โพลชี้ช่องสางไฟใต้ ลดช่องว่างความสัมพันธ์ 'รัฐ- ประชาชน' ควบคู่เจรจา

21 ส.ค.2565 – ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง ความสงบสุขจังหวัดชายแดนใต้ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และนอกพื้นที่ทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,200ตัวอย่าง แบ่งเป็นประชาชนสามจังหวัดชายแดนใต้ 600 ตัวอย่างและประชาชนทั่วไปนอกพื้นที่ 600 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18 – 20 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ทั้งประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ร้อยละ 90.9 และประชาชนทั่วไปนอกพื้นที่ร้อยละ 91.8 รู้สึกสลดหดหู่ เสียใจ สงสารและ เห็นใจ พี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ด้วยกัน ที่บาดเจ็บและสูญเสียจากการใช้ความรุนแรง  

นอกจากนี้ยังพบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.7 ของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และประชาชนทั่วไปร้อยละ 90.6 ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง สร้างความแตกแยก จากกลุ่มผลประโยชน์ในพื้นที่   ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.4 และประชาชนทั่วไปร้อยละ 89.2 ตำหนิประณาม ขบวนการก่อการร้าย ที่ใช้ความรุนแรง สร้างความกลัว จำกัดเสรีภาพในการใช้ชีวิต ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ร้อยละ 85.6 และประชาชนทั่วไปร้อยละ 87.8 ห่วงผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซ้ำเติมปัญหาปากท้อง ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ร้อยละ 81.7 และประชาชนทั่วไปร้อยละ 82.3 ระบุเป็นขบวนการสมประโยชน์การเมืองท้องถิ่นและการเมืองระหว่างประเทศ ที่ได้ประโยชน์ต่ออำนาจและผลประโยชน์  ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ร้อยละ 72.0 และประชาชนทั่วไปร้อยละ 91.4 สงสาร เห็นใจ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ร้อยละ 64.9 มีสัดส่วนน้อยกว่าประชาชนทั่วไปร้อยละ 86.1 รู้สึกกลัว ไม่ปลอดภัยและถูกจำกัดเสรีภาพในการใช้ชีวิต ทั้งการเดินทาง การติดต่อสื่อสารและการพัฒนาพื้นที่

อย่างไรก็ตาม 5 อันดับสาเหตุความไม่สงบสุขใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ พบมุมมองที่แตกต่างกันระหว่าง ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ร้อยละ 84.7 กับประชาชนทั่วไปร้อยละ 80.2 ระบุเป็น ขบวนการอาชญากรรมค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ ค้าอาวุธ เรียกค่าคุ้มครอง เทียบกับสาเหตุความแตกต่างทางความคิด ขบวนการแบ่งแยกดินแดน พบว่าประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ร้อยละ 47.5 เทียบกับประชาชนทั่วไปร้อยละ 85.1 นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.5 และประชาชนทั่วไปร้อยละ 74.6 ระบุสาเหตุ เป็นเพราะความหละหลวม ล่าช้าในการรับมือเหตุความไม่สงบ ไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้  อันดับถัดมาคือ ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ร้อยละ 71.2 และประชาชนทั่วไปร้อยละ 75.9 ระบุช่องว่าง ความเหินห่าง ไม่วางใจกันระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ ในขณะที่ ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ร้อยละ 50.4 และประชาชนทั่วไปร้อยละ 63.8 ระบุสาเหตุมาจากปัญหาขัดแย้งทางการเมืองและผลประโยชน์ของกลุ่มผู้นำท้องถิ่นที่จำกัดความเจริญในพื้นที่เพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง

ที่น่าพิจารณาคือ แนวทางเสริมสร้างความสงบสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ พบว่า ทั้งประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ร้อยละ 82.9 และประชาชนทั่วไปร้อยละ 84.6 ระบุ ภาครัฐจับกุมคนร้ายผู้ก่ออาชญากรรมนำตัวมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม และประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ร้อยละ 81.8 และประชาชนทั่วไปร้อยละ 82.5 ระบุรวดเร็วฉับไวระงับเหตุ นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ร้อยละ 81.4 และประชาชนทั่วไปร้อยละ 85.7 ระบุ ทำงานเชิงรุก ทุกฝ่ายร่วมมือป้องกันเหตุ

ที่น่าสนใจคือ ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.0 และประชาชนทั่วไปร้อยละ 84.4 ระบุ ทุกภาคส่วนควรใช้กิจกรรมสัมพันธ์ เน้นความหลากหลาย เข้าถึงทุกกลุ่มวัย ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ลดช่องว่างกระชับความสัมพันธ์ รัฐ ประชาชน และประชาชนกับประชาชน ผ่านกิจกรรมเศรษฐกิจท่องเที่ยว การศึกษา กีฬา เทคโนโลยีโซเชียลมีเดีย ศาสนา และความมั่นคง เป็นต้น ส่วนเรื่องการเจรจาต่อรองกับขบวนการ มีประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่ถึงครึ่งหรือร้อยละ 47.8 แต่ประชาชนทั่วไปร้อยละ 62.9 ระบุควรเจรจาต่อรองกับขบวนการ

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้เกิดขึ้นหลังมีเหตุวางเพลิงตามจุดร้านสะดวกซื้อในหลายพื้นที่ที่เป็นย่านเศรษฐกิจของจังหวัดต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นโจมตีเชิงสัญลักษณ์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่ทุกฝ่ายน่าพิจารณาแนวทางเสริมสร้างความสงบสุขในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบบใหม่ ๆ  เพราะ ผลสำรวจชี้ชัดความแตกต่างระหว่างประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้กับประชาชนทั่วไป โดยประชาชนทั่วไปอาจจะสวมแว่นตามองด้วยข้อมูลตามกระแสข่าว แต่ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสัดส่วนของประชาชนที่มองปัญหา สาเหตุและแนวทางแก้ปัญหาแตกต่างไปจากประชาชนทั่วไป

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ข้อเสนอแนะอาจจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มภารกิจเชิงเกาะติดและป้องกัน ประเมินความเสี่ยงและป้องกัน  กลุ่มตอบโต้ต่อเหตุการณ์ และกลุ่มฟื้นฟูเยียวยา เชื่อมต่อไปยังกลุ่มภารกิจแรกที่มีการประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในมิติข้อเท็จจริงและมิติอารมณ์ความรู้สึกของประชากรเป้าหมาย ตามผลสำรวจครั้งนี้ ชี้ชัดว่าประชาชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่รู้สึกหดหู่ เสียใจ สงสารเห็นใจพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ด้วยกัน แต่สัดส่วนของประชาชนในพื้นที่ ที่รู้สึกหวาดกลัวมีน้อยกว่าประชาชนนอกพื้นที่ 

“ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนในพื้นที่ที่มองว่าเป็นความขัดแย้งทางความคิดแบ่งแยกดินแดน มีสัดส่วนน้อยกว่าประชาชนนอกพื้นที่ ที่มักจะมองไปตามกระแสข้อมูลข่าวสาร แต่ที่น่าสนใจ คือแนวทางแก้ไขที่ประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ ต้องการให้จับกุมคนร้ายมาถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และให้เน้นทำกิจกรรมสัมพันธ์หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ลดช่องว่างกระชับความสัมพันธ์ รัฐประชาชน และประชาชนกับประชาชน ผ่านกิจกรรมเศรษฐกิจท่องเที่ยว การศึกษา กีฬา เทคโนโลยีโซเชียลมีเดีย ศาสนา และความมั่นคง เป็นต้น โดยมีส่วนน้อยที่สุดที่มองไปที่การเจรจาต่อรองกับขบวนการเป็นแนวทางแก้ไข แม้ว่าจำเป็นต้องเจรจาต่อรองกันต่อไปกับขบวนการก็ตาม” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ซูเปอร์โพล' การันตี 'ทักษิณ' เป็นผู้มีบารมี ปชช.วอนแก้ปากท้อง

สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง จับกระแสโพล ทักษิณ ชินวัตร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ

ปชป. ขย่ม 'เศรษฐา' มีแค่อำนาจทิพย์ ทำไทยไม่ติดอันดับประเทศน่าลงทุน

ปชป. จี้รัฐบาลเร่งแก้ไข หลังผลจัดอันดับ EIU ไทยไม่ติดประเทศน่าลงทุน เหตุไร้เสถียรภาพการเมือง 'เศรษฐา' มีแค่อำนาจทิพย์ โดน 'อดีต-อนาคต' นายกฯ ประกบตลอด

มทภ.4 สั่งไล่ล่าคนร้าย ซุ่มยิง อส.ดับ 2 บาดเจ็บ 9 พื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส

แม่ทัพภาค 4 แสดงความเสียใจกับครอบครัวเจ้าหน้าที่ 2 นาย ที่เสียชีวิตจากเหตุคนร้ายซุ่มยิง ในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส พร้อมสั่งการคุมเข้มพื้นที่ เร่งติดตามผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด

บึ้มปัตตานี! ดักสังหารเจ้าหน้าที่ชุดคัดเลือกทหารเกณฑ์

เมื่อเวลา 05.30 น. ร.ต.อ.พงศกร ฤทธิศักดิ์ รอง สว. (สอบสวน) สภ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ได้รับแจ้งมีเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บเหตุเกิดบนถนนสายทุ่งยางแดง-กะพ้อ