เปิดแล้วสนามบินเบตง กระตุ้นศก.ชายแดนใต้

"ประยุทธ์" เป็นประธานในพิธีเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ปฐมฤกษ์ ท่าอากาศยานเบตง เพื่อพัฒนาระบบการขนส่งในพื้นที่จังหวัดยะลา กระตุ้นเศรษฐกิจและความมั่นคง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

กระทรวงคมนาคม โดยกรมท่าอากาศยาน (ทย.)  พร้อมเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ปฐมฤกษ์ ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา ตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แก้ไขปัญหาการเดินทางสู่อำเภอเบตงที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ไม่สะดวกต่อการเดินทาง ให้สามารถสัญจรไปมาได้อย่างสะดวกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมทั้งกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

ในการนี้ พลเอกประยุทธ์ได้ร่วมเดินทางไปกับเที่ยวบินพาณิชย์ปฐมฤกษ์ และเป็นประธานในพิธีเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ปฐมฤกษ์ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข, พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา  รมว.มหาดไทย, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม,  นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม, นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายชยธรรม์ พรหมศร  ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมเดินทางไปกับเที่ยวบินพาณิชย์ปฐมฤกษ์ดังกล่าว โดยมีนายปริญญา แสงสุวรรณ  อธิบดีกรมท่าอากาศยาน, นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา, นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, นายทินกร ชูวงศ์  รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด พร้อมหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนเข้าร่วมพิธี ในวันจันทร์ที่ 14 มีนาคม 2565  ณ อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานเบตง ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า อำเภอเบตงเป็นอำเภอใต้สุดของประเทศไทย ติดกับชายแดนของประเทศมาเลเซีย ถือเป็นเมืองชายแดนที่มีการเคลื่อนไหวทางธุรกิจและการค้าขายสูง ประกอบกับมีการผสมผสานทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและประเพณีต่างๆ รวมถึงภาษาที่หลากหลาย  ธรรมชาติมีความสวยงาม ทำให้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อรองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบ รัฐบาลจึงได้มอบให้กระทรวงคมนาคม ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการยกระดับการให้บริการประชาชน ด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการคมนาคมขนส่งให้มีความคุ้มค่าและทั่วถึง ดำเนินการพัฒนาระบบการขนส่งของพื้นที่จังหวัดยะลา โดยมีแนวทางที่สำคัญคือ  การพัฒนาบริการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล รวมทั้งพัฒนาด่านศุลกากรชายแดน  ศูนย์เศรษฐกิจชายแดน และการอำนวยความสะดวกผ่านแดนที่รวดเร็ว ตลอดจนผลักดันการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งทางบกและทางอากาศ เพื่อให้เกิดระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ สามารถรองรับการค้าและการลงทุนที่จะสูงขึ้นจากการเป็นประชาคมอาเซียน

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์มีนโยบายพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ จึงมีดำริให้ขยายขีดความสามารถของระบบท่าอากาศยานภูมิภาค เพื่อสร้างประโยชน์ให้ประชาชนในหลายด้าน เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ และสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย กระทรวงคมนาคมโดยกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง  ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 และนโยบายการพัฒนา 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว  เนื่องจากอำเภอเบตงมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้แก่จังหวัดรองจากอําเภอเมืองยะลา แต่การเดินทางในปัจจุบันต้องอาศัยทางถนนเป็นหลัก ซึ่งสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ถนนแคบและคดเคี้ยวลาดชันเป็นช่วงๆ ทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางจากอำเภอเบตงไปยังเมืองอื่นๆ

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการคมนาคมของ อําเภอเบตงและพื้นที่ใกล้เคียง ท่าอากาศยานเบตงจึงเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางการบินสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นอย่างดี ท่าอากาศยานเบตงได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 ซึ่งมีความพร้อมให้บริการตามมาตรฐาน เริ่มให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์แรกโดยสายการบินนกแอร์ เส้นทางกรุงเทพฯ-เบตง-กรุงเทพฯ ในวันที่ 14 มีนาคม 2565 ซึ่งเส้นทางการบินและการขึ้น-ลงของอากาศยานจะอยู่ในน่านฟ้าของประเทศไทยเท่านั้น นอกจากเส้นทางให้บริการภายในประเทศแล้ว ท่าอากาศยานเบตงยังมีความพร้อมที่จะมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Regional  Hub) เส้นทางระหว่างประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ในอนาคตด้วย

ท่าอากาศยานเบตงเป็นท่าอากาศยานแห่งที่ 29  ของ ทย. เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2560 แล้วเสร็จในปี  2562 ตั้งอยู่ในตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา  บนพื้นที่ 920 ไร่ ประกอบด้วย ทางขับจำนวน 2 เส้น ทางวิ่ง กว้าง 30 เมตร ยาว 1,800 เมตร ลานจอดเครื่องบินรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง (ATR-72  และ Q-400) จำนวน 3 ลำ อาคารที่พักผู้โดยสารมีพื้นที่ใช้สอยขนาด 7,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 300 คนต่อชั่วโมง หรือ 800,000 คนต่อปี และลานจอดรถยนต์จำนวน 140 คัน จะเริ่มให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์แรกโดยสายการบินนกแอร์ เส้นทางกรุงเทพฯ-เบตง-กรุงเทพฯ ในวันที่ 14 มี.ค.65 โดยให้บริการ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (วันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์) และดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ตามประกาศของ กพท.และกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการ

ทั้งนี้ ทย.อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของแผนพัฒนาท่าอากาศยานเบตง ด้วยการเพิ่มความยาวทางวิ่งอีก 700 เมตร เป็น 2,500 เมตร เพิ่มความกว้างทางวิ่งเป็น 45 เมตร ขยายทางขับจาก 18 เมตร เป็น  23 เมตร ขยายลานจอดเครื่องบินจากเดิมที่มีขนาด 94x180 เมตร เป็นขนาด 94x240 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาด 180 ที่นั่ง ได้ 3 ลำพร้อมกัน  (A380 และ B737-800) และขยายพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่งไปทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกอีก  240 เมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยาน  เติมเต็มโครงข่ายคมนาคมทางอากาศของไทย เสริมความมั่นคงแข็งแกร่งให้ชายแดนใต้ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค และเปิดประตูการค้าและโลจิสติกส์ให้กว้างไกลในเวทีโลก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอชัย' โนคอมเมนต์ นายกฯ ทาบ 'จักรพล' นั่งโฆษกรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีทาบทามนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง