ทบ.ยุติผ่าจีที200คืนงบ3ล้าน

"ประยุทธ์" รับยุติการตรวจสอบ "จีที 200" ตามคำสั่งอัยการ ไม่จำเป็นต้องใช้งบในส่วนนี้ ยันไม่มีใน พ.ร.บ.งบฯ 66 เงินยังอยู่ที่ส่วนกลางไม่ได้เบิกล่วงหน้า "ทบ." แจงเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนขณะตั้งงบปี 64 ก่อนศาลอาญามีคำพิพากษาเป็นที่สุด 7 ก.พ.65 และฟ้องศาลปกครองควบคู่กันไป จำเป็นต้องตรวจสอบเครื่องเพื่อผลทางคดี ยอมรับเมื่อคดีจบแล้วไม่ต้องตรวจ พร้อมส่งงบคืน 2-3 ล้าน

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 7 มิถุนายน กรณีฝ่ายค้านอภิปรายการใช้งบประมาณตรวจสอบเครื่องตรวจจับสารเสพติด  อาวุธ และวัตถุระเบิด GT200 ของกองทัพบก จำนวน 757 เครื่อง วงเงินงบประมาณ 7.57 ล้านบาท จนมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง กระทั่งโฆษกกองทัพบกจะคืนเงินการจ้างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ตรวจเครื่อง GT200 จำนวน 2-3 ล้านบาท 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ได้มีการตรวจสอบ และ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ก็ได้ชี้แจงไปแล้วว่าเป็นเรื่องของงบประมาณในปี 2565  อีกทั้งวันนี้อัยการสูงสุดก็ได้ชี้แจงว่าเรื่องนี้จบไปแล้ว ขณะที่การเรียกร้องค่าเสียหายก็เริ่มดำเนินการไปแล้ว และเรื่องนี้ก็ไม่ต้องตรวจสอบซ้ำอีก เพราะในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 ไม่มีในส่วนดังกล่าว ซึ่งในขณะนั้นมีการตรวจสอบ GT200 และหลังจากนั้นก็มีข้อยุติจากอัยการสูงสุด จึงไม่มีการตรวจสอบต่อ และไม่ต้องมีการตรวจสอบอะไรอีกแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า งบประมาณดังกล่าวในส่วนที่เหลือจะต้องคืนคลังหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ได้มีการเบิกจ่าย งบดังกล่าวก็อยู่ที่รัฐบาล เพราะงบประมาณทุกอย่างต้องเบิกจากงบกลางของหน่วยงาน หากไม่ได้เบิกก็ค้างอยู่ที่เรา ไม่ใช่สามารถเบิกล่วงหน้าได้ หากเบิกไปต้องมีการรายงานผลการใช้และมีผลงานออกมาทุกครั้งในการใช้งบประมาณ  อีกทั้งมีการรายงานผลพร้อมประเมินผลกลับคืนมาทุกครั้ง ถ้าอะไรเบิกแล้วไม่ได้ใช้ ไม่ได้ทำ ก็ค้างคาอยู่ตรงนี้ ฉะนั้นงบประมาณต่างๆ ที่อนุมัติไป ไม่ว่าจะเป็นโครงการต่างๆ ของหลายกระทรวง หากทำไม่ได้หรือทำไม่สำเร็จ ติดขัดส่วนใดจะต้องส่งคืนทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามระเบียบและมีการดูแลกันอยู่

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องถามกองทัพบก ตนไม่ทราบเรื่อง เมื่อถามว่าต้องไปตรวจสอบกับกองทัพบกอย่างเดียวเลยใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ ส่วนจะคืนเงินเต็มจำนวนใช่หรือไม่ ตนไม่ทราบ ขอให้ถามทาง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ตนไม่รู้เรื่อง เกิดมาไม่เคยเห็น ยังไม่รู้ว่าระหว่าง งัด แงะ หรือผ่า ต่างกันอย่างไร

ทางด้าน พล.อ.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ  เสนาธิการทหารบก และโฆษกกองทัพบก ชี้แจงว่า หลังจากที่กองทัพบกได้พบข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ GT200 ที่ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติและก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ กองทัพบกได้ยุติการใช้งานและได้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของทางราชการในทุกด้าน สิ่งสำคัญที่สุดคือได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อบริษัทเอกชนคู่สัญญาโดยตั้งแต่ปี 2559 ได้ดำเนินการฟ้องดำเนินคดีต่อบริษัทเอกชนคู่สัญญาใน 2 ศาล เพื่อให้ครอบคลุมในมิติด้านกฎหมาย คือคดีอาญาฐานฉ้อโกง และคดีทางปกครองฐานความผิดเกี่ยวกับสัญญา ซึ่งการดำเนินคดีของแต่ศาลมีความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่องตามกระบวนการตั้งแต่ปี 2560-2565 

โดยคดีอาญาซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 ศาลขั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา มีคำพิพากษาเป็นที่สุดแล้วเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ให้จำเลยร่วมกันคืนเงินให้กองทัพบก 682,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี คดีอาญาเป็นอันสิ้นสุดลง และขณะนี้อยู่ในระหว่างการบังคับคดีให้ชดใช้เงินคืนกับกองทัพบก

ในระหว่างการดำเนินคดีอาญา กองทัพบกได้ยื่นฟ้องในคดีทางปกครองควบคู่กันไปด้วย โดยในคดีทางปกครองซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 กองทัพบกได้ดำเนินการตามคำแนะนำของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ให้ตรวจ GT200 ทุกเครื่อง เพื่อยืนยันว่าไม่มีประสิทธิภาพ และใช้เป็นสาระสำคัญประกอบการพิจารณาคดีทางปกครอง ในการนี้ เพื่อให้ได้พยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ในทางคดี กองทัพบกจึงได้ตั้งงบประมาณในปี 2564 เพื่อตรวจสอบเครื่อง GT200 จำนวน 757 เครื่อง โดยส่งตรวจที่ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศทอ.สวทช.) โดยเป็นการตั้งงบประมาณล่วงหน้าในขณะนั้น ก่อนที่คดีทางปกครองจะเป็นอันถึงที่สุดในปีต่อมาคือมีนาคม 2565

การที่กองทัพบกมอบให้ สวทช.เป็นผู้ดำเนินการตรวจทดสอบ GT200 เนื่องจาก สวทช.เป็นหน่วยงานกลาง มีมาตรฐานตามหลักการ อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญในงานด้านนี้โดยตรง ผลการตรวจรับรองจะสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถืออันจะเกิดประโยชน์ต่อการดำเนินคดีของทางราชการที่กองทัพบกดำเนินการอยู่ในขณะนั้น

"จากการวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไมกองทัพบกต้องตั้งงบประมาณปี 2566 เพื่อใช้ในการตรวจสอบ GT200 ทั้งที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้วนั้น ขอเรียนว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากเป็นการนำข้อมูลปีงบประมาณ 2564 มาเชื่อมโยงกับคำพิพากษาของคดีที่เกิดขึ้นในปี 2565 เป็นการเปรียบเทียบผิดห้วงเวลา ทั้งนี้ กองทัพบกไม่ได้ตั้งงบประมาณในปี 2566 ในเรื่องดังกล่าว สำหรับการตั้งงบประมาณเพื่อการตรวจสอบ GT200 นั้น หากคดีถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ โดยตามระเบียบราชการ หากงบประมาณไม่ถูกใช้ ก็จะถูกส่งคืนตามกระบวนการงบประมาณต่อไป"

พล.อ.สันติพงศ์กล่าวถึงข้อสงสัยที่ว่าทำไมไม่นำคำพิพากษาในคดีอาญามาใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีทางปกครอง เพื่อจะได้ไม่ต้องส่ง GT200 ไปตรวจสอบนั้น ในขณะที่ตั้งงบเพื่อขอตรวจ GT200  ในปี 2564 นั้น คดีอาญายังไม่ถึงที่สุด ไม่อาจรู้ผลทางคดีได้ แต่การตรวจ GT200 เป็นสิ่งสำคัญต่อคดีทางปกครองในขณะนั้น

"การตั้งงบประมาณในการตรวจสอบ GT200 จำนวน  7.57 ล้านบาท เป็นการตั้งงบประมาณก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา และเป็นไปตามกระบวนการแสวงหาพยานหลักฐานประกอบคดี ภายใต้ข้อแนะนำจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและวิทยาศาสตร์ และเมื่อคดีเป็นที่ยุติแล้ว ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อมุ่งให้ทางราชการได้รับค่าเสียหายชดเชย เพื่อรักษาประโยชน์ของกองทัพและประเทศ ทั้งนี้นอกจากการดำเนินการตามกฎหมายต่อบริษัทคู่สัญญาแล้ว สำหรับเจ้าหน้าที่ของทางราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหา GT200 ก็ได้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวนทางวินัยและทางกฎหมายเช่นกัน" โฆษกกองทัพบกกล่าว

เมื่อถามว่า ไม่ต้องผ่าเครื่อง GT200 แล้วใช่หรือไม่ พล.อ.สันติพงศ์กล่าวว่า ไม่ต้องผ่าแล้ว ยืนยันว่างบประมาณปี 66 ไม่ได้ตั้ง ในส่วนงบประมาณปี 2565 ก็ไม่ต้องใช้ เราก็ต้องคืนประมาณ 2-3 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการผ่าพิสูจน์ไปแล้ว 320 เครื่อง ขณะนี้รอหนังสือตอบรับจากอัยการสูงสุดอยู่

 “ยืนยันกองทัพบกจะใช้งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ” พล.อ.สันติพงศ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง