอกไม้ป่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องทำงานเฝ้าระวังป้องกันเข้มข้นขึ้น น่าเป็นห่วงเพราะอุทยานธรรมชาติฯ ไม่ใช่เขตอนุรักษ์ แต่เป็นพื้นที่ราชพัสดุ  

’ซ่อนแก้ว’ พืชชนิดใหม่โลก  

ส่วน”ซ่อนแก้ว” พืชชนิดใหม่ที่ค้นพบเป็นครั้งแรกในวงการพรรณไม้โลก ผศ. ดร.สไว มัฐผา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มรภ.อุดรธานี ซึ่งร่วมตีพิมพ์พืชชนิดใหม่โลกทั้งม่วงราชสิรินและซ่อนแก้ว บอกว่า พบพืชชนิดนี้ครั้งแรกเป็นตัวอย่างเพียงแค่ฝัก ต่อมาได้ตามเก็บตัวอย่างดอกเพื่อยืนยันชนิดที่ถูกต้องโดยใช้เวลา 8 ปี ในที่สุดได้ตัวอย่างที่สมบูรณ์ ทั้งใบ ฝัก ดอก ผล และเมล็ด นำมาซึ่งการตรวจสอบ ยืนยันให้ถูกต้อง และตั้งชื่อพฤกษศาสตร์ ชื่อไทย “ซ่อนแก้ว” ตั้งตามชื่อแหล่งเก็บตัวอย่างต้นแบบที่วัดผาซ่อนแก้ว 

“  ตามดอกซ่อนแก้วมา 8 ปี บางปีออกดอก บางปีไม่ออก หรือออกดอกแต่ตัวอย่างไม่สมบูรณ์พอ กลับไปดูน้ำตกขุนกรณ์หลายครั้งก็ไม่ได้ดอก  มาพบดอกโดยบังเอิญบริเวณวัดผาซ่อนแก้ว ด้วยเป็นพืชสกุลกระพี้จั่นมีความซ้ำซ้อนก้ำกึ่งกับพืชสกุลอื่นๆ จึงมีความยากในการศึกษา  ต้องใช้ตัวอย่างที่สมบูรณ์ถึงจะยืนยันสปีชีส์ใหม่ได้ ประเทศไทยนับว่าพืชสกุลกระพี้จั่นมีความหลากหลายชนิดมากที่สุดในโลก ปัจจุบันไทยมี 32 ชนิด  และค้นพบจำนวนชนิดใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ “ผศ.ดร.สไว เล่าให้ฟัง

หลังจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้เตรียมศึกษาต่อยอดจัดจำแนกพืชสกุลนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยใช้ข้อมูลทางด้านชีวโมโลกุลระดับดีเอ็นเอ มาจัดทำองค์ความรู้พรรณไม้ด้านวิทยาศาสตร์  อย่างไรก็ตาม นักพฤกศาสตร์เคมีสามารถศึกษาต่อยอดจากสิ่งที่ค้นพบ นอกจากนี้สามารถต่อยอดเพื่อการศึกษาและอนุรักษ์ระบบนิเวศทางธรรมชาติผ่านการประสานสวนพฤกศาสตร์ที่กระจายในพื้นที่ต่างๆ นำไปเลี้ยงอย่างถูกต้อง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ รวมถึงการต่อยอดส่งเสริมให้เป็นไม้ประดับ เพราะพืชกระพี้จั่นปลูกให้ร่มเงาได้ เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

 บันทึกลักษณะทางพฤกษศาสตร์

การค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกจำเป็นต้องสร้างนักพฤกษศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้ให้เพิ่มขึ้นในประเทศ ผศ.ดร.สไว บอกว่า ปัจจุบันต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนผู้สมัครเข้าเรียนด้านพฤกษศาสตร์ รวมถึงสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ไม่มีหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอกด้านนี้ เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะไทยมีความโดดเด่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัส “การรักธรรมชาติ คือ การรักชาติรักแผ่นดิน “ ล่าสุด ทรงเสด็จฯ เปิดการประชุมวิชาการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย ครั้งที่ 18 ณ สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ ทรงเน้นการรวบรวมข้อมูลด้านอนุกรมวิธานพืชในการใช้บริหารจัดการทรัพยากรความหลากหลายพืชของประเทศให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศอย่างยั่งยืนและวางแผนอนุรักษ์ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษาต่างๆ รวมถึงประชาชนต้องร่วมกันรักษาพันธุกรรมของพืช  ตลอดจนไม่ทำลายทรัพยากรให้ลดลง ลดการปลูกพืขเชิงเดี่ยว หยุดลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ที่ส่งผลกระทบต่อการสูญพันธุ์ได้ในอนาคต

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร้อนยาวถึงพฤษภาคม ภาคเหนือระอุสุดในประเทศ

เข้าเมษายนคนไทยเผชิญกับสภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัดทั่วประเทศไทย ขณะที่จังหวัดในภาคเหนือของไทยระอุที่สุด จ.ตาก วัดได้เกือบ 44 องศาเซลเซียส  อีก 2 เดือนกว่าจะพ้นหน้าร้อน กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ร้อนปีนี้ลากยาวถึงเดือนพฤษภาคม นักวิชาการกรมอุตุนิยมวิทยาที่จับตาสภาพอากาศ

'สนธิสัญญาพลาสติกโลก' ไทยลงเหวมลพิษพลาสติก

ระหว่างที่ร่างสนธิสัญญาแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก ซึ่งสมาชิก 175 ประเทศลงนามร่วมกันให้จัดทำมาตรการทางกฎหมายเพื่อเป็นแนวทางการจัดการพลาสติกที่ครอบคลุมและตลอดวงจรชีวิตพลาสติก ลดการผลิตพลาสติก  เลิกผลิต เลิกใช้ ควบคุม พลาสติกบางประเภท และการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR)

ครั้งแรกพบไวรัส2สายพันธุ์ในสตรอว์เบอร์รี 80 ป้องกันแพร่ระบาด ยกระดับผลผลิตคุณภาพ

นับเป็นการค้นพบครั้งแรกในประเทศไทย คณะนักวิจัย บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ค้นพบเชื้อไวรัส strawberry latent ringspot virus (SLRSV) และ strawberry crinkle virus (SCV) ในสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 สาเหตุการเกิดโรคใบจุดและใบย่นในพื้นที่เพาะปลูก

ปี 2566 ไทยมีคุณภาพอากาศแย่ติด 1 ใน 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 ของ IQAir ระบุว่าประเทศไทยมีคุณภาพอากาศในระดับที่แย่เป็นอันดับที่ 5 จากทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวัน