จับตาแก้ปัญหา'รถเมล์ไทย' ทุกข์คนกรุง

ทุกวันนี้ประชาชนเดือดร้อนจากการใช้บริการรถเมล์ไทย ป้ายรถประจำทางตามจุดศูนย์กลางการเดินทางและป้ายรถเมล์ย่านสำคัญ มีคนมายืนออเป็นกลุ่ม ใช้เวลารอรถเมล์นานเป็นชั่วโมง เพราะรถขาดระยะจากการจราจรที่ติดขัดและรถเมล์หลายสายลดจำนวนเที่ยววิ่งลง เหตุไม่สามารถแบกต้นทุนค่าน้ำมันและค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงขึ้น

เมื่อรถเมล์ที่รอมาถึง บางคันรถแน่น แต่หลายคนจำใจยอมเบียดเสียดขึ้นไปบนรถโดยสารสาธารณะที่รอมานานเพื่อจะให้ทันไปทำงานหรือกลับบ้านหลังเลิกงาน

ปัญหารถเมล์ไม่ได้รับการแก้ไข  คนใช้ชีวิตยากลำบาก เกิดการร้องเรียนและโพสต์ในโซเชียลกลายเป็นประเด็นร้อนรถเมล์น้อยและรอนาน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตรวจสอบและแก้ไข เบื้องต้นพบหลายปัญหาที่เป็นสาเหตุ ทั้งรถโดยสารไม่เพียงพอ พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารไม่พอเพียง หรือแผนการบริหารจัดการเดินรถไม่มีความเหมาะสมกับการปล่อยรถในแต่ละช่วงเวลา เป็นต้น

สอดรับกับกรุงเทพโพลล์ โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สํารวจความเห็นประชาชนเรื่อง “ความเดือดร้อนของประชาชนต่อการใช้บริการรถเมล์ไทย” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ใช้บริการรถเมล์ จํานวน 1,151 คน เมื่อวันที่ 17-21 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดจากการใช้บริการรถเมล์ในปัจจุบัน  อันดับ 1 รถขาดระยะ ต้องรอรถนาน ร้อยละ 89  อันดับ 2 รถแน่น/ขึ้นไม่ทัน โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน ร้อยละ 44  อันดับ 3 รถเก่า/ชํารุด/รถสกปรก ร้อยละ 35  อันดับ 4 ช่วงเช้ามืด ตอนคํ่าไม่มีรถเมล์วิ่ง/มีรถน้อย ร้อยละ 30 นอกจากนี้ มีปัญหาสายรถเมล์ที่ใช้ประจํายกเลิกบริการ และค่าโดยสารแพงขึ้น ปล่อยควันดํา เครื่องสแกนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้ไม่ค่อยได้ ฯลฯ

ผลกระทบจากรถเมล์ขาดระยะ ลดเที่ยววิ่ง และยกเลิกสายรถเมล์บางเส้นทาง อันดับ 1 ไปเรียน ไปทํางานสาย  อันดับ 2 ต้องใช้บริการขนส่งทางอื่น เพิ่มภาระค่าใช้จ่าย อันดับ 3 ต้องต่อรถเมล์หลายสายจากเดิมที่นั่งสายเดียวถึง อีกทั้งต้องมาสูดดมมลภาวะริมถนนนานขึ้น เสี่ยงอันตรายเพราะกลับบ้านดึกขึ้น และไม่รู้ว่าสายไหนยกเลิกบ้าง ฯลฯ

ขณะที่นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผอ.ขสมก. ออกมาให้ข้อมูลปัจจุบันรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพมีทั้งหมด 2,885 คัน อายุการใช้งานตั้งแต่ 5 – 25 ปี ขึ้นไป ส่งผลให้มีสภาพชำรุดทรุดโทรม อย่างไรก็ตาม จัดซ่อมบำรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถรองรับการให้บริการกับประชาชน ปัจจุบันสถานการณ์โควิดคลี่คลายประกอบกับนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาล ส่งผลให้ ขสมก. มีผู้โดยสารประมาณ 7 แสนคนต่อวัน ในเที่ยววิ่งประมาณ 19,000 เที่ยวต่อวัน น้อยกว่าก่อนโควิดประมาณ 16% และมากกว่าช่วงสถานการณ์โควิดประมาณ 40%  ซึ่งเป็นปัญหาที่อยู่ระหว่างการแก้ไข ทั้งการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาด การวิเคราะห์อัตรากำลังที่เหมาะสมกับจำนวนรถโดยสารประจำทางที่มีอยู่ รวมถึงเริ่มปรับปรุงแผนการเดินรถในแต่ละช่วงเวลา

ผอ.ขสมก. ระบุด้วยว่า จากการจัดลำดับเส้นทางที่มีเรื่องร้องเรียนเป็นเส้นทางวิกฤตเป็นอันดับต้น พบมี 27 เส้นทาง จาก 107 เส้นทาง ต้องแก้ไขเร่งด่วน โดยเริ่มจากเกลี่ยรถเมล์ในช่วงที่มีผู้โดยสารน้อยในเส้นทางนั้น ๆ ในช่วงสาย – ช่วงบ่าย และนำรถเมล์ไปเพิ่มในช่วงเย็นและช่วงค่ำเพื่อให้การหมุนเวียนรถเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมกับจำนวนผู้ใช้บริการ เส้นทางใดที่มีระยะทางยาวหรือใช้ระยะเวลานานในการหมุนเวียนรถเมล์เพื่อเข้าประจำการรองรับประชาชน จะต้องพิจารณาตัดเสริมหรือตัดช่วงเส้นทางให้รถเมล์สามารถหมุนเวียนกลับประจำการ เพื่อรับส่งประชาชนให้เร็วที่สุด ลดปัญหารถเมล์ขาดระยะได้

ส่วนแนวทางการจัดหารถใหม่ของ ขสมก. ผู้บริหารคนเดิมยันต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ประกอบกับปัจจุบัน ขสมก. อยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนฟื้นฟูตามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มของการขนส่งสาธารณะที่เกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทางของผู้ใช้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งระบบล้อ ราง เรือ

สอบถามความคืบหน้าล่าสุดการแก้ปัญหารถเมล์ขาดระยะ นายศักดิ์สยาม รมว.คมนาคม กล่าวว่า หลังมอบนโยบายไป ขสมก.ได้รายงานว่า ขณะนี้ปัญหาคลี่คลายในทางที่ดี ภาพรวมดีขึ้น แต่บางวันที่ฝนตกจราจรติดขัด ทำให้ผู้ใช้บริการรอรถเมล์นาน ขณะเดียวกัน ขสมก.นำรถเมล์ช่วงสาย ช่วงบ่าย ไปวิ่งเพิ่มในช่วงเย็นและช่วงค่ำที่มีผู้โดยสารมาก เพื่อให้การหมุนเวียนรถเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับจำนวนผู้ใช้บริการ พบการร้องเรียนลดลงจากช่วงก่อนหน้านี้

เสียงสะท้อนจากผู้ใช้รถเมล์ไทย นางสาววัชราภรณ์ สายเป็ง พนักงานบริษัทเอกชน กล่าวว่า ไม่มั่นใจว่า ขสมก. จะแก้ปัญหาได้ภายใน 15 วัน เพราะเป็นปัญหาเรื้อรัง ปกติใช้บริการรถเมล์สาย 515 เส้นทางจากเซ็นทรัลศาลายา – อนุสาวรีย์ชัยฯ เป็นรถยูโรสีส้ม ปรับอากาศ สะดวกสบาย  แต่สภาพรถบางคันเก่าและสกปรกอยากให้ปรับปรุง รวมถึงไม่ควรลดเที่ยวเดินรถในชั่วโมงเร่งด่วนทั้งตอนเช้าและตอนเย็นหลังเลิกงาน  เพราะมีคนใช้บริการรถสาธารณะเป็นจำนวนมากและค่อนข้างแออัดทุกวัน

“ถ้ามีนโยบายจะปรับขึ้นราคา อยากให้เห็นใจคนหาเช้ากินค่ำและยังต้องใช้บริการรถสาธารณะ บางคนไม่ได้ปรับขึ้นค่าแรงหรือเงินเดือนตาม จะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน สิ่งที่อยากฝาก คือ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้สะดวกสบาย มีการเชื่อมต่อการเดินทางในเส้นทางต่างๆ ตลอดจนบริการที่ทันสมัย ควรปรับให้บริการรถประจำทางปรับอากาศทั้งหมด ไม่ควรมีรถเมล์ร้อนแล้ว เพราะสภาพอากาศไทยร้อนมากบวกกับมลพิษทางอากาศ ถ้าทำได้จะกระตุ้นให้คนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ ลดจำนวนรถยนต์บนถนน หวังให้เสียงเล็กๆ นี้เป็นส่วนหนึ่งพัฒนากรุงเทพฯ ให้น่าอยู่ “นางสาววัชราภรณ์ ฝาก

ส่วนผู้ใช้บริการรถเมล์ย่านวิภาวดี กล่าวว่า ปกติใช้รถเมล์ไปทำงานและกลับบ้าน ตอนนี้รถเมล์วิ่งห่างมาก แต่ละวันใช้เวลารอรถเมล์ไม่น้อยกว่า 2 ชม. จากปกติรอแค่ 10-15 นาที รถก็มา ยิ่งช่วงเร่งด่วน นอกจากรถน้อย รถก็แน่น ทำให้บางครั้งต้องเปลี่ยนไปใช้บริการรถแท้กซี่ ไม่อยากไปทำงานสาย แล้วก็กลัวโควิดถ้าเบียดๆ กัน  ทำให้เสียค่ารถเพิ่มขึ้น ตอนนี้ได้รับผลกระทบมาก รถเมล์ให้บริการน้อย  

ด้านสาวออฟฟิศย่านพระราม 9 บอกว่า พบปัญหารถเมล์ไม่พอในช่วงเร่งด่วน อยากเพิ่มเที่ยวรถรอบเช้า(ทางด่วน) ของสาย 515 เพราะช่วงเร่งรีบรถแน่นคนเต็ม กระเป๋ารถเมล์จะให้รอขึ้นคันถัดไป คนก็รอ คันถัดไปก็แน่นอีก จะรอได้สักกี่คัน ไปทำงานหรือไปตามนัดหมายไม่ทัน ส่วนช่วงเย็นใช้เวลารอรถเมล์นานขึ้นจากเดิมเป็นชั่วโมง ไม่เห็นด้วยเรื่องปรับลดเที่ยววิ่ง จะปรับลดเส้นทางไหนควรศึกษาปริมาณการใช้งานแต่ละช่วงเวลามากแค่ไหน รวมถึงต้องดูร่วมกับรถร่วมเอกชนว่าเส้นทางนี้มีรถเพียงพอหรือเปล่า ส่วนการขึ้นค่าโดยสารส่วนตัวไม่กระทบ คิดว่าทุกอย่างมีต้นทุน น้ำมันแพง แต่ปรับให้เหมาะสมไม่ควรเกิน 5 บาท นอกจากแก้ปัญหาเที่ยววิ่งรถเมล์ อยากให้ปรับปรุงเรื่องรถเก่า รถรั่วเวลาฝนตกด้วย

ความเดือดร้อนของประชาชนต่อการใช้บริการรถเมล์ไทยเป็นปัญหาซ้ำซาก  ต้องติดตามว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาหรือลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้สำเร็จหรือไม่

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยกระดับ ‘รถเมล์ไทย’ โจทย์ยาก...ที่เป็นไปได้! กับ งานเสวนาทอล์ก ออฟ เดอะ ที : รถเมล์ไทยต้องดีกว่าเดิม

งานเสวนาทอล์ก ออฟ เดอะ ที ตอน...รถเมล์ไทยต้องดีกว่าเดิม ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 23 เม.ย.67 ที่อาคารสำนักงานไทยโพสต์

'กรุงเทพโพลล์' ชี้คนไทยกล้าเริ่มทำธุรกิจเพิ่มขึ้นจากปี66

กรุงเทพโพลล์ร่วมกับคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความเห็นประชาชนเรื่อง “คนไทยคิดอย่างไรกับโอกาสในการเป็นเจ้าของธุรกิจ

เปิดคำวินิจฉัย ตุลาการศาลรธน.เสียงข้างน้อย ชี้ความเป็นรมต. 'ศักดิ์สยาม' ไม่สิ้นสุดลง

จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 7 ต่อ 1 เสียง ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)

ภูมิใจไทยรอด! 'นักวิชาการ' ชี้เป็นความผิดส่วนบุคคล ส่วนเงินบริจาคไม่ผิดกฎหมาย

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ความเห็นต่อโอกาสยุบพรรคภูมิใจไทย จากความผิดของเลขาธิการพรรคว่า

ซ้ำอีกดอก! 'พี่ศรี' จ่อร้อง กกต.กรณี ซุกหุ้น 'ศักดิ์สยาม-ภูมิใจไทย' ต้องถึงยุบพรรคหรือไม่

นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 7 ต่อ 1 ให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รม