ไทย-ญี่ปุ่นร่วมมือฟื้นฟูศก.

"บิ๊กตู่" ยกคณะบินญี่ปุ่นแล้ว  ร่วมเวที Nikkei Forum 25-27 พ.ค. แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ ทิศทาง พัฒนาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนเอเปก  นายกฯ ไทย-ญี่ปุ่นหารือทวิภาคีสานต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว  และความร่วมมือในภูมิภาค

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม เวลา 22.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พร้อมคณะ  ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติฮาเนดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2565

สำหรับการประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก ได้แก่ Redefining Asia’s role in a divided world คือการทบทวนบทบาทของเอเชียในโลกที่แบ่งฝ่าย ได้เชิญผู้นำรัฐบาล ผู้บริหารระดับสูง และนักวิชาการชั้นนำของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเข้าร่วม เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับทิศทางและพัฒนาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคตามหัวข้อของการประชุม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum ครั้งที่ 26 เมื่อปี 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล การเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ จึงถือเป็นการเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองเป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ มีผู้แทนระดับสูงของประเทศต่าง ๆ ที่ตอบรับเดินทางเยือนญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum ครั้งที่ 27 นี้ ได้แก่ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม และอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (ตุน ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด) ขณะที่ประธานาธิบดีศรีลังกา นายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ตอบรับเข้าร่วมการประชุมในรูปแบบออนไลน์

ต่อมาวันที่ 26 พ.ค. เวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ที่ห้อง Fuji โรงแรม Imperial พล.อ. ประยุทธ์กล่าวปาฐกถาว่า การที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปก ซึ่งญี่ปุ่นเป็นสมาชิกที่แข็งขัน ในปีนี้ซึ่งตรงกับที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน และอินโดนีเซียเป็นประธาน G20 ประเทศสมาชิกอาเซียน 3 ประเทศมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับหุ้นส่วนเพื่อส่งเสริมจิตวิญญาณของความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสริมสร้างความเข้มแข็ง ความน่าเชื่อถือ และบทบาทของอาเซียน ในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคและของโลกต่อไป

นายกฯ ยังกล่าวถึงหัวข้อหลักของการประชุม ต่อคำถามว่าเอเชียจะมีบทบาทอย่างไรได้บ้างเมื่อช่องว่างขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในทุกมิติ เอเชียจะมีส่วนในการสร้างสันติภาพ ความมั่นคง และความมั่งคั่งในทุกด้านได้อย่างไร และคำตอบคือ เอเชียจะต้องยืดหยุ่นต่อการปรับตัว เอเชียจะต้องสนับสนุนความยั่งยืน จะต้องสร้างสังคมที่ครอบคลุมมากขึ้น เพราะสองปีที่ผ่านมาได้สอนให้รู้ว่า ความยืดหยุ่นเพื่อปรับตัวต่อความชะงักงันใดๆ เป็นพื้นฐานในการประคับประคองตนเอง  การเจริญเติบโตจะไม่มีความหมายหากไม่มีความยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ได้แบ่งปันมุมมองของไทย 3 สิ่ง ที่เชื่อว่าเอเชียจะร่วมกันทำได้เพื่อก้าวข้ามสถานะปัจจุบัน มุ่งให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค คือ  1.กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จะต้องทำให้ตลาดเปิดกว้างและครอบคลุมเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีภูมิต้านทานมากพอที่จะปรับตัวและรับมือกับความชะงักงันและความไม่แน่นอนอย่างทันท่วงที พร้อมกับมีห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคและของโลกที่มีความเข้มแข็ง ยืดหยุ่นและไม่ถูกตัดขาด จึงต้องสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่มีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐาน โดยมี WTO เป็นแกนกลาง และต้องสร้างสภาพแวดล้อมการค้า และการลงทุนที่เสรี เป็นธรรม เปิดกว้าง ไม่เลือกปฏิบัติ โปร่งใส ครอบคลุม และคาดการณ์ได้ โดยในส่วนของไทยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทยให้สูงขึ้นกว่าเดิม

2.ต้องสนับสนุนระบบพหุภาคีต่อไป เพราะไม่มีประเทศใดจะสามารถรับมือและจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ได้เพียงลำพัง ไทยเชื่อมั่นและพร้อมสนับสนุนแนวคิดพหุภาคีและขับเคลื่อนความร่วมมือระดับพหุภาคีต่อไปให้มากที่สุด เอเปกเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ไทยจะสามารถแสดงการสนับสนุนระบบพหุภาคีได้ ในการจัดการประชุมเอเปก 2022 ไทยรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ขับเคลื่อนงานของเอเปก ไม่ย่อท้อ และยืนยันถึงความมุ่งมั่นที่จะทำให้เอเปกยังคงเดินหน้าต่อ เพื่อให้เอเปกมีผลลัพธ์ที่มีความหมายและเป็นรูปธรรม เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในเอเชีย-แปซิฟิกทุกคน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 3.การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจะต้องเกิดควบคู่ไปกับความยั่งยืน ขอเชิญชวนภาคเอกชนมาร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมาย หนทางไปสู่ความยั่งยืนของไทยกำลังเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 โดยได้เริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม EV แล้ว

ต่อมา เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น พล.อ.ประยุทธ์หารือทวิภาคีกับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญว่า ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะร่วมมือกับถึงแนวคิด Asia Zero-Emissions Community  ซึ่งนายกฯ ญี่ปุ่นได้เสนอในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ด้านการท่องเที่ยว นายกฯ ยินดีที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้เลือกไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศเป้าหมายที่จะทดลองเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กเดินทางเข้าญี่ปุ่น เพิ่มเติมจากการเปิดรับนักธุรกิจ นักศึกษา และแรงงานทักษะจากไทยในช่วงก่อนหน้านี้ และกล่าวเชิญชวนให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางมาท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งนายกฯ ญี่ปุ่นยินดีที่ไทยและญี่ปุ่นจะได้ส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวให้แน่นแฟ้นมากขึ้น

ด้านความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ในปี 2564-2567 พร้อมต่อยอดแนวทางความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นในทุกมิติ ซึ่งนายกฯ ไทยและญี่ปุ่นต่างยินดีอย่างยิ่งที่ญี่ปุ่นมีบทบาทในภูมิภาค โดยญี่ปุ่นพร้อมร่วมมือกับอาเซียนอย่างสร้างสรรค์ และเอื้อประโยชน์ระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูที่เข้มแข็งและยั่งยืนของภูมิภาค

ภายหลังจากเสร็จสิ้นการหารือทวิภาคี เวลา 19.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว กรุงโตเกียว นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ร่วมการประชุม ซึ่งจัดโดยบริษัท Nikkei โดยมีนายกฯ ญี่ปุ่นเข้าร่วมด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' เสียใจเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าเสียชีวิตอีกราย

นายกฯ เสียใจเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าเสียชีวิต มอบหมายผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ดูแลจัดการงานศพให้สมเกียรติ และดูแลครอบครัวของผู้เสียชีวิตให้ดีที่สุด

รัฐบาลตีปี๊บผลงาน 'เศรษฐา' ดันส่งออกทุเรียนไทยโต!

รัฐบาลพร้อมส่งเสริมการส่งออกทุเรียนไทยไปจีนต่อเนื่อง หลังราคาทุเรียนเกรดส่งออกสูงถึง 160 บาท/กิโลกรัม ผลักดันการขนส่งผลไม้ทางบก 16 ด่าน รองรับฤดูผลไม้