101 ปี 'พระราชวังพญาไท'  วิจิตรงดงามในยามราตรี

สุดงดงามการฉายภาพเคลื่อนไหวพระราชกรณียกิจรัชกาลที่6 ส่วนอาคารยอดโดมสีแดงของพระที่นั่งพิมานจักรี 

แสงสีเสียงสุดวิจิตรยามราตรี กับ การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน(NIGHT MUSEUM) ครั้งแรก บนพื้นที่ประวัติศาสตร์ ณ พระราชวังพญาไท ในโอกาสเฉลิมฉลอง “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM โดยมูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไทในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยสามารถเข้าชมงานได้ตั้งแต่วันนี้ – 16 มี.ค. 2567 ตั้งแต่เวลา 18.00 – 21.30 น. ณพระราชวังพญาไท

ด้านในพระที่นั่งเทวราชสภารมย์ จัดแสดงแสงสีสะท้อนงานสถาปัตยกรรม

 ก่อนจะเข้าชมความงดงามพระราชวังพญาไท อยากชวนมาทำความรู้จักพระราชวังแห่งนี้ ที่ตั้งโดดเด่นตระหง่านอยู่บนถนนราชวิถี เขตพญาไท หรือที่หลายคนคงคุ้นตาเพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ของ รพ.พระมงกุฎเกล้า ย้อนกลับไปเมื่อ 100 ปีที่แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินประมาณ 100 ไร่เศษ จากชาวนาชาวสวนบริเวณปลายถนนราขวิถีตอนตัดถนนใหม่ๆ ซึ่งเป็นสวนผักและไร่นา มีคลองสามเสนไหลผ่าน พื้นที่ยังโล่ง กว้าง อากาศโปร่งสบาย เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัยเพื่อใช้ทดลองปลูกธัญพืช และเป็นที่ประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบท

พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6

 ในปีพ.ศ.2452 รัชกาลที5 จึงทรงโปรดให้สร้างพระตำหนักพญาไทขึ้น  เพื่อเป็นที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบทเวลาเสด็จพระราชดำเนินที่นาแห่งนี้  แต่พระองค์ทรงเสด็จประทับที่วังพญาไทเพียงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนสวรรคตในพ.ศ.2453 ต่อใมาในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ใช้พระราชวังพญาไทเป็นที่แปรพระราชฐานของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ที่ทรงพระประชวร จนกระทั่งสวรรคตเมื่อปีพ.ศ.2463

อุโมงค์บริเวณโถงทางเดินส่องประกายสะท้อนกระจก

 หลังจากนั้นรัชกาลที่ 6 ได้ทรงรื้อพระตำหนักพญาไท เหลือไว้เพียง พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ซึ่งเป็นท้องพระโรง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งใหม่หลายพระองค์ด้วยกัน อีกทั้งยังทรงย้ายดุสิตธานีจากพระราชวังดุสิตมาสร้างเป็นเมืองจำลอง ดุสิตธานี หรือเมืองประชาธิปไตยย่อส่วนขึ้น ภายในพระราชวังพญาไท เพื่อทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ.2462 และทรงสถาปนาวังเป็น พระราชวังพญาไท  มีพระราชพิธีเฉลิมพระที่นั่งตามพระราชประเพณี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 ซึ่งพระองค์ เสด็จฯ มาประทับที่พระราชวังนี้โดยตลอดจนปีสุดท้ายแห่งรัชกาล

ความสวยงามของห้องห้องธารกำนัล

 ระยะต่อมาในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงปรับปรุงวังพญาไทเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งสำหรับให้ชาวต่างประเทศพัก เปิดเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2468  โดยมีพระราชประสงค์ จะพระราชทานพระราชวังแห่งนี้ให้เป็นโฮเต็ลชั้นหนึ่งของประเทศ  แต่เปิดให้บริการได้ 6-7 ปีก็เลิกกิจการในปีพ.ศ.  2475 เนื่องจากคณะราษฎร ต้องการนำวังพญาไทสร้างโรงพยาบาลทหาร รัชกาลที่ 7 จึงพระราชทานวังนี้ให้เป็นสถานพยาบาล ของกองทัพบก และได้เปลี่ยนชื่อเป็นรพ.พระมงกุฎเกล้า

ชมเรื่องราวย้อนวันวานพระราชวังพญาไท

 เนื่องจากสถานที่โรงพยาบาลใช้พื้นที่ของพระที่นั่งและพระตำหนักต่าง ๆ เริ่มแออัด ไม่สะดวกแก่การตรวจรักษาผู้เจ็บป่วย ทางราชการจึงจัดสรรงบประมาณ จัดสร้างตึกตรวจโรครวมทั้งอาคารต่าง ๆ ขึ้นใหม่ทางด้านทิศตะวันออกของพระราชวังพญาไทและได้ย้ายโรงพยาบาลออกจากหมู่พระที่นั่งไปอยู่ที่อาคารสร้างใหม่ ซึ่งก็คือ รพ.พระมงกุฎเกล้าในปัจจุบัน และพระราชวังพญาไท ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวร ภายใต้การดำเนินงานของ ชมรมคนรักวัง และ มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาชมและเรียนรู้ได้

พญามังกรถือวชิราวุธ สัญลักษณ์แทนปีพระราชสมภพของรัชกาลที่ 6

 ปัจจุบันพระราชวังพญาไท คงเหลือพระที่นั่งที่สร้างในรัชกาลที่ 5 เพียงองค์เดียว คือ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ และพระที่นั่งที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 คือ พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน พระที่นั่งพิมานจักรี พระที่นั่งศรีสุทธาวาส พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ พระตำหนักเมขลารูจี สวนโรมัน และ ศาลท้าวหิรัญพนาสูร  ลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก อันโดดเด่นของพระราชวังพญาไท คือหอคอยสูงและหลังคายอดแหลมของพระที่นั่งพิมานจักรี

การแสดงรำ ณ ระเบียงด้านหลังพระที่นั่งพิมานจักรี

ในการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน ทางมูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไทฯ ได้คัดเลือกพื้นที่ในพระราชวังและพระที่นั่งบางองค์ เพื่อนำมาจัดแสดงแสงสีแบบจัดเต็ม บรรยากาศที่เคล้าคลอไปด้วยเสียงดนตรีสุดคลาสสิคตลอดการเดินชม  เริ่มได้ชมกันที่โซนแรก พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ซึ่งเป็นพระที่นั่งในรัชกาลที่ 5 เพียงองค์เดียวที่ทรงเหลืออยู่ เคยเป็นสถานที่รับรองแขกส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 6   บางครั้งเป็นโรงละคร หรือโรงภาพยนตร์แล้วแต่โอกาส  โดยมีการแสดงแบบ  ARCHITECTURE LIGHTING & INTERIOR LIGHTING ซึ่งเป็นเล่นแสงไฟที่วาดส่องไปยังตัวพระที่นั่ง ที่มีสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างคลาสสิคและอาร์ตนูโวที่สร้างด้วยโครงสร้างคอนกรีตหน้าตัดหน้าบันทางทิศใต้มีพระปรมาภิไธยย่อ ส.ผ. (เสาวภาผ่องศรี) ทำให้พระที่นั่งองค์นี้มีชื่อเรียกว่าท้องพระโรง ส.ผ.

สุดงดงามการแสดงท่ามกลางสวนกุหลาบ

 โซนที่ 2 ตื่นตากับการฉายภาพแสงกับงานออกแบบภาพเคลื่อนไหว ที่ส่วนอาคารยอดโดมสีแดงของพระที่นั่งพิมานจักรี ที่ได้ฉายพระราชกรณียกิจทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์

สวนกุหลาบประดับด้วยกุหลาบแดงกว่า 2,000 ดอก

 มาต่อที่โซนที่ 3  ในอาคารพระราชวังพญาไท พบกับงานสร้างสรรค์ผลงานไฟที่วิจิตรตระการตา ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่6  แบ่งเป็นการจัดแสดงบริเวณโถงทางเดินความ ระยิบระยับรับแสงแห่งอุโมงค์ กับเทคนิคการแสดงแสงไฟสะท้อนผ่านกระจกเงาประมาณ 20 เมตร  เดินเชื่อมมายังห้องธารกำนัล หรือ ห้องรับแขก ที่ได้ฉายพระอัจฉริยภาพพระราชนิพนธ์  อาทิ วิวาหพระสมุท โคลงภาษิตนักรบโบราณ โคลงสยามานุสสติ โรเมโอและจูเลียต เวนิสวานิช ผ่านเทคนิค PROJECTION MAPPING บนโต๊ะประชุมยาวภายในห้อง  ออกมาพบกับการจัดแสดงสง่างามยามยล ฉายเรื่องราวของพระราชวังพญาไทบนผนังภายในอาคาร  

   

การจัดแสดงสวนดอกบัว แสดงความเคารพในรัชกาลที่ 6

     

ถ่ายรูปในดอกบัวสวยๆ

 โซนที่ 4 ชมพลังแห่งพญามังกร กับประติมากรรมนูนต่ำชิ้นเก่าแก่ พญามังกรถือวชิราวุธ เปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์แทนปีพระราชสมภพของรัชกาลที่ 6 อลังการกับการประดับตกแต่งสวนโรมัน ด้วยดอกกุหลาบสีแดงกว่า 2,466 ดอก ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากปีที่พระราชนิพนธ์เรื่อง มัทนะพาธา สำเร็จ  พร้อมชมการแสดงรำ ประกอบแสงสีแสง ตรงสวนระเบียงด้านหลังของพระที่นั่งพิมานจักรี ทุกวัน วันละ 5 รอบ เวลา 19.00 น., 19.30 น., 20.00 น., 20.30 น. และ 21.00 น.

ลานดอกบัวขาว ส่องสว่างสวยงาม

 โซนที่ 5 บริเวณสนามหญ้า ถัดจากสวนโรมัน ซึ่งเดิมเคยเป็นพื้นที่ในการตั้งเมืองจำลองดุสิตธานี ซึ่งในตอนนี้ได้รังสรรค์ด้วยการจัดแสดงไฟนับพันดวงด้วยเทคนิค Glass Screens ซึ่งมีการจัดเป็นดอกบัวแฮนด์เมดที่แทนเคารพต่อรัชกาลที6 สามารถที่จะเข้าไปถ่ายรูปได้ และต้นไม้ใหญ่ในสนามหญ้าที่มีการจัดแสดงสี พร้อมด้วยช่อไฟระยิบระยับที่แทนแสงของหิ้งห้อยในยามค่ำคืน ราวกับว่ามีหิ้งห้อยบินวนอยู่รอบตัว อีกส่วนคือการฉายวัดทองบนจอสมาร์ทกลาส ท่ามกลางสวนดอกกุหลาบไฟสีขาว

ต้นไม้ใหญ่ท่ามกลางหิ้งห้อย

มาถึงโซนสุดท้าย โซนที่ 6 อีกฝั่งของพระราชวังพญาไท บริเวณจุดสักการะท้าวหิรัญพนาสูร และพระนาคปรก ตลอดทางเดินสู่จุดสักการะต้นไม้ระหว่างสองฝั่งทางเดิน จะพบการย้อมไฟใส่ต้นไม้ และสวนดอกบัวนับพันดอกด้วยเทคนิคไฟย้อมสี ทำให้ในยามราตรีนี้สว่างงดงาม

ทางเดินประดัยด้วยการย้อมไฟใส่ต้นไม้ สู่จุดสักการะท้าวหิรัญพนาสูรและพระนาคปรก

สนใจร่วมชมงานเฉลิมฉลอง “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (NIGHT MUSEUM) สามารถจองบัตรผ่าน 3 ช่องทาง คือ  ZIP EVENT, KK DAY และ AGODA สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: 101wangphyathai

ท้าวหิรัญพนาสูรและพระนาคปรก
พระนาคปรก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กฟผ. ชวนคนไทยชมนิทรรศการ “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” ร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9

วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9)

'ป๊อบ ปองกูล' เปิดตัวอัลบั้ม 'Human Error' พร้อมจัดนิทรรศการสุดอาร์ต!

ยังคงผลิตผลงานเพลงคุณภาพออกมาต่อเนื่อง สำหรับ “ป๊อบ-ปองกูล สืบซึ้ง” ศิลปินเสียงนุ่มอารมณ์ดีสังกัด White Music ในเครือ GMM GRAMMY แถมแต่ละเพลงยังฮิตฮอตโดนใจแฟนเพลงไม่ว่าจะส่งมากี่ซิงเกิล และในอัลบั้มใหม่ล่าสุด Human Error ทุกเพลงก็ได้กระแสตอบรับที่ดีจากแฟนเพลงเช่นกัน อย่างในซิงเกิลแรก “สลักจิต Feat. ดา เอ็นโดรฟิน” ยอดวิวพุ่งเกือบ 100 ล้านวิว รวมถึงติด Trending อันดับ1 และ ขึ้นอันดับ 1 Top Thai Songs ของ Billboard Chart อีกด้วย เรียกว่าส่งเพลงไหนออกมาดังปังทุกเพลง

สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547

เฟซบุ๊กเพจ Deep South Museum ระบุข้อความ นับถอยหลังสู่วันเปิดนิทรรศการ สดับเสียงเงียบ: จดจำตากใบ 2547  พบกับกิจกรรมเปิดตัวนิทรรศการ และแนะนำโครงการจัดตั้งพิพิภัณฑ์และหอจดหมายเหตุจังหวัดชายแดนใต้