วิบากกรรม ‘กัญชา’ ‘ภูมิใจไทย’โวยลั่น! มีคนทำตัวขวางสธ.

สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ ออกแถลงการณ์เตือนยิบ  ระวังใช้กัญชาเกินขนาด สาร THC สูงจะมีผลเสียต่อร่างกาย อาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ "ศุภชัย" โวย หลัง สธ.ออกประกาศไปแล้วยังมีคนทำตัวขวางความพยายามที่จะออกมาปกป้องสังคมให้ปลอดภัย

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2565 ศ.คลินิก ดร.พญ.นลินี จงวิริยะพันธุ์ นายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี ได้ออกแถลงการณ์สมาคมโภชนาการฯ เรื่องผลกระทบจากการบริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา โดยห่วงการปลดล็อกกัญชาจะส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงและบริโภคกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ทำให้ได้รับสาร THC ซึ่งออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในกัญชาเกินขนาด จะมีผลเสียต่อร่างกาย

โดยเฉพาะบุคคลที่มีความไวต่อสารนี้ จะเกิดอาการแพ้แม้ได้รับในปริมาณไม่มาก และอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งยังพบว่า THC ใช้เวลาอยู่ในร่างกายยาวนานหลายชั่วโมง ทำให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกถึงความผิดปกติในทันทีจากการได้รับสารดังกล่าว จนอาจทำให้บริโภคในปริมาณที่เกินขนาดได้ ทางสมาคมจึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1.การนำกัญชามาประกอบหรือปรุงอาหารนั้น ใช้ได้เพียงบางส่วนของต้นกัญชาเท่านั้น ส่วนที่แนะนำให้นำมาใช้ประกอบหรือปรุงอาหาร คือใบสดของกัญชา และเริ่มต้นไม่เกินครึ่งใบถึงหนึ่งใบ  เพื่อประเมินผลข้างเคียงและการแพ้ส่วนประกอบในใบกัญชา ในขณะที่ช่อดอกของกัญชามี THC สูง และไม่เหมาะสมที่ จะนำมาใช้บริโภค

2.การปรุงประกอบอาหารด้วยความร้อนจะส่งผลให้เพิ่มปริมาณสาร THC ดังนั้นหากเป็นการต้ม แนะนำให้รับประทานเฉพาะส่วนน้ำ ไม่แนะนำให้รับประทานส่วนใบที่ผ่านการต้มแล้ว หากเป็นการปรุงประกอบอาหารด้วยน้ำมัน จะมีผลในการเพิ่ม THC จำนวนมาก และสาร THC ละลายได้ดีในน้ำมัน จึงไม่ควรนำใบกัญชาประกอบอาหารที่ใช้น้ำมัน

3.ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สื่อสารกับประชาชนถึงผลกระทบและผลเสียที่จะเกิดจากการบริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา

4.ขอให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดกัญชา  โดยห้ามจำหน่ายหรือโฆษณาอาหาร  เครื่องดื่ม หรือขนมที่มีส่วนผสมของกัญชาภายในโรงเรียน

5.ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มีมาตรการเพื่อควบคุม กำกับ และเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 20 ปี รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เข้าถึงและบริโภคกัญชา เนื่องจากกัญชามีผลต่อสมองเด็กและพัฒนาการของเด็กในระยะยาว

6.ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สื่อสารปริมาณที่เหมาะสมของใบกัญชาที่ใส่ในอาหาร รวมทั้งเครื่องดื่มอย่างชัดเจน โดยให้มีการกำกับและเฝ้าระวังการใช้กัญชาเป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่มอย่างเข้มงวด

7.ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการเพื่อควบคุมและกำกับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของใบกัญชา บังคับให้มีการระบุคำเตือนและแจ้งปริมาณสาร THC ต่อหนึ่งหน่วยบรรจุปริมาณที่สามารถบริโภคได้ต่อหนึ่งครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายจากการได้รับสาร THC มากเกินไป

ให้แจ้งการใส่กัญชาเป็นส่วนผสม

8.ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มีมาตรการเพื่อควบคุมและกำกับการห้ามใช้หรือบริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาในกลุ่มผู้ที่มีประวัติแพ้กัญชา ผู้ป่วยโรคหัวใจ และหลอดเลือดขั้นรุนแรง ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตเวช ผู้ป่วยที่ใช้ยาวาร์ฟาริน กลุ่มยาละลายลิ่มเลือด กลุ่มยาลดไขมันในเลือด  กลุ่มยากันชัก ควรหลีกเลี่ยงการใช้กัญชาโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เพราะสารในกัญชาจะทำให้เพิ่มปริมาณยา ซึ่งอาจเกิดปัญหาต่อสุขภาพจากยาเกินขนาดได้  สำหรับผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท  ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

9.ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตอาหาร ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม ในการผลิตและขายอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา โดยมีการแสดงข้อความว่ามีการใส่กัญชาเป็นส่วนผสม และหรือแสดงปริมาณอย่างชัดเจน

10.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามผลกระทบของกัญชาต่อเด็กอย่างต่อเนื่องและจริงจังหลังจากใช้กฎหมายกัญชาเสรี

11.ขอให้มีการติดตามประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและผลกระทบต่อสังคมอย่างต่อเนื่องและจริงจังหลังจากใช้กฎหมายกัญชาเสรี

ก่อนหน้านี้ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ออกประกาศคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องมาตรการดำเนินการการใช้สมุนไพรควบคุมกัญชา สารสกัดจากกัญชา กัญชง และพืชในตระกูล Cannabis ในพื้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เช่นกัน

นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Suphachai Jaismut” ชี้แจงเรื่องประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา ) ว่า ผมเคยเล่าเหตุผลของการมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้มาเมื่อสองวันก่อนว่า เนื่องจากต้องการให้กัญชาสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เกิดการใช้ได้อย่างเข้าใจ ไม่ถูกใช้ในทางที่จะเกิดผลเสียต่อเด็กและเยาวชน หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร  ตามที่มีการเรียกร้องจากสังคม

ยังมีคนทำตัวขวาง สธ.

ทำให้ประชาชนทั้งประเทศที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปทุกคน สามารถได้รับอนุญาตให้ครอบครอง ดูแลเก็บรักษา ขนย้าย ใช้ประโยชน์และจำหน่ายได้ และไม่กระทบกับผู้ป่วยที่เป็นเด็กหรือสตรีมีครรภ์ หรือหญิงให้นมบุตรที่มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาจากกัญชาทางการแพทย์ โดยแพทย์ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์แผนจีนหรือหมอพื้นบ้าน และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับกัญชาของประเทศไทย ถือเป็นสมุนไพรควบคุมที่ต้องได้รับการคุ้มครองให้มีคุณค่า ไม่ให้เกิดความเสียหายกับชื่อเสียงของกัญชาที่เคยถูกปกปิดไว้ในอดีต โดยการไม่อนุญาตให้ประชาชนสูบกัญชาในที่สาธารณะ ไม่อนุญาตให้จำหน่ายแก่เด็ก สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร ประกาศนี้ไม่กระทบต่อสิทธิของประชาชนส่วนใหญ่ และสามารถมีผลบังคับใช้ทางอาญา หากกระทำผิดตามประกาศฉบับนี้ต้องรับโทษตามกฎหมาย

แต่ดูเหมือนว่าหลังจากออกประกาศออกมา ยังมีคนทำตัวขวางความพยายามของกระทรวงสาธารณสุข ในการที่จะออกมาปกป้องสังคมให้ปลอดภัย มีการออกมาแสดงความเห็นว่าประกาศดังกล่าวนี้ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ท่วงทำนองเย้ยหยัน ในฐานะนักกฎหมายที่ศึกษาเรื่องนี้มา ผมขอยืนยันว่าประกาศนี้เป็นไปตามกฎหมายแล้ว กล่าวคือ

1.รัฐมนตรีอาศัยอำนาจในการออกประกาศ ตามมาตรา 4

2.รัฐมนตรียังอาศัยอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ มาตรา 45 (3) โดยใช้เงื่อนไขในการอนุญาตให้ผู้ที่มีอายุ 20 ปี ขึ้นไป สามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา หรือขนย้ายสมุนไพรควบคุม ยกเว้นการใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ การใช้ประโยชน์ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ สตรีมีครรภ์หรือหญิงให้นมบุตร

3.รัฐมนตรียังอาศัยอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ตามมาตรา 45(5) กำหนดเงื่อนไขโดยการอนุญาตให้ผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถจำหน่ายได้ ยกเว้นการจำหน่ายให้แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงให้นมบุตร

4.ตามเงื่อนไขข้างต้นที่ถูกประกาศไว้แล้ว ไม่ต้องมายื่นขออนุญาต

5.ยกเว้นไม่ได้อยู่ในเงื่อนไข หากมีความประสงค์จะจำหน่าย ต้องมายื่นขออนุญาตกับอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สามารถขออนุญาตได้ ตามกฎกระทรวง โดยยื่นขอได้กับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำหรับกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดคือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง

ต้องส่งเสริมเรียนรู้กัญชา

6.เนื่องจากเหตุผลทางวิชาการที่มีหลักฐานว่า ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีลงมา หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร อาจจะมีผลลบต่อสุขภาพให้ใช้ประโยชน์โดยไม่ใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ถือเป็นการใช้อย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม จะทำให้สมุนไพรควบคุมที่มีคุณค่าเกิดความเสียหาย จึงยังไม่มีนโยบายที่จะอนุญาตให้ใช้

7.สำหรับกฎกระทรวง การอนุญาตให้ศึกษาวิจัยหรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุม เพื่อการค้า พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2559

8.สำหรับบทบังคับใช้นั้น เกิดจากการประกาศกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตไว้แล้ว ตามมาตรา  45(3) และ 45(5) หากใครดำเนินการนอกเหนือจากการอนุญาต ที่ประกาศไว้แล้ว จะส่งผลให้ขัดต่อมาตรา  46 ทันที

โดยเฉพาะการจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีลงมา สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร ซึ่งไม่จำเป็นต้องระบุในประกาศ และจะส่งผลให้เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 46  ไปด้วย เลยต้องรับโทษตามมาตรา 78 ที่ต้องถูกจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งต้องขอขอบคุณผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ออกมายอมรับความชอบของประกาศฉบับนี้ โดยท่านระบุว่า “หากผู้ใดละเมิดประกาศนี้ มีโทษปรับ จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542”

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ การออกกฎหมาย ออกประกาศใดมาบังคับใช้กับประชาชน ให้ดูที่เจตนารมณ์ของกฎหมายหรือประกาศนั้นๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้เกิดประโยชน์ต่อประโยชน์สาธารณะ สังคมส่วนรวม

เรื่องกัญชาเป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริมเรียนรู้ สนับสนุนให้ใช้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่การลงโทษ ไล่จับ จนผู้ใช้ในทางที่ถูกต้องหนีลงใต้ดิน ไม่ใช่ทำลายภูมิปัญญาทำลายกระบวนการวิจัย พัฒนา ทำลายโอกาสเข้าถึงยา ทำลายโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์ แล้วต้องพึ่งพาต่างชาติตลอดไป หลักการสำคัญคือการเรียนรู้และควบคุมการใช้ในทางที่ผิด นี่คือหลักการและเจตนารมณ์ของประกาศนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง