บอร์ด กคพ. ประชุมคดีฮั้วเลือก สว. ชี้ชะตารับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ หลังเลื่อนโหวตมา 1 สัปดาห์ คาดกรรมการถกเข้มกรณีความผิด "อั้งยี่-ม.116-พ.ร.ป.สว." ต้องใช้มติ 2 ใน 3 คิดเป็น 15 เสียง พบ กรรมการโดยตำแหน่งมา 12 ราย ขาด ผบ.ตร. ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขาด 2 ตำรวจเจ้าเก่า
6 มีนาคม 2568 - จากกรณีการประชุมบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 2/2568 วันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการพิจารณาเพื่อมีมติให้คดีความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ โดยที่ประชุมมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องสืบสวนที่ 151/2567 กรณี การคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่มีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ซึ่งมีพฤติการณ์อันอาจเป็นความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 (ฐานอั้งยี่) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (3) และความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
โดยมติที่ประชุมได้ให้คณะพนักงานสืบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปดำเนินการในประเด็นพิจารณาเกี่ยวกับอำนาจในการดำเนินการตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ว่าเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือเป็นอำนาจของเลขาธิการคณะกรรมการเลือกตั้ง และให้ดำเนินการเสนอเรื่องผ่านคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) อีกครั้งในการประชุมครั้งที่ 3/2568 วันที่ 6 มี.ค. เพื่อให้คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) พิจารณามีมติต่อไป ตามที่มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น
เมื่อเวลา 09.30 น. ที่กระทรวงยุติธรรม ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 3/2568 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ส่วนคณะกรรมการ ประกอบด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม รองประธานกรรมการ นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เจ้ากรมพระธรรมนูญ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความ และผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีก 9 ราย ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ และมีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นกรรมการและเลขานุการ ในการประชุม มีวาระการพิจารณารับคดีอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ
ด้านสัดส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ปรากฏว่า พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอบสวนคดีอาญา และ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้แจ้งลาการประชุมเป็นครั้งที่ 2 โดยให้เหตุผลติดภารกิจราชการ ซึ่งในการประชุมบอร์ด กคพ. ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งคู่ก็ได้ลาการประชุมด้วยเหตุติดภารกิจราชการและมีอาการเจ็บป่วย
ขณะที่ผู้แทน กกต. ไม่ได้มีการเข้าร่วมประชุมด้วย เนื่องจากนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ได้มีหนังสือชี้แจงถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เกี่ยวกับประเด็นวินิจฉัย ตีความข้อกฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 มาตรา 49 ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการว่าหน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนได้รับเรื่องการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองไว้พิจารณา และคณะกรรมการเห็นว่าเป็นการสมควรที่คณะกรรมการจะดำเนินการเองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนนั้นโอนเรื่องหรือส่งสำนวนการสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นมาให้คณะกรรมการเพื่อดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ในกรณีเช่นนี้ให้หน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนโอนเรื่องหรือส่งสำนวนการสอบสวนในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองมาให้คณะกรรมการภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าว” ซึ่งการไม่ส่งผู้แทน กกต. มาร่วมประชุมบอร์ด กคพ. เนื่องจากเห็นว่าสำนักงาน กกต. ได้แนวทางคำตอบที่ชัดเจนตามคำถามของดีเอสไอแล้ว ดังนั้น การส่งผู้แทนไปร่วมประชุมและตอบคำถามอาจเป็นการให้คำตอบที่ไม่สมบูรณ์ และไม่ครบถ้วนถูกต้อง
มีรายงานว่า ภายในการประชุมบอร์ดฯ ในส่วนของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะเลขานุการและกรรมการ จะมีการเสนอข้อมูลต่อกรรมการในทุกฐานความผิดอาญาตามความเห็นของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ได้มีการประชุมไปเมื่อวันที่ 3 มี.ค. อันประกอบด้วย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 (อั้งยี่) มาตรา 116 (ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ) พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 77 (1) และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เพื่อกรรมการได้มีการถกเถียงหารือถึงกรอบอำนาจการสอบสวนว่าเห็นควรให้ดีเอสไอมีอำนาจรับดำเนินการในฐานความผิดอาญาใดบ้าง ตามพยานหลักฐานในชั้นสืบสวน เพื่อไม่ขัดต่อกฎหมายของ กกต. ซึ่ง กกต. อาจพิจารณารับดำเนินการเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือกรรมการอาจมีมติเห็นว่าให้มอบหมายหน่วยงานพนักงานสอบสวนอื่นรับคดีอาญาไปดำเนินการแทนดีเอสไอ
มติบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ มีหลักใจความสำคัญ คือ ถ้าเป็นการรับคดีอาญาอื่นที่ไม่ใช่ความผิดตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ซึ่งมีลักษณะเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 ววรคหนึ่ง (2) อาทิ ความผิดฐานอั้งยี่ (มาตรา 209) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ (มาตรา 116) พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 77 (1) จะต้องใช้มติ 2 ใน 3 ของกรรมการ กล่าวคือ จำนวน 15 เสียง แต่ถ้าเป็นการชี้ขาดว่าให้เป็นความผิดฐานฟอกเงิน (พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542) เพราะเข้าเงื่อนไขกรณีที่มีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตั้งแต่ 300 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นความผิดตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 อยู่แล้วนั้น จะเป็นคดีพิเศษได้โดยไม่ต้องอาศัยมติบอร์ด เพราะสามารถใช้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งได้เลย
ทำให้มีบทวิเคราะห์ของทางฝั่งดีเอสไอว่าบรรยากาศภายในที่ประชุม กรรมการหลายฝ่ายจะต้องถกหารือเรื่องทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตั้งแต่ 300 ล้านบาทขึ้นไปในคดีฮั้ว สว. ว่ามีเหตุเป็นมาอย่างไร และใครเกี่ยวข้องกับเส้นทางการเงินในการจัดฮั้วอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ ครั้งที่ 3/2568 สัดส่วนกรรมการโดยตำแหน่ง พบว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เข้าประชุมเอง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เข้าประชุมเอง นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม เข้าประชุมเอง นายอรรถพล อรรถวรเดช ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง (ผู้แทนปลัดกระทรวงการคลัง) นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์
อธิบดีกรมการปกครอง (ผู้แทนปลัดกระทรวงมหาดไทย) นายณรงค์ งามสมมิตร ที่ปรึกษากฎหมาย (ผู้แทนปลัดกระทรวงพาณิชย์) นางเยาวลักษณ์ นนทแก้ว อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ (ผู้แทนอัยการสูงสุด) พล.ต.ท.อภิชาติ สุริบุญญา ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (ผู้แทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) ไม่เข้าร่วมประชุม นายนพดล เกรีฤกษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา)
พลเอก พิสิษฐ์ นพเมือง เจ้ากรมพระธรรมนูญ เข้าประชุมเอง นายจิรานุวัฒน์ ธัญญะเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกฎหมาย (ผู้แทนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เข้าประชุมเอง พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าประชุมเอง รวมกรรมการโดยตำแหน่ง 12 ราย
ขณะที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า นายเพ็ชร ชินบุตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ เข้าประชุมเอง นางดวงตา ตันโช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้าประชุมเอง นายชาติพงษ์ จีระพันธุ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย เข้าประชุมเอง นายนรินทร์พงศ์ จินาภักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย เข้าประชุมเอง นางทัชมัย ฤกษะสุต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย เข้าประชุมเอง
พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอบสวนคดีอาญา ไม่เข้าร่วมประชุม พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปราบปรามผู้มีอิทธิพล เข้าร่วมประชุม พล.ต.ท.สำราญ นวลมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ไม่เข้าร่วมประชุม และนายณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการธนาคาร เข้าร่วมประชุม รวมกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพียง 7 ราย
ขาด 2 ราย คือ พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอบสวนคดีอาญา และ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่ม คณะ สว.สำรอง นำโดย พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร. เดินทางมาที่กระทรวงยุติธรรมพร้อมป้ายไวนิล เพื่อส่งกำลังใจให้การประชุมโหวตรับคดีฮั้ว สว.67 เป็นคดีพิเศษของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ทั้งยังรอลุ้นฟังผลการรับเป็นคดีพิเศษอีกด้วย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พบชื่อวิศวกร 51 ราย คุมงานตึก สตง.ถล่ม หลังดีเอสไอตรวจยึดหลักฐาน
กรณีพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอศาลอาญา รัชดาภิเษก ออกหมายค้นพื้นที่เป้าหมาย 4 จุด ได้แก่ 1.สำนักงานใหญ่ของนายบินลิง วู 2.บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด 3.บริษัท
'ดีเอสไอ' ตรวจเข้มสัญญา 4 ฉบับ สางคดีนอมินีบริษัทจีนสร้างตึกสตง.ถล่ม
จากกรณีที่ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีนอมินี หรือความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ก่อสร้างที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
ดร.ณัฏฐ์ ชี้ ‘ภูมิธรรม-ทวี’ มีโอกาสตกเก้าอี้สูง!
นักกฎหมายมหาชน อ่านเกมการเมือง ปม กลเกมต่อรองอำนาจ ปม “สว.สีน้ำเงิน” ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ” บิ๊กอ้วน ภูมิธรรม-ทวี สอดส่อง“ ใช้กรมสอบสวนคดีพิเศษดีเป็นเครื่องมือ โอกาสตกเก้าอี้สูง
สอบ 'วิศวกร' ถูกปลอมลายเซ็นคุมงาน สตง. รื้อข้อเท็จจริง ถูกแอบอ้างชื่อนาน 5 ปี
“ทวี” นั่งหัวโต๊ะ “ดีเอสไอ" ติดตามคืบหน้าคดีตึก สตง.ถล่ม ขณะที่ ”รองอธิบดีดีเอสไอ-ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค” นัดสอบปากคำพยาน “สมเกียรติ” วิศวกรถูกปลอมลายเซ็นคุมงาน สตง. รื้อข้อเท็จจริง กรณีถูกแอบอ้างชื่อนาน 5 ปี
ประธานกกต. ยันคืบหน้ามาก คดียุบเพื่อไทย-พรรคร่วม ปมทักษิณชี้นำ ครอบงำ
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีคำร้องยื่นยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาล ที่ให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีครอบงำพรรคว่า เลขาธิการ กกต.
สว. โชว์ผลงานปีแรก เทอม 2 ประชุม 29 ครั้ง พิจารณากฎหมาย 15 ฉบับ
ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง เป็นประธานในที่ประชุม ได้กล่าวถึงผลงานของวุฒิสภา