กกต. ขอบคุณนายกฯไม่ก้าวล่วงทำงาน ยันพร้อมจัดเลือกตั้งไม่ว่ายุบสภาหรืออยู่ครบวาระ

"กกต."แจงการคำนวณจำนวนราษฎรต้องยึดตามทะเบียนราษฎร รวมผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นไปตามที่กฤษฎีกาให้ความเห็น และใช้การคำนวณเหมือนการเลือกตั้งปี 62 ที่ยึดตามมาตรา 86 เผยไทม์ไลน์แบ่งเขตเลือกตั้งส.ส เร่งให้เสร็จภายในเดือนก.พ. ขอบคุณนายกฯไม่ก้าวล่วงทำงานกกต.ยืนยันพร้อมเลือกตั้งไม่ว่าจะยุบสภาหรืออยู่ครบวาระ

1 ก.พ.2566 - เวลา 13.00น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายปกรณ์ มหรรณพ พร้อมด้วยนายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ และนายกิติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการกกต. ร่วมแถลงข่าวชี้แจงกรณีมีการระบุว่ากกต.ขอเวลารัฐบาลในการเตรียมการจัดการเลือกตั้งรวม 45 วันนั้น ว่าเราได้มีการประสาน และชี้แจงทำความเข้าใจว่าเมื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจัดการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว เรามีความจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในเรื่องต่างๆเช่น การที่กกต.จังหวัดจะต้องแบ่งเขตภายในเวลา 3 วัน การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และพรรคการเมืองอีก 10 วัน โดยเมื่อครบระยะเวลากกต.จังหวัดจะต้องพิจารณา เพื่อทำความเห็นว่ารูปแบบใดเหมาะสม อีก 3 วัน รวมเป็นเวลา 16 วัน จากนั้นจะส่งให้กกต.พิจารณา ซึ่งกกต.กลางจะรีบพิจารณาโดยตั้งเป้าว่าดำเนินการให้เสร็จภายในไม่เกิน 5 วัน 400 เขต เราจะใช้ระยะเวลาวันละ 100 เขต สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ก่อให้เกิดปัญหากับเรา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องสะดวกสบาย เรามีการเตรียม และตั้งเป้าหมายการทำงานไว้เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันเราต้องคำนึงถึงพรรคการเมืองที่ต้องมีเวลาในการดำเนินการคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. ให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องเผื่อเวลาให้กับพรรคการเมือง โดยในวันพุธที่ 8 ก.พ. จะมีการประชุมร่วมกับพรรคการเมืองเข้ามาหารือเรื่องค่าใช้จ่าย ว่าจำนวนที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่ และวิธีการทำไพรมารีโหวต เพื่อให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครได้อย่างถูกต้อง เราไม่ได้นิ่งนอนใจทำงานทุกวัน และกล้าที่จะพูดว่าเราพร้อมที่จะจัดการเลือกตั้งให้ชอบด้วยกฎหมาย

นายปกรณ์ ยังกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ออกมาระบุว่าจะไม่ก้าวล่วงกกต. ทำให้การประสานงานออกมาในรูปแบบที่ดี ท่านเข้าใจในระยะเวลาเหล่านี้ การที่เรามีน้ำใจคิดหวังดีกับส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง อาจจะส่งผลร้ายกลับมาที่กกต.หากมีความไม่เข้าใจข้อกฎหมายและระเบียบกำหนดว่าอย่างไร ข้อวิจารณ์ต่างๆเรารับฟังตลอด ถ้าถูกต้องเราพร้อมรับมาปฏิบัติ ส่วนอีกเรื่องกรณีการประกาศจำนวนส.ส.แต่ละจังหวัดที่พึงมี ซึ่งคิดจากข้อมูลการประกาศจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 3 วันนี้เป็นข่าวดัง อยากทำความเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 86 กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่มีการประกาศปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งการประกาศจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรของกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย จนถึงปี 2557 จะประกาศจำนวนราษฎรรวม

ต่อมาปี 2558 เป็นปีแรกที่สำนักทะเบียนกลางประกาศโดยแยกชายหญิงของคนที่มีสัญชาติไทย และคนที่ไม่มีสัญชาติไทย และปฏิบัติเรื่อยมาจนถึงการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งการคิดจำนวนราษฎรต้องคิดยอดรวมอย่างเดียว การคิดอย่างนี้เคยมีปัญหาเมื่อปี 2557 ที่อ.แม่สอด จะยกฐานะเป็นเทศบาล มีการโต้แย้งว่าควรจะรวมผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยเป็นราษฎรรวมหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีความเห็นสอดคล้องกับกกต. ว่าการคิดจำนวนราษฎรนั้นต้องคิดรวมทั้งหมดของบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ต้องแยกคนที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทย เพราะต้องคำนึงถึงบุคคลที่มีสิทธิใช้บริการ และผู้เสียภาษีอากรในการคิดค่าธรรมเนียม คือผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยอาจจะได้รับแตกต่างจากผู้ที่มีสัญชาติไทย แต่การคิดจำนวนราษฎรต้องคิดรวมทั้งหมดไม่ว่าผู้นั้นจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ หรือมีสิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่ เพราะคนที่มีสัญชาติไทยก็ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน ซึ่งเป็นหลักการทำงานที่สอดคล้องต้องกัน และทำมาโดยตลอด ข้อมูลที่นำเสนอคิดว่าทั้งสองปัญหานี้มีความกระจ่างพอสมควร

นายปกรณ์ ยังกล่าวถึงกรอบระยะเวลาการทำงานของกกต.ที่จะพิจารณาเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ว่า ในช่วงวันที่ 1-3 ก.พ. กกต.จังหวัด จะเร่งดำเนินการแบ่งเขตให้แล้วเสร็จใน 3 รูปแบบ จากนั้นวันที่ 4 - 13 ก.พ. จะปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมือง และประชาชน 14-16 ก.พ. กกต.จังหวัดจะสรุปและทำความเห็น เลือกรูปแบบเขตเลือกตั้งที่เหมาะสมเพื่อนำเสนอกกต.กลาง โดยในวันที่ 20-28 ก.พ.กกต.กลางจะพิจารณารูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าใน 1 วันจะพิจารณาไม่ต่ำกว่าร้อยเขต

นายปกรณ์ ยังย้ำว่าจากการลงพื้นที่ก่อนหน้านี้ใน 30 จังหวัด ก็พบว่าไม่มีจังหวัดไหนไม่สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งได้ โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ๆเช่นนครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ บุรีรัมย์ ซึ่งจะเห็นว่าจังหวัดใหญ่ๆพร้อมแล้ว และตนก็ได้กำชับว่าต้องดำเนินการตามกฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตามการแบ่งเขตที่เคยถูกข้อครหาเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 นายปกรณ์ ยืนยันว่าการแบ่งเขตในการเลือกตั้งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย และการที่ระบุว่าแบ่งเขตแบบเส้นก๋วยเตี๋ยวในเรื่องนี้ตนก็ได้ลงพื้นที่ไปดูในจ.สุโขทัย พบว่าพื้นที่เป็นพื้นที่ภูเขา แต่มีความกว้างที่ห่างกันซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

สำหรับวันพุธที่ 8 ก.พ. กกตจะเชิญพรรคการเมืองร่วมประชุมเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้สมัครและพรรคการเมือง รวมถึงการทำไพรมารีโหวต ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่พักการเมืองจะได้ทราบ ว่าสาขาและตัวแทนพรรคจะต้องดำเนินการอย่างไร

นายปกรณ์ ยังยืนยันว่า กกต.มีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการยุบสภาที่จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน หรือสภาอยู่ครบวาระที่จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน ไม่ว่าจะเกิดกรณีใดเราก็สามารถดำเนินการได้ ส่วนกรณีพรรคการเมืองร้องว่าป้ายหาเสียงถูกทำลาย เรื่องนี้กกต.จังหวัด และกกต.กทม.ดูแลอย่างเต็มที่ แม้ว่าขณะนี้จะถือว่ายังไม่มีผู้สมัคร หรือว่ายังไม่มีเขตเลือกตั้งที่ชัดเจนที่จะเป็นองค์ประกอบให้สามารถดำเนินการเอาผิดได้ แต่ก็ได้มีการรวบรวมข้อมูล ซึ่งกกต.จะพิจารณาทุกคำร้องและทุกความเห็น

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เพื่อไทยได้ครูดี! 'ฮุนเซน' แนะพรรคการเมืองจะประสบความสำเร็จได้ ต้องทำงานเพื่อประชาชน

ที่ประเทศกัมพูชา นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) นายดนุพร ปุณณกันต์ โฆษกพรรค และคณะกรรมการ

ระทึก! กกต.ชงศาลรธน.ยุบพรรคก้าวไกลแล้ว จับตา 20 มีนา.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการ​การเลือกตั้ง​ (กกต.)​ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งได้รับมอบหมายจากกก

'หมอวิกรม' ชนะขาด! คว้าเก้าอี้ 'นายกเล็กบุรีรัมย์'

ผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองบุรีรัมย์ กรณีพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นใดนอกจากครบวาระ ที่มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา อย่างไม่เป็นทางการ

รู้สึกช้า! ‘นิพิฏฐ์’ ซัดพรรคการเมือง ‘ทักษิณ’ ไม่รับไมตรี แก้เกี้ยวซักฟอกเลือกปฎิบัติ

อยากบอกพรรคการเมืองเหล่านั้นว่า พวกคุณเป็น“ไทยเฉย” ที่รู้สึกช้า ความจริงคุณทอดไมตรีให้คุณทักษิณอยู่หรอก แต่คุณทักษิณก็“เฉย”ไม่รับไมตรีคุณ

แล้วกัน! สว.วันชัย ถามไม่เอาทักษิณ-เพื่อไทย แล้วจะเอาใครไปสู้ก้าวไกล

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “ไม่เอาเพื่อไทย จะเอาใครมาสู้” ระบุว่าก็เห็นพูดกันว่าก้าวไ

พิธาพลิกตำรา ‘รอดยุบพรรค’ เชื่อแค่ตักเตือน

"พิธา" ย้ำเตรียมแผนรับมือไว้แล้วหากศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล ชี้ต้องใช้ดุลพินิจ ความผิดมาตรา 49-มาตรา 92 มีความต่างกัน เชื่อศาลจะให้ความยุติธรรม