'อนุชา' ลงเชียงราย เร่งสนับสนุนเลี้ยงโคไทยพัฒนาสู่โคเศรษฐกิจ ผ่านโครงการ 'โคล้านครอบครัว'

24 พ.ค.2566- ณ คอกกลางเครือข่ายโคเนื้อล้านนา บ้านกล้วยใหม่ หมู่ที่ 14 ตำบลสันมะเค็ด อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เป็นประธานเปิดงาน “สร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างชาติมั่นคง” ภายใต้โครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก เพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมี นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ นายธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายพืชผล น้อยนาฝาย ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ นายนเรศ รัศมีจันทร์ ประธานเครือข่ายโคล้านนา และสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ฯ ร่วมงาน

นายอนุชา กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการสร้างและพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชาติ ให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ต้องทำให้เศรษฐกิจฐานรากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศมีการพัฒนาโดยสามารถพึ่งพาตนเองได้ เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในชุมชนอย่างเข็มแข็ง ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการผ่านโครงการ “โคล้านครอบครัว” ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยจะเป็นศูนย์กลางและโครงข่ายการเรียนรู้ เสริมสร้างทักษะและพัฒนาองค์ความรู้ของชุมชน อีกทั้งเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญเพื่อส่งเสริมให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ สามารถเข้าถึงทรัพยากรอย่างเหมาะสม จากการศึกษา ค้นคว้า พบว่าการเลี้ยงโค เลี้ยงง่าย โคกินหญ้า ใช้ต้นทุนในการเลี้ยงต่ำ เจริญเติบโตไว ขายได้ แต่ต้องมีความอดทน หากตั้งใจเลี้ยงภายใน 3 ปี มีโอกาสปลดหนี้ครัวเรือน ได้จับเงินแสน เงินล้านได้ไม่ยาก ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเป็นผู้สนับสนุนสินเชื่อให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนฯ กู้ยืมเงินสำหรับซื้อโค 2 ตัว ในวงเงินครัวเรือนละ 50,000 บาท ปลอดดอกเบี้ย 4 ปี

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันนี้ การผลิตเนื้อโคและผลิตภัณฑ์ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในอนาคตคาดว่าจะมีการบริโภคจะเพิ่มขึ้น โดยหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ทำให้ธุรกิจภาคบริการ การท่องเที่ยวและร้านอาหารกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติ และมีความต้องการบริโภคเนื้อโคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีนและเวียดนามมีความต้องการนำเข้าโคมีชีวิตสูงขึ้น สิ่งสำคัญเกษตรกรผู้เลี้ยงโคต้องศึกษาตลาดและทำความเข้าใจกลุ่มผู้บริโภคให้ถ่องแท้ เพราะผู้บริโภคแต่ละกลุ่มต้องการคุณภาพเนื้อโคที่แตกต่างกัน ซึ่งมาจากสายพันธุ์วัวที่แตกต่างกันด้วยเช่นกัน หรืออาจศึกษาจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคที่ประสบความสำเร็จแล้ว จากนั้นนำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาเป็นแนวทางในการเลี้ยงโคจะดีที่สุด นอกจากนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงโค ยังสามารถพัฒนาต่อยอดจากการเลี้ยงวัวเศรษฐกิจเพื่อขาย สู่การพัฒนายกระดับกลายเป็นเลี้ยงวัวอุตสาหกรรมได้ ด้วยการยกระดับผลผลิตภาคการเกษตร พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ สร้างคุณค่า สร้างอัตลักษณ์ของสินค้าและผลิตภัณฑ์ รวมถึงการพัฒนาช่องทางการค้าเพิ่มขึ้น ด้วยการสร้างช่องทางการตลาดใหม่ ๆ อาทิ การตลาดออนไลน์ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่และผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น เพียงเท่านี้สามารถยกระดับฐานะกลายเป็นผู้ประกอบการฐานรากที่มีความเข้มแข็ง มีโอกาสความเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไม่สิ้นสุด ส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นได้โดยไม่ต้องให้ลูกหลานไปทำงานต่างถิ่นอีกต่อไป

นายนเรศ รัศมีจันทร์ ประธานเครือข่ายโคล้านนา กล่าวว่า ปัจจุบันเครือข่ายฯ มีสมาชิก 291 ราย มีโคเนื้อประมาณ 1,300 ตัว โดยเครือข่ายมีการรับประกันราคาซื้อขายให้สมาชิกอย่างชัดเจน ซึ่งเกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อเพื่อพัฒนามาตรฐานการเลี้ยงโคขุนได้ เน้นเลี้ยงพันธุ์บีฟมาสเตอร์เป็นหลัก เพราะเหมาะสมกับประเทศไทยและได้คุณภาพมาก ทั้งนี้ พบว่าตลาดมีความต้องการเนื้อโคขุนอย่างมาก กว่าเดือนละ 300 ตัว แต่ปรากฎว่าไม่สามารถผลิตให้ได้ทัน ขณะที่ การบริโภคโคเนื้อในไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะดีกว่าไหม ที่สามารถเลี้ยงโคบริโภคเอง แถมยังส่งออกสร้างรายได้ โดยไม่ต้องพึ่งต่างประเทศ

สำหรับ การจัดงาน “สร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างชาติมั่นคง” ครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดงานครั้งที่ 9 ซี่งมีกลุ่มเป้าหมายหลัก จากสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ฯ ในพื้นที่รับผิดชอบ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, พะเยา, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, ลำพูน เข้าร่วมกิจกรรมอัพเดทองค์ความรู้มากมาย จากกิจกรรมเสวนาโดยกองทุนหมู่บ้านต้นแบบ “ทำแล้ว ทำง่าย ทำได้…ไม่ยาก” โดยกองทุนหมู่บ้าน กองทุนหมู่บ้านหนองหมด หมู่ 8 ต.ดอยงาม อ.พาน จ.เชียงราย นอกจากนี้ ยังมี กิจกรรม Up Skill เรื่อง “โคล้านครอบครัว” โดยมี เกษตรกรหนึ่งในต้นแบบความสำเร็จ ในการประกอบอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อปลอดโรคเพื่อการส่งออก ร่วมเสวนาด้วย ได้แก่ นายนเรศ รัศมีจันทร์ ประธานเครือข่ายโคเนื้อล้านนา นายมานิต อินต๊ะสาร ที่ปรึกษาและผู้ก่อตั้งสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา นางสาว วรวรรณี แอ่นปัญญา เจ้าของเพจลูกสาวคนเลี้ยงวัว และ เพจทรัพย์สุวรรณฟาร์มเชียงราย รวมถึงยังกิจกรรม Business Matching และยังมีนิทรรศการให้ความรู้จาก กทบ. อีกด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พะเยา-เชียงราย-แพร่-น่าน จัด'วิ่งเลาะเวียงเมืองล้านนาตะวันออก' 4จังหวัด4สนาม

พะเยา เชียงราย แพร่ น่าน ผนึกกำลัง 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 2  จัดใหญ่งานวิ่งเลาะเวียงเมืองล้านนาตะวันออก  กว่า 700 คนเหล็กเตรียมตบเท้าเข้าร่วม  4 จังหวัด 4 สนาม เริ่มสนามแรก วันที่ 30 พ.ย.-1  ธ.ค. 67  ที่จังหวัดพะเยา 

‘กลาโหม’ กำชับ กำลังพลไม่แผ่ว ฟื้นฟูภัยนํ้าท่วม

"บิ๊กอ้วน" กำชับเหล่าทัพ ระดมกำลังในการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เน้นย้ำ ศปช.สน. ประสานงานร่วมกับทุกภาคส่วน พร้อมเร่งดูแลบริบาลสัตว์ของมูลนิธิอนุรักษ์ช้างฯ

'บิ๊กอ้วน' กำชับเหล่าทัพ ระดมกำลังช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างเต็มที่

พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.เชียงราย บางส่วนเข้าสู่การฟื้นฟู แต่บางพื้นที่ต้องเฝ้

"พิพัฒน์" นำทีม ก.แรงงาน ลุยน้ำท่วมช่วยชาวบ้านต่อเนื่อง จ.เชียงราย พร้อมตั้ง 5 ศูนย์ รับซ่อมบ้าน ระบบไฟฟ้า เปลี่ยนน้ำมันเครื่องมอไซค์ ฟรี

วันที่ 4 ตุลาคม 2567 เวลา 11.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายสมชาย