ยื่นปปช.ฟันสส.พบเจ้าของคอก

เพื่อไทยหนาว! "ศรีสุวรรณ"  เตรียมร้อง ป.ป.ช. ไต่สวนและวินิจฉัยเอาผิด ส.ส.ทั้งหมดที่เดินทางไปพบ "ทักษิณ"  ที่สิงคโปร์ ชี้เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นการคบหาสมาคมกับผู้ประพฤติผิดกฎหมาย  ขณะที่ "เกรียง" โต้ แค่บังเอิญ พรรคเล็ก แจงนัดกินข้าวกันเอง มั่นใจ 80% "ธรรมนัส" ร่วมวงด้วย ไม่ได้แสดงพลังแลกกล้วย

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า ตามที่สื่อมวลชนได้รายงานว่ามีแกนนำและ ส.ส.พรรคเพื่อไทยราว 6-7 คนในพื้นที่อีสาน นำโดยนายเกรียง กัลป์ตินันท์ แกนนำภาคอีสาน, นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี และประธาน ส.ส.อีสาน และนางสมหญิง บัวบุตร ส.ส.อำนาจเจริญ เป็นต้น เดินทางจากประเทศไทยไปพบนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เดินทางมาพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพประจำปีที่ประเทศสิงคโปร์ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนเป็นอย่างมากถึงความเหมาะสมในการไปพบปะกันดังกล่าว เนื่องจากนายทักษิณนั้นถูกศาลฎีกาพิพากษาสั่งจำคุกแล้ว 6 คดี รวมโทษ 12 ปี ยกฟ้อง 2 คดี และยังเหลือไต่สวนในชั้น ป.ป.ช.อีก 2 คดี ขณะนี้ถือว่าเป็นผู้ต้องหาหรือนักโทษหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ

ดังนั้น การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชนด้านนิติบัญญัติ เดินทางไปพบปะหรือคบค้าสมาคมด้วยนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เนื่องจากเป็นการคบหาสมาคมกับผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ และก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดํารงตําแหน่งได้

  ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจึงจะนำความไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.นนทบุรี ในวันศุกร์ที่ 11 มี.ค.65 เวลา 10.00 น. เพื่อขอให้ดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยเอาผิด ส.ส.ทั้งหมดที่เดินทางไปพบปะนายทักษิณดังกล่าวตามครรลองของกฎหมายต่อไป

ด้านนายเกรียง กัลป์ตินันท์ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีมีภาพปรากฏนั่งรับประทานอาหารร่วมกับนายทักษิณว่า ตนจองทัวร์เพื่อไปสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 2563 แต่ติดปัญหาโควิด ทัวร์เพิ่งแจ้งว่าเดินทางไปได้ช่วงนี้ ตนและผู้แทนในพื้นที่อีสานประมาณกว่า 10 คน พร้อมด้วยลูกเมียรวมแล้วกว่า 20 คนจึงเดินทางไปพักผ่อน และไปทานข้าวตามที่ทัวร์เขาจัดให้ปกติ ซึ่งได้พบนายทักษิณ ที่ไปพร้อมกับน้องชายที่ห้องอาหารแห่งนั้นโดยบังเอิญ ต่างคนต่างนั่งโต๊ะตัวเอง เพราะทางร้านอาหารให้นั่งโต๊ะละไม่กี่คน แต่ก็ได้มีโอกาสไปนั่งร่วมโต๊ะพูดคุยกันนิดหน่อย เนื้อหาที่พูดคุยก็เป็นเรื่องทั่วไปถามสารทุกข์สุกดิบ สัพเพเหระ เพราะนานๆ จะเจอกันสักครั้ง ไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการเมืองแต่อย่างใด

ขณะที่นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร พรรคเศรษฐกิจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการรับประทานค่ำของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวในวงรับประทานอาหารว่าเสียงพรรคเศรษฐกิจไทยจะยังสนับสนุนรัฐบาลต่อไป ยกเว้นเสียงเดียวที่อาจจะมีปัญหาคือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย ว่าทางพรรคได้สอบถามพล.อ.ประวิตรแล้ว พล.อ.ประวิตรยืนยันไม่ได้พูดอย่างที่เป็นข่าว ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ไม่ต้องไปกลัวฝ่ายค้านจะพูดอะไร หากไม่ได้ทำอะไรอย่างที่ฝ่ายค้านพูด ทั้งนี้ สำหรับพรรคสร้างอนาคตไทย ยังย้ำจุดยืนเดิมคือ ยึดประโยชน์และความต้องการของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก 

นายไผ่กล่าวว่า ส่วนการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 65 พรรคเศรษฐกิจไทย วันที่ 18 มี.ค. จะมีการปรับเปลี่บนกรรมการบริหารพรรค เพื่อให้มีการหารือวางนโยบายพรรคให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเปิดโลโก้พรรค หลังจากนั้นจะมีการวางแผนยุทธศาสตร์พรรค และหลังจากบ้านหลังนี้รีโนเวตเสร็จ วันข้างหน้าจะเห็นผู้มาร่วมงานพรรคแน่

นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทรักธรรม กล่าวถึงกระแสข่าว ร.อ.ธรรมนัส นัด ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย รวมถึงหัวหน้าพรรคเล็ก รับประทานกลางวัน ในวันที่ 11 มี.ค. เวลา 12.00 น. ที่โรงแรมโกลเดน ทิวลิป ซอฟเฟอริน พระราม 9 ว่าการนัดหมายดังกล่าวเป็นของพรรคเล็ก 7-8 พรรค ประมาณ 10 คน นัดหารือกินข้าวกันเอง นัดกันมาตั้งแต่ก่อนปิดสมัยประชุมสภาแล้ว แต่เพิ่งมีเวลาว่างตรงกันในวันที่ 11 มี.ค. ไม่ใช่ ร.อ.ธรรมนัสเป็นคนนัดหมายพรรคเล็กกินข้าว เป็นการนัดหมายกินข้าวในหมู่พรรคเล็กเอง เพื่อหารือเรื่องการแก้กติกาเลือกตั้งเป็นบัตร 2 ใบ ที่พรรคเล็กได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม เมื่อ ร.อ.ธรรมนัสทราบว่าพรรคเล็กนัดหารือกินข้าวในวันดังกล่าว ได้โทรศัพท์มาสอบถาม จึงชี้แจงไปว่าพรรคเล็กนัดหมายกินข้าวกันจริง ซึ่งร.อ.ธรรมนัสก็ไม่ได้รับปากจะมาร่วมรับประทานอาหารกับพรรคเล็กในวันที่ 11 มี.ค. แต่ส่วนตัวเชื่อเกิน 80% ว่า ร.อ.ธรรมนัสจะมารับประทานอาหารกับพรรคเล็ก

ด้านนายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ กล่าวว่า ตนเป็นคนนัดพรรคเล็กเอง เพราะพรรคเล็กนัดรับประทานอาหารร่วมกันเป็นปกติอยู่แล้ว เพื่อพูดคุยเรื่องการเมือง เรื่องรัฐบาล การนับเสียงของรัฐบาลว่าตอนนี้มีเท่าไหร่ อย่างไร เหลือขาดและพอหรือไม่ ตอนนี้มีคนตอบรับมาร่วมรับประทานอาหารแล้วหลายคน แต่ยังไม่รู้มีกลุ่ม 16 จะมาร่วมด้วยหรือไม่ ยืนยันว่าการนัดรับประทานอาหารครั้งนี้ไม่ใช่การแสดงพลังเรียกร้องอะไร ไม่มีเรื่องกล้วยหรือต่อรองการเมืองใดๆ เรายังเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ ในวันที่ 11มี.ค. หลังจากพรรคเล็กรับประทานอาหารแล้ว จะแถลงท่าทีกลุ่มพรรคเล็กว่าเป็นอย่างไร

ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับที่.. พ.ศ. ... ที่มีนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน กมธ.โดยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่ามี กมธ.ลาประชุมคือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้ารรคพลังประชารัฐ,  นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ, พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ส.ว. และ พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ ส.ว.

นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ….. แถลงผลการประชุม กมธ.ฯ ว่า มาตรา 1 และมาตรา 2 ไม่มีการแก้ไข แต่แก้ไขมาตรา 2/1 เกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคการเมือง คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมือง กมธ.ส่วนใหญ่พิจารณาแล้วเห็นว่า การจัดตั้งพรรคการเมืองต้องเป็นเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไป และคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 9 ของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองปี 2560 กำหนดไว้ว่าต้องพิจารณาให้รอบคอบ รอบด้าน ว่าควรกำหนดไว้เพียงใด โดยพิจารณามาตรา 96 และมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญปี 60 ประกอบด้วย จึงได้มอบหมายให้นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการ กมธ. ไปพิจารณาในประเด็นนี้ แล้วนำกลับมาเสนอต่อ กมธ.

โฆษก กมธ.กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรา 3 เกี่ยวกับค่าบำรุงพรรคการเมือง ที่เรียกเก็บจากสมาชิกพรรคการเมือง โดย กมธ.ส่วนหนึ่งเห็นว่า กำหนดจากจำนวนค่าบำรุงไว้ในอนุมาตรา 15 ของมาตรา 15 ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่ง กมธ.ส่วนหนึ่งเห็นด้วยให้กำหนดไว้ในข้อบังคับพรรคการเมือง ไม่ควรกำหนดไว้ในร่างฯ นอกจากนี้ กมธ. ส่วนหนึ่งเห็นว่าอาจกำหนดให้พรรคการเมืองพิจารณาเรียกเก็บค่าบำรุงพรรคจากสมาชิกหรือไม่ก็ได้ตามดุลยพินิจของพรรคการเมืองนั้นๆ เดิมทีค่าสมัครสมาชิกพรรคการเมืองเป็นแบบรายปี จำนวน 100 บาท และแบบตลอดชีพจำนวน 2,000 บาท ถือเป็นอัตราที่สูง ที่ประชุมจึงมีข้อถกเถียงกันว่าค่าสมัครสมาชิกพรรคแบบตลอดชีพเป็นอุปสรรคในการหาสมาชิกพรรค และการทำภารกิจของพรรค จึงเสนอให้เอาไว้ในข้อบังคับพรรค แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป จึงมีการพักการประชุม และจะพิจารณาในประเด็นดังกล่าวในสัปดาห์ต่อไป

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. ในฐานะอดีตโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ชุดของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน กล่าวต่อกรณีที่มีข้อเสนอของพรรคการเมืองและ ส.ส.​ต้องการให้ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบปันส่วนผสม หรือ MMP ว่า ในสมัยที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญและบัญญัติความให้มี ส.ส.พึงมีนั้น สาระสำคัญที่เขียนไว้ชัดเจนคือ ให้คำนวณหา ส.ส.จากคะแนนทั้งหมดที่มีและหารด้วยจำนวน ส.ส.ที่มี 500 คน จากนั้นให้นำคะแนนเฉลี่ยที่ไปคำนวณหาก ส.ส.ที่พรรคจะได้ โดยหักจาก ส.ส.เขตเลือกตั้ง ต่อมาในสมัยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้นำวิธีคิดดังกล่าวไปใช้ แต่ปรับให้เป็นบัตรใบเดียว ดังนั้นจากที่จะนำคะแนนทั้งหมด ไปคำนวณหา ส.ส. ให้ใช้แค่คะแนนเลือกตั้งเขต เพราะมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว

"คำว่าพึงมี หมายถึงเป็นแต่ละกรณี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 นั้นหมายถึง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ดังนั้นการหาคะแนนเฉลี่ยต้องใช้จำนวน 100 หาร และไม่สามารถย้อนไปใช้สูตรแบบ MMP ได้อีก เพราะรัฐสภาได้เห็นชอบให้ใช้ระบบคำนวณแบบคู่ขนานแล้ว อีกทั้งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่รัฐสภา รับหลักการทั้ง 4 ฉบับเขียนเนื้อหาไว้เหมือนกันคือ ให้คำนวณโดยใช้ 100 หาร ส่วนที่มีคนเสนอให้ใช้ 500 หารนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง” พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว

  พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นทุกคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ ความหมายคือ ไม่ตัดเศษ หรือใช้เปอร์เซ็นต์คะแนนขั้นต่ำ เช่น 1% กำหนดเกณฑ์ที่พรรคจะได้ ส.ส. ดังนั้นทุกคะแนนที่ประชาชนเลือก ส.ส.จะนำมาคิดคำนวณทั้งหมด ส่วนที่มีบางพรรคนำคำว่าเสียงไม่ตกน้ำไปใช้ เพราะต้องการให้ตนเองได้ประโยชน์ ได้คะแนนเลือกตั้งแค่ 3 หมื่นคะแนน แต่อยากได้ ส.ส. ซึ่งกรณีดังกล่าวตนมองว่าเป็นการทำลายการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย คะแนนไม่ตกน้ำ คือไม่นำเปอร์เซ็นต์ขั้นต่ำมาใช้ หากเอามาใช้จะทำให้คะแนนที่เลือกพรรคไม่ครบตามเกณฑ์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง