นักวิชาการอิสระ เชื่อไม่มีใครค้านพัฒนาหัวลำโพง แต่ต้องไม่ทำให้ ปชช.รายได้น้อยเดือดร้อน

‘ดร.กิตติธัช’ เชื่อไม่มีใครค้านพัฒนาหัวลำโพง แนะต้องเพิ่มมูลค่า ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนรายได้น้อย

13 ธ.ค.2564- ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระและอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ​ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีและประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม กล่าวถึงกรณีที่นายวินท์ สุธีรชัย อดีต ส.ส. และนักธุรกิจรุ่นใหม่ เสนอให้มีการพัฒนาหัวลำโพงให้เทียบเท่ากับแลนด์มาร์คในต่างประเทศว่า ประเด็นนี้ไม่มีใครคัดค้านที่การรถไฟฯจะนำพื้นที่ว่างไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ หรือปล่อยให้เอกชนเช่าเพื่อพัฒนา เพราะคงเป็นเรื่องดีที่การรถไฟจะมีรายได้ ปลดหนี้ และมีเงินมาพัฒนาสวัสดิภาพของพนักงานและการให้บริการสาธารณะ แต่สิ่งที่ประชาชนคาดหวังคือ การพัฒนานั้นต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย ในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถนำคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของหัวลำโพง มาสร้างเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นไปพร้อมกับการเพิ่มพื้นที่กิจกรรมและพื้นที่สีเขียวให้กับผู้คนในเมืองด้วย

ดร.กิตติธัช กล่าวต่อว่า การจัดการพื้นที่หัวลำโพงควรแบ่งเป็น 2 ประเด็น ประการแรก คือ การเดินรถ ซึ่งในอนาคตชุมทางรถไฟจะต้องย้ายไปอยู่บางซื่อ และหัวลำโพงจะกลายมาเป็นเพียงสถานีรถไฟในเมืองแห่งหนึ่งเท่านั้น แต่ด้วยการที่เส้นทางระหว่างบางซื่อ-หัวลำโพงยังอยู่ในขั้นตอนประมูลเท่านั้น ทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยต้องลำบากกับค่าใช้จ่ายและเวลาเดินทางที่เพิ่มเข้ามา ดังนั้นในระหว่างที่ Missing Link ยังไม่เสร็จ การรถไฟฯ ควรบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนด้วยการให้มีการเดินรถบนดินเข้าไปยังหัวลำโพง โดยเน้นที่ขบวนรถไฟชั้น 3 เพื่อไม่สร้างภาระให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ต้องอาศัยรถไฟเข้ามายังหัวลำโพง

ประการที่สอง คือ เรื่องการนำพื้นที่หัวลำโพงไปบริหารจัดการ ซึ่งมีความเป็นไปได้ 2 รูปแบบ 1. รูปแบบแรกคือ การเปลี่ยนกิจกรรมภายใน จากสถานีรถไฟ กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ พื้นที่ศิลปะและวัฒนธรรม หรือลานกิจกรรมของคนเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้คนได้เข้ามาใช้พื้นที่ในการสร้างแรงบันดาลใจและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ตามแนวคิดในการผลักดันย่านสร้างสรรค์ (Creative District) ซึ่งรูปแบบนี้การรถไฟอาจประสานความร่วมมือกับทาง TCDC ซึ่งอยู่ในบริเวณนั้น นอกจากนี้ควรจะนำใช้พื้นที่บางส่วนให้เช่าสำหรับทำกิจกรรมหรือร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านค้า ที่นำเอาเอกลักษณ์ของหัวลำโพงมาเป็นจุดขายเพื่อหารายได้มาใช้สำหรับบริหารจัดการอาคารและพื้นที่

“ในส่วนรูปแบบที่สอง คือ การรักษาความเป็นสถานีไว้ ในขณะที่ชุมทางหลักไปอยู่บางซื่อ หัวลำโพงก็จะมีรถเข้ามาน้อยลง และมีผู้ใช้งานน้อยลง หัวลำโพงจึงอาจเปลี่ยนจากสถานีแบบเดิม ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว ลานกิจกรรม ร้านค้า ร้านอาหาร ผสมไปกับพื้นที่สถานีเดิม เช่นกรณีสถานีรถไฟ Atocha ในประเทศสเปน ซึ่งลักษณะนี้จะทำให้หัวลำโพงยังคงทำหน้าที่เป็นสถานี พร้อมกับปรับกิจกรรมให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตคนเมืองมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้การถไฟมีรายได้เพิ่มขึ้น และประชาชนก็ได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากพื้นที่สาธารณะที่เพิ่มเข้ามาในบริเวณนั้น”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โชว์ภาวะผู้นำ ! นักวิชาการ ชื่นชม 'อนุทิน' ขู่ถอนวีซ่าต่างชาติ พฤติกรรมมาเฟีย

ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ให้ความเห็นเรื่องการเกิดขึ้นของมาเฟียต่างชาติ โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ต

‘ดร.กิตติธัช’ เตือนอย่าปลุกบรรยากาศแบบ  6 ตุลา ปล่อย จนท.ดำเนินตามหลักกม.

บรรยากาศแบบ 6 ตุลาคม ไม่ได้ให้อะไรกับสังคม มีแต่บาดแผลและความเจ็บปวด ภาพลักษณ์ของสถาบันฯ ก็ถูกทำให้แย่ลง

‘ก้าวไกล’ หูผึ่ง! นักกฎหมาย ชี้มีลุ้นไม่โดนยุบพรรค เหตุรูปคดีแตกต่าง

การร้องเพื่อให้ยุบพรรค ที่เป็นมาตราการซึ่งถูกกำหนดอยู่ในพรป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 (1) ที่มีการเขียนถ้อยคำในมาตราดังกล่าว คล้ายๆ กับมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ แต่ว่าไม่ได้มีการอ้างอิงโดยตรงว่า หากเกิดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 49 แล้ว

'นิพิฏฐ์' ตอกพวกหิวแสง! 112 แก้ได้ แต่ไม่ใช่ล้มล้างแบบก้าวไกล

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต สส.พัทลุง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า มาตรา 112 แก้ได้ มิใช่แก้ไม่ได้ แต่เพราะแก้หลายมาตรา จนเป็นการล้มล้างการปกครอง