จ่อยกเลิก‘ไทยแลนด์พาส’

คนไทยเสียชีวิตเพราะโควิดลดลงเหลือ 54 คน ติดเชื้อรายวัน 9.7 พันราย เอทีเคเป็นบวก 8.7 พันราย “อนุทิน” ชงยกเลิก “Thailand Pass” ในคนไทยก่อนค่อยเลิกชาวต่างชาติ เผยการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นอำนาจของนายกฯ แต่ถ้าประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้วก็ไม่มีความจำเป็น

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ    กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,790 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 9,772 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 9,719 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 53 ราย มาจากเรือนจำ 14 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 4 ราย เป็นผู้มีผลตรวจเอทีเคเป็นบวก 8,728 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 17,109 ราย อยู่ระหว่างรักษา 101,281 ราย อาการหนัก 1,638 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 776 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 54 ราย เป็นชาย 37 ราย หญิง 17 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 47 ราย มีโรคเรื้อรัง 6 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 1 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,300,614 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,170,419 ราย  ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 28,914 ราย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของประเทศไทยเป็นทิศทางที่ลดลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับไปสถานการณ์โลก โดยผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจมีทิศทางลดลงต่อเนื่อง 

พญ.สุมนีกล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 2,990 ราย, บุรีรัมย์ 321 ราย, ชลบุรี 296 ราย,  สมุทรปราการ 274 ราย, ร้อยเอ็ด 267 ราย, สุรินทร์ 254 ราย, ศรีสะเกษ 252 ราย, ขอนแก่น 240 ราย, อุบลราชธานี 200 ราย และมหาสารคาม 195 ราย

ขณะที่ 10 จังหวัดที่มีผู้ป่วยปอดอักเสบกำลังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล ประกอบด้วย กทม. 130 ราย,  นครราชสีมา 88 ราย, กาญจนบุรี 66 ราย, อุบลราชธานี 61 ราย, สมุทรปราการ 57 ราย, อุดรธานี 56 ราย, ขอนแก่น 51 ราย, พิษณุโลก 49 ราย, สุพรรณบุรี 45 ราย และเชียงใหม่ 42 ราย สถานการณ์ถือว่าทรงตัวและน้อยลง มีเพียง 2 จังหวัดที่เพิ่มขึ้นคือ จ.อุดรธานีและขอนแก่น

พญ.สุมนีกล่าวว่า สำหรับยอดการฉีดวัคซีนวันที่ 4 พ.ค. ฉีดเพิ่มได้ 144,809 ราย ทำให้มียอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 134,175,785 โดส และจากข้อมูลการฉีดวัคซีน ในส่วนของผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ขึ้นไป จำนวน 12,704,543 ราย ขณะนี้ฉีดวัคซีนเข็มที่สามไปแล้ว 5,303,655 โดส หรือคิดเป็น 41.7% ขณะที่เด็กอายุ 5-11 ปี จำนวน 5,150,082 ราย ฉีดวัคซีนเข็มสองไปแล้ว 732,349 โดส คิดเป็น 14.2% ซึ่งในช่วงนี้ที่จะมีการเปิดภาคเรียน ศบค.ไม่ได้บังคับว่าต้องเปิดทุกโรงเรียน แต่อยากให้เปิดมากที่สุด และให้ทุกโรงเรียนเตรียมความพร้อมในการเปิดโรงเรียนให้ได้มาตรฐาน หากเด็กคนไหนมีอาการสงสัยให้ตรวจเอทีเค ถ้าพบเชื้อให้รักษาตัวที่บ้าน และไม่มีความจำเป็นต้องตรวจเอทีเคทุกสัปดาห์เหมือนก่อนหน้านี้ แต่ขอย้ำให้เข้ารับวัคซีนให้ได้มากที่สุด   

ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ขณะนี้อัตราการเสียชีวิตเริ่มลดลง เป็นไปตามที่กรมควบคุมโรคคาดการณ์ไว้ โดยมีอัตราการครองเตียงอยู่เพียงราว 20% ซึ่งถือว่าอยู่ในกรอบแนวทางที่วางไว้ มีหมอพอ ยาพอ เตียงพอ ส่วนอัตราการติดเชื้อโควิดจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ก็อยู่ที่อัตรา 0.001% ทั้งนี้ ทางกระทรวงจะติดตามไปอีกระยะสั้นๆ หากควบคุมสถานการณ์ได้แบบนี้ ก็จะเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ได้มากขึ้น เพื่อเตรียมเข้าสู่การประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น

นอกจากนี้ ยังเตรียมเสนอ ศบค.ยกเลิกการใช้ “Thailand Pass” ในกลุ่มคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศไทยอีกด้วย โดยจะเริ่มจากคนไทยก่อน แล้วค่อยขยายไปสู่ชาวต่างชาติ ที่จะมีการพิจารณาขอให้ยกเลิกการใช้ “Thailand Pass” ในระยะถัดไป

ส่วนความเห็นว่าควรขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีกหรือไม่ นายอนุทินบอกว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีและ ศบค. ว่าจะตัดสินใจอย่างไร โดยส่วนตัวมองว่าการมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร เพราะในทางสาธารณสุข ก็ช่วยให้ควบคุมโรคได้ง่ายขึ้น แต่ถ้ามีการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ก็อาจไม่มีความจำเป็น เพราะตอนนี้มีความพร้อมด้านสาธารณสุขแล้ว ไม่ต้องอาศัยอำนาจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองมาช่วยบังคับใช้กฎหมายในการป้องกันควบคุมโรคเหมือนที่ผ่านมา

พร้อมย้ำขอให้คนไทยเร่งไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ครบโดส และเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากเหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 เดือนก็จะถึงกำหนดที่จะประกาศให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น เพื่อป้องกันอาการป่วยรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิต

วันเดียวกันนี้ นายอนุทินร่วมกับ นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย แถลงสรุปผลการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า (UHPR) ถอดบทเรียนความสำเร็จการรับมือวิกฤตโควิด-19 ของไทย

โดยผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยพบว่า ไทยมีการบริหารจัดการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีโควิด-19 เป็นอย่างดี มีความยืดหยุ่น ปรับตัวไปตามสถานการณ์ และเน้นการปฏิบัติได้จริง โดยพบปัจจัยสำคัญคือ 1.มีการสนับสนุนโดยผู้บริหารระดับสูงที่กำหนดนโยบายประเทศ 2.ระบบสาธารณสุขไทยมีความเข้มแข็งจากการลงทุนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและระบบปฐมภูมิมาอย่างต่อเนื่องกว่า 4 ทศวรรษ 3.มีความร่วมมือเชื่อมต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และภาคการศึกษา รวมถึง อสม. 4.มีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนและชุมชน และ 5.มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมและการวิจัยเพื่อการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูล

นอกจากนี้ ให้เตรียมการแถลงประสบการณ์ ในที่ประชุม World Health Asscmbly (WHA) ปลายเดือนพฤษภาคม 2565 และร่วมกับอีก 3 ประเทศนำร่อง ในการทบทวนปรุงกระบวนการ UHPR ให้ดียิ่งขึ้นก่อนนำไปใช้ในประเทศอื่นๆ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การเตรียมการสู่โรคประจำถิ่นขณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเฉพาะของด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยนายอนุทินได้มอบหมายหน่วยงานภายใต้การดูแลทั้งคมนาคมและการท่องเที่ยว ให้เตรียมการแนวปฏิบัติต่างๆ ให้พร้อม เพื่อให้การเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและรอบด้าน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์แนะสถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง เตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียน 1/2565 เน้นรูปแบบการเรียน On-Site โดยมอบหมายกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการบูรณาการการทำงานปรับเปลี่ยนมาตรการการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับสถานการณ์

"นายกฯ แนะให้สถานศึกษาและครูจัดการเหลื่อมเวลาเด็ก ทั้งการรับประทานอาหารกลางวัน และการเล่นร่วมกัน ไม่ให้เป็นการรวมตัวของเด็กจำนวนมากเกินไป พร้อมเตรียมแผนเผชิญเหตุในกรณีเจอผู้ติดเชื้อหรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องมีมาตรการรองรับ โดยไม่ดำเนินการปิดชั้นเรียนหรือโรงเรียนโดยไม่จำเป็น" นายธนกรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์