ข่าวหื่นไม่กระทบผู้ว่าฯ สกลธีมาแรงรั้งอันดับ3

“นิด้าโพล” เผยคนกรุงส่วนใหญ่เลือกพ่อเมืองจากนโยบายเป็นหลัก  ชี้การเมืองระดับชาติอาจส่งบ้าง “ซูเปอร์โพล” บอกปริญญ์เอฟเฟกต์ไม่มีผลกระทบผู้สมัคร แต่ “สกลธี” มาแรงโดดมารั้งอันดับ 3 ผู้สมัครโนเนม วอนสื่อให้พื้นที่เท่าบิ๊กเนม

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน ศูนย์สำรวจความคิดเห็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หรือนิด้าโพล ได้เผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “ปัจจัยในการชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” ซึ่งสำรวจระหว่างวันที่ 4-8 เม.ย.2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวม 1,325 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับปัจจัยในการชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

โดยเมื่อถามประชาชนถึงสถานการณ์การเมืองระดับชาติกับการส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม. พบว่า 31.25% ระบุว่าส่งผลต่อการตัดสินใจอย่างมาก รองลงมา 30.41% ระบุว่าไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลย, 24.38% ระบุว่าค่อนข้างส่งผลต่อการตัดสินใจ และ 13.96% ระบุว่า ไม่ค่อยส่งผลต่อการตัดสินใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนถึงปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พบว่า 44.75% ระบุว่านโยบายของผู้สมัคร,  28.91% ระบุว่าคุณสมบัติ/ชื่อเสียงส่วนตัวของผู้สมัคร, 9.36% ระบุว่าฐานเสียงจัดตั้งของผู้สมัคร, 6.19% ระบุว่าอิทธิพลของบุคคล/กลุ่มบุคคลที่สนับสนุนผู้สมัคร,  6.04% ระบุว่ากลยุทธ์/แนวทางการหาเสียงของผู้สมัคร, 4% ระบุว่าการสนับสนุนของสื่อมวลชนที่มีต่อผู้สมัคร และ 0.75% ระบุว่างบประมาณในการหาเสียงของผู้สมัคร

ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ได้เผยผลสำรวจเรื่อง ปริญญ์เอฟเฟกต์ เลือกตั้ง กทม. ซึ่งศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน กทม. 1,548 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 48.5% ติดตามข่าว เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มากถึงมากที่สุด, 32.3% ติดตามปานกลาง และ 19.2% ติดตามน้อยถึงไม่ติดตามเลย

เมื่อถามถึงการรับรู้ข่าวนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ของคน กทม. พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 46.3% รับรู้มากถึงมากที่สุด,  31.3% รับรู้ปานกลาง และ 22.4% รับรู้น้อยถึงไม่รู้เลย ที่น่าพิจารณาคือผลกระทบของข่าวนายปริญญ์ต่อการตัดสินใจเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หลังจากทดสอบค่านัยสำคัญทางสถิติ พบว่าไม่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แม้มีค่าติดลบ คือ -.029 ก็ตาม นอกจากนี้ ไม่มีนัยสำคัญต่อผู้สมัครคนอื่นด้วย เช่น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง แม้ติดค่าลบจากข่าว นายปริญญ์เช่นกัน คือ -.054 และไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แม้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีค่าเป็นบวก คือ +.054

ที่น่าสนใจคือ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2 คนที่ผลการทดสอบปริญญ์เอฟเฟกต์พบว่ามีค่าผลกระทบเป็นบวก และมีนัยสำคัญทางสถิติคือ นายสกลธี ภัททิยกุล ได้ +.161 และมีนัยสำคัญทางสถิติกว่า 99% รวมถึงนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่ได้รับผลกระทบในทางบวกคือได้ +.091 และมีนัยสำคัญทางสถิติกว่า 90% ตามลำดับ ส่วนผู้สมัครคนอื่นๆ ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติคือ ไม่มีผลกระทบอะไรต่อการตัดสินใจเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ของคน กทม.

เมื่อถามถึงการตัดสินใจเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ของคน กทม. เปรียบเทียบระหว่างครั้งแรกและครั้งที่สอง หลังลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว พบว่าแนวโน้มคนจะเลือกเพิ่มขึ้นทุกคน แต่อันดับสลับกันอยู่บ้าง กล่าวคือ นายชัชชาติยังคงนำเพิ่มจาก 20.3% ในครั้งที่ 1 มาเป็น 24.5% ในครั้งที่ 2 นายสุชัชวีร์เพิ่มขึ้นจาก 9.8% ในครั้งที่ 1 มาเป็น 13.9% ในครั้งที่ 2  และที่น่าสนใจจากปริญญ์เอฟเฟกต์ พบว่านายสกลธีเพิ่มขึ้นจาก 5.7% ในครั้งที่ 1 มาเป็น 10.1% ในการสำรวจครั้งล่าสุด และขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ในขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน เพิ่มขึ้นจาก 7.1% มาอยู่ที่ 9.8% นายวิโรจน์เพิ่มขึ้นจาก 2.5% มาอยู่ที่ 5.5% และอื่นๆ ได้แก่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล น.ต.ศิธา ทิวารี เป็นต้น เพิ่มขึ้นจาก 5.9% มาอยู่ที่ 7.5% ในขณะที่กลุ่มคนไม่ตัดสินใจลดลงจาก 48.7% มาอยู่ที่ 28.7% ในการสำรวจครั้งนี้

น.ต.ศิธากล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพลว่า เชื่อว่านโยบายของผู้สมัครแต่ละคนไม่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับใครจะหยิบยกเรื่องไหนขึ้นมาเน้นให้เกิดประโยชน์ และแก้ไขปัญหาให้กับคน กทม.อย่างไรมากกว่า ซึ่งยอมรับว่าพรรคใหญ่ที่ส่งผู้สมัครมีความได้เปรียบกว่า โดยขอให้ลดการใส่ร้ายโจมตีกันทำลายป้ายหาเสียง ขอให้ลดการเอาชนะกัน และไม่ว่าใครจะได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็ยินดีให้เอานโยบายไปใช้ได้

นายวิโรจน์กล่าวถึงโพลเช่นกันว่า ไม่แปลกใจตอบผลโพลดังกล่าว เพราะกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของการบริหารและมีประชาชนจากทุกจังหวัดเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก​ ซึ่งกลยุทธ์หาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายตนเองพร้อมทีม ส.ก.ยังเชื่อว่าการลงพื้นที่พบปะประชาชนแบบเห็นหน้าเห็นตามองตา พร้อมรับฟังปัญหาสะท้อนความคิดเห็นยังเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้ง

สำหรับการลงพื้นที่หาเสียงของบรรดาผู้สมัครต่างๆ นั้น นายสกลธีได้ลงพื้นที่ตลาดกิตติ, ตลาดสะพาน 2 และตลาดแสงจันทร์ เขตสาทร ท่ามกลางประชาชนที่เดินทางมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงเช้า โดยนายสกลธีระบุถึงการลงพื้นที่ตลาดในเกือบทุกเช้าในแต่ละเขต ว่าจะได้พบกับคนในพื้นที่ที่สามารถสะท้อนปัญหาหลายๆ อย่าง รวมทั้งข้อแนะนำที่เฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการทำมาหากิน ซึ่งพบว่าปัญหาไม่แตกต่างกัน คือเรื่องกำลังซื้อที่หายไป และเรื่องเงินช่วยเหลือในการประกอบอาชีพ สำหรับผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ และการหาแหล่งเงินทุนใหม่ๆ ที่ดอกเบี้ยไม่สูง

ส่วนนายชัชชาติได้ปั่นสามล้อถีบแจกแผ่บพับหาเสียงพื้นที่เขตบางขุนเทียน พร้อมหารือผู้ค้าหาบเร่แผงลอยและวินมอเตอร์ไซค์ เสนอให้เป็นพื้นที่การค้า ถ.พระราม 2 ซอย 69 เป็น 1 ใน 3 พื้นที่ต้นแบบจัดการหาบเร่แผงลอยที่สามารถอยู่ร่วมกับพื้นที่สาธารณะได้ โดยได้เสนอเพิ่มสัดส่วนผู้ค้าแผงลอย-ประชาชนในพื้นที่ เข้าคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยระดับเขต ร่วมกำหนดรูปแบบพื้นที่แผงลอยที่เหมาะสมสอดคล้องเอกลักษณ์พื้นที่ และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

"การจัดการหาบเร่แผงลอยไม่ได้มีต้นแบบเดียว เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นต้องมีคณะกรรมการฯ เข้ามาจัดการและดูแล จริงๆ ควรดูแลผู้ค้าที่เป็นชุมชนในพื้นที่ก่อน เพราะชุมชนจะช่วยดูแลพื้นที่ ไม่ต้องเดินทางไปไกลบ้าน และมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนอีกด้วย" นายชัชชาติ กล่าว

ส่วนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.อิสระ 6 คน นำโดยนายวรัญชัย โชคชนะ, พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที, นายธเนตร วงษา, นายภูมิพัฒน์ อัศวภูมินทร์, นายประยูร ครองยศ, นายวิทยา จังกอบพัฒนา และนายกฤติชัย พยอมแย้ม ได้ร่วมกันแถลงเรียกร้องให้สื่อมวลชนเปิดพื้นที่สื่อในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ด้วยความเสมอภาคเท่าเทียม และแจงเกี่ยวกับแนวทางการหาเสียงในช่วง 35 วันที่เหลือนับจากนี้ก่อนถึงวันเลือกตั้ง 22 พ.ค. ที่จะหาเสียงแบบกลุ่ม พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด

นายภูมิพัฒน์ระบุว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรจัดเวทีปราศรัยให้ผู้สมัครทุกคน หรือ 30 คนได้หาเสียงกันอย่างเท่าเทียม ผู้สมัครบางคนยอมรับอาจไม่ได้ชนะเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ต้องการความเท่าเทียมในพื้นที่สื่อ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์