ส่องสุขภาพ'มอเตอร์ไซด์รับจ้าง'ใน กทม.

“มอเตอร์ไซด์รับจ้าง” เป็นอาชีพที่ใกล้ชิดกับชาวกรุงเทพฯ ทั้งรับส่งผู้โดยสารและเอกสาร ผลจากปัญหาจราจรและความเร่งรีบในการเดินทางของคนเมือง  แม้จะเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตรายบนท้องถนนกรุงเทพฯ แต่พวกเขาก็ไม่บอกลางานอิสระนี้ เพราะประกอบอาชีพได้ง่าย สร้างรายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว จากข้อมูลปัจจุบันมีคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างขึ้นทะเบียนกับกรุงเทพมหานครไม่ต่ำกว่า 8.9 หมื่นคน แต่ในความเป็นจริงผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้างใน กทม. ไม่ต่ำกว่าสองแสนคน แนวโน้มขยายตัวมากขึ้น เพราะถือเป็นระบบขนส่งรองเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนในมหานคร

ชีวิตบนเบาะมอเตอร์ไซต์ตลอดวัน นอกจากอุบัติเหตุจากการขับขี่ที่แลกด้วยชีวิตหรือบาดเจ็บแล้ว  ปัญหาที่มอเตอร์ไซด์รับจ้างเผชิญจากรายงาน “การศึกษาสุขภาวะความปลอดภัยในการทำงานและภูมิคุ้มกันยาเสพติดในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง  จังหวัดกรุงเทพมหานคร “ ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) กรุงเทพมหานคร   มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิรักษ์ไทย โดยสุ่มตัวอย่างจากวินในกรุงเทพชั้นใน ชั้นกลางและชั้นนอก

พบว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่ต้องรับมลพิษในอากาศเป็นประจำ ทำให้มีปัญหาสายตาพร่ามัว ปอดต้องทำงานหนัก เพราะวินส่วนใหญ่ไม่ได้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นพิษ PM2.5 ขณะเดียวกันการวิ่งรถในชุมชนที่มีลูกระนาดมาก และเป็นหลุมบ่อทำให้มีอาการปวดหลังบ่อย และเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย 

งานวิจัยนี้ชี้ว่า 75% ของวินไม่ทราบว่าตนเป็นโรคอะไร เพราะไม่ตรวจสุขภาพ อีก 25% ได้ตรวจสุขภาพและพบโรคที่เป็นมากที่สุด อันดับ1 ความดันโลหิตสูง รองลงมา เบาหวาน  กระเพาะอาหาร  ไขมันในเลือด หลอดเลือดหัวใจ/สมอง และโรคภูมิแพ้ แถมอัตราสูบบุหรี่และดื่มสุราสูงกว่าคนทั่วไป คือ สูบบุหรี่ร้อยละ 59  และดื่มเหล้า ร้อยละ 57

มานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส.  กล่าวว่า วินมอเตอร์ไซต์รับจ้างเป็นกลุ่มแรงงานที่ใกล้ชิดกับความปลอดภัยของประชาชน ผลสำรวจด้านสารเสพติดจากกลุ่มตัวอย่างโครงการฯ พบว่า มีการใช้กระท่อมมากขึ้นเพื่อให้มีเรี่ยวแรงในการทำงาน โดยใช้การเคี้ยวใบและดื่มน้ำต้มใบกระท่อม รวมทั้งใช้กัญชาประปรายเพื่อให้นอนหลับ ส่วนเครื่องดื่มชูกำลังใช้กันทั่วไปเพื่อให้มีความสดชื่นในการทำงานเฉลี่ยคนละ 1-2 ขวดต่อวัน รวมทั้งความเสี่ยงจากการทำงานหรืออาศัยอยู่ในชุมชนที่ยาเสพติดแพร่ระบาด ทั้งยังมีความไม่มั่นคงในอาชีพจากการเป็นแรงงานนอกระบบที่ขาดสวัสดิการและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ ทำให้มีหนี้นอกระบบ

“ เราตระหนักในปัญหาจึงสนับสนุนการป้องกันยาเสพติด  ด้านสุขภาพร่วมกับภาคีให้ความรู้เสริมสุขภาพป้องกันยาเสพติด เช่น ผลดีผลเสียการใช้พืชกระท่อม  การใช้กัญชาแบบไหนผิดกฎหมายและเสี่ยงต่อสุขภาพ ด้านการเฝ้าระวังยาเสพติดเดินหน้าภายใต้โครงการ“วินสีขาว” ผลักดันให้สำนักงานเขตมีส่วนร่วมในการดูแล เฝ้าระวังปัญหา มีกิจกรรมตรวจปัสสาวะเพื่อแสดงเจตนารมณ์วินสีขาว สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ ตลอดจนดูแลพื้นที่ชุมชนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย “ รองเลขาฯ ป.ป.ส. ระบุ

ทวี น้อยจาด ขับมอเตอร์ไซด์รับจ้างมาหลายสิบปี  เป็นประธานวินพหลโยธิน 34 กล่าวว่า วินมักมีปัญหาสุขภาพ สูบบุหรี่จัด ดื่มน้ำกระท่อม ไม่ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยจากการขับขี่  ตนและเพื่อนร่วมวินอาศัยประสบการณ์ส่วนตัวในการว่ากล่าวตักเตือนหรือห้ามปราม  ตอนนี้ตนและสมาชิกวินได้ร่วมโครงการฯ กับ สสส. นำองค์ความรู้เรื่องสุขภาวะ ความปลอดภัยในการทำงาน และภูมิคุ้มกันยาเสพติดมาปฏิบัติจริงอย่างต่อเนื่อง จนสามารถลด ละ เลิก เหล้า และบุหรี่ รวมถึงสารเสพติดอื่นๆ ได้ สมาชิกวินเกิดเป็นความภาคภูมิใจ และนำชุดข้อมูลสื่อสุขภาวะไปสื่อสารต่อให้ครอบครัว เพื่อน ชุมชนใกล้เคียงมากกว่า 140 หลังคาเรือน ทำให้เห็นอาชีพวินก็สร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้ จากนี้ไปกลุ่มสมาชิกวินมอเตอร์ไซค์ ตั้งใจจะร่วมรณรงค์ลดปัญหายาเสพติดให้เป็นศูนย์ ส่งเสริมให้เพื่อนวินมีสุขภาพที่ดีมากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความไว้วางใจและได้รับบริการที่มีความปลอดภัย ลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

นอกจากผลวิจัยจากวินในหลายพื้นที่แล้ว โปรเจ็กต์นี้ดำเนินงานพัฒนาสุขภาวะความปลอดภัยในการทำงาน และภูมิคุ้มกันยาเสพติดในกลุ่มอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพฯ นำร่อง 13 เขต จำนวน 2,426 คน ได้แก่ จตุจักร หลักสี่ บางกะปิ บางเขน บางกอกน้อย จอมทอง ทุ่งครุ ธนบุรี วังทองหลาง ลาดพร้าว มีนบุรี บางบอน และคันนายาว เน้นส่งเสริมให้ผู้ขับขี่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงาน และภูมิคุ้มกันยาเสพติด โดยจัดอบรมหลักสูตรพัฒนาสุขภาวะให้ความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้องและมาตรฐานความปลอดภัยในอาชีพ สามารถพัฒนาเป็นแกนนำได้ 175 คน

ตอนนี้เกิดวินมอเตอร์ไซค์ต้นแบบ 3 พื้นที่ บอกลาอันตรายบนถนนและสารเสพติด เพื่อทำอาชีพนี้อย่างมีความสุข วินซอยพหลโยธิน 34 เป็นวินต้นแบบด้านการสร้างมาตรฐานอาชีพ เป็นวินไร้สารเสพติด ไม่ดื่มสุราขณะปฏิบัติงาน การแต่งกายสะอาด ถูกต้องตามระเบียบที่ขนส่งกำหนด แต่งกายรัดกุมเสื้อแขนยาวสีน้ำเงิน รองเท้าผ้าใบ รถ125 ซีซี  ไม่ขับรถเร็ว ตรวจสภาพรถตามระยะเวลาที่กำหนด ผู้ขับขี่สวมแมส ถ้าอยู่คนละฝั่งไม่ให้ผู้โดยสารข้ามถนนมาหาวิน แต่จะวิ่งไปหาผู้โดยสารเพื่อความปลอดภัย บริการสุภาพ การส่งผู้โดยสารในยามวิกาล ให้รอส่งให้ผู้โดยสารเข้าบ้านเรียบร้อยจึงออกรถมา  ไม่เรียกเงินเกินอัตราที่ตั้งไว้ ถ้ามีเรียกเกินจะต้องถูกหัวหน้าวินตักเตือน ทำเกิน 3 ครั้งสั่งพักงาน

วินนี้ให้โอกาสในการทำงาน ถ้าไม่เลิกเสพยาไม่ให้ขับต่อ หลายคนหักดิบเพราะต้องการมีเงินใช้ ถือเป็น “วินบำบัด” มีสวัสดิการกรณีวินเสียชีวิตได้รับ 50,000 บาท พ่อแม่ ลูก เมีย ได้ 30,000-40,000 บาท  จากการบริจาคของเพื่อนวินคนละ 100-200 บาท  ซึ่งไม่บังคับ เพื่อนวินยินดี และหัวหน้าสมทบ 20,000 บาท

วินวัดอัมพวาและเครือข่าย พื้นที่ต้นแบบด้านการทำงานเครือข่ายเข้มแข็ง โดยมีวินวัดอัมพวาเป็นแม่ข่ายและวินอิสรภาพคอนโด เขตธนบุรี) และชาวสวนสัมพันธ์ เขตจอมทอง เป็นลูกข่าย แม่ข่ายจะมีความสัมพันธ์ที่เอื้อเฟื้อให้ลูกข่ายมาเรียนรู้และเข้าร่วมงานต่างๆ  เครือข่ายทั้ง 3 พื้นที่มีประสบการณ์การทำงานด้านยาเสพติดมายาวนาน และเกาะติดสถานการณ์ยาเสพติด ทำงานชัดเจนป้องกันไม่ให้เกิดนักเสพหน้าใหม่ ส่วนหนึ่งของวินเคยเป็นผู้ค้าผู้เสพที่กลับใจและเปลี่ยนมาเป็นผู้ทำประโยชน์ให้กับชุมชนโ ดยชุมชนหยิบยื่นโอกาสให้ขับวินรับจ้าง

ขณะที่ วินอนันต์สุขสันต์รุ่น 18-20 และเครือข่าย พื้นที่ต้นแบบด้านการสร้างกลยุทธ์เผยแพร่ข้อมูลใช้เครือข่าย อพปร. หัวหน้าชุมชน เลขาชุมชน หัวหน้าวิน ประธานชุมชน กรรมการชุมชน ไปขับเคลื่อนงาน มีการทำงานเชิงรุกโดยการลงพื้นที่สร้างการรับรู้ เปิดเวทีพูดคุยประเด็นสุขภาวะกับชุมชน เพื่อนร่วมอาชีพ และส่งต่อความรู้ในการขยายเครือข่ายด้วยความภาคภูมิใจในอาชีพที่มีศักดิ์ศรีของตน

เสียงสะท้อนจากอาชีพวินใน กทม. ต่อภาครัฐ ที่อยากส่งต่อจากโครงการฯ พวกเขายังต้องการความช่วยเหลือทั้งกองทุนกู้ยืมโดยรัฐที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ผ่อนน้อย และดอกเบี้ยต่ำ ,ประกันชีวิตส่วนบุคคลที่เบี้ยประกันน้อย แต่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และมีเงินชดเชยรายได้กรณีที่ยังไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ,จัดรอบจดทะเบียนผู้ประกอบวินให้เร็วขึ้น สะดวกขึ้น เหล่าพี่วินเสนอให้มีศูนย์บริการย่อยในแต่ละเขตแทนที่จะให้ไปดำเนินการที่ขนส่งเพียงแห่งเดียว อีกข้อเรียกร้องต้องการให้มีหน่วยตรวจสุขภาพเคลื่อนที่บริการฟรีหรือจ่ายน้อยให้กับวิน เพื่อจะได้ทราบว่าควรจะต้องดูแลตนเองอย่างไรท่ามกลางการทำงานบริการที่เสี่ยงตายผ่อนส่งอีกด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แซ็ก I-Zax' รับสารภาพใช้ไลน์สั่งซื้อ 'ยาไอซ์' ทุกวันๆละ 1-2 กรัม นาน 2 ปี

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วย นายปฤณ เมฆานันท์ ผู้อำนวยการสำนักปราบปรามยาเสพ

อึ้ง! โรค Stroke คร่าชีวิตคนไทยสูงเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็ง สสส. สานพลัง อบจ.ขอนแก่น ปักหมุด ชุมชนบ้านกุดโง้ง แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 17 มี.ค. 2568 ที่วัดเหนือสำโรง ชุมชนบ้านกุดโง้ง ต.หนองโน อ.กระนวน จ.ขอนแก่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สสส. ร่วมกับ จุฬาฯ ร่วมรณรงค์ World Kidney Day สร้างการรับรู้ควบคู่การดูแล เร่งสื่อสารการใช้ยาเพื่อลดความเสี่ยงโรคไต

“วันไตโลก ปี 68” คนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นจาก 9.8 แสนคน เป็น 1.13 ล้านคน สูญเสียปีสุขภาวะเร็วขึ้น 3.14 เท่า! เหตุบริโภคเค็ม-ใช้ยาไม่ถูกต้อง-เกินความจำเป็น เผยประชาชนเข้าใจเรื่องการใช้ยาที่ถูกต้องแค่ 64.9% สสส. สานพลัง จุฬาฯ สร้างการรับรู้ควบคู่การดูแล เร่งสื่อสารการใช้ยาเพื่อลดความเสี่ยงโรคไต

รวมพลังชุมชน ขับเคลื่อนการจัดการป่า ลดฝุ่นควัน สร้างสุขภาวะที่ดี

กรุงเทพฯ/12 มีนาคม 68 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)หรือ พอช. จับมือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ การขับเคลื่อนการจัดการป่าชุมชนเพื่อลดฝุ่นตวันและสร้างสุข

สสส.-พอช. ผนึกกำลัง 16 จังหวัด เดินหน้าป่าชุมชน ลดเผา-แก้ PM2.5 อย่างยั่งยืน

สสส. จับมือ พอช. และภาคีเครือข่าย เดินหน้าบริหารจัดการป่าชุมชน 60 แห่งใน 16 จังหวัดทั่วประเทศ เร่งแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เสริมศักยภาพชุมชนลดการเผา พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการป่าอย่างยั่งยืน มุ่งสู่สังคมอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพประชาชน