ถกเดือด‘ม.112’ 3นิ้วโวยไร้หลัก! ขอพูดถึงสถาบัน

กมธ.พัฒนาการเมืองฯ เชิญ ตำรวจ อัยการ ศาล เครือข่ายราษฎร ถกเดือด! ปมลงโทษเยาวชนมาตรา 112 ติดกำไลอีเอ็ม เจ้าหน้าที่ย้ำดูที่เจตนา ระบุติดกำไลไม่ให้ผู้ต้องหาทำพฤติการณ์ส่งผลต่อคดี แกนนำราษฎรโวยกระบวนการยุติธรรมไร้หลักเกณฑ์ ขอพื้นที่ปลอดภัย พูดคุยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ 

ที่รัฐสภา วันที่ 12 พฤษภาคม มีการประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร โดยเชิญหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือญัตติที่เสนอโดย น.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะกรรมาธิการฯ   เกี่ยวกับการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อกลุ่มเยาวชนที่จัดกิจกรรมทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ กรณีจัดกิจกรรมร่วมรับขบวนเสด็จ รวมถึงกรณี น.ส.ทานตะวัน  ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมซึ่งถูกดำเนินคดีและปฏิเสธสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว

การประชุมครั้งนี้ได้เชิญตัวแทนจากทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.นางเลิ้ง สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนเครือข่ายสิทธิมนุษยชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตัวแทนกลุ่มราษฎร กลุ่มมังกรปฏิวัติ และกลุ่มทะลุวัง เข้าร่วมแลกเปลี่ยน

สำหรับบรรยากาศในการประชุม มีการซักถามและตอบข้อซักถามชี้แจงในหลายประเด็น โดยเฉพาะในเรื่องของเกณฑ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และศาล ใช้ในการพิจารณาว่าเรื่องใดเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 และหลักเกณฑ์ในการให้หรือไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเช่นไร เนื่องจากในปัจจุบันกระบวนการดำเนินคดีตามมาตรา 112 มีปัญหาการกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว การกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา ทั้งที่ยังไม่ถูกพิจารณาคดีว่าเป็นความผิด รวมไปถึงการใช้กำไลควบคุมผู้ถูกกล่าวหาไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาไปใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ทั้งที่เป็นคดีเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพ การไม่สามารถพูดหรือวิจารณ์ใดๆ เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดี

ในฝ่ายของผู้บังคับใช้กฎหมาย ที่ประกอบไปด้วย ตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการ และสำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมกันชี้แจงในทำนองที่ว่า ในทางปฏิบัติ เมื่อมีการกล่าวหาตามมาตรา 112 เกณฑ์ในการพิจารณาจะต้องดูที่เจตนาของผู้ถูกกล่าวหาว่ามีเจตนาอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันกษัตริย์หรือไม่

ส่วนการพิจารณาเงื่อนไขการให้หรือไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้น โดยหลักเมื่อมีการขอฝากขัง ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไข การติดกำไล EM ในแต่ละกรณีเป็นอำนาจของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนแต่ละคนที่พิจารณาจากข้อเท็จจริงและรายละเอียดพฤติการณ์ในแต่ละกรณีไป การติดกำไล EM ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัย ที่ศาลกำหนดเพื่อไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อตัวคดี การติด EM ยังเป็นหลักประกันให้ผู้ถูกกล่าวหาได้กลับบ้านโดยไม่ต้องมาอยู่ในเรือนจำ

ส่วนการเพิกถอนสิทธิประกันตัว เป็นคนละส่วนกับการสืบว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ซึ่งการถอนประกันอาจเป็นเพราะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ตีความว่ามีการกระทำที่ผิดเงื่อนไขประกันที่ได้กำหนดไว้ได้ โดยการใช้ดุลพินิจ อาศัยเกณฑ์ตามแนวทางคำแนะนำของประธานศาลฎีกา แต่ก็ไม่ได้เป็นกรอบที่ตายตัว มีความยืดหยุ่น ให้ผู้ต้องหาแต่ละคนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวที่เหมาะสม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดการชี้แจง มีการโต้แย้งอย่างดุเดือด โดยเฉพาะตัวแทนของกลุ่มสิทธิมนุษยชนและกลุ่มเยาวชน ที่ตั้งคำถามถึงเกณฑ์ต่างๆ โดยที่มีการชี้แจงมาทั้งหมด ยังไม่เห็นสิ่งที่เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินคดี ตลอดจนการให้หรือไม่ให้ประกันตัวในแต่ละคดีคืออะไรกันแน่ ในหลายกรณียังเต็มไปด้วยความไม่ได้สัดส่วนอีกด้วย

ขณะที่ น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ แกนนำกลุ่มราษฎร กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 จำนวนมาก ในแทบจะทุกกรณีที่มีการเอ่ยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์เจตนา จนนำไปสู่คำถามว่ากระบวนการยุติธรรมวันนี้ใช้เกณฑ์อะไรกันแน่ ในการแจ้งข้อกล่าวหาว่าผิดตามมาตรา 112 ในสถานการณ์การเมืองที่ประชาชนตื่นตัวทางการเมือง มีการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเกี่ยวข้องทางการเมืองสูงมาก ควรจะต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชนพูดถึงได้ ในเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นหนึ่งในสถาบันใต้รัฐธรรมนูญเหมือนกัน การบังคับใช้ 112 จำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ชัดเจน สมเหตุสมผล ขยายความให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างกระจ่างว่าบังคับใช้อย่างไร เหมาะสมหรือไม่ และให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา ให้ได้ออกมาต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมก่อน

 “การบังคับใช้มาตรา 112 เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากในช่วงเวลาเช่นนี้ ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพประชาชนเป็นหลักก่อน เพราะการกล่าวหาทางกฎหมายเช่นนี้ทำให้เกิดการแบ่งแยกทางสังคม ซึ่งทั้งตำรวจอัยการ กระบวนการยุติธรรม ต้องยอมรับความจริงว่าตัวเองกำลังเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สังคมแบ่งเป็นสองฝ่าย” น.ส.ภัสราวลีกล่าว

ด้านนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะสมาชิกกรรมาธิการ กล่าวว่า สถานการณ์การบังคับใช้มาตรา 112 จนถึงวันนี้ มีคนถูกดำเนินคดีถึงร้อยกว่าคดี และกำลังทำให้เยาวชนจำนวนมากถูกผลักให้เป็นคนผิดเพียงเพราะมีความคิดเห็นทางการเมืองแบบหนึ่ง หรือเพียงตั้งคำถาม โดยไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้พูดคุยเรื่องนี้ได้ สิ่งที่น่ากังวลคือหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ สังคมจะยิ่งแตกร้าวมากขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง