‘อนุทิน’ถกผอ.ใหญ่WHO สนับสนุนวัคซีนฝีดาษคน

ไทยติดเชื้อ 4.9 พันราย ดับ 37 คน พบ 1 ราย ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีน 4 เข็มยังเสียชีวิต เตือนมาตรการส่วนบุคคลยังจำเป็น ย้ำ 1 มิ.ย. เปิดสถานบันเทิงพื้นที่สีฟ้า-เขียว พนักงานใกล้ชิดลูกค้าต้องสวมแมสก์ "อนุทิน” หารือ ผอ.ใหญ่ WHO ขอสนับสนุนวัคซีนฝีดาษคน ขณะที่ "5 องค์กรแพทย์" ชี้วัคซีนยังไม่จำเป็น เหตุเสี่ยงสูง ฝีดาษลิงยังระบาดจำกัดในต่างประเทศ

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม เวลา 12.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการตรวจแบบ RT-PCR 4,924 ราย หากรวมผู้ที่มีผลบวกจากการตรวจแบบ ATK จะมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,344 ราย โดยเป็นการติดเชื้อในประเทศ 4,923 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 4,907 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 16 ราย, มาจากเรือนจำ 1 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 5,560 ราย อยู่ระหว่างรักษา 46,595 ราย อาการหนัก 995 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 503 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 37 ราย เป็นชาย 22 ราย หญิง 15 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 29 ราย มีโรคเรื้อรัง 5 ราย ไม่มีโรคเรื้อรัง 3 ราย ในจำนวนนี้มีถึง 15 รายที่ไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว หรือร้อยละ 40 ของผู้เสียชีวิตวันนี้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 608 และได้รับวัคซีนแล้ว 4 เข็ม สะท้อนว่าการระวังตามมาตรการส่วนบุคคลยังมีความจำเป็นอยู่

 ทั้งนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,429,674 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,353,198 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 29,881 ราย สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 2,017 ราย, บุรีรัมย์ 145 ราย,  นนทบุรี 115 ราย, สมุทรสาคร 110 ราย,  ขอนแก่น 99 ราย, สมุทรปราการ 91 ราย,  ชลบุรี 88 ราย, สกลนคร 88 ราย, ร้อยเอ็ด 86 ราย และนครพนม 74 ราย 

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ในวันที่ 1 มิ.ย. จะมีการผ่อนคลายมาตรการตามประกาศของ ศบค. สถานประกอบคล้ายสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด สามารถกลับมาเปิดบริการได้ในพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) แต่ขอย้ำว่า ต้องเข้มงวดตามมาตรการของ ศบค. เช่น ผู้ให้บริการต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เปิดให้บริการถึงเวลา 24.00 น. พนักงานที่ใกล้ชิดลูกค้าต้องสวมหน้ากากอนามัย นอกจากนี้ ขอย้ำด้วยว่า ศบค.ยังไม่ได้อนุญาตเปิดในพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 46 จังหวัด เพราะหลายจังหวัดยังมีอัตราผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น

วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยที่ 75 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส วันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ตนและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขได้เข้าพบเพื่อแสดงความยินดีกับนายเท็ดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกอีกหนึ่งวาระ ระหว่างการหารือ ตนและนายเท็ดรอสยังร่วมกันเป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลงการแบ่งปันเชื้อโควิด-19 กับศูนย์กลางทางชีวภาพ องค์การอนามัยโลก (WHO Biohub) ระหว่าง นพ.ศุภกิจ​ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ Dr.Jaouad Mahjour ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก โดยประเทศไทยจะเป็นแกนหลัก ของ WHO Biohub

นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับกรณีโรคฝีดาษวานร ได้รับรายงานว่าคณะกรรมการวิชาการภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติให้โรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีผู้ป่วยหรือผู้ป่วยต้องสงสัยเดินทางเข้ามา แต่เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางเข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น จึงมีการเตรียมพร้อมเฝ้าระวังคัดกรองโรคในผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด โดยในการเข้าพบนายเท็ดรอสได้มีการหารือเพื่อขอรับการสนับสนุนเรื่องวัคซีนฝีดาษคนจากองค์การอนามัยโลกด้วย นอกจากนี้ ยังได้เชิญผู้อำนวยการใหญ่มาร่วมในพิธีเปิดศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ในวันที่ 25 ส.ค.65 ที่กรุงเทพฯ

ด้าน ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิง ยังไม่พบผู้ป่วยในไทย และไม่เคยพบผู้ป่วยในไทยมาก่อน ซึ่ง 5 องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ ได้แก่ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย, ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ออกหนังสือชี้แจงกรณีโรคฝีดาษวานร เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา มีระบุข้อหนึ่งว่า วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ จะป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ด้วย แต่ยังไม่มีความจำเป็นที่ประชาชนทั่วไปจะต้องเร่งรีบหาวัคซีนนี้

เนื่องจากโรคนี้ยังถือเป็นการระบาดในวงจำกัดอยู่ในต่างประเทศ และประเทศไทยไม่เคยพบการติดเชื้อนี้มาก่อน ยังถือว่ามีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไม่มาก การให้วัคซีนฝีดาษวัวที่ป้องกันฝีดาษคนและฝีดาษวานรได้ด้วย จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบในขณะนี้ และคนที่เคยได้รับวัคซีนนี้แล้ว ยังสามารถป้องกันโรคได้อยู่ มีการศึกษาพบว่าผ่านไป 80 ปีภูมิคุ้มกันก็ยังใช้ป้องกันได้ ซึ่งวัคซีนนี้เป็นแบบเชื้อเป็น มีความเสี่ยงมาก การให้ในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจทำให้เชื้อลามทั้งตัว และเสียชีวิตได้

 “ความเสี่ยงของประเทศไทยตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นต้องรีบให้วัคซีน เพราะตอนนี้ยังเป็นการระบาดอยู่ในวงจำกัดในต่างประเทศ ต้องติดตามว่าจะมีการระบาดมากขึ้นหรือไม่อย่างไร ซึ่งปัจจุบันคนกลัวเรื่องโรคระบาดมาก ทำให้เมื่อพบการติดเชื้อที่ผิดปกติก็จะมีการแจ้งเตือนเร็ว ทำให้แต่ละประเทศมีการเริ่มกลไกการรับมือ เฝ้าระวังได้เร็ว การจัดการปัญหาทำได้เร็ว ปัญหาก็น้อยลง” ศ.นพ.สมศักดิ์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง