เปิดศึกชิงผู้ว่าฯกทม. สมัครวันแรก20ราย-สก.343/นัด5เมย.แจงข้อควรปฏิบัติ

คึกคัก! เปิดสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. วันแรก 20 ราย ส.ก. 343 คน ผู้สมัครทุกคนแฮปปี้จับหมายเลข “วิโรจน์” โหนรถเมล์มาได้เบอร์ 1 “สกลธี”เบอร์ 3 “ดร.เอ้” เบอร์ 4 อดีตผู้ว่าฯ อัศวินเบอร์ 6 “รสนา” เบอร์ 7 “ชัชชาติ” ปั่นจักรยานมาจับได้เบอร์ 8 “ศิธา” เบอร์ 11 “กกต.” ขอเวลา 7 วันหลังปิดรับสมัคร 4 เม.ย. ตรวจสอบคุณสมบัติ เตือนศึกษากม.ก่อนลงหาเสียงให้ดี นัดผู้สมัคร 5 เม.ย. ประชุมสมานฉันท์แจงข้อควรปฏิบัติ “บิ๊กป้อม” ไม่ตอบเชียร์ใครนั่งพ่อเมืองกรุง “พท.” ออกตัวปัดฮั้วชัชชาติ “ลุงกำนัน”ชัดเจนหนุนสกลธี

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 วันที่ 31 มี.ค. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำกรุงเทพมหานคร ได้เปิดสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ( ส.ก.) ทั้ง 50 เขต เป็นวันแรก หลังจากที่ กกต.ประกาศกำหนดให้มีการรับสมัครตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.-4 เม.ย. และกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค.2565

โดยบรรยากาศคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ ผู้สมัครแต่ละคนเดินทางมาพร้อมกับผู้สนับสนุนและแกนนำพรรคการเมือง รวมทั้งมีกลุ่มผู้สนับสนุนมาชูป้ายให้กำลังใจ  พร้อมจัดเตรียมรถแห่เพื่อรอติดหมายเลขและหาเสียงทันที ซึ่งการรับสมัครครั้งนี้ก็เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งแรก หลังจากว่างเว้นมานาน 9 ปี และเป็นครั้งแรกของการเลือกตั้ง ส.ก.ที่ว่างเว้นมานานกว่า 12 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้สมัครที่มาถึงคนแรกตั้งแต่เวลา 06.00 น. คือนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ เดินทางมาด้วยการปั่นจักรยานคู่ใจที่ใช้ปั่นมากว่า 8 ปี โดยมีกองเชียร์มารอตั้งแต่เวลา 05.30 น. และมีนายพิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม. มาร่วมให้กำลังใจ

ต่อมาเวลา 07.00 น. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย มาพร้อมกับ น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครของพรรคไทยสร้างไทย ด้วยรถบัสปรับอาศพร้อมผู้สมัคร ส.ก.ทั้ง 50 เขต ตามมาด้วยนายสุชัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์, นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ, พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ, นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครพรรคก้าวไกล มาด้วยรถเมล์สีส้มสาย 46 และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ

ส่วนพรรคเพื่อไทย นำโดยนายชัยเกษม นิติสิริ ประธานยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้อำนวยการเลือกตั้ง ส.ก.ของพรรค ได้นำส.ก.ทั้ง 50 เขตมาสมัครด้วยเช่นกัน

จากนั้นเวลา 09.00 น. กกต.ประจำกรุงเทพมหานคร ได้เริ่มกระบวนการจับสลากหมายเลขผู้สมัคร โดยมีผู้สมัคร 14 ราย มาถึงก่อนเวลารับสมัครในเวลา 08.30 น. ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำของถึงกรุงเทพฯ จึงได้จับสลากรายชื่อผู้สมัครเพื่อให้ได้ลำดับผู้สมัครที่จะจับสลากหมายเลขในการยื่นใบสมัคร และเมื่อผู้สมัครจับสลากหมายเลขในการยื่นสมัครหมายเลขดังกล่าวจะถือเป็นหมายเลขประจำตัวในการหาเสียง

วันแรกสมัครผู้ว่าฯ 20 ราย

โดยผลการจับสลากหมายเลขปรากฏว่า นายวิโรจน์  ลักขณาอดิศร ผู้สมัครพรรคก้าวไกล ได้หมายเลข 1, พ.ท.หญิงฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล ได้หมายเลข 2,  นายสกลธี ภัททิยกุล ได้หมายเลข 3, นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ ได้หมายเลข 4, นายวีระชัย เหล่าเรืองวัฒนะ ได้หมายเลข 5, พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ได้หมายเลข 6, น.ส.รสนา โตสิตระกูล ได้หมายเลข 7, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้หมายเลข 8, น.ส.วัชรี วรรณศรี ได้หมายเลข 9, นายศุภชัย ตันติคมน์ ได้หมายเลข 10, น.ต.ศิธา ทิวารี ได้หมายเลข 11, นายประยูร ครองยศ ได้หมายเลข 12, นายพิศาล กิตติเยาวมาลย์ ได้หมายเลข 13 และนายธเนตร วงษา  ได้หมายเลข 14 ต่อมามีผู้สมัครเพิ่มอีก 3 รายคือ พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที ได้หมายเลข 15, น.ส.ศศิกานต์ วัฒนจันทร์ ได้หมายเลข 16, นายอุเทน ชาติภิญโญ ได้หมายเลข 17 จากนั้นช่วงบ่ายมีมาสมัครเพิ่มเติมอีก 3 ราย ได้แก่ น.ส.สุมนา พันธุ์ไพโรจน์ ได้หมายเลข 18, นายไกรเดช บุนนาค ได้หมายเลข 19 และนางอมรพรรณ อุ่นสุวรรณ ได้หมายเลข 20

ภายหลังผู้สมัครได้รับหมายเลขแล้วก็ได้ดำเนินการยื่นใบสมัครและหลักฐานการสมัคร พร้อมค่าธรรมเนียมการสมัครต่อเจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการจับสลากหมายเลขผู้สมัคร ส.ก.ต่อเนื่องครบทั้ง 50 เขต และทันทีที่ผู้สมัครได้รับหมายเลข กลุ่มผู้สนับสนุนที่อยู่บริเวณลานพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ก็ดำเนินการติดหมายเลขผู้สมัครของตนที่ป้ายหาเสียงทันทีพร้อมกับส่งเสียงแสดงความยินดี

ทั้งนี้ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,374,131 คน จำนวน 1,996,104 คน เพศหญิง จำนวน 2,378,027 คน จำนวนหน่วยเลือกตั้ง 6,862 หน่วย

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า จับสลากได้เบอร์ 6 ซึ่งตนได้เบอร์อะไรก็ได้ขอให้ประชาชนเลือก แต่ยืนยันว่าสำหรับเบอร์ 6 ตนเป็นผู้ว่าฯ กทม.มา 5 ปี มันต้องขึ้นปีที่ 6 ต่อ จึงมั่นใจว่าจะชนะเลือกตั้ง

ส่วนนายสกลธีกล่าวว่า หมายเลข 3 สอดคล้องกับชื่อของตน ธี (three) ที่แปลว่าเลข 3 ซึ่งมีความหมายที่ดี หลังจากนี้ก็จะลงพื้นที่หาเสียงอย่างเข้มข้มต่อไป

เช่นเดียวกับนายสุชัชวีร์กล่าวว่า เบอร์ 4 เป็นเบอร์ที่ชอบมาก เพราะหัวใจมี 4 ห้อง ให้คนกรุงเทพฯ ทั้งหมด อีกทั้งเลข 4 คือหนทางดับทุกข์ อริยสัจ 4 และเป็นเดือนเกิด รวมถึงเป็นลูกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ชอบหมายเลขนี้มาก ถือเป็นเลขมงคลที่ตรงกับตัวเอง ให้ได้ทำงานรับใช้ชาวกรุงเทพฯ ให้ได้ เลข 4 เป็นเลขตัวเดียว หาเสียงอย่างไรก็ดี และหาเสียงง่าย ไม่กังวลกับโพลสำรวจคะแนนความนิยมของตัวเอง เพราะแต่ละโพลผลก็ออกมาไม่ตรงกัน และผลโพลจะทำให้ตนมีพลังสู้ยิ่งขึ้นไป

ขณะที่นายวิโรจน์กล่าวว่า เลข 1 เป็นเลขที่นำเมืองที่เป็นธรรมให้กับคนกรุงเทพฯ ได้เวลาที่ชาวกรุงเทพฯ จะเป็น 1 เสียที จากนี้ก็จะหาเสียงตามแผนพบปะพี่น้องประชาชน นำเสนอนโยบายจุดยืนในการคืนเมืองที่เป็นธรรม เมืองที่คนเท่ากันให้กับชาวกรุงเทพฯ เพื่อที่จะบริหารงบประมาณและทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวกรุงเทพฯ ให้สมกับที่เราเป็นผู้เสียภาษี อีกส่วนสำคัญคือส.ก.ที่ทำงานเกี่ยวกับงบประมาณ ผู้ว่าฯเดินนโยบาย ส.ก.เป็นผู้ขับเคลื่อน เราจะนำคืนความเป็นหนึ่งในกับคนกรุงเทพฯ

นายชัชชาติกล่าวว่า ไม่ซีเรียสว่าจะจับได้เบอร์อะไร แต่การได้เบอร์ 8 หมายความว่าจะเป็นการทำงานแบบ infinity คือไม่มีที่สิ้นสุด ทุกเลขเป็นเลขที่มีความมงคลอยู่ทั้งหมด ไม่สำคัญว่าจะจับได้เบอร์อะไร ยืนยันว่านโยบายทุกอย่างที่หาเสียงสามารถทำได้จริงและปฏิบัติได้จริง ไม่สำคัญว่าผู้ว่าฯ จะต้องทำงานสานต่อจากเดิม ไม่อย่างนั้นจะเลือกตั้งใหม่ไปทำไม ถ้าของเก่าดี

ถามถึงความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ระบุขอให้ชาวกรุงเทพฯ เลือกผู้ว่าฯ ที่ มีนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้จริงและมีผลงาน นายชัชชาติบอกว่า เป็นความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ยืนยันว่านโยบายทุกข้อของตนทำได้จริงทั้งหมด

กกต.ตรวจคุณสมบัติ 7 วัน

จากนั้นนายชัชชาติพร้อมคณะเดินทางไปทำกิจกรรมหาเสียงที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ด้วยขบวนรถ EV หาเสียง ใช้เส้นทาง ถ.ประชาสงเคราะห์-แยกประชาสงเคราะห์-ถ.ดินแดง-ถ.ราชวิถี- อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (เกาะพญาไท) ไปจนถึง BTS สถานีอนุสาวรีย์ชัยฯ ก่อนจะโดยสารรถไฟฟ้าเดินทางไปหาเสียงย่านสีลม

น.ต.ศิธากล่าวถึงหมายเลขผู้สมัครที่จับได้ว่า หมายเลข 11 เป็นเลขที่เชื่อมโยงกับชีวิตทางการเมือง เนื่องจากตนเกิดจากบ้านเลขที่ 111 หรือพรรคไทยรักไทยที่เคยถูกยุบไป การได้เลข 11 ไม่ใช่อุปสรรคในการหาเสียง วันนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี จะขอนำประสบการณ์ทางการเมือง 22 ปีมาใช้และสื่อสารกับประชาชน

ด้านนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและสังเกตการณ์รับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก.ว่า ทีมงานของทางกรุงเทพฯ ได้เตรียมงานและมีการซักซ้อมหลายครั้ง จึงทำให้ภาพรวมของการเปิดรับสมัครในวันนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งการรับสมัครจะมีไปจนถึงวันที่ 4 เม.ย. จึงยังไม่สามารถที่จะประเมินได้ว่าจะมีจำนวนผู้สมัครมากน้อยเพียงใด แต่ในช่วงเช้าของการรับสมัครวันแรก มีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ถึง 14 ราย และผู้สมัคร ส.ก.ใน 50 เขตก็ต้องถือว่าการรับสมัครเป็นไปอย่างคึกคัก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการรายงานว่าพบการกระทำความผิดของผู้สมัครรายใด

 “ขอเตือนไปถึงผู้สมัคร ให้ศึกษาข้อกฎหมายต่างๆ ให้ชัดเจน โดยในวันที่ 5 เม.ย.นี้ จะมีการประชุมสมานฉันท์ ซึ่งจะมีการเชิญผู้สมัครทุกคนมารับฟัง ทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ข้อควรปฏิบัติต่างๆ ค่าใช้จ่ายที่ต้องนำมาแสดงในการหาเสียงต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องแจ้งเมื่อใด ส่วนการปฏิบัติตัวของเจ้าหน้าที่รับในการเลือกตั้งก็มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนอยู่แล้ว หากพบว่าการวางตัวเป็นกลาง มีการใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปสนับสนุนโดยมิชอบกฎหมาย ก็มีการกำหนดโทษเป็นขั้นเป็นตอนอยู่แล้ว” ประธาน กกต.กล่าว

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร แถลงสรุปการรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) วันแรก ว่ามีผู้มาสมัครผู้ว่าฯ กทม.ทั้งสิ้น 20 ราย ในครึ่งวันเช้ามีผู้มาสมัครรวม 17 ราย ต่อมาช่วงบ่ายมีมาสมัครเพิ่มเติมอีก 3 ราย รวม 20 ราย โดยผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่มีอายุมากสุด 72 ปี น้อยสุด 43 ปี เป็นชาย 16 คน หญิง 4 คน

สำหรับการรับสมัคร ส.ก.วันนี้มีจำนวน 343 คน โดยเขตที่สมัครมากสุดจำนวน 9 คน ได้แก่ เขตธนบุรี เขตจอมทอง และเขตวังทองหลาง น้อยสุด 5 คน ได้แก่ เขตดุสิต และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย หลังจากปิดรับสมัครจะเร่งตรวจสอบคุณสมบัติให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน จากนั้นจะปิดประกาศรายชื่อสถานที่ที่เหมาะสมให้ทราบต่อไป

นายสมชัย สุรกาญจน์กุล ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังปิดรับสมัครจะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน ถ้าพบว่าขาดคุณสมบัติ ก็จะไม่ประกาศรายชื่อเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งผู้สมัครสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อ กกต.ได้ การวินิจฉัยจะใช้เวลาไม่นาน

“ในการหาเสียงเลือกตั้งผู้สมัครต้องทำบันทึกค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งและยื่นภายใน 90 วัน นับแต่วันเลือกตั้งโดยผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 49 ล้าน ส่วน ส.ก.จะใช้จ่ายได้ไม่เท่ากัน โดยใช้จ่ายได้ตั้งแต่ 8 แสนบาทถึง 1 ล้านบาทเศษ”

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.วันแรกว่า ไม่ได้เชียร์ใคร ไม่มีคนอยู่ในใจ และเคยบอกแล้วว่าใครจะมาเป็นผู้ว่าฯกทม.ก็ได้ ขอให้ทำงานร่วมกับรัฐบาลได้แล้วกัน

‘ป้อม’ เชียร์ผู้สมัครทุกคน

ถามว่ามีชื่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนใดอยู่ในใจหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มี เมื่อถามย้ำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ระบุอยากได้คนที่สามารถทำงานได้ทันทีจะสอดคล้องกับนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.บางคนหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่รู้ ต้องไปถามนายกฯ 

ซักว่า พรรค พปชร.จะสนับสนุนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์สนับสนุนด้วยหรือไม่ หัวหน้าพรรค พปชร.กล่าวว่า นายกฯ ไม่ได้บอกตนเลยว่าสนับสนุนใคร ส่วนตัวเอาใจช่วยทุกคน

ส่วนนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้อำนวยการเลือกตั้ง ส.ก.ของพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีนายชัชชาติไม่ได้ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทยจะทำให้เสียเปรียบหรือไม่ว่า นายชัชชาติเคยเป็นแคนดิเดตนายกฯ ทำงานกับพรรคเพื่อไทยมายาวนาน และนโยบายก็สอดคล้องกับพรรคเพื่อไทย จึงคิดว่าไม่ทำให้เกิดปัญหากับพรรคเพื่อไทย ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเองมั่นใจว่า ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ว่ากรุงเทพฯ เราจะสามารถผลักดันนโยบายของพรรคได้ ยืนยันว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยจะเน้นในการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นกับพรรคเพื่อไทย

 “ที่มีการมองว่ามีการฮั้วกันระหว่างผู้ว่าฯ กทม.นั้น ไม่อยากให้ใช้คำว่าฮั้วกันเพราะประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินในท้ายที่สุด” ผอ.การเลือกตั้ง ส.ก.พรรค พท.ระบุ

วันเดียวกัน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ได้เผยแพร่รายการ “คุยกับลุง” EP23 โดยกล่าวถึงการสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.วันแรก ตอนหนึ่งระบุว่า บรรยากาศในกทม.หลังจากนี้จะเป็นบรรยากาศของสนามการต่อสู้ทางการเมืองครั้งสำคัญ และเราจะได้เห็นลีลาของผู้สมัครกลุ่มต่างๆ ทีมต่างๆ พรรคต่างๆ จะได้เห็นการเปิดตัวบุคคลของแต่ละทีมที่จะเข้ามาร่วมว่าใครมีภูมิหน้าภูมิหลังอย่างไร เราจะได้เห็นวิสัยทัศน์ของแต่ละทีมที่นำเสนอว่าเขาคิดอ่านที่จะทำอะไรเพื่อประเทศ เพื่อกทม.เพื่อประชาชนบ้าง

 “ผมนั้นชูธงเชียร์นายสกลธี ภัททิยกุล  มาตั้งแต่ต้น เรื่องนี้ก็ต้องทำความเข้าใจว่าที่เชียร์นายสกลธี ไม่ใช่เพราะเรื่อง กปปส. จะเป็น กปปส.หรือไม่เป็น กปปส. ผมชอบนายสกลธี ชอบคนหนุ่มๆ ที่มีวิสัยทัศน์ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานอุทิศตัวเองทำงานให้กับประเทศชาติ บ้านเมือง ทำงานให้กับประชาชน เรียกว่าใจถึงใจ นายสกลธีไม่ได้มาขอร้องอะไร ตนก็ไม่ได้ไปทำอะไร นอกจากส่งเสียงเชียร์ ทำเหมือนพี่น้องประชาชนชอบใครก็เชียร์คนนั้น” นายสุเทพกล่าว

ประธาน มปท.กล่าวว่า กปปส.ไม่ใช่องค์กรทางการเมือง เสร็จการต่อสู้คราวนั้น ก็จบกันเท่านั้น ที่เหลือไว้ก็คือความทรงจำว่าครั้งหนึ่งในชีวิตเราเคยร่วมอุดมการณ์เดียวกัน เราเคยออกมาต่อสู้ร่วมกัน ต่อสู้เสร็จจบ วันนี้จบแล้ว ไม่มี กปปส. ตนเคยเป็นเลขาธิการ กปปส. วันนี้ก็ไม่ได้เอาตำแหน่งเลขาธิการ กปปส. ไปหาเสียงหรือช่วยเหลือ ไปใช้ประโยชน์อะไร อันนี้ต้องเรียนกับพี่น้องประชาชน ส่วนใครจะกล่าวหาอย่างไรเป็นเรื่องของเขา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง