กัญชาการเมือง! 53%รับมีผลเสีย หวั่นใช้ไม่เหมาะ

โพลชี้ชัดกัญชาการเมือง โดย 53% มองเปิดเสรีมีผลเสียมากกว่าผลดี 85% ห่วงคนขาดความรู้เข้าใจในการใช้อย่างเหมาะสม จุฬาฯ จับมือ สสส.ผุด “นพย.” เกาะติดการใช้กัญชานำร่องใน 8 จังหวัด ก่อนสรุปชงภาครัฐเพื่อคลอดมาตรการใช้อย่างเหมาะสมปลอดภัย

เมื่อวันอาทิตย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศทางออนไลน์ 2,390 คน เรื่องคนไทยกับกัญชาเสรี โดยเมื่อสอบถามถึงการปลดล็อกกัญชาตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.ว่ารู้สึกวิตกกังวลมากน้อยเพียงใด พบว่า 37.78% ค่อนข้างวิตกกังวล 32.85% วิตกกังวลมาก 16.27% ไม่ค่อยวิตกกังวล และ 13.10% ไม่วิตกกังวล และเมื่อถามต่อว่า การปลดล็อกกัญชา ณ วันนี้มีผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน พบว่า 52.76% มีผลเสียมากกว่า  30.17% ผลดีและผลเสียพอๆ กัน และ 17.07%  มีผลดีมากกว่า            

โพลยังถามถึงความกังวลที่มีต่อการปลดล็อกกัญชา  พบว่า 84.58% ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ที่เหมาะสม 82.16% เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย อยากรู้อยากลอง และ 73.73% การไม่มีแนวทางปฏิบัติ/กฎหมายลูกรองรับที่ชัดเจน โดยเมื่อถามว่าควรดำเนินการอย่างไรกับกัญชาเสรี ณ วันนี้ พบว่า

88.38% จำกัดการใช้โดยเฉพาะเยาวชน สถานศึกษา ควรเป็นแหล่งปลอดกัญชา 82.26% มีมาตรการเฝ้าระวัง ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการใช้ในอาหาร และ  81.67% ควบคุมการโฆษณาเกินจริง มีเครื่องหมายหรือข้อความเตือนอย่างชัดเจน           

 “เมื่อถามว่า การปลดล็อกกัญชาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง พบว่า 60.54% เกี่ยวข้องแน่นอน 27.99% น่าจะเกี่ยวข้อง 9.53% ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง  และ 1.94% ไม่เกี่ยวข้องแน่นอน” ดุสิตโพลระบุ     

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  รายงานสถิติการเข้าใช้งานแอปพลิเคชันปลูกกัญ เมื่อวันที่  25 มิ.ย.ว่ามีประชาชนเข้าใช้งานระบบ 41,825,920 ล้านครั้ง ลงทะเบียน 934,629 คน  ออกใบรับจดแจ้งกัญชาแล้ว 905,574 ใบ และออกใบรับจดแจ้งกัญชง 29,055 ใบ

ด้าน ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กพย.ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายทำการเร่งพัฒนากระบวนการเฝ้าระวังกัญชาอย่างเร่งด่วน สร้างความร่วมมือกับผู้นำเครือข่ายเฝ้าระวังและจัดการปัญหาระบบยาในพื้นที่ (นพย.) 86 คนทั่วประเทศ และชมรมเภสัชชนบท พัฒนาเป็นเครือข่ายทำงานเฝ้าระวังกัญชาในพื้นที่นำร่อง 8 จังหวัด ได้แก่  ร้อยเอ็ด, ศรีสะเกษ, ขอนแก่น, สกลนคร, หนองบัวลำภู,  อำนาจเจริญ, พระนครศรีอยุธยา และเชียงราย เร่งให้ข้อมูลความรู้เรื่องกัญชาแก่ประชาชน และทดลองกลไกเฝ้าระวังเชิงรุกในพื้นที่นำร่อง

 “นพย.จะเน้นทำงานเฝ้าระวังแบบเกาะติด มุ่งเป้าสำรวจสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาต่างๆ เช่น วิสาหกิจชุมชน ร้านอาหาร ร้านค้า ผู้ประกอบการธุรกิจกัญชา และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ หากจำเป็นจะเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ตรวจสาร THC รวมถึงการสำรวจการขายทางออนไลน์ เพื่อประมวลผลรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นของแต่ละจังหวัด ส่งต่อรายงานสู่ส่วนกลาง นำไปสู่การกำหนดนโยบายหรือมาตรการที่จะนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อไป” ผศ.ดร.ภญ.นิยดากล่าว

วันเดียวกัน ที่สถานีเรือบ้านแพง อ.บ้านแพง จ.นครพนม พล.ร.ต.สมบัติ จูถนอม ผู้บัญชาการหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (ผบ.นรข.)  แถลงข่าวการจับกุมแก๊งลอบขนกัญชาข้ามแม่น้ำโขง ได้ผู้ต้องหา 2 ราย เป็นชาว จ.สงขลาและพังงา พร้อมของกลางกัญชาอัดแท่ง 400 กิโลกรัม และรถกระบะ 1 คัน  โดยจับกุมได้ที่บริเวณท่าทรายกัญชิสา บ.เหล่าหลวง ต.ดงบัง อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ โดยระบุว่าแม้กัญชาจะเป็นสิ่งถูกกฎหมายแล้วก็ตาม แต่การนำเข้ากัญชาก็ยังคงผิดพระราชบัญญัติการนำเข้า เนื่องจากไม่ผ่านกระบวนการทางศุลกากร หลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า มีโทษจำคุก 10 ปี ปรับ  10 เท่าของมูลค่าสิ่งของ โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะประเมินราคา และสำหรับประเทศเพื่อนบ้านยังถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ไม่ใช่สิ่งถูกกฎหมาย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง