กนง.เสียงแตก คงดอกเบี้ย0.5% ห่วงฟื้นตัวศก.

เสียงแตก! "กนง." มติ 4 ต่อ  3 คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ต่อปี พร้อมส่งสัญญาณหมดยุคใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ คำนึง 3 ปัจจัยทยอยปรับขึ้นในเวลาที่เหมาะสม ขุนคลังชี้ประเมินรอบคอบแล้ว ยังเป็นห่วงการฟื้นตัว ศก.ในประเทศ
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม กนง.มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เพราะการฟื้นตัวเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนเพียงพอที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่คณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าเพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องตามคาด จึงให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้
ทั้งนี้ กนง.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ใหม่ โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.3% จากเดิม 3.2% ส่วนปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.2% จากเดิม 4.4% และคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ที่ 6 ล้านคน เพิ่มจากเดิม 5.6 ล้านคน และปี 2566 ที่ 19 ล้านคน ขณะที่มูลค่าส่งออกคาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้ 7.9% จากเดิม 7% ส่วนปี 2566 เป็น 2.1% จาก 1.5%
“การปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นมาจากเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด จำนวนนักท่องเที่ยวปรับเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศ แม้ว่าภาคการส่งออกอาจจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง รวมถึงผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น และแรงส่งภาคการคลังที่เริ่มลดลง” นายปิติระบุ
เลขานุการ กนง.กล่าวว่า ขณะนี้หมดยุคการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำมากๆ เป็นระยะเวลานานแล้ว เพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้ กนง.ต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยจะพิจารณาจาก 3 ปัจจัยคือ 1.ต้องสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันต้องดูแลอัตราเงินเฟ้อไม่ให้เพิ่มขึ้นสูง ซึ่งเมื่อภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ก็ต้องถึงเวลาถอนคันเร่งการใช้นโยบายการเงิน เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงจนเกินไป ไม่เป็นการเติมฟืนและซ้ำเติมให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น
2.ต้องพิจารณาระยะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง กนง.จะต้องดูความชัดเจนต่อเนื่อง และต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ถ้าดอกเบี้ยขึ้นช้าเกินไป ก็ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น กนง.กังวลว่าอาจจะต้องใช้ยาแรงเพื่อมาควบคุมในปีหน้า และ 3.ผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยจะเพิ่มภาระให้กับคนบางกลุ่ม เช่น ครัวเรือนรายได้น้อย แต่เมื่อพิจารณาหากปล่อยให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นภาระมากกว่าการขึ้นดอกเบี้ย โดยเงินเฟ้อตั้งแต่ต้นปีทำให้ครัวเรือนมีภาระ 850 บาท หรือคิดเป็น 3.6% ของรายได้ครัวเรือน แต่ในกรณีถ้าขึ้นดอกเบี้ย 1% จะคิดเป็นภาระต่อครัวเรือน 120 บาทซึ่งน้อยกว่า 7-8 เท่า
ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ถ้ามาจากปัจจัยราคาน้ำมัน มีนโยบายการเงินหรือเครื่องมืออะไรมาแก้ไขได้ ซึ่งไทยมีกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาดูแลเสถียรภาพราคา ซึ่ง กนง.คาดว่าเงินเฟ้อจะสูงสุดในไตรมาส 3/2565 แต่จะไม่ถึงสองหลักตามทิศทางราคาน้ำมันที่คาดว่าจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้จะอยู่ที่ 2.2% จากคาดการณ์เดิม 2% และปีหน้าที่ 2% จากเดิม 1.7% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 6.2% จากเดิม 4.9% และปีหน้าที่ 2.5% จากเดิมที่ 1.7%
ทางด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แม้ว่า กนง.จะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการ กนง.ส่วนใหญ่ยังเป็นห่วงและให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศอยู่

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะเร็วหรือช้า กนง.คงจะมีการติดตามดู โดยเฉพาะทิศทางดอกเบี้ยของต่างประเทศเป็นสำคัญ เพราะว่าหากมีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยมาก จะทำให้เกิดปัญหาเงินทุนไหลออก มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเหมือนกัน
"คลังคิดว่า กนง.ได้ประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบแล้ว และเชื่อว่าเขามีการติดตามและประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา ยังบอกไม่ได้ว่าครั้งนี้มติไม่เป็นเอกฉันท์ แล้วการประชุมครั้งหน้าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ยังต้องติดตามสถานการณ์ ณ เวลานั้นๆ อย่างใกล้ชิด ที่สำคัญคือจะต้องดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก" นายอาคมระบุ
รมว.การคลังกล่าวว่า การที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลงเล็กน้อย ก็ยอมรับว่าอาจมีผลกระทบกับการส่งออกและเศรษฐกิจไทยบ้าง แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการส่งออกของไทยจะยังไปได้ดี โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายส่งออกขยายตัวได้ 5-8% แต่ได้หารือกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ว่าให้ภาคเอกชนพยายามเร่งเพื่อให้การส่งออกขยายตัวได้ 10% เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ตามเป้าหมายที่ 3.5%
นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวดีขึ้นมาก หลังจากการเปิดประเทศ จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แต่ต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัว ซึ่งเป็นผลมาจากเงินบาทที่อ่อนค่า และตัวเนื้อน้ำมันที่แพงขึ้น เรื่องนี้ทางกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ใช้กลไกของตัวเองดูแลอยู่ ส่วนเรื่องภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ลดให้ 5 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 2 เดือน จนถึงวันที่ 20 ก.ค.2565 ยังบอกไม่ได้ว่าหลังครบกำหนดเวลาแล้วจะดำเนินการอย่างไร คงต้องรอพิจารณาสถานการณ์ ณ ขณะนั้นว่าจะลดภาษีต่อได้หรือไม่ โดยต้องดูภาพรวมการจัดเก็บรายได้ด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง