"เสาร์สร้างสรรค์"พัฒนาความรู้พึ่งพาตนเอง กิจกรรมออนไลน์ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตสู้วิกฤต

สสส.ผุดกิจกรรมออนไลน์ Live ผ่านเฟซบุ๊กและดูย้อนหลังได้ “เสาร์สร้างสรรค์” ตลอดเดือนตุลาคม สอนทักษะพัฒนาความรู้ 3 ด้าน ความมั่นคงทางอาหาร-จัดการสุขภาพ-สร้างอาชีพและรายได้ พร้อมแชร์ประสบการณ์รอดวิกฤต รู้จักการพึ่งพาตนเอง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “เสาร์สร้างสรรค์” ภายใต้โครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2564 โดย นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ รองประธานกรรมการบริหารแผน สำนัก 6 สสส. และ ผอ.มูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบโดยตรงกับคนไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะวัยแรงงาน เพราะเศรษฐกิจหยุดชะงัก ขาดศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง กระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือน ส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชน

จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2564 พบประชากรกลุ่มวัยทำงานเป็นผู้ว่างงานกว่า 7.6 แสนคน และเป็นผู้เสมือนว่างงาน หรือทำงานในภาคเกษตรกว่า 4.3 ล้านคน และมีผู้ที่มีงานทำแต่ไม่ได้รับค่าจ้างกว่า 7.8 แสนคน ที่สำคัญยังพบว่า กลุ่มวัยทำงานส่วนมากไม่มีเงินใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน มีทักษะเชิงเดี่ยว ไม่สามารถปรับตัวเพื่อประกอบอาชีพอื่นได้ในทันทีจากการระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนาน ประกอบกับวิกฤตน้ำท่วมล่าสุด จึงมีแนวโน้มที่จะมีคนว่างงานและคนที่มีรายได้น้อยลงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตที่ดีลดลง เพราะขาดรายได้ ขาดโอกาส ขาดความรู้ในการพัฒนาศักยภาพตัวเอง

นายวีรพงษ์กล่าวว่า สสส.ริเริ่มโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ สนับสนุนทุนเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมสร้างเสริมสุขภาพกว่า 100 โครงการ ผ่านหน่วยจัดการ (Node) 5 หน่วยจัดการครอบคลุมทุกภูมิภาค การจัดกิจกรรม “เสาร์สร้างสรรค์” ครั้งนี้ถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้หน่วยจัดการเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิธีการทำงาน กลไกการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้ประเด็นการทำงาน 3 ด้าน คือ

1.ความมั่นคงทางอาหาร ทางรอดท่ามกลางวิกฤต 2.การสร้างความรอบรู้ ทักษะ การจัดการสุขภาพ เพื่อเผชิญวิกฤต และ 3.การส่งเสริมอาชีพและรายได้กับการลดผลกระทบจากวิกฤต มุ่งเสริมความรู้ สร้างทักษะเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะวัยแรงงาน นำความรู้ไปพัฒนาศักยภาพตัวเองสู่การมีทักษะในการปรับตัวให้อยู่รอดในทุกวิกฤต โดยมีเป้าหมายผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1,000 คน

นางสาววรางคนางค์ นิ้มหัตถา ประธานสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และหัวหน้าหน่วยจัดการส่งเสริมเกษตรในเมือง สสส. กล่าวว่า การส่งเสริมเกษตรในเมือง เพื่อความมั่นคงทางอาหารในชุมชน ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่เปิดโอกาสให้คนเมืองได้เริ่มต้นสู่การพึ่งพาตนเอง ที่เริ่มจากการผลิตอาหาร สู่การฟื้นฟูคุณภาพชีวิต โดยส่งเสริมการทำงานของชุมชน 4 ข้อ ดังนี้ 1.พัฒนาเพิ่มขีดความสามารถด้านความรู้ ทักษะการทำเกษตรในเมือง การพึ่งตนเองด้านอาหารในเมือง จากการเพาะปลูกพืชผัก เลี้ยงไก่ไข่ โดยมีทีมพี่เลี้ยงที่มีความเชี่ยวชาญลงพื้นที่ให้ความรู้ 2.สร้างแหล่งผลิตอาหารเพื่อสุขภาวะในชุมชน ยกระดับการพึ่งพาตนเอง ลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน มีทักษะการทำการเกษตรกับการพัฒนาสุขภาวะองค์รวมทั้งร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 3.แบ่งปันอาหารสู่กลุ่มเปราะบางในพื้นที่อย่างเท่าเทียม และจำหน่ายอาหารในราคาถูกแก่คนในชุมชน และ 4.พัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน โดยเสริมศักยภาพชุมชนให้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปส่งออกสู่พื้นที่อื่นๆ ได้

“คนใน กทม.และปริมณฑลติดเชื้อโควิดสูงเท่ากับคนใน 71 จังหวัดของประเทศไทย เนื่องจากเมืองหนาแน่นสูง มีชุมชนแออัด ความหลากหลายของกลุ่มคน คนทำงานมีรายได้มาซื้ออาหาร แต่ในช่วงโควิดหลายคนตกงานไม่มีเงินซื้ออาหาร ตลาดซึ่งเป็นแหล่งกระจายอาหารหลายแห่งถูกปิด แม่ค้า เกษตรกรเข้าไม่ถึง คนมีเงินหรือไม่มีเงินก็หาซื้ออาหารไม่ได้ ความเปราะบางเรื่องอาหาร คนในชุมชนมีบทบาทดูแลกันเอง มีการคาดหมายกันว่าประเทศไทยเป็นประเทศสุดท้ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะฟื้นตัวได้ เมื่อเกิดวิกฤตคนไทยฆ่าตัวตายสูงขึ้น 22% ความขาดแคลนอาหาร คนบางกลุ่มขาดโอกาส ไม่มีเงินซื้ออาหาร คนไม่มีเงินรอรับบริจาค ในขณะที่คนมีเงินกักตุนอาหาร และเกษตรกรบางส่วนต้องทิ้งอาหารเพราะไม่สามารถนำออกมาขายผู้บริโภคได้” วรางคนางค์กล่าว

สัดส่วนเมืองที่ไม่ใช่ กทม.ในปี 2050 จะเติบโต 72% พื้นที่ชนบท 28% ผลิตอาหาร ถ้าเราไม่รับมือในการผลิตอาหาร เนื่องจากหลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมย่อมได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้นชุมชนจะต้องเตรียมการรับมือสร้างแหล่งอาหารในเมืองรองรับ สร้างโอกาส สร้างความยั่งยืนในชุมชน การเพิ่มทักษะความรู้ การผลิตอาหารเชื่อมโยงกับการบริโภค เป็นการกระจายเศรษฐกิจในชุมชนให้รองรับกับคนจนเมือง บ้านมั่นคง องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มเด็กพิเศษ การเติมความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถผลิตอาหารให้ได้

"แนวคิดในการสร้างความมั่นคงทางอาหารคือ เก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อการแบ่งปัน โดย 10 ครอบครัวทำงานด้วยกัน 1 ปีเพื่อสร้างแหล่งอาหารในชุมชนเป็นจริงได้ มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ทิ้งรกร้างว่างเปล่า สร้างเป็นพื้นที่อาหารที่อุดมสมบูรณ์รองรับคนเปราะบางในชุมชน ทั้งนี้ในเดือนตุลาคมจนถึงมกราคมปีหน้าจะอบรมเชิงลึกทำการเกษตรเป็นอาชีพเพื่อการพึ่งพาตนเอง จัด 30 พื้นที่ พาทัวร์ 11 พื้นที่ ทัวร์ทิพย์ออนไลน์ ขณะนี้มีกลุ่มซาลาเปาสมุนไพรบางไผ่ กลุ่มสวนผักริมคลองบางมด ผลิตอาหารดูแลชุมชนกลุ่มเปราะบาง ผู้บริโภคปลอดภัยร่วมกันเป็นเครือข่าย" ประธานสวนผักคนเมืองกล่าว และเปิดเผยอีกว่า

การส่งเสริมการทำเกษตรในเมืองได้นำร่องใน 6 จังหวัด 30 ชุมชน ได้แก่ กรุงเทพฯ 19 ชุมชน ปทุมธานี 3 ชุมชน สมุทรปราการ 3 ชุมชน สมุทรสาคร 2 ชุมชน ชลบุรี 2 ชุมชน และนนทบุรี 1 ชุมชน คนในชุมชนสร้างแหล่งผลิตอาหารได้ด้วยตัวเอง สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนได้ถึง 300-500 บาทต่อวัน มีคนในชุมชนเข้าร่วมเป็นแกนนำกว่า 1,000 คน มุ่งเป้ากระจายความมั่นคงด้านอาหารไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบในชุมชนเมืองทั่วประเทศ ลดความเปราะบางด้านอาหารแม้ต้องเผชิญภาวะวิกฤต

นายสุวิทย์ หมาดอะดำ หัวหน้าหน่วยจัดการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤต เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะจังหวัดภาคใต้ สสส. กล่าวว่า 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นราธิวาส สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี มีประชากรไม่มาก แต่ติดเชื้อโควิด-19 เป็น 10 อันดับต้นๆ ของไทย ถึงวันนี้การระบาดของโรคยังน่าเป็นห่วง ที่ยะลาติดเชื้อ 700 คน ประชาชนแทบหมดหวัง เราปิดเมืองไม่ได้เนื่องจากแรงงานของเรากลับจากมาเลเซีย ภูเก็ต กรุงเทพฯ เมื่อกลับมาอยู่บ้านที่นี่ยังมีโครงสร้างการเกษตรที่รองรับได้ แกนนำสร้างการมีส่วนร่วม มีวิทยากรจากส่วนกลางเข้ามาอบรมความรู้ กลไกการทำงานที่มีพี่เลี้ยงดูแล การสร้างทักษะการจัดการสุขภาพชุมชนเชื่อมโยงการผลิตอาหาร การจัดกลุ่มไลน์ทำเว็บไซต์ผ่านฐานข้อมูล จ.สงขลาสร้างความมั่นคงทางอาหารที่บางกล่ำ วัยรุ่นกลับมาอยู่บ้านกับผู้สูงอายุ ช่วยกันสร้างชุมชนทางอาหารพึ่งพาตัวเอง ปลูกเพื่อการแบ่งปัน ปลูกผักเพาะเห็ดแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกิดความยั่งยืน การทำให้ทุกครัวเรือน ชุมชน คือแหล่งพักพิงที่ให้ความปลอดภัยและมั่นคง มีการสร้างกฎกติกาการออมเงินเดือนละ 10 บาท ทุกครัวเรือน ร่วมมือกับวัดสร้างชุมชนน่าอยู่ เมื่อมีปัญหาก็ช่วยเหลือคลายทุกข์ให้ลดลงได้

สำหรับการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะจังหวัดภาคใต้ มีขั้นตอนทำงาน 3 ข้อดังนี้ 1.ชักชวนผู้นำชุมชนและผู้ที่สนใจในพื้นที่มาร่วมเป็นแกนนำสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้แก่คนในชุมชน 2.พัฒนาทักษะแกนนำ เสริมความเข้าใจเรื่องการสร้างแหล่งผลิตอาหารในชุมชน รวมถึงการจัดการการเงินในชุมชน โดยให้ฝึกวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาด้านการเงินรายบุคคล 3.กระจายอาหารสู่คนในชุมชนอย่างทั่วถึง สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือน 20-40 บาทต่อวัน ขณะนี้มีพื้นที่นำร่องใน 5 จังหวัด 15 พื้นที่ ได้แก่ สงขลา 3 พื้นที่ สตูล 3 พื้นที่ ปัตตานี 3 พื้นที่ ยะลา 3 พื้นที่ และนราธิวาส 3 พื้นที่ มีคนในชุมชนเข้าร่วมเป็นแกนนำกว่า 300 คน มีเป้าหมายจะขยายพื้นที่เพื่อกระจายความมั่นคงด้านอาหารไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ภายในปี 2565

ทั้งนี้กิจกรรม “เสาร์สร้างสรรค์” ถ่ายทอดสดในวันเสาร์ที่ 2, 16 และ 30 ตุลาคม เวลา 14.00-16.00 น. ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ สร้างสรรค์โอกาส และ สสส. ผู้สนใจสามารถเปิดดูกันได้ตลอดเดือนตุลาคม.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ออมสุขภาพ” รับวัยเกษียณ เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย

สังคมไทยเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ขณะนี้มีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12 ล้านคน จากจำนวนคนไทย 66 ล้านคน และในอนาคตคืออีก 60 ปีข้างหน้า

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ

ไขคำตอบ..ออกกำลังกายเป็นนิจ ตัวช่วยอายุยืนยาวห่างไกล NCDs

อุบัติการณ์โรคในยุคนี้ปรากฏว่า "โรคไม่ติดต่อ (NCDs)" กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คิดเป็น 75% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด หรือเกือบ 4 แสนคนต่อปี

เปิดผลสำรวจวัยโจ๋ ขีดเส้นสนามกีฬาฟุตซอล ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน

เครือข่ายงดเหล้า และสสส. ส่งเสริมกีฬาเยาวชนจัดฟุตซอล No-L ชิงถ้วยพระราชทานฯ รร. ราชวินิต มัธยม คว้าแชมป์ไปครองสมัยที่ 2 ด้วยสกอร์ 6:0 ในขณะที่ผลสำรวจร้อยละ 90 ต้องการให้สนามแข่งไม่ดื่ม ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน และร้อยละ 84.8 คิดว่ากีฬาฟุตซอลทำให้เยาวชนเห็นคุณค่าของตัวเอง